เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า กระทบเงินบาทของไทย-ริงกิตของมาเลเซีย รวมถึงสกุลอื่นๆ ในอาเซียน

สกุลเงินบาทของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในช่วงเริ่มต้นปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงขยายตัวและข้อมูลการจ้างงานที่สดใส ความคาดหวังที่เพิ่มสูงขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐจะคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกนาน ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เงินบาทของไทยและริงกิตของมาเลเซียได้รับผลกระทบหนักที่สุด แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวในช่วงสั้นๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ตามการตัดสินใจครั้งล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ “สกุลเงินเกือบทั้งหมดในโลกอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรก Joey Chew หัวหน้าฝ่ายวิจัย FX ของเอเชียของธนาคาร  HSBC กล่าวกับ The Business Times.

ที่มา : https://www.businesstimes.com.sg/international/asean/strong-us-dollar-hits-thai-baht-malaysian-ringgit-hardest-among-asean-currencies

ไทยอันดับ 1 ประเทศผู้ผลิตยานยนต์มากที่สุดในอาเซียน ด้านการแพทย์ดีที่สุดระดับโลก

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศวิสัยทัศน์ 8 ด้าน ให้ไทยก้าวขึ้นเป็นที่ 1 ในภูมิภาค มุ่งมั่นส่งเสริมทุกด้านที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ และเป็นด้านที่ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) และศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ (Medical and Wellness Hub) ทั้งนี้ เห็นความคืบหน้าจาก ไทยครองอันดับ 1 ประเทศผลิตรถยนต์มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2566 และผลการจัดอันดับ 250 โรงพยาบาลที่ดีที่สุดในโลกประจำปีพ.ศ. 2567 (250 World’s Best Hospitals 2024) ที่จัดให้โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ของไทย อยู่ในอันดับที่ 130 (สูงกว่าปีที่แล้วที่เคยอยู่ในอันดับที่ 182)

ที่มา : https://www.naewna.com/politic/795150#google_vignette

กัมพูชาและไทย ประกาศร่วมมือยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

กัมพูชาและไทย ประกาศความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกัน ผ่านการเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยคำมั่นสัญญานี้เกิดขึ้นระหว่าง ฮุน เซน ประธานพรรคประชาชนกัมพูชา และคุณแพทองทา ชินวัตร ประธานพรรคเพื่อไทย ในการหารือระดับทวิภาคี ด้าน สมเด็จฯ ฮุน เซน ได้แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของกัมพูชา ซึ่งเน้นไปที่การแสวงหาสันติภาพ การเปลี่ยนสนามรบเดิมให้เป็นเขตพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายแดนให้กลายเป็นเขตแดนแห่งสันติภาพ ด้านคุณแพทองทา เดินทางเยือนกัมพูชาเป็นเวลา 2 วัน (18-19 มี.ค.) ตามคำเชิญของ สมเด็จฯ ฮุน เซน โดยการเยือนครั้งนี้ถือเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน และความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อหวังการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501458226/cambodia-thailand-to-boost-economic-growth-though-connectivity/

ผู้ผลิตรถยนต์จีนจะต้องเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ประเทศไทยในปีนี้

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกรายงานการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย เน้นการส่งเสริมการลงทุนที่แข็งแกร่งในปี 2567 ตามมาตรการ EV 3.0 มาตรการเหล่านี้กำหนดให้บริษัทที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเพื่อขายในประเทศไทยต้องเริ่มการผลิตในปีนี้ จากรายงานของ สศช. เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 มีเนื้อหาส่วนที่เน้นแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยในปี 2566 จำนวนการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ใหม่สูงถึง 76,538 คัน เพิ่มขึ้น 695.9% เมื่อเทียบกับการจดทะเบียน 9,617 คันในปี 2565 การจดทะเบียนใหม่สำหรับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงแบบดั้งเดิมอยู่ที่ 481,609 คัน ลดลง 11.3% จาก 543,072 คัน ในปี 2565 ส่งผลให้สัดส่วนการจดทะเบียนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าใหม่ต่อยอดจดทะเบียนรถยนต์ทั้งหมดอยู่ที่ 11.6% ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 1.5% ในปี 2565 สำหรับปี 2566 การจดทะเบียนใหม่สำหรับแบรนด์รถยนต์ EV คือ BYD (จีน) 30,467 คัน Neta (จีน) 12,777 คัน MG (จีน) 12,462 คัน เทสลา (สหรัฐอเมริกา) 8,206 คัน และ GWM (ORA) (จีน) 6,746 คัน ทั้งนี้ ค่ายรถยนต์เหล่านี้ ต้องเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยภายในปีนี้ โดยข้อมูลกำลังการผลิตรถยนต์ EVs ในประเทศไทยทั้งหมดมาจากผู้ผลิตรถยนต์จีน โดยแยกตามยี่ห้อ Neta 200,000 คัน, Changan: 100,000-200,000 คัน (กำลังการผลิตเริ่มต้น 100,000 คัน), BYD 150,000 คัน MG 100,000 คัน และ GWM 80,000 คัน หากกำลังการผลิตของโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่จัดตั้งขึ้นโดยประเทศต่างๆ สามารถเป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรการจูงใจได้ ก็จะช่วยส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและส่วนประกอบไฟฟ้าที่สำคัญทั่วโลก

ที่มา : https://www.nationthailand.com/thailand/policies/40036474

สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 มีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงสิ้นปีนี้

สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างแขวงบอลิคำไซ ในประเทศลาว กับจังหวัดบึงกาฬของประเทศไทย มีความคืบหน้าตามกำหนด และสะพานดังกล่าวจะเปิดให้สัญจรได้ในปลายปีนี้ โดยสะพานแห่งนี้มีความยาว 1,350 เมตร และจะช่วยส่งเสริมการเดินทางระหว่างลาวและไทย กระตุ้นให้เกิดการค้ากับประเทศอื่นๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการฝั่ง สปป.ลาว กล่าวว่า สะพานจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 และงานดังกล่าวคืบหน้าไปอย่างราบรื่นหลังจากการประเมินการก่อสร้างแล้วเสร็จมากกว่า 80% ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นจากเงินกู้จำนวน 1.38 พันล้านบาท จากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทย (NEDA) ได้รับการค้ำประกันโดยรัฐบาล สปป.ลาว โดยโครงการก่อสร้าง ประกอบด้วย การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำฝั่ง สปป.ลาว ระยะทาง 535 เมตร และการก่อสร้างถนนทางเข้าอาคารตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร และโครงสร้างอื่นๆ ในฝั่ง สปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freefreenews/freecontent_54_Fifth_y24.php

‘เซ็นทรัลพัฒนา’ ผู้นำอสังหาฯ ไทย จัดตั้งบริษัทย่อยในเวียดนาม

‘เซ็นทรัลพัฒนา’ (Central Pattana : CPN) หนึ่งในเครือเซ็นทรัลที่เป็นองค์กรเอกชนชั้นนำในการดำเนินธุรกิจที่หลากหลายอุตสาหกรรมของประเทศไทย เดินหน้าจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ในเวียดนาม เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจจากในตลาดท้องถิ่น ในขณะที่บริษัทย่อย ซีพีเอ็น โกบอล เวียดนาม มีเงินทุนจดทะเบียนราว 20 พันล้านดอง โดยซีพีเอ็น โกบอล เวียดนาม เป็นผู้ถิอหุ้น 100% ดำเนินการจัดการอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนาม

ทั้งนี้ จากข้อมูลของเว็บไซต์บริษัท เปิดเผยว่าเซ็นทรัลพัฒนาเป็นผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกชั้นนำในประเทศไทย และมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2538 โดยในปัจจุบัน เซ็นทรัลพัฒนาเป็นเจ้าของและบริหารจัดการห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์เกือบ 40 แห่ง อาคารสำนักงาน 10 แห่ง และโรงแรมอีก 5 แห่งที่มีพื้นที่เช่ารวมเกิน 2.3 ล้านตารางเมตร พร้อมอาคารอพาร์ตเมนต์จำนวน 28 หลัง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/thai-property-developer-central-pattana-sets-up-new-subsidiary-in-vietnam-post1078025.vov

รมว.อุตสาหกรรมของไทยหารือร่วม JETRO และ JCC ถกแนวโน้มทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมหารือกับนายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น และนายยามาชิตะ โนริอากิ ประธานหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ และคณะกรรมาธิการวิจัยทางเศรษฐกิจของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ในประเด็นเข้ารายงานสรุปผลการสำรวจแนวโน้มความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย พบว่า แนวโน้มดัชนีเศรษฐกิจ (ID) คาดการณ์อยู่ที่ -16.0 อันเนื่องมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก และอุปสงค์การส่งออกที่ลดลง แต่มีการปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 10 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 เนื่องจากมีการขยายตัวเรื่องการท่องเที่ยว และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมได้ไปเยือนญี่ปุ่น มีโอกาสเข้าร่วมหารือกับกระทรวง METI เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรม ใน 4 มิติ ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การกำจัดซากรถยนต์ และการศึกษาเพื่อพัฒนาเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและเกิดโอกาสใหม่ ๆ ในการลงทุน

ที่มา: https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/9/iid/261166

ไทย-สปป.ลาว เตรียมผลักดันด่านชายแดนถาวรแห่งใหม่ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า

เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจากทั้งไทยและ สปป.ลาว ได้หารือเกี่ยวกับการปรับปรุงจุดตรวจเชื่อมระหว่างหมู่บ้านปักสะพาน เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน สปป.ลาว กับบ้านปากแสง อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย จุดตรวจนี้เกิดขึ้นจากข้อจำกัดสำหรับสินค้าบางประเภทที่จำกัดการขายและการขนส่ง ณ จุดตรวจ คาดว่าการพัฒนาในครั้งนี้จะปูทางไปสู่การเปิดการค้าข้ามพรมแดนโดยสมบูรณ์ โดยมีกำหนดจะเริ่มการพัฒนาภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยประเมินมูลค่าการค้าบริเวณจุดตรวจนี้มีมูลค่าเกิน 2.8 พันล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 77.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และในอนาคตมีแผนที่จะสร้างสะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งที่ 6 ที่จะย่นเส้นทางการค้าจากไทยไปยังเมืองดานัง ประเทศเวียดนามลงอย่างมาก โดยลดเหลือ 137 กิโลเมตร เพื่อส่งเสริมการค้าในระดับภูมิภาค และคาดว่าจะช่วยปรับปรุงการเคลื่อนย้ายสินค้า ผู้คน และบริการ ส่งเสริมการค้าระหว่างลาว ไทย และเวียดนามได้มากขึ้น

ที่มา: https://laotiantimes.com/2024/02/19/laos-thailand-to-implement-permanent-border-checkpoint-boost-trade-cooperation/

‘เวียดนาม’ ทำยอดขายรถยนต์รั้งอันดับ 5 ในอาเซียน

สมาพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอาเซียน (AAF) รายงานว่าในปี 2566 อินโดนีเซียมียอดขายรถยนต์มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน จำนวนมากกว่า 1 ล้านคัน ลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามมาด้วยมาเลเซียที่ 799,731 คัน เพิ่มขึ้น 10.9% ไทย 775,780 คัน และฟิลิปปินส์ 429,807 คัน ขณะที่เวียดนามตกลงมาอยู่ในอันดับที่ 5 ของภูมิภาค ทำยอดขายรถยนต์ 301,989 คัน ลดลง 25.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์เวียดนาม (VAMA) เปิดเผยว่าในปี 2566 ยอดขายรถยนต์ในเวียดนามทั้ง 3 ประเภท ปรับตัวลดลง โดยยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลลดลง 27% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ลดลง 16% และรถยนต์เฉพาะกิจลดลง 56% เมื่อเทียบเป็นรายปี

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่าอุตสาหกรรมรถยนต์เผชิญกับอุปสรรคหลายประการ อาทิเช่น ความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจและภาระดอกเบี้ย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนและทำให้ยอดขายรถยนต์ชะลอตัวลง

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1650549/vn-s-automobile-market-stands-fifth-place-in-the-region.html

ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาด FTA พุ่ง! ขึ้นแท่นเบอร์ 1 ในอาเซียน

น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงสถานการณ์การส่งออกสินค้าของไทยไปกลุ่มประเทศคู่ค้า ที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ว่า ในปี 2566 ไทยส่งออกสินค้าไปกลุ่มประเทศคู่ค้า FTA คิดเป็นมูลค่า 167,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลงเล็กน้อย 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ซึ่งเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

แต่หากพิจารณากลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ พบว่า สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ส่งออกไปประเทศคู่ค้า FTA ขยายตัวได้ดี โดยสินค้าเกษตร มีมูลค่า 19,563 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4% คิดเป็นสัดส่วนถึง 73% ของการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด ทั้งนี้ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ถือเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกสูง ซึ่งปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปอันดับ 3 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 11 ของโลก

ที่มา : https://www.infoquest.co.th/2024/375345