พาณิชย์เมียนมา เผย นำเข้าลดฮวบเหลือ 13.4 พันล้านดอลลาร์ในปีงบฯ ปัจจุบัน

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย มูลค่าการนำเข้าของเมียนมาในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 63-64 ลดลงเหลือ 13.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 17.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของปีงบประมาณก่อน โดยการนำเข้าแบ่งเป็นสินค้าทุน เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ยานพาหนะ เครื่องจักร เหล็กกล้า ฯลฯ มีมูลค่าการนำเข้าประมาณ 4.33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่าปีงบประมาณก่อน 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน สินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงยา เครื่องสำอาง และน้ำมันปาล์ม ลดลงเล็กน้อย 82.7 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อน ส่วนสินค้าขั้นกลางเป็นสินค้านำเข้าเป็นอันดับสองของเมียนมา ปีนี้มีการนำเข้าวัตถุดิบลดลง เป็น 4.65 พันล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 5.79 พันล้านดอลลาร์ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งวัตถุดิบมูลค่ากว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า Cut-Make-Pack (CMP) ลดลงจากปีงบประมาณก่อน 584 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย 10 อันดับประเทศที่เมียนมานำเข้ามากที่สุด ได้แก่ จีน สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/14-september-2021/#article-title

รัฐบาลร่วมมือเอกชนในการพัฒนาไอซีที

กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร และ บริษัท ลาว เกตเวย์ จำกัด ร่วมมือทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโซลูชั่นเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล พวกเขาจะพัฒนาระบบบัญชีบนคลาวด์ที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถรักษาบัญชีที่ถูกต้องได้ และยังจะพัฒนาความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อรับรองความปลอดภัยของเครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยมุ่งเน้นที่การขยายกลยุทธ์ของเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล นอกจากนี้ บนเส้นทางสู่การพัฒนาระบบดิจิทัลของรัฐบาล กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารและพันธมิตรด้านการพัฒนายังได้เปิดตัวโครงการ Digital Government Transformation ในปีนี้ เพื่อช่วยสร้างขีดความสามารถด้านดิจิทัลและเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อการบริการสาธารณะที่ดีขึ้น ครอบคลุมมากขึ้นเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Ministry_179.php

‘HSBC’ ชี้ภาคการผลิตของเวียดนามตกต่ำ ป่วนห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก

ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ได้เปิดเผยว่าภาคการผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอปรับตัวลดลง เนื่องจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนาม ชี้ว่าโรงงานสิ่งทอราว 35% ต้องปิดตัวลง อย่างไรก็ดี ตัวเลขของส่วนแบ่งการตลาดของอุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้าอยู่ที่ 15% เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ บริษัทกีฬาระดับโลกอย่าง “Nike” เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญของเวียดนามที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ด้วยจำนวนโรงงาน 112 แห่งที่กระจายไปทั่วโลก และจำนวนโรงงานข้างต้นนั้น โรงงาน 88 แห่งได้ตั้งอยู่ในเวียดนาม ซึ่งผลิตรองเท้าเกือบครึ่งหนึ่งของบริษัท นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เผยว่าเวียดนามมีรายได้จากการส่งออกเสื้อผ้าและสิ่งทอ อยู่ที่ 21.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 9.7% และ 16.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnam-production-slump-disrupting-global-supply-chain-hsbc-4355645.html

‘เวียดนาม’ เผยยอดขายยานยนต์ชะลอลง เหตุโควิด-19

ยอดขายยานยนต์ของเวียดนามในเดือนสิงหาคมได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และอยู่ในระดับแตะจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 2558 สมาคมผู้ผลิตยานยนต์แห่งเวียดนาม (VAMA) เปิดเผยว่าในเดือนดังกล่าว ตัวเลขของยอดขายลดลง 45% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ สมาชิกของสมาคมฯ มียอดขายยานยนต์รวมทั้งสิ้น 175,400 คัน ลดลง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากแบ่งประเภทยานยนต์ พบว่ายอดขายของยานยนต์ส่วนบุคคล 121,549 คัน และยานยนต์เชิงพาณิชย์ 50,034 คัน และยานยนต์วัตถุประสงค์พิเศษ 3,817 คัน นอกจากนี้ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 เมื่อปลายเดือนเมษายน กลุ่มตัวแทนจำหน่ายยานยนต์ โรงงานและศูนย์ซ่อมยานยนต์หลายแห่งของสมาคมฯ ต้องหยุดดำเนินกิจการ เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-automobile-sales-slip-to-record-low-due-to-covid19/207891.vnp

ร้านค้าปลีกจากไทยเร่งขยายสาขาภายในกัมพูชา

กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่จากไทย 2 แห่ง ได้แก่ CP Group และ Berli Jucker Plc (BJC) เตรียมเดินหน้าขยายธุรกิจค้าปลีกในกัมพูชา ซึ่ง ซีพี กรุ๊ป สนใจเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตเทสโก้ โลตัส แห่งแรกในกัมพูชาตามรายงานสื่อ โดยก่อนหน้านี้ ซีพี กรุ๊ป ได้เปิดร้านค้าปลีกภายในกัมพูชาไปแล้วเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ผ่านบริษัท CP ALL (Cambodia) ที่เป็นบริษัทลูกของ CP ALL (Thailand) ซึ่งได้เปิดร้านสะดวกซื้อที่รู้จักกันในนาม 7-Eleven แห่งแรกในกรุงพนมเปญ โดย ซีพี กรุ๊ป กำลังเผชิญกับการแข่งขันจากกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง BJC ซึ่งได้เปิดบิ๊กซีสาขาแรกในเมืองหลวงของกัมพูชาไปเมื่อต้นเดือนนี้เช่นเดียวกัน โดยบริษัทวางแผนที่จะเพิ่มการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจค้าปลีกในประเทศกัมพูชาในอีก 5 ปีข้างหน้า ตามรายงานของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50934037/thai-retailers-pursuing-the-kingdoms-keen-shoppers/

8 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกรวมแตะหมื่นล้านดอลลาร์

ตัวเลขการส่งออกของกัมพูชาในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ลดลง รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งระบุว่ามูลค่าการส่งออกรวมของกัมพูชาอยู่ที่ 1.109 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยตลาดส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป แคนาดา ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และ กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาด การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มปรับตัวลดลง ในขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก รองประธานหอการค้ากัมพูชา กล่าวเสริมว่า การค้ากับคู่ค้าต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่มรวมถึงจักรยานที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ด้วยข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งกัมพูชาคาดว่าจะได้รับการลงทุนเพิ่มขึ้น ที่ถือเป็นการกระตุ้นการส่งออกและการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อป้อนห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศในระยะถัดไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50934036/eight-month-exports-valued-at-11-08-bn/

‘บิ๊กซี’ขยายสาขาต่างแดน เปิดร้านสะดวกซื้อในกัมพูชา

บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบริษัทบีเจซี ล่าสุดเปิด “มินิบิ๊กซี สาขาตลาดเดโป” ร้านสะดวกซื้อสาขาแรกในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เนื่องจากมองเห็นโอกาสกำลังซื้อสูงจากการขยายตัว และการขยายตัวของธุรกิจ ในกัมพูชามีแนวโน้มเติบโตสำหรับ มินิบิ๊กซี สาขาตลาดเดโปตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวง ถนนชวาหระลาลเนห์รู บูเลอวาร์ด นำเข้าสินค้าจากไทยทั้งอาหารสดและอาหารแห้ง ทั้งนี้ ยังสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเข้ามาจำหน่าย ประมาณ 20% ส่วนอนาคต ได้ตั้งเป้าหมายหลักที่กรุงพนมเปญ เนื่องจากเป็นเมืองศูนย์กลางการค้ามีประชากรจำนวน 2 ล้านคนจากประชากร 15.2 ล้านคนในประเทศ ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยด้านวัฒนธรรมตลอดจนความคล้ายคลึงกันในรสนิยมระหว่างกัมพูชาและไทย

ที่มา: https://www.naewna.com/business/601888

สะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 5 สำเร็จไปแล้วกว่า 14 %

การก่อสร้างสะพานมิตรภาพลาว-ไทยแห่งที่ 5 เชื่อมจังหวัดบริคัมไซกับจังหวัดบึงกาฬในประเทศไทยข้ามแม่น้ำโขงคีบหน้า 14 % ของการก่อสร้างทั้งหมด เมื่อแล้วเสร็จคาดว่าสะพานจะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและเส้นทางคมนาคมระดับภูมิภาคอีกแห่งสำหรับสปป.ลาวและประเทศเพื่อนบ้าน โครงการดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านของไทย (สพพ.) ให้เงินกู้แก่รัฐบาลสปป.ลาว 1.38 พันล้านบาท นายเลทอง พรมวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการกล่วว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการก่อสร้างถนนและสะพานที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อไม่ให้ลาวถูกมองว่าไม่มีทางออกสู่ทะเลอีกต่อไป แต่กำลังจะกลายเป็นประเทศศูนย์กลางโลจิสติกส์ในระดับภูมิภาค ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เนื่องจากจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสปป.ลาว”

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Road177.php

เวียดนามขึ้นเป็นประเทศผู้นำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์รายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา

กัมพูชากล่าวถึงเวียดนาม ที่ถือเป็นประเทศผู้นำเข้าเม็ดมะม่วงหิมพานต์รายใหญ่ของกัมพูชาในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2021 โดยข้อมูลรายงานจากกระทรวงเกษตรกัมพูชาเปิดเผยว่า กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ประมาณ 876,531 ตัน ในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 350 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งกล่าวว่าร้อยละ 99 ของการส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ทั้งหมดหรือเกือบ 870,000 ตัน ถูกส่งออกไปยังเวียดนาม โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เพาะปลูกและสินค้าคงคลังจากปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันกัมพูชามีการเพาะปลูกต้นมะม่วงหิมพานต์มากกว่า 500,000 เฮกตาร์ ในเขตพื้นที่ 10 จังหวัด ตามข้อมูลของสมาคมมะม่วงหิมพานต์กัมพูชา เพื่อเป็นการรองรับความต้องการของตลาดในระยะถัดไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50933602/vietnam-becomes-leading-market-of-cambodias-cashew-nuts/

ทางการกัมพูชารายงานถึง FDI ใหม่ในช่วงของการแพร่ระบาด

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) กล่าวเมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมาว่า ตามข้อเสนอการลงทุนสำหรับโครงการโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของบริษัท Flourish Garment (Cambodia) Co., Ltd. คณะกรรมการการลงทุนของ CDC กัมพูชา ได้ออกใบอนุมัติการจัดตั้งขั้นสุดท้ายให้แก่บริษัทที่ตั้งอยู่ในอำเภอเกียนสวาย จังหวัดกันดาล ด้วยเงินลงทุนประมาณ 5 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสามารถสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นได้ประมาณ 1,414 ตำแหน่ง ซึ่งทางการกัมพูชารายงานให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน แม้สถานการณ์ของโควิด-19 ในกัมพูชาจะยังไม่จบลง โดยเห็นได้จากโครงการลงทุนใหม่จากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก ตามรายงานของ CDC ที่ได้อนุมัติโครงการลงทุนมากกว่า 90 โครงการในช่วงของการแพร่ระบาด โดยมีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2021 สร้างงานให้กับคนในประเทศมากกว่า 60,000 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50932715/despite-pandemic-fdi-continue-to-flow-into-cambodia-with-5-million-garment-factory-in-kien-svay/