เขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ รายงานผลประกอบการปีล่าสุดในกัมพูชา

เขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ (PPSP) รายงานถึงผลประกอบการในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงรายได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 526,666 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นการลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อน โดย PPSP ดำเนินกิจการด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ บนพื้นที่ขนาด 357 เฮกตาร์ ในเมืองหลวงอย่างกรุงพนมเปญประเทศกัมพูชา ซึ่งมีบริษัทต่างชาติมากกว่า 80 แห่ง จาก 15 ประเทศ ทั่วโลก ดำเนินธุรกิจภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ โดยรายรับในช่วง 9 เดือน ลดลงร้อยละ 24 สู่มูลค่า 9,418,774 ดอลลาร์ และขาดทุนจากการดำเนินงานราว 397,489 ดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50970858/ppsp-reports-ytd-operating-loss-on-revenue-but-3-month-revenue-more-than-doubles/

กัมพูชา อนุมัติโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นรวม 146 โครงการ

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุนของญี่ปุ่น ผ่านการรับการส่งเสริมการลงทุน (QIP) ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการรับรองไปแล้ว 146 โครงการ ณ เดือนตุลาคม ด้วยเงินลงทุนรวม 2,853 พันล้านดอลลาร์ โดยเลขาธิการ CDC กล่าวเสริมถึงการที่กัมพูชามีความพยายามเป็นอย่างมากในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนและภาคธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในกัมพูชามากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติ 66 โครงการที่มีเงินลงทุนสะสมรวม 340 ล้านดอลลาร์ ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) โดยในปีนี้ CDC อนุมัติโครงการการลงทุนใหม่ผ่าน QIP ไปแล้ว 87 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 3 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยในปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยการลงทุนแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา มีเพียง QIP เท่านั้น ที่มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายฉบับนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50970860/146-japanese-investment-projects-valued-at-2-8-billion-registered-at-cdc/

“ทีเส็บ” ชง ครม.ประมูลงานระดับโลกมาจัดในไทย ชี้ลงทุน 1 หมื่นล้าน เงินสะพัดแสนล้าน

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2564 นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ เปิดเผยว่า เตรียเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่(ครม.สัญจร) จ.กระบี่ พิจารณาให้เสนอตัวประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพการจัดงานระดับโลก 3 งาน ประกอบด้วย 1.การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ปี 2569 (ค.ศ.2026) จ.อุดรธานี 2.การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ปี 2572 (ค.ศ.2029) จ.นครราชสีมา 3.การจัดงานเอ็กซ์โป 2028 ภูเก็ต ไทยแลนด์ ปี 2571 โดยทั้ง 3 งานในกรณีที่ได้เป็นเจ้าภาพ จะมีงบลงทุนก่อสร้างรวม 10,960 ล้านบาท สร้างเงินสะพัด 100,173 ล้านบาท เพิ่มมูลค่าการสร้างจีดีพีกว่า 68,520 ล้านบาท ขณะที่ภาครัฐมีรายรับจากภาษี 20,641 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 230,442 คน

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/economics/news_6733319

ญี่ปุ่นสนับสนุนโครงการระดับรากหญ้าด้านสุขภาพ การศึกษา เกษตรกรรม

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้เงินช่วยเหลือจำนวน 240,000 เหรียญสหรัฐสำหรับโครงการพัฒนาสี่โครงการในพื้นที่ชนบทของลาว ญี่ปุ่นจะให้ทุนสนับสนุนโครงการด้านสุขภาพสองโครงการในจังหวัดเชียงขวางและไซยะบุรี โครงการการศึกษาในจังหวัดหัวพัน และโครงการการเกษตรในจังหวัดสะหวันนะเขต ผ่านโครงการความช่วยเหลือแบบให้เปล่าสำหรับโครงการความมั่นคงของมนุษย์ระดับรากหญ้า ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าสำหรับโครงการความมั่นคงของมนุษย์ระดับรากหญ้า ให้เงินทุนสำหรับโครงการขนาดค่อนข้างเล็กซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นและมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศกำลังพัฒนา โดยอิงตามหลักความมั่นคงของมนุษย์

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Japan_223_21.php

GDT กัมพูชา รายงานถึงยอดการจัดเก็บภาษีในช่วง 10 เดือน

กรมสรรพากร (GDT) หน่วยงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชา รายงานถึงรายรับจากการจัดเก็บภาษีในช่วง 10 เดือนแรกของปี มูลค่ารวม 2,315 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียว มีการจัดเก็บภาษีเงินได้ประมาณ 208 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งผลของการจัดภาษีที่ลดลงเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสำคัญ โดยยังคงอยู่ในกรอบแผนการจัดเก็บภาษีที่ทางกรมได้กำหนดไว้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50970032/gdt-earns-2-3-billion-as-tax-revenue-in-10-months/

การขอปรับโครงสร้างสินเชื่อลดลง ผลจากเศรษฐกิจกัมพูชาเริ่มฟื้นตัว

โฆษกสมาคมไมโครไฟแนนซ์กัมพูชา (CMA) กล่าวว่าในช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2021 ยอดการขอปรับโครงสร้างสินเชื่อลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ระหว่าง 100-500 คนต่อสัปดาห์ เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ที่มีผู้ขอสินเชื่อมากถึง 10,000 รายต่อสัปดาห์ โดยมองว่าการลดลงของยอดการขอปรับโครงสร้างสินเชื่อนี้บ่งบอกถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกัมพูชา ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศเริ่มกลับมาดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดย ณ วันที่ 31 ตุลาคม ลูกค้าจำนวน 378,198 ราย ได้ยื่นขอปรับโครงสร้างเงินกู้ในสถาบันที่เป็นสมาชิกสมาคมทั้งหมด 115 แห่ง รวมถึงสถาบันย่อยที่มีเงินฝากทั้งหมด 66 แห่ง สถาบันที่ไม่รับฝากเงินรายย่อย 10 แห่ง บริษัทลีสซิ่ง 12 แห่ง สถาบันสินเชื่อในชนบท 23 แห่ง และธนาคาร 4 แห่ง ซึ่งมีลูกค้าเข้าร่วมโครงการ 356,775 ราย คิดเป็นร้อยละ 94 ของลูกค้าสินเชื่อ ได้รับการอนุมัติให้ปรับโครงสร้างหนี้สินได้ หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.720 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50970077/decrease-in-credit-restructuring-requests-a-sign-of-cambodias-economic-recovery/

ราคาหัวหอมในเมียนมา ลดลงฮวบกว่า 200-300 จัตต่อ viss

ราคาหัวหอมของเมียนมาได้ลดลงมากกว่า 200-300 จัตต่อ viss (1 viss เท่ากับ 1.66 กิโลกรัม) ขึ้นอยู่กับพันธ์และขนาด ราคาที่ตลาดหัวหอมเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ราคาอยู่ระหว่าง 950-1,100 จัตต่อ viss เจากการสั่งซื้อของบังกลาเทศ อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ราคาลดลงเหลือ 600-780 จัตต่อ viss  เนื่องจากไม่สามารถส่งออกไปจีนได้จากการปิดด่านในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด และคุณภาพของหัวหอมที่ส่งออกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาลดลง ผู้ค้าคาดการณ์ว่าตลาดหัวหอมของเมียนมามีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากจะมีการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น บังคลาเทศ เวียดนาม และไทยผ่านเส้นทางชายแดน ซึ่งแต่ก่อนมักจะนำเข้าจากอินเดีย แต่ตอนนี้อินเดียได้ระงับการส่งออก เนื่องจากพื้นที่ปลูกหัวหอมได้รับผลกระทบจากฤดูฝน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/onion-price-falls-by-over-k200-k300-per-viss/

ราคาอะโวคาโดเมียนมาพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ราคาอะโวคาโดพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์เนื่องจากผลผลิตที่ลดลง สมาคมผู้ผลิตและส่งออกอะโวคาโดของเมียนมา เผย ราคาขายอะโวคาโดอยู่ที่ 500-1500 จัตต่อลูก ขึ้นอยู่กับขนาด ปีที่แล้ว เมียนมาส่งออกอะโวคาโดประมาณ 5,000-10,000 ตัน ไปยังจีนและไทยทุกปี นอกจากนี้ มีการบริโภคภายในประเทศประมาณ 3,000 ตัน ต่อปี ส่วนพื้นที่เพาะปลูกในประเทศมีประมาณ 25,000 เอเคอร์ ส่วนใหญ่ปลูกในภูเขาชิน ภูเขานากา ที่ราบสูงฉาน หน่องกีโอ และปิยอูลวิน โดยผลผลิตจะเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่เดือนต.ค.ถึงเม.ย. ซึ่งภูมิอากาศแบบเขตร้อนที่ร้อนและดินที่อุดมสมบูรณ์ของเมียนมาทำให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการเพาะปลูกอะโวคาโดเป็นอย่างมาก ทั้งนี้อะโวคาโดถูกนำเข้าสู่เมียนมาเมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว และกลายเป็นผลไม้สำคัญในประเทศ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/avocado-prices-rise-to-record-high/#article-title

‘เวียดนาม’ เผยรายได้ต่ำ ระมัดระวังมากขึ้น รัดกระเป๋าแน่น!

ผลการสำรวจของ YouGov เปิดเผยว่าผู้คน 48% มีรายได้ลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบของการระบาดโควิด-19 และมากกว่าครึ่งหนึ่งลดการใช้จ่ายลง โดยหัวข้อในการสำรวจใช้ชื่อว่า “โควิด-19 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเงินส่วนบุคคลในเวียดนามได้อย่างไร” ผู้บริโภคชาวเวียดนามในปัจจุบันมีความรอบคอบมากที่สุดในโลก กลุ่มตัวอย่าง 2 ใน 3 (67%) ระมัดระวังเรื่องการเงินส่วนบุคคลมากกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาด ในขณะที่กลุ่มตัวอย่าง 34% ให้ความสำคัญกับการบริหารทางการเงินในครัวเรือน กรณีใช้ในยามฉุกเฉิน ทั้งนี้ YouGov Vietnam ชี้ว่าตามข้อมูลการสำรวจแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคชาวเวียดนามมีแนวคิดทางอนุรักษ์นิยมมากขึ้นสำหรับการบริหารทางการเงินส่วนบุคคล ซึ่งวิกฤติครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความรอบคอบทางการเงิน

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/less-income-more-prudence-covid-hit-vietnamese-world-class-in-tightening-purse-strings-4385249.html

 

‘สมัชชาแห่งชาติเวียดนาม’ ตั้งเป้าการเติบโตของ GDP ปี 65 โต 6%-6.5%

เมื่อวันที่ 12 พ.ย. สมัชชาแห่งชาติเวียดนาม (NA) พิจารณารับรองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปีหน้า ทำให้ต้องปรับประมาณการตัวเลขจีดีพี (GDP) อยู่ที่ 6%-6.5% โดยการลงมติดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชนและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนแก้ไขปัญหาในการทำธุรกิจและช่วยเหลือธุรกิจท้องถิ่น ยิ่งไปกว่านั้น เวียดนามต้องใช้ข้อได้เปรียบจากโอกาสทั้งหมด เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวและเป็นแรงขับเคลื่อนในการผลักดันเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ทางสมัชชาแห่งชาติ ได้ตั้งเป้ารายได้ต่อหัวที่ 3,900 เหรียญสหรัฐ, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อยู่ที่ระดับ 4% และอัตราการว่างงานในเมืองต่ำกว่า 4%

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/na-approves-2022-gdp-growth-target-at-6-6-5/