ค่าเช่าสำนักงานในกรุงฮานอยพุ่งสูงขึ้นในรอบ 6 ปี ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

จากรายงานของบริษัทอสังหาฯ ซาวิลส์ (Savills) เปิดเผยว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ค่าเช่าสำนักงานเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ปี มีอัตราการเข้าพักอาศัยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากสำนักงานมีจำนวนน้อย (หรืออุปทานมีอยู่อย่างจำกัด) โดยค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 21 เหรียญสหรัฐฯต่อตารางเมตรต่อเดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยอัตราการเข้าพักอาศัยมีสัดส่วนร้อยละ 91 ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากอยู่ในช่วงการเปิดตัวของโครงการใหม่ นอกจากนี้ จากตัวเลขสถิติของจำนวนธุรกิจจดทะเบียนใหม่ พบว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีธุรกิจเปิดตัวใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คิดเป็นจำนวนผู้ประกอบการกว่า 20,562 ราย

ที่มา :  https://e.vnexpress.net/news/business/industries/hanoi-office-rents-reach-6-year-high-in-q3-3999332.html

สหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกสัตว์น้ำรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม

จากรายงานของกรมศุลกากรเวียดนาม (General Department of Vietnam Customs) เปิดเผยว่าเวียดนามส่งออกสัตว์น้ำไปยังสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 1.08 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ถึงแม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะลดลงอย่างมากก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในเดือนกันยายน 2562 การส่งออกสัตว์น้ำ มีมูลค่า 731 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว และลดลงร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (กันยายน 2561) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดส่งออกสำคัญ พบว่าการส่งออกอาหารทะเลไปตลาดสำคัญส่วนใหญ่ลดลง ในขณะที่ การส่งออกไปยังประเทศจีน ไทย และไต้หวัน (จีน) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทางด้านรายงานสถิติศูนย์การค้าระหว่างประเทศ (ITC) ระบุว่าอาหารทะเลเวียดนามมีส่วนแบ่งการตลาดสูงในตลาดอังกฤษ ได้แก่ กุ้งแช่แข็งทุกประเภท (HS 030617) ปลาดุกแช่แข็ง (HS 030462) รวมไปถึงกุ้งแปรูปทุกประเภท ซึ่งข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าสหราชอาณาจักรพยายามมองหาแหล่งอาหารทะเลที่มีความหลากหลาย เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทางทะเลกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง จากตลาดที่มีโอกาสกำไรสูง

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/us-remains-vietnams-largest-aquatic-export-market-404970.vov

บริษัท TH Milk เป็นผู้ส่งออกนมรายแรกไปยังประเทศจีน

TH Milk Joint Stock Company เป็นบริษัทเวียดนามแห่งแรกที่ได้รับการอนุมัติจากกรมศุลกากรจีน ในการส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปตลาดจีน เมื่อในวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารทั่วไปของกรมศุลกากรจีนระบุว่าผลิตภัณฑ์นมของบริษัท TH Milk ผ่านการฆ่าเชื้อโรคและดัดแปลงสูตรสำหรับการส่งออไปยังจีน รวมไปถึงข้อกำหนดรายละเอียดในการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยผลิตภัณฑ์นมที่ได้รับอนุญาตจากจีน จะรวมถึงอาหารแปรรูป ซึ่งมีส่วนประกอบจากนมวัวแปรรูปพาสเจอร์ไรส์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้ว, ผลิตภัณฑ์นมผง, นมข้นหวาน และอื่น ๆ เป็นต้น โดยทางการจีนกำหนดให้ผู้ส่งออกเวียดนามต้องได้รับใบอนุญาตจากทางการเวียดนาม และดำเนินจดทะเบียนกับกรมศุลกากรจีน หลังจากนั้นจึงทำการตรวจสอบกักกัน เพื่อขอใบอนุญาตกักกันโรค ก่อนที่จะส่งออกไปยังตลาดจีนได้อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ เวียดนามตั้งเป้าในการส่งออกผลิตภัณฑ์นมไปยังตลาดจีน ด้วยมูลค่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2563

ที่มา :  https://en.vietnamplus.vn/th-milk-becomes-first-exporter-of-milk-to-china/162302.vnp

ผู้ส่งออกปลาดุกเวียดนามเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่ง

จากรายงานของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) เปิดเผยว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าการส่งออกอาหารทะเลอยู่ที่ 6.23 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน และเกาหลีใต้ ยังคงเป็นผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งบริโภคร้อยละ 56.8 ของมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลโดยรวม ทางด้านสถานการณ์สินค้ากุ้งทะเล ปลาสวายและหมึกกระดอง มีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องมาจากภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงจากประเทศอินเดีย เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย และไทย ส่วนตลาดในประเทศนั้น ราคาปลาดุกปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นผลมาจากอุปทานเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าเป้าในการส่งออกอาหารทะเล จะไม่สามารถบรรลุระดับ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปีนี้ เนื่องจากประเทศจีน มาเลเซีย สามารถเริ่มเพาะปลาดุกในประเทศได้ ในขณะเดียวกัน ไทย อินเดีย สามารถควบคุมโรคระบาดได้แล้ว รวมทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะชะลอตัว

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnamese-catfish-exporters-struggle-to-compete-with-rivals-404934.vov

เวียดนามดำเนินสร้างระบบนิเวศดิจิทัล สำหรับระบบการชำระเงินที่ไม่ใช่เงินสด

ประเทศเวียดนามได้จัดการประชุมสุดยอดระบบการชำระเงิน (The Payment Summit 2019) ในหัวข้อ “มุ่งสร้างระบบนิเวศน์การชำระเงินดิจิทัล” ภายใต้สมาคมธนาคารเวียดนาม และ OpenWay Group ได้ดึงผู้เชี่ยวชาญมากมายให้เข้ามีส่วนร่วมในการจัดตั้งระบบดังกล่าว ซึ่งคุณ Pham Tien Dung เป็นผู้อำนวยการฝ่ายระบบการชำระเงินของธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ระบุว่าระบบนิเวศน์การชำระเงินไร้เงินสดจะทำให้สามารถดึงดูดความต้องการให้ครอบคลุมการชำระเงินในทุกด้านของชีวิต โดยจากข้อมูลทางสถิติในปี 2560 พบว่าร้อยละ 87.57 ได้รับรายได้จากการโอนเงินผ่านธนาคารและกระเป๋าเงินออนไลน์ (E-wallet) และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การให้บริการของธนาคารได้รับความนิยมอย่างมาก หากสังเกตได้จากจำนวนการเปิดบัญชีส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 83.9 ล้าน (ณ เดือนสิงหาคม 2562) นอกจากนี้ ระบบการชำระเงินดิจิทัลจะช่วยให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้ในเวลาเพียงครึ่งนาที ซึ่งสะดวกสบายและมีความปลอดภัยมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกค้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระเงินได้อย่างเหมาะสม

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/building-a-digital-ecosystem-for-noncash-payment-404783.vov

เวียดนามเผยยอดส่งออกผักผลไม้ลดลง ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 62

จากรายงานทางสถิติของกรมศุลกากรเวียดนาม เปิดเผยว่าการส่งออกผักและผลไม้ลดลงร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ด้วยมูลค่า 2.81 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ในขณะเดียวกัน กรมการนำเข้าและส่งออก ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าการส่งออกผักและผลไม้ไปยังตลาดต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ ไต้หวัน ฮ่องกง และไทย ล้วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การส่งออกที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการส่งออกไปยังตลาดจีน ที่ยังคงชะลอตัว ซึ่งสาเหตุดังกล่าวมาจากสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้จีนส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดสหรัฐฯลดลง และกลุ่มประเทศที่มีความได้เปรียบสินค้าเกษตรนั้น หันมาบริโภคภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการเกษตรกรรมต่างประเทศสามารถได้รับประโยชน์ทางการค้า ด้วยอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 0 รวมไปถึงมีการส่งสัญญาเป็นบวก สำหรับกลุ่มธุรกิจผักและผลไม้ในประเทศในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/fruit-and-vegetable-exports-plummet-in-nine-months-404787.vov

รัฐบาลสปป.ลาวไฟเขียว PetroTrade เพื่อการพัฒนาทางรถไฟสปป.ลาว – เวียดนาม

รัฐบาลสปป.ลาวได้มอบหมายและให้สิทธิแก่ the Petroleum Trading Lao Public Company (PetroTrade) ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟสปป.ลาว – ​​เวียดนาม กระทรวงแผนการและการลงทุนในนามของรัฐบาลและ PetroTrade ได้ลงนาม MOU เพื่อศึกษาและออกแบบรายละเอียดทางรถไฟให้เสร็จสมบูรณ์ การพัฒนาทางรถไฟสปป.ลาว – ​​เวียดนาม จากท่าแขกไปยังท่าเรือวุงอ่างในเวียดนามมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากรัฐบาลให้ความไว้วางใจและสิทธิ PetroTrade เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้โดยละเอียด ทางรถไฟจะเชื่อมต่อสปป.ลาวกับภูมิภาคอาเซียนและเปิดใช้งานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการค้าการลงทุนและการเกษตรซึ่งจะทำให้สปป.ลาวมีศักยภาพที่จะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัย นอกจากนี้ยังจะเปลี่ยนสปป.ลาวจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเป็นประเทศที่เชื่อมโยงกับพื้นที่เชื่อมโยงภูมิภาคเพื่อให้บรรลุแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ที่มา : http://annx.asianews.network/content/lao-gov%E2%80%99t-gives-green-light-petrotrade-laos-vietnam-railway-development-106395

เวียดนามนิยมบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอันดับ 5 ของโลก

จากรายงานของสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก (World Instant Noodle Association : WINA) เปิดเผยว่า ในปี 2561 ชาวเวียดนามบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากกว่า 5.2 พันล้านซอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เวียดนามมีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในแง่ของการบริโภคต่อหัวของประชากรเวียดนามประมาณ 95 ล้านคนในปี 2561 ชาวเวียดนามบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงถึง 55 ซองต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่ากลุ่มประเทศชั้นนำของโลก ได้แก่ ประเทศจีนที่มีการบริโภคเฉลี่ย 31 ซองต่อคน รองลงมาอินโดนีเซียบริโภคเฉลี่ย 46.4 ซองต่อคน และญี่ปุ่น 45.8 ซองต่อคน ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน ข้อมูลทางสถิติระบุว่า ผู้ประกอบการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 50 รายในเวียดนาม คิดเป็นร้อยละ 70 ของส่วนแบ่งการตลาดในปัจจุบัน ได้แก่ บริษัท Vina, Acecook, Masan และ Asia Food เป็นต้น

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnam-ranks-fifth-globally-in-instant-noodle-consumption-404711.vov

ภาคการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน จ่ายเงินโบนัสสูงสุด ในปีนี้ : การสำรวจ

จากรายงานผลสำรวจของบริษัท Talentnet และ Mercer ทำการสำรวจธุรกิจข้ามชาติ 605 แห่ง และกลุ่มธุรกิจในท้องถิ่น 16 อุตสาหกรรม รวมทั้งธุรกิจเทคโนโลยี สินค้าอุปโภคบริโภค เคมีภัณฑ์ และธุรกิจชีววิทยาศาสตร์ เป็นต้น เปิดเผยว่ากลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินจะจ่ายเงินโบนัสสูงที่สุดในปีนี้ มีอัตราการจ่ายเงินโบนัสเฉลี่ยร้อยละ 30.4 ของฐานเงินเดือน รองลงมากลุ่มธุรกิจประกันภัย (22.9%) กลุ่มภาคการเกษตร (19.4%) ตามลำดับ โดยกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ ค้าปลีก และการศึกษา มีการจ่ายเงินโบนัสต่ำที่สุด  ในขณะที่ บริษัทเวียดนามมีการจ่ายโบนัสเพิ่มขึ้น (22.6%) มากกว่าบริษัทข้ามชาติ (17.5%) ในปีนี้ และบริษัทท้องถิ่นมีการปรับค่าตอบแทนขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับบริษัทข้ามชาติที่มีการปรับค่าตอบแทนขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ร้อยละ 8.5 อย่างไรก็ตาม บริษัทท้องถิ่นจ่ายเงินเดือนน้อยกว่าบริษัทข้ามชาติ

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/non-banking-financial-sector-to-pay-highest-bonuses-in-2019-survey-3997335.html

อุตสาหกรรมสิ่งทอเวียดนามได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

จากรายงานของกระทรวงการลงทุนและวางแผนเวียดนาม เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอเวียดนามประสบภาวะเดือดร้อนอย่างหนักจากสงครามการค้า ทั้งจากการส่งออกและการผลิตที่ลดลง เนื่องมาจากความรุนแรงของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น และผู้ซื้อ/ผู้นำเข้าแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามการค้า ทำให้ยอดคำสั่งซื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน บริษัทผู้ผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม (VINATEXT) ได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามการค้า โดยอุตสาหกรรมเส้นด้ายทั่วโลกนั้น มีแนวโน้มลดลง เป็นผลมาจากสงครามการค้า และการแข่งขันจากคู่แข่งที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ อินเดีย ปากีสถาน ไทย และเวียดนาม นอกจากนี้ จากตัวเลขสถิติการค้าระหว่างประเทศของสำนักงานศุลกากร ระบุว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ มูลค่าการส่งออกสิ่งทอของเวียดนามอยู่ที่ 29.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/textile-industry-hit-by-ongoing-trade-war/162084.vnp