ญี่ปุ่นวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในกัมพูชา

บริษัทญี่ปุ่นได้ลงทุนบนโรงไฟฟ้าพลังงานจากขยะและสถานีกักเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในกัมพูชา โดย Mikami Masahiro เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชาในการพบปะกับ Suy Sem รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานในพนมเปญเมื่อต้นสัปดาห์ ซึ่งเอกอัครราชทูตกล่าวว่าการระบาดของ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากทั่วโลกและส่งผลกระทบต่อโครงการพัฒนาหลายโครงการในกัมพูชา แต่อย่างไรก็ตามความสำคัญคือกัมพูชาและญี่ปุ่นยังคงทำงานร่วมกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านการเจรจาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาโครงการลงทุนระหว่างสองประเทศ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมีความยินดีกับโครงการลงทุนของญี่ปุ่นในภาคพลังงานโดยเน้นว่ากัมพูชากำลังปรับแผนการจัดหาไฟฟ้าเพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างรวดเร็วของประเทศ ซึ่งโครงการพลังงานไฟฟ้าจากขยะในกัมพูชาได้รับการเสนอโดยบริษัทหลายแห่ง แต่เนื่องจากมีต้นทุนการลงทุนที่สูงเมื่อเทียบกับโครงการพลังงานอื่นๆ จึงยังไม่มีการลงทุนอุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50780638/japan-unveils-plan-to-build-waste-to-energy-plant-in-cambodia/

แรงงานภาคการท่องเที่ยวกัมพูชากว่า 5 หมื่นรายกำลังได้รับผลกระทบ

กระทรวงการท่องเที่ยวระบุตัวเลขจำนวนการเลิกจ้างงานเกือบ 51,000 ตำแหน่งในภาคการท่องเที่ยว จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจำนวนกว่า 2,838 ราย ในกัมพูชาที่ต้องปิดตัวลงหรือทำการปิดชั่วคราวเนื่องจากผลกระทบจาก COVID-19 โดยในการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจการท่องเที่ยวในช่วงการระบาดของ COVID-19 ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดเสียมราฐเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลวางแผนเพื่อฟื้นฟูภาคส่วนเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ เช่นแผนงานในการฟื้นฟูและส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวของกัมพูชา (ปี 2020-2035) และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยว (2021-2030) เพื่อรองรับต่อสถานการณ์ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในช่วง COVID-19 ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้เพิ่มมาตรการที่ 6 เพื่อจัดการผลกระทบต่อภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศต่อไป รวมถึงมาตรการภาษี มาตรการคุ้มครองแรงงาน และการยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตการท่องเที่ยวทั่วประเทศ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในกัมพูชาในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2020 ลดลงกว่าร้อยละ 74.1 ตามรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50780626/51000-tourism-based-jobs-in-cambodia-vapourised-because-of-covid-10-pandemic/

เวียดนามเผยหนี้เสียพุ่ง เหตุโควิด-19

ธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง เผยผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ปี 63 พบว่าจำนวน 14 แห่ง มีหนี้เสีย (NPL) พุ่งร้อยละ 30 หรือมากกว่านั้น ในขณะที่ ธนาคารเพื่อการลงทุนและพัฒนาของเวียดนาม (BIDV) มีหนี้เสียเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ด้วยมูลค่า 22.5 ล้านล้านด่อง ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาผู้ให้กู้ทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้นำธนาคาร กล่าวว่าจำนวนหนี้คุณภาพต่ำเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อหลายธุรกิจประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและความต้องการสินค้าและบริการหดตัวลง อย่างไรก็ตาม นาย Nguyen Tri Hieu นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่าหนังสือเวียนของแบงก์ชาติเวียดนาม เดือนมี.ค. ได้อนุมัติให้ธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัส และขยายเวลาระยะคืนทุน

 ที่มา : https://vietreader.com/business/22446-non-performing-loans-surge-due-to-pandemic.html

เวียดนามเผยยอดตั้งธุรกิจใหม่และการกลับมาดำเนินธุรกิจ ฟื้นตัว ต.ค. 63

สำนักงานจดทะเบียนธุรกิจ เปิดเผยว่าการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ในเดือนที่แล้ว อยู่ที่ 12,205 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับเดือนก.ย. ในขณะเดียวกัน เดือนต.ค. ธุรกิจกลับมาดำเนินกิจการ 5,044 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคค้าปลีก ซ่อมยานยนต์ การก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิตและการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้  เวียดนามมีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนใหม่ จำนวน 111,160 ราย ลดลงร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นอกจากนี้ เงินทุนจดทะเบียนเฉลี่ยอยู่ที่ 14.3 พันล้านด่อง (617,070 ดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธุรกิจรายใหม่อยู่ในช่วงขยายกิจการ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/more-firms-established-resuming-operation-in-october/189979.vnp

ค้าชายแดนเมียนมา-ไทยต้นทุนค่าเสียหายพุ่งสูงขี้น

มีคำแนะนำสำหรับการถ่ายสินค้าเพื่อการค้าบริเวณชายแดนและบรรจุลงรถแยกที่สะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา 2 ทำให้ผู้ค้าในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากจากความเสียหายที่เพิ่มขึ้น นาย U Aung Myint Oo ผู้อำนวยการ บริษัท การค้า Klohtoo Wah Co. Ltd. เผยสินค้าบางที่อย่างไม่สามารถตากแดดหรือฝนได้ เช่น แป้งข้าวเจ้าจะได้รับความเสียหายหากเปียก แต่การบรรจุสินค้าขึ้นรถบรรทุกของไทยจำเป็นต้องนำไปเก็บไว้ชั่วคราวที่อาคารผู้โดยสาร ซึ่งการขนย้ายสินค้ายังต้องใช้ค่าแรงเพิ่มเติม หลังจากมีผู้ตรวจพบ COVID -19 ในแม่สอดของประเทศไทยอีก 5 รายเมื่อเดือนที่แล้วสะพานมิตรภาพไทย – เมียนมา ปิดให้เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ การสัญจรกลับมาได้อีกครั้งในวันที่ 25 ตุลาคม โดยปกติรถบรรทุกจะใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงเพื่อข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศไทย ขณะนี้สมาคมผู้ค้าหน่วยงานภาครัฐและหอการค้าเมียนมากำลังเจรจากับเจ้าหน้าที่ไทยเพื่อหาทางออกที่ช่วยบรรเทาภาระนี้ ปัจจุบันในแต่ละวันมีรถบรรทุกมากกว่า 300 คันวิ่งผ่านสะพาน ส่วนใหญ่จะนำเข้าวัสดุก่อสร้างจากไทย ในขณะการส่งออกจะเป็นผักและผลไม้ เช่น ข้าวโพด พริก และถั่วลิสง

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/more-costs-damage-incurred-while-trading-thai-border.html

ปศุสัตว์ ปลื้มโควิดดันส่งออกหมูพุ่ง 344 %

ปศุสัตว์ ชี้นโยบายอาหารปลอดภัย ผนึกโควิด ทำตลาดต่างประเทศอ้าแขนรับ ดันส่งออก หมู เพิ่ม 344 % 1.3 หมื่นล้านบาท ด้านไก่ เพิ่ม 0.67 % มูลค่า 8.9 หมื่นล้านบาท รุ่ง ตลาดต่างประเทศอ้าแขนรับ ภาพรวมการผลิตและการส่งออกสินค้าปศุสัตว์สำคัญ โดยเฉพาะหมูและไก่เนื้อในช่วงที่ผ่านมา ไทยถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในระดับโลกด้านมาตรฐานความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety ทำให้สินค้าปศุสัตว์ไทยเป็นที่ต้องการในตลาดโลก สะท้อนจากความสามารถในการส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงม.ค.- ต.ค. 2563 การส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์ของไทย ในส่วนของสุกรมีชีวิตปริมาณรวม 2 ล้านตัว เพิ่มขึ้น 344.30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกสุกรขุน 1,9 ล้านตัวและส่งออกสุกรพันธุ์ 1แสนตัว ขณะที่การส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ รวมถึงชิ้นส่วนอื่นๆ รวม 4.3 หมื่นล้านตัน มูลค่า5.1 พันล้านบาท สำหรับการส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ ในช่วง 10 เดือนของปี 2563 ไทยมีปริมาณการส่งออกรวม 7.69 แสนตัน มากกว่าช่วงเดียวของปีก่อนหน้า 0.67% มูลค่ารวม 8.9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเนื้อไก่แปรรูป 58.50% ปริมาณ 4.5 แสนตัน มูลค่า 6.2 หมื่นล้านบาท และเนื้อไก่สด 41.50% ปริมาณ 3.1 แสนตัน มูลค่า 2.7 หมื่นล้านบาท โดยตลาดสำคัญของเนื้อไก่แปรรูป คือ ญี่ปุ่น อังกฤษ และอียู ขณะที่เนื้อไก่สดมีญี่ปุ่น จีน และอียู เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/906584

รมว.พาณิชย์ถก JFCCT เร่งลดอุปสรรคการค้า-ดึงดูดลงทุนหลังโดนผลกระทบโควิด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) นำโดยนายสแตนลีย์ คัง ประธาน JFCCT ว่า วันนี้ได้พบปะหารือตัวแทนหลายประเทศในกลุ่มหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย โดยประเด็นที่ 1 คือเรื่อง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่ง JFCCT ต้องการให้ผู้ประกอบธุรกิจต่างด้าวสามารถถือหุ้นได้ 100% ในการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้บัญชี 3 บางรายการในช่วง 3 ปีนี้ เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาประเทศไทยในช่วงโควิด ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์รับจะพิจารณาให้ ภายใต้ขั้นตอนกระบวนการตามที่กฎหมายกำหนด เรื่องที่ 2 คือ การเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับหลายกลุ่ม ที่มีความชัดเจนอย่างน้อย 5 ประเทศ 5 กลุ่ม คือ FTA ไทย-EU, ไทย-UK, ไทย-EFTA กลุ่มประเทศแถวสวิส นอร์เวย์, ไทย-ยูเรเซีย และอาเซียนกับแคนาดา เรื่องที่ 3 คือ มาตรการฟื้นการท่องเที่ยวที่ภาคเอกชนต่างประเทศ อยากเห็นการกำหนดเงื่อนเวลาที่จะให้กักตัวอย่างชัดเจนและจะมีมาตรการผ่อนคลายเพิ่มขึ้นเมื่อใด ส่วนเรื่องที่ 4 เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งที่ภาคเอกชนต่างประเทศ ต้องการเห็นการขนถ่ายสินค้าที่สะดวกขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับการพบปะกันนั้น จะเปิดโอกาสให้หอการค้าต่างประเทศได้หารือกับกระทรวงพาณิชย์มากขึ้น เพื่อจะได้ติดตามความคืบหน้า และร่วมกันทำงานคลี่คลายปัญหาที่ติดขัด เพื่อช่วยกันฟื้นเศรษฐกิจและเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยด้วย

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3172940

กระทรวงฯ คาดว่าการส่งออกของเวียดนามในปี 63 โต 3-4%

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่าเวียดนามยังคงรักษาอัตราการเติบโตของการส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ก็ตาม โดยในช่วง 10 เดือนแรก เวียดนามมีมูลค่าการส่งออก อยู่ที่ 229.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ยอดการส่งออกของธุรกิจในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 (28.7% ของยอดส่งออกรวม) ในขณะที่ธุรกิจต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 (71.3% ของยอดส่งออกรวม) อย่างไรก็ตาม รองผู้อำนวยการฝ่ายการส่งออกและนำเข้า กล่าวว่าสหรัฐฯ ยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่า 62.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รองลงมาจีน สหภาพยุโรป อาเซียน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น ตามลำดับ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ คาดว่าผู้ส่งออกในท้องถิ่นยังคงทำตลาดแบบดั้งเดิมอยู่และมองหาตลาดใหม่ๆ เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงฯ กล่าวว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรม การส่งออกและการค้าในประเทศ ปี 2563 อาจอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น และคาดว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4 เมื่อเทียบกับปี 2562

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/ministry-predicts-2020-export-growth-of-34-pct/189865.vnp

เผยผลสำรวจพบนักช้อปชาวเวียดนามซื้อสินค้าออนไลน์พุ่ง ในปี 2563

“เอเซีย พลัส” บริษัทวิจัยตลาดเอเชียและอาเซียน เปิดเผยผลสำรวจของผู้บริโภคชาวเวียดนาม เรื่อง “ตลาดอีคอมเมิร์ซเวียดนาม ปี 2563” ทำการสำรวจเดือนต.ค. 2563 รวมทั้งสิ้น 700 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการซื้อสินค้าออนไลน์ เมื่อถามถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการซื้อสินค้าออนไลน์ พบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ร้อยละ 59 ใช้แอปพลิเคชันบนมือถือ ในขณะที่ร้อยละ 19 ใช้คอมพิวเตอร์ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากนักช้อปชาวเวียดนามอยู่บ้านมากขึ้นในช่วง COVID-19 ส่งผลให้การซื้ออาหารและเครื่องดื่มผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย รองลงมาแฟชั่น เครื่องสำอาง อุปกรณ์กีฬา หนังสือ โทรศัพท์มือถือและของใช้ภายในบ้าน ซึ่งล้วนแต่เป็นสินค้าที่นิยมซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินที่ซื้อสินค้าออนไลน์ ส่วนใหญ่ร้อยละ 53 ใช้จ่ายต่ำกว่า 500,000 ด่องต่อเดือน (21.6 ดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ร้อยละ 21 ใช้จ่าย 700,000-1 ล้าน ด่องต่อเดือน (30.3-43.2 ดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ สำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ พบว่า ช้อปปี้ (Shopee) เป็นแพลตฟอร์ที่นักช้อปชาวเวียดนามร้อยละ 36 นิยมซื้อนิยมสินค้ามากที่สุด รองลงมาลาซาด้า (28%) และทิกิ (11%) โดยสาเหตุที่ช้อปปี้ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องมาจากราคาและความหลากหลายของสินค้าที่มีความเหมาะสม รวมถึงมีภาพลักษณ์ให้ความสนุกสนานในการจับจ่ายใช้สอย

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnamese-shoppers-increase-online-purchase-frequency-in-2020-survey-314726.html

ร่างคุ้มครองผู้บริโภคเมียนมาพร้อมประกาศใช้

จากรายงานของฝ่ายกิจการผู้บริโภคภายใต้กระทรวงพาณิชย์ เมียนมาได้จัดทำร่างโครงการคุ้มครองผู้บริโภคระดับชาติเป็นที่เสร็จสิ้นแล้ว เนื้อหาในร่างนี้จะรวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภค การศึกษาการสื่อสารการตลาดและการดำเนินการเพื่อผู้บริโภค โดยได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของเมียนมาและจะถูกส่งต่อไปยังรัฐบาล โครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 และจะประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป โปรแกรมนี้ได้รับความช่วยเหลือจากนานาชาติรวมถึงการขอความช่วยเหลือสำหรับผู้บริโภคออนไลน์

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/consumer-protection-program-drafted-myanmar.html