‘Digital Transformation’ กุญแจดอกสำคัญของธุรกิจเสื้อผ้าเวียดนาม

จากงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม “SaigonTex and SaigonFabric 2024” จัดโดยสมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม (VITAS) ทางด้านคุณ นาง เหงียน ถิ เตี๊ยก มาย รองเลขาธิการสมาคมฯ กล่าวระหว่างการประชุมว่ารัฐบาลอนุมัติแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2573 มีวิสัยทัศน์ถึงปี 2578 และจะมุ่งเน้นไปที่การยกระดับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง การปรับปรุงชีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดต่างประเทศและตอบสนองกับความต้องการของคนในประเทศ ในขณะเดียวกัน ตัวแทนของสมาคมฯ กล่าวว่าหนึ่งในแนวทางการขับเคลื่อนสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล หรือ Digital Transformation สิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและเป็นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/digital-transformation-optimal-choice-for-vietnamese-garment-textile-firms/285158.vnp

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้ายอดการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปี 67 ทะลุ 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม (VITAS) ตั้งเป้าหมายยอดการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ปี 2567 มีมูลค่า 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเห็นสัญญาณเชิงบวกในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ อย่างไรก็ดีถึงแม้เผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่มืดมน ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอุปสงค์โลกที่ลดลง แต่ความสำเร็จของการส่งออกสิ่งทอเวียดนาม เป็นผลมาจากความพยายามของภาคธุรกิจในประเทศ ซึ่งธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามสามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้กว่า 104 ประเทศทั่วโลก นับเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมฯ แสดงให้เห็นว่าในเดือน ก.ย. สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้นำเข้าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มีมูลค่าราว 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสหภาพยุโรป ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-targets-44-billion-usd-in-textile-apparel-export-turnover-in-2024-vitas/271937.vnp

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่ม GFT ในช่วง 7 เดือน แตะ 6.27 พันล้านดอลลาร์

กัมพูชาส่งออกสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าเพื่อการเดินทาง (GFT) มูลค่ารวม 6.27 พันล้านดอลลาร์ ลดลงอย่างมากจากมูลค่า 7.89 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการลดลงร้อยละ 20.44 ตามการรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ทำให้การส่งออกโดยรวมของกัมพูชาลดลงร้อยละ 1.8 ซึ่งได้รับผลกระทบจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การไม่ต่ออายุระบบสิทธิพิเศษทางภาษีทั่วไป (GSP) ของสหรัฐฯ และการลดสิทธิประโยชน์ของ Everything But Arms (EBA) ของสหภาพยุโรป (EU) ส่งผลทำให้การส่งออกโดยภาพรวมชะลอตัวลง จากข้อมูลของ GDCE รายงานเสริมว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายแบบถักสร้างรายได้เข้าประเทศ 3.06 พันล้านดอลลาร์ ณ เดือน ก.ค. ลดลงร้อยละ 22.8 ขณะที่สินค้ากลุ่มเครื่องแต่งกายในรูปแบบไม่ถักสร้างรายได้เข้าประเทศ 1.40 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 14.7 สำหรับกลุ่มสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวสร้างรายได้สุทธิเข้าประเทศ 1 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 18.3 และการส่งออกรองเท้ามูลค่าในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 808.46 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 22.7

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501342930/cambodia-gft-exports-at-6-27-billion-in-7-months/

‘อุตฯ เมียนมา’ เผยเดือน เม.ย. ดึงดูดเม็ดเงินลงทุน 3.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและการบริหารจัดการของเมียนมา (DICA) เปิดเผยข้อมูลทางสถิติในเดือน เม.ย. 2566 ว่าภาคอุตสาหกรรมของเมียนมาดึงดูดเงินลงทุนกว่า 3.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการปรับเพิ่มเงินลงทุนจากผู้ประกอบการในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการจีนรายหนึ่งที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมของเมียนมา ด้วยมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เมียนมาดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) รวมทั้งสิ้น 1.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 2565-2566 (เม.ย.-มี.ค.) การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นมูลค่า 271.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในสินค้าเสื้อผ้าและสิ่งทอ มีโรงงานผลิตกว่า 541 แห่งที่อยู่ภายใต้สมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มเมียนมา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/myanmar-manufacturing-sector-attracts-3-7-mln-in-april/#article-title

“เวียดนาม” เผยภาคเครื่องนุ่งห่ม จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน FDI เหตุบรรลุเป้าส่งออก

ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในชุมชน มีความต้องการเม็ดเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้าสู่กระบวนการผลิตผ้า เส้นด้ายและวัตถุดิบอื่นๆ เนื่องจากธุรกิจต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านการส่งออกจากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) โดยจากข้อมูลของกระทรวงวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีจำนวนโครงการ FDI ทั้งสิ้น 2,787 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 31.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ 18 พ.ค.) ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจเครื่องนุ่งห่ม กล่าวว่าโครงการ FDI มีส่วนร่วมในการเพิ่มกำลังการผลิตและขนาดการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ หากพิจารณามูลค่าการส่งออก จะพบว่าเพิ่มขึ้นจาก 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 มาอยู่ที่ 40.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของมูลค่าการส่งออกรวม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/garment-sector-requires-greater-fdi-for-export-target-fulfilment-post965641.vov

กัมพูชาตั้งเป้าเน้นการส่งออกมากขึ้น

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล่าวถึงการที่ทางการกัมพูชาได้ส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทั้งเครื่องนุ่งห่มและไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อรองรับและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยการส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมของกัมพูชาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่ง ณ ตอนนี้ ภาคการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะได้รับการสนับสนุนให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ รวมถึงเริ่มมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ปีนี้การส่งออกของกัมพูชามีมูลค่ารวมอยู่ที่ 7,606 ล้านดอลลาร์ ใน 4 เดือน แรกของปี โดยได้ทำการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 2,923 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 53.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี ทำให้สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชาในปัจจุบัน ด้วยสิทธิพิเศษทางการค้า เช่น GSP, EBA และ FTA กับจีนและเกาหลีใต้ จะเป็นส่วนเสริมทำให้กัมพูชาส่งออกและได้รับการลงทุนใหม่ๆเพิ่มมากขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501080718/cambodia-to-focus-more-on-growth-in-exports/

EuroCham Cambodia และ GMAC ลงนาม MoU สนับสนุนกัมพูชา

EuroCham Cambodia และ GMAC ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทตัดเย็บเสื้อผ้าของยุโรปและแบรนด์แฟชั่นที่ได้ดำเนินการอยู่ในกัมพูชา ผ่านความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสองสมาคมและกลุ่มสมาชิก สู่การเพิ่มมูลค่าการส่งออกระหว่างสหภาพยุโรป โดยมูลค่าการส่งออกของกัมพูชาในหมวดสินค้าเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า อยู่ที่ 11.38 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป แต่ในขณะเดียวกันส่วนแบ่งการตลาดของกัมพูชาในตลาดส่งออกสำคัญอย่างสหรัฐฯ กลับปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในปี 2021 ที่มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 4.87 จากในปี 2020 ที่กัมพูชามีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ร้อยละ 13.30 ตามข้อมูลการนำเข้าจากสำนักงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแห่งสหรัฐฯ (OTEXA)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501045339/eurocham-cambodia-and-gmac-ink-agreement-to-better-support-european-brands-sourcing-from-cambodia/

กัมพูชาเตรียมเปิดตัวยุทธศาสตร์พัฒนาภาคเครื่องนุ่งห่ม และกระเป๋า

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนเปิดตัวกลยุทธ์พัฒนาภาคสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงกระเป๋า และรองเท้า เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่การเติบโตและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับภูมิภาค โดย Phan Phalla รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ได้กล่าวไว้ในการประชุมสาธารณะล่าสุด เกี่ยวกับการจัดการด้านเศรษฐกิจมหภาค และกรอบงบประมาณประจำปี 2022 ซึ่งในปี 2021 กัมพูชาทำการส่งออกเสื้อผ้ามีมูลค่ามากกว่า 11,389 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับปี 2020 ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501033259/cambodia-plans-to-launch-strategy-to-develop-garment-bag-and-footwear-sector/

ความต้องการสินค้าเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ดันการส่งออกกัมพูชาเติบโต

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และผลิตภัณฑ์การเดินทาง ของกัมพูชา เติบโตเฉลี่ยต่อปีถึงร้อยละ 10 ซึ่งกลายเป็นภาคส่วนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจกัมพูชา หลังจากที่ก่อนหน้าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2020 โดยคาดว่าจะมีมูลค่ารวมกันเกือบ 10 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2021 หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 63 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ และมีการจ้างพนักงานเกือบ 1 ล้านคน ในอุตสาหกรรม ซึ่งการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีมูลค่าสูงสุดรวม 6.538 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วง 10 เดือนแรกของปีก่อน โดยการส่งออกรองเท้าอยู่ที่ 1.113 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านการเดินทางมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.179 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมากจากการฟื้นตัวของภาคการค้าโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501008715/demand-for-cambodian-garments-footwear-to-further-push-exports/

ดีมานด์ตลาดสิ่งทอพุ่ง หนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยและกัมพูชา

อุตสาหกรรมสิ่งทอของกัมพูชาไม่สามารถรองรับกับสถานการณ์การขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้การส่งออกสิ่งทอของไทยปรับตัวพุ่งสูงขึ้น และคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 15 ในปีนี้ ทางด้านสื่อไทยรายงานถึงการส่งออกสิ่งทอที่ได้รับแรงหนุนจากความต้องการในสินค้าทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น รวมถึงภาคการผลิตในภูมิภาคเริ่มกลับมาดำเนินการอีกครั้ง อาทิเช่น กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย รวมถึงจากโซนยุโรป และสหรัฐฯ โดยโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและสิ่งทอของไทยกลับมามีกำลังการผลิตเต็ม 100% อีกครั้ง แต่ยังคงติดอยู่กับปัญหาการขาดแคลนแรงงานหลังจากแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศของตนในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันโรงงานภายในประเทศไทยขาดแคลนแรงงานสูงถึง 30,000-50,000 คน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501001754/soaring-demand-from-cambodia-other-countries-leads-to-thai-textile-industry-exports-surging/