รัฐบาลเวียดนามเตือนการไฟฟ้าเสี่ยงขาดทุน $2.7 พันล้านในปีนี้หากไม่ปรับขึ้นราคา

รอยเตอร์ – การไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) จะขาดทุน 64,900 ล้านล้านด่ง (2,750 ล้านดอลลาร์) ในปีนี้ หากราคาค่าไฟฟ้าขายปลีกยังไม่เปลี่ยนแปลง รัฐบาลเวียดนามระบุในคำแถลงว่า หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าไฟขายปลีก จะทำให้มูลค่าการขาดทุนของการไฟฟ้าในปีนี้และปีก่อนรวมกันเป็น 93,800 ล้านล้านด่ง ทั้งนี้ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้พยายามที่จะปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าขายปลีกเพื่อสนับสนุนการลงทุนในภาคการผลิตพลังงาน แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาก็เผชิญกับแรงกดดันในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม การปรับราคาค่าไฟฟ้าใดๆ ก็ตามจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับอัตราเงินเฟ้อ ชีวิตของผู้คนและเศรษฐกิจมหภาค นอกจากนี้ เวียดนามตั้งเป้าที่จะรักษาอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำกว่า 4.5% ในปีนี้ ส่วนราคาผู้บริโภคในเดือน ธ.ค. เพิ่มขึ้น 4.55% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา : https://mgronline.com/indochina/detail/9660000015316

“รัฐบาลสปป.ลาว” ให้คำมั่นแก้ไขปัญหาศก. ตกต่ำ

จากการที่ประชุมของรัฐบาล โดยมีนายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประธานและคณะรัฐมนตรี ได้มีการสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจมหภาคอย่างจริงจัง รวมถึงการสร้างบรรยากาศการลงทุน ปรับปรุงการชำระหนี้ การรับมือกับภัยธรรมชาติ การควบคุมเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ โฆษกรัฐบาลลาว กล่าวว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องให้ความสำคัญในเรื่องการควบคุมราคาสินค้าและการชำระหนี้ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะหนี้รัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ ยังได้เน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องหลักเลี่ยงการก่อหนี้ใหม่ เนื่องจากรัฐบาลให้คำมั่นว่าจะไม่ยอมให้ประเทศผิดนัดชำระหนี้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Govt165.php

คลังสหรัฐฯ รับทราบความคืบหน้าของทางการเวียดนามชี้ประเด็นค่าเงิน

ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) เปิดเผยว่ากระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยอมรับรายงานความคืบหน้าของทางการเวียดนามเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจมหภาคและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ โดยธนาคารกลาวเวียดนามยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อที่จะหารือถึงข้อกังวลของทั้งสองฝ่ายและประสานผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้ง ธนาคารกลางเวียดนามจะดำเนินนโยบายการเงินที่มุ่งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและควบคุมเงินเฟ้อ นอกจากนี้ยังคงมุ่งรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและเป้าหมายของนโยบายการเงิน อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ยังคงทบทวนบัญชีรายชื่อประเทศที่ละเมิดเกณฑ์ 3 ข้อของสหรัฐฯ ได้แก่ ตัวเลขเกินดุลการค้า, ตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยเวียดนามและไต้หวัน ยังคงจับตาและติดตามผลต่อไป

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1250395/us-treasury-department-recognises-viet-nams-progress-in-addressing-currency-related-concerns.html

กัมพูชาเตรียมเปิดตัวยุทธศาสตร์พัฒนาภาคเครื่องนุ่งห่ม และกระเป๋า

รัฐบาลกัมพูชาวางแผนเปิดตัวกลยุทธ์พัฒนาภาคสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงกระเป๋า และรองเท้า เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่การเติบโตและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับภูมิภาค โดย Phan Phalla รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ได้กล่าวไว้ในการประชุมสาธารณะล่าสุด เกี่ยวกับการจัดการด้านเศรษฐกิจมหภาค และกรอบงบประมาณประจำปี 2022 ซึ่งในปี 2021 กัมพูชาทำการส่งออกเสื้อผ้ามีมูลค่ามากกว่า 11,389 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับปี 2020 ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิตกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501033259/cambodia-plans-to-launch-strategy-to-develop-garment-bag-and-footwear-sector/

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ คาด GDP เวียดนามโต 6.3% ปี 64

สถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์และนโยบายเวียดนาม (VEPR) เผยตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคของเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว หลังได้รับผลกระทบในเชิงลบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 6-6.3% ในปีนี้ โดยเป้าหมายดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะสามารถบรรลุได้ เนื่องจากเวียดนามรับมือกับการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มผ่อนคลายในหลายๆ ประเทศ ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในไตรมาสแรกของปีนี้ ขยายตัว 4.48% สาเหตุหลักมาจากการที่รัฐบาลควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เศรษฐกิจอยู่ในระดับเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน แนวโน้มทางเศรษฐกิจดีขึ้น จากข้อตกลงการค้าเสรีและความตกลงคุ้มครองการลงทุน ระหว่างเวียดนามกับสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีมุมมองเชิงบวก แต่เวียดนามยังเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง อาทิ สภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน การกลับมาระบาดของเชื้อไวรัส รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/economic-institute-forecasts-63-gdp-for-vietnam-in-2021-851682.vov

รายงานภาวะเศรษฐกิจครึ่งปี 63 เศรษฐกิจสปป.ลาวมีแนวโน้มที่ดี

ตามรายงานการประเมินเศรษฐกิจมหภาคที่เปิดเผยโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติพบว่าตัวชี้วัดเศรษฐกิจสปป.ลาวบางประการมีแนวโน้มที่ดีในช่วงครึ่งปีนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงตกต่ำและมีความไม่แน่นอนทั่วโลกจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ด้านการส่งออกพบว่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตั้งแต่เดือนมิถุนายนเมื่อทางการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างสปป.ลาวและเพื่อนบ้าน ด้านการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติในสปป.ลาวลดลงร้อยละ 60 ในช่วงครึ่งปีนี้ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตราการเพื่อบรรเทาและช่วยเหลือภาคต่างๆ รวมถึงธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินได้ชะลอการชำระคืนเงินกู้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเพื่อตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเพื่อบรรเทาและช่วยเหลือภาคธุรกิจ ปัจจุบันถึงแม้สถานการณ์การ COVID-19 ในสปป.ลาวจะดีขึ้นแต่ตัวชี้วัดสำคัญอย่างอัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสม ทำให้รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกลับแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Study.php

ADB เผยเศรษฐกิจเวียดนามลดลง 0.41% จากไวรัสโควิด-19

จากรายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามลดลงร้อยละ 0.41 เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจากตัวรายงานฉบับนี้เผยแพร่ในหัวข้อ “ผลกระทบทางเศรษฐกิจของการระบาดของโควิด-19” ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าความเสียหายของเวียดนามนั้นอยู่ในทิศทางที่ดีเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเอเชีย ด้วยอยู่ในอันดับที่ 9 ตามมาด้วยไทเป (0.44%), สิงคโปร์ (0.57%), มองโกเลีย (0.74%), จีน (0.76%), ฮ่องกง (0.85%), ไทย (1.11), กัมพูชา (1.59%) และมัลดีฟส์ (2.05%) ขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของไวรัสนั้น จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเอเชียและโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริโภคในประเทศลดลง การชะลอตัวของการลงทุน การท่องเที่ยวทรุดและการหยุดชะงักด้านการผลิตสินค้า รวมถึงผลกระทบด้านสุขภาพ สำหรับกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ จะเป็นกลุ่มที่ทำการค้าและการผลิตกับจีน รวมถึงนักท่องเที่ยวจากจีนอีกด้วย นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกลดลงร้อยละ 0.2 ในช่วงปลายเดือนมกราคม คิดเป็นมูลค่าที่สูญเสียอยู่ที่ 156 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/adb-vietnam-to-lose-0-41-percent-of-gdp-due-to-covid-19/169850.vnp

รัฐบาลกำหนดมาตรการเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

รัฐบาลสปป.ลาวจะมีมาตราการในการลดอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจสำหรับนักธุรกิจในสปป.ลาวรวมถึงนักลงทุนต่างชาติ นายสมดีดวงดีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว่ารัฐบาลมุ่งมั่นที่จะอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจโดยขจัดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นและอุปสรรคอื่น ๆที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจออกไป ทั้งนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างแข็งขันและจะเริ่มดำเนินการเชิงรุกมากขึ้นในปี 2563 เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคและการเติบโตของเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาธุรกิจในประเทศ โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงการเงินสำหรับ SMEs รวมถึงการลดเวลาที่ใช้ในการจดทะเบียนธุรกิจเพื่อสนับสนุนสินค้าที่ผลิตในสสป.ลาวและผู้ประกอบการสปป.ลาว การดำเนินมาตรการดังกล่าวจะเริ่มใช้อย่างจริงจังในปีนี้เพื่อเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนธุรกิจในสปป.ลาวให้มีการเติบโตและภาคธุรกิจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจต่อไป

ที่มา : http://annx.asianews.network/content/govt-drawing-measures-improve-business-environment-114030

นายกรัฐมนตรีสปป.ลาวแนะมุ่งเน้นวิจัยเศรษฐกิจมหภาค

นายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะแก่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสปป.ลาว เรื่องการให้ความสำคัญกับการทำวิจัยเกี่ยวข้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมหภาคโดยเฉพาะในเรื่องวิธีการจัดการกับรายได้ที่ลดลงท่ามกลางค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นรวมถึงวิธีรับมือกับปัญหาการเงินรั่วไหลและปัญหาสำคัญอื่น ๆ ซึ่งในปีนี้สถาบันคาดว่าจะดำเนินการวิจัยในด้านการประเมินความยากจนและหาทางออกที่ยั่งยืนรวมถึงเสนอแนะแนวทางเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคพลังงานและเหมืองแร่ เพราะในอนาคตภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและการค้าคาร์บอนจะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับสปป.ลาว โดยในปีที่ผ่านมาสปป.ลาวถือว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่งจากการนำผลวิจัยไปแก้ปัญหาของประเทศได้ทั้งเรื่องลดความยากจนและอื่นๆ ทั้งนี้เกิดจากการร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยสปป.ลาวกับสถาบันพันธมิตรจากต่างประเทศทำให้ประสบผลสำเร็จในการนำผลวิจัยมาแก้ไข้ปัญหาในระดับมหภาค

ที่มา : http://annx.asianews.network/content/research-institute-needs-branch-out-pm-advises-112454