คาดกัมพูชาจะได้รับประโยชน์จาก 3 โครงการใหม่ ภายใต้โครงการ EEC ของไทย

คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้อนุมัติการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนาใหม่ 3 โครงการ มูลค่ารวม 1.18 ล้านล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงระหว่าง EEC และอุตสาหกรรมในภูมิภาคอาเซียน โดยโครงการใหม่ทั้ง 3 โครงการคือท่าเรือบก 3 แห่ง มูลค่ารวม 24 พันล้านบาท ในขอนแก่น นครราชสีมา และฉะเชิงเทรา ซึ่งท่าเรือบกทั้ง 3 แห่งจะได้รับการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยง EEC กับกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน ซึ่งคณะกรรมการคาดว่ากลยุทธ์การเชื่อมโยงจะมีส่วนเพิ่มปริมาณการไหลเวียนของตู้คอนเทนเนอร์อีกกว่า 2 ล้านตู้ ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง โดยคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตั้งเป้าที่จะศึกษาท่าเรือบก ณ ฉะเชิงเทรามูลค่าประมาณ 8 พันล้านบาทภายในปี 2021 โดยใช้เวลาก่อสร้างอีก 2 ปี และศึกษาท่าเรือบกอีก 2 แห่ง ในขอนแก่นและนครราชสีมามูลค่ารวม 16 พันล้านบาท มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50770836/cambodia-stands-to-benefit-from-thai-eec-panels-approval-for-feasibility-studies-on-three-new-projects/

มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชากับไทยอยู่ที่ 5.07 พันล้านดอลลาร์

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 5,073 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ลดลงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนสิงหาคมกัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่าราว 913 ล้านดอลลาร์ ไปยังประเทศไทยลดลงเมื่อเทียบเป็นรายปีถึงร้อยละ 40 ตามตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ไทย ในขณะเดียวกันกัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทยสูงถึง 4,161 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยในปีที่แล้วการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.28 คิดเป็น 9,418 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกัมพูชาส่งออกไปยังไทย 2,272 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 195

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50770207/cambodia-thailand-trade-breech-5-07-billion-in-first-eight-months-registering-a-16-percent-decrease/

รัฐบาลกัมพูชามองหามาตรการผ่อนคลายด้านการลงทุนภายในประเทศ

รัฐบาลกัมพูชากำลังทำงานอย่างหนักเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและส่งเสริมการค้าภายนอกให้ทันกับสภาพแวดล้อมการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยโฆษกกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน (MEF) กล่าวว่าในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของไวรัสทั่วโลก ทั้งประกอบไปด้วยสงครามการค้าที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐบาลได้มีนโยบายที่จะสนับสนุนธุรกิจการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้ากับกระแสโลกและใช้ช่วงโอกาสให้เป็นประโยชน์จากสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในช่วงของความตึงเครียดทางด้านการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดย MEF ได้จัดทำแผนพัฒนา 5 ปี (พ.ศ. 2020-2025) สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ในการปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีความมั่นคง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50770066/government-looks-at-easing-investment-procedures/

กัมพูชามองหาการลงทุนจากไทยเพิ่มขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาขอให้ไทยช่วยผลักดันการลงทุนของไทยในกัมพูชามากขึ้น โดยปีนี้ครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัมพูชาและไทย ซึ่งมีการค้าทวิภาคีที่แข็งแกร่งแม้จะอยู่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 โดยกัมพูชาได้เสนอไทยให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งการค้าข้ามพรมแดน เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น ทั้งรัฐมนตรีจากทั้งสองแสดงความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเสริมสร้างสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพอันยาวนาน ซึ่งหลังจากการพูดคุยระหว่างรัฐมนตรีทั้งสองประเทศทางกัมพูชายังขอให้ไทยอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชาที่ถือบัตรผ่านแดนและแรงงานภายใต้ MoU กลับเข้าทำงานภายในไทยได้ตามปกติ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50769628/cambodia-seeks-more-thai-investments/

หนี้สาธารณะของกัมพูชายังคงอยู่ในระดับคงที่

รัฐบาลกัมพูชาได้ลงนามในสัญญาเงินกู้สัมปทานมูลค่า 479 ล้านดอลลาร์ กับพันธมิตรเพื่อการพัฒนา (DPs) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2020 ตามแถลงการณ์สถิติหนี้สาธารณะของกัมพูชาที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยกล่าวว่าสัญญาเงินกู้รวม 479.05 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 25 ของเพดานหนี้ที่ตั้งไว้ที่ 1,400 ล้าน ซึ่งร้อยละ 93 หรือ 443.65 ล้านดอลลาร์ได้รับการลงนามกับ DPs แบบทวิภาคี และอีกร้อยละ 7 ของวงเงินกู้หรือ 35.40 ล้านดอลลาร์ ได้รับการลงนามกับ DPs พหุภาคี โดยวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเงินคือการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการลงทุนภาครัฐในภาคส่วนที่ได้มีการลำดับความสำคัญ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของการวิเคราะห์ความยั่งยืนของหนี้ (DSA) พบว่าในปี 2020 ตัวชี้วัดหนี้หลักทั้ง 5 ตัวต่ำกว่าเกณฑ์ที่บ่งชี้ตามลำดับ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50769828/cambodias-public-debt-remains-sustainable-categorised-as-low-risk/

CDC กัมพูชาอนุมัติโครงการลงทุนสองโครงการมูลค่าเกือบ 5 ล้านดอลลาร์

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนใหม่ 2 โครงการ ในสัปดาห์นี้ด้วยเงินทุนรวม 4.9 ล้านดอลลาร์ในกรุงพนมเปญ ตามรายงานของ CDC โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติใหม่เป็นของ Awtex Garment Co., Ltd. ในพื้นที่ Sambour, Sangat Dangkor, Khan Dangkor และโครงการของบริษัท Hermo (Cambodia) Co., Ltd. ในพื้นที่ Chumrov, Sangat Kork Roka, Khan Prek Phnov ซึ่งโครงการลงทุนทั้งสองโครงการครอบคลุมการผลิตเสื้อผ้าและถุงมือ คาดการณ์ว่าจะสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ได้ราว 1,513 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50769409/cdc-approves-two-investment-projects-of-almost-5-million/

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เล็กเห็นศักยภาพในตลาดกัมพูชา

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ในนาม Krungsri มุ่งเน้นไปที่ตลาดในภูมิภาคสำหรับแผนธุรกิจระยะกลางเนื่องจากมองหาการเติบโตแบบ S-curve ในระยะถัดไป ซึ่งในอาเซียนกรุงศรีมีสำนักงานในกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ภายใต้รูปแบบและกลยุทธ์ทางธุรกิจที่แตกต่างกันออกไปตามความเหมาะสมบนพื้นที่ โดยได้จัดทำแผนธุรกิจระยะต่อไปสำหรับปี 2021-23 ที่เน้นไปที่ความคล่องตัวและความยั่งยืนเชิงกลยุทธ์ เพื่อรับมือกับช่วงหลัง COVID-19 ซึ่งธนาคารได้ขยายสู่ตลาดอาเซียนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาภายใต้ความร่วมมือกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของญี่ปุ่นคือ Mitsubishi UFJ Financial Group (MUFG) ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในปัจจุบันธนาคารยังคงรักษาแผนธุรกิจที่มีอยู่และปรับกลยุทธ์บางอย่างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเล็งเห็นถึงศักยภาพการเติบโตที่สูงของเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50769441/bank-of-ayodhya-krungsiri-sees-potential-in-regional-markets-especially-cambodia/

รัฐบาลกัมพูชาขยายมาตรการช่วยเหลือภาคแรงงานต่อไปอีก 3 เดือน

รัฐบาลได้ขยายมาตรการสนับสนุนเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ การท่องเที่ยวและการบินจนถึงสิ้นปี 2020 โดยถือเป็นการออกมาตรการเป็นรอบที่ 6 ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยรัฐบาลจะจ่ายเงิน 40 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับคนงานที่ถูกปลดออกจากงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและสิ่งทอ รองเท้า กระเป๋าเดินทาง และการท่องเที่ยวไปอีกสามเดือนจนถึงสิ้นปี 2020 อย่างไรก็ตามเจ้าของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าจะต้องเพิ่มเงินอีก 30 ดอลลาร์ต่อเดือนเพื่อเป็นการช่วยเหลือภาคแรงงาน และรัฐบาลยังคงยกเว้นการจ่ายภาษีรายเดือนในทุกประเภทสำหรับโรงแรม เกสต์เฮาส์ ร้านอาหารและตัวแทนการท่องเที่ยวที่จดทะเบียนกับแผนกจัดเก็บภาษีและดำเนินธุรกิจในกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลกล่าวว่าแม้ว่าความพยายามในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จะมีความคืบหน้าไปมาก แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าการระบาดจะสิ้นสุดลงเมื่อใดและจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมากเพียงใด เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ โดยกัมพูชาได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก โควิด-19 ทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามอย่างมากในการควบคุมการแพร่ระบาดและช่วยเหลือในหลายด้าน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50768727/govt-extends-support-measures-for-3-months/

เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) สร้างโซนนานาชาติภายใต้แนวคิด “วิน-วิน”

เขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) กล่าวว่าจะยังคงเร่งโครงการภายใต้แนวคิด “วิน-วิน” เพื่อดึงดูดผู้ประกอบการระหว่างประเทศเข้ามาในเขตเศรษฐกิจพิเศษมากขึ้น สร้างการพัฒนาในท้องถิ่นและการพัฒนาสังคม ซึ่งได้มีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษร่วมกันกับจีน ภายใต้แนวคิด “วิน-วิน” เพื่อปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก สนับสนุนการผลิต และการดำรงชีวิต เพิ่มขีดความสามารถในการบริการระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการดำเนินงานที่สมบูรณ์แบบสำหรับองค์กรจากทั่วทุกมุมโลก โดยจากข้อมูลของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา (GDCE) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2020 ซึ่งจำนวนการนำเข้าและส่งออกผ่าน SSEZ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 โดยปริมาณการนำเข้าและส่งออกรวมอยู่ที่ 951 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.13 จาก 754 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50768708/ssez-to-build-an-international-zone-with-win-win-concept/

กัมพูชาพร้อมเจรจาเพิ่มเติมด้านก๊าซกับไทย

กระทรวงการเหมืองแร่และพลังงานระบุว่าพร้อมที่จะกลับมาหารือกับไทยเกี่ยวกับผลประโยชน์ร่วมกันบนพื้นที่ทับซ้อน (OCA) ในอ่าวไทย โดยอธิบดีกระทรวงพลังงานกล่าวว่ากระทรวงกำลังรอคำตอบจากประเทศไทยเพื่อดำเนินการเจรจาต่อไปเนื่องจากพยายามเร่งกระบวนการให้ได้ข้อสรุปเร็วที่สุด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชาได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย ณ การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงานครั้งที่ 37 ที่กรุงเทพฯ โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะหารือและหาข้อยุติในข้อพิพาท OCA ระหว่างกัมพูชาและไทยต่อไป ซึ่งสิทธิในการพัฒนา OCA 26,000 ตารางกิโลเมตร คาบเกี่ยวระหว่างกัมพูชาและพรมแดนของอ่าวไทยตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 โดยคาดว่า OCA จะมีน้ำมันและก๊าซมากถึง 500 ล้านบาร์เรล กล่าวโดยสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)

ที่มา : https://www.nationthailand.com/news/30395298