พาณิชย์ปรับแผนเจรจาขายข้าวไทยผ่านออนไลน์

กรมการค้าต่างประเทศเผยข้าวไทยยังเป็นที่ต้องการตลาดโลกพร้อมทั้งปรับแผนการเจรจาขายข้าวผ่านระบบออนไลน์ จี้จีนเร่งซื้อข้าวจีทูจีตามสัญญาที่เหลืออีก 3 แสนตัน เพราะหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปพบปะกันทำได้ยากขึ้น จึงต้องหันไปใช้ช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ทั้งนี้ ในส่วนของฟิลิปปินส์ กำลังจะเปิดประมูลข้าวจำนวน 3 แสนตัน ซึ่งไทยจะมีการยื่นประมูลด้วยในวันที่ 8 มิ.ย.63 คาดว่าไทยน่าจะแข่งขันประมูลได้ ส่วนมาเลเซีย ยังรอดูสถานการณ์ ขณะที่อินโดนีเซีย ก็เช่นเดียวกัน ยังรอดูสถานการณ์อยู่ แต่มั่นใจว่า หากมีความต้องการซื้อข้าว ไทยจะสามารถขายให้ได้ และกำลังเจรจาผลักดันให้จีนปิดการซื้อขายข้าวจีทูจีในส่วนที่เหลือ 3 แสนตันของสัญญา 1 ล้านตันแรกให้จบ เพราะขณะนี้ รถไฟไทย-จีน สัญญา 2.3 มีความคืบหน้า จะมีการลงนามกันในเร็วๆ นี้ ซึ่งในส่วนของการซื้อข้าวและยางพาราจากไทย ก็ควรจะมีข้อยุติด้วย ความต้องการข้าวจะยังคงมีเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องระวังเรื่องการแข่งขันจากคู่แข่ง โดยเวียดนามได้ยกเลิกการห้ามส่งออกข้าวแล้ว และปีนี้ยังตั้งเป้าส่งออกประมาณ 7 ล้านตัน ใกล้เคียงกับไทยที่ตั้งเป้า 7.5 ล้านตัน ส่วนอินเดีย เพิ่มปลดล็อกให้มีการส่งออกได้ ก็จะเป็นคู่แข่งที่สำคัญในตลาดข้าวของไทย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/778630

สุริยะ สั่ง ธพว.ช่วยเอสเอ็มอี พักหนี้ 2 ปี ขยายเงินกู้ 10 ปี

รมว.อุตสาหกรรม สั่ง ธพว.ช่วยเอสเอ็มอี พักหนี้ 2 ปี ขยายเงินกู้ 10 ปี ขับเคลื่อนศก. พร้อมอัดสินเชื่อ 4 หมื่นล้านบาท 24,000 กิจการพลิกฟื้นธุรกิจ หลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจรมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและให้นโยบายธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีดีแบงก์ ว่า ได้สั่งการให้ธพว.เร่งพักชำระหนี้เงินต้นให้กับลูกค้ารายเดิมเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปีจากเดิม 6 เดือน และให้ขยายสัญญาเงินกู้จากเดิม 5-7 ปี เป็น 5- 10 ปี เพื่อลดผลกระทบให้กับเอสเอ็มอีจากไวรัสโควิด-19 จะได้มีเวลาปรับตัวและกลับมาฟื้นฟูกิจการได้ ที่สำคัญยังทำให้เอสเอ็มอีสามารถจ้างงานได้ต่อเนื่อง เบื้องต้นคาดว่าจะอนุมัติสินเชื่อได้กว่า 40,000 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีได้ประมาณ 24,000 กิจการ นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานบอร์ดธพว. กล่าวว่า ธพว.มีมาตรการเยียวยาเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คือ มาตรการลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม ล่าสุดวันที่ 22 พ.ค.63 มีเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่มาตรการแล้ว 9,458 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 14,924 ล้านบาท แยกเป็น กลุ่มได้รับผลกระทบทางตรง 4,892 ราย คิดเป็นมูลค่า 7,082 ล้านบาท และกลุ่มได้รับผลกระทบทางอ้อม 4,566 ราย คิดเป็นมูลค่า 7,842.63 ล้านบาท

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/777645

เงินบาทไทยแข็งค่ารั้งอันดับ 2 รองจากรูเปียห์อินโดนีเซีย

ค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ เคลื่อนไหวที่ระดับ 31.70-32.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เกาะติดปัญหาความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน การประชุมอีซีบี ระบุเดือนพ.ค.บาทไทยแข็งค่ารั้งอันดับ 2 ในภูมิภาค  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าคาดว่าเคลื่อนไหวที่ระดับ 31.70-32.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยแนวโน้มแข็งค่า เนื่องจากธนาคารกลางยุโรปจะออกมาตรการการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม  หลังจากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิดทำให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นและมีแรงเทขายดอลลาร์สหรัฐกดดันให้ดอลลาร์ฯอ่อนค่าลง ด้านการเคลื่อนไหวของค่าเงินในภูมิภาค.พบว่า รูเปียห์-อินโดนีเซียแข็ง 1.86 % บาท-ไทยแข็งค่า 1.72% เยน-ญี่ปุ่นทรงตัว 0%  ส่วนสกุลอื่นอ่อนค่า เช่น  ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.1 % เปโซ-ฟิลิปปินส์  0.37% รูปี-อินเดีย 0.68%  ริงกิต-มาเลเซีย 0.96 % หยวน-จีน 1.07 % วอน -เกาหลีใต้1.6%  อย่างไรก็ตาม ทิศทางค่าเงินบาทผันผวนจากปัจจัยภายนอกประเทศและในประเทศ ดังนั้นผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกควรป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าขาย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/777448

คลังอัดสินเชื่อแบงก์รัฐอีก2.3แสนล. ช่วยฟื้นฟูศก.หลังโควิด

อุตตม ตั้งทีมคลัง แบงก์รัฐลงพื้นที่ช่วยฟื้นฟูชาวบ้านหลังโควิด เปิดสาขาแบงก์รัฐเป็นคลินิกแก้จน พร้อมอัดฉีดมาตรการเศรษฐกิจ อีกชุดใหญ่ ทั้งภาษี สินเชื่ออีก 2.3 แสนล้านฟื้นเศรษฐกิจต่อ  นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยถึงการดำเนินมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด19ว่า ได้สั่งให้หน่วยงานในสังกัดคลังและสถาบันการเงินรัฐ จัดตั้งทีมเราไม่ทิ้งกัน ลงพื้นที่ไปสำรวจความเดือดร้อน และเร่งฟื้นฟูอาชีพให้กับประชาชนหลังจากผ่านมาตรการเยียวยาโควิด เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง พร้อมกับจะเปิดสาขาธนาคารรัฐให้เป็นคลินิก คลังสมอง หมอคลัง  ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารกรุงไทย  เพื่อรับปรึกษาร้องทุกข์ด้านต่างๆ ทั้งด้านอาชีพ บริการทางการเงิน ปัญหาหนี้นอกระบบ  เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ฟื้นโดยเร็ว นอกจากนี้คลังกำลังจัดทำมาตรการทางภาษี และมาตรการทางการเงิน สำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกแพ็คเก็จใหญ่ โดยเบื้องต้นให้ธนาคารรัฐเตรียมวงเงินไว้ปล่อยกู้เพิ่มเติมอีก 2.3 แสนล้านบาท เพื่อใช้สร้างอาชีพ ให้เงินหมุนเวียนแก่ประชาชน เกษตรกร และภาคธุรกิจให้เกิดความต่อเนื่อง เช่น ธ.ก.ส. จะปล่อยกู้สินเชื่อให้ภาคเกษตรอีก 1.7 แสนล้านบาท ออมสินช่วยประชาชน 4 หมื่นล้านบาท และขยายพักหนี้อีก 2 ปี รวมถึงธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ให้ประชาชนเข้าถึงอีกมากกว่า 1 ล้านราย

ที่มา:  https://www.dailynews.co.th/economic/776427

พาณิชย์-เอกชนจับตาความขัดแย้งสหรัฐ-จีน

พาณิชย์-เอกชน เตรียมแผนปรับทัพส่งออก รับมือสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ปะทุรอบใหม่  ชี้โลก เดาใจ “ทรัมป์” ยาก แต่คาดใกล้ช่วงเลือกตั้งปธน กระทรวงและภาคเอกชนอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีน จนเกิดสงครามการค้ารอบใหม่ และจะมีการจัดทำแผนในการผลักดันส่งออกร่วมกันเพื่อรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมาภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าแล้ว และในปี 63 ก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 ตอนนี้ภาคเอกชนกำลังติดตามความขัดแย้งรอบใหม่ระหว่างสหรัฐ-จีนอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าไทยมีโอกาสที่ได้รับประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องของการค้าและการลงทุนมากเช่นกัน โดยเฉพาะโอกาสที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นซับพลายเซนของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มั่นคงของโลกได้ เพราะในระยะหลังมีผู้ประกอบการจากจีนเริ่มย้ายฐานการผลิตมาไทยและอาเซียนจำนวนมากเพื่อป้อนชิ้นส่วนและวัตถุดิบให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนและประเทศต่าง ๆ ช่วงหลังจีนกับประเทศตะวันตกทั้งสหรัฐและยุโรปมีปัญหากันหลังจากที่เกิดการระบาดไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะสหรัฐที่กล่าวหาจีนมาเป็นต้นเหตุในการทำให้เกิดการระบาดจนมีความขัดแย้งต่อเนื่อง ดังนั้นจีนต้องหาพันธมิตรในอาเซียนและประเทศใกล้เคียงมากขึ้น เห็นจากที่ผ่านมาไทยขออะไรจีนมักได้ง่ายๆหลายเรื่อง โดยเฉพาะการเปิดด่านในการส่งสินค้าเกษตรไทยไปจีน ก็ได้รับความสะดวกรวดเร็วผิดกับครั้งก่อนๆ จนทำให้สินค้าเกษตรไทยหลายตัวสามารถส่งออกไปจีนได้เพิ่ม เช่น ทุเรียน แม้จะเจอปัญหาระบาดโควิด-19 แต่ก็มีล้งจีนเข้ามากว้างซื้อทุเรียนไทยมากกว่าเดิมอีกเพื่อนำไปจำหน่ายในตลาดจีน  

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/775916

ประวิตร ตั้งเป้าขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะสู้กลุ่มอาเซียน

รองนายกฯ ประวิตร เผยคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เร่งรัดศึกษาเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์สร้างแรงจูงใจเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สามารถแข่งขันในระดับอาเซียน โดย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รายงานการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ผ่านมาได้ประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ 27 เขตทั่วประเทศ มีความก้าวหน้าของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะต้นแบบใน 4 พื้นที่ คือ กรุงเทพมหานคร พื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน จังหวัดชลบุรี พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร และจังหวัดภูเก็ต โดยคณะกรรมการฯ ได้เร่งรัดศึกษาเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ในการสร้างแรงจูงใจเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้สามารถแข่งขันในระดับอาเซียนได้ อีกทั้งยังแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นประธาน และได้เตรียมความพร้อม ในการสานต่อความร่วมมือด้านเมืองอัจฉริยะอาเซียน โดยให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ เป็นผู้แทน เข้าร่วมการประชุม ASEAN Smart Cities Network (ASCN) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 8-10 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ณ เมืองฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

ที่มา : https://www.matichon.co.th/publicize/news_2193668

‘กรมเจรจาฯ’ เผยไทยครองแชมป์ส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เบอร์ 1 อาเซียน เชื่อ FTA และ ITA ช่วยสร้างแต้มต่อและดึงดูดการลงทุนได้จริง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทั่วโลกมีกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เพิ่มขึ้นด้วย จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไทยที่มีศักยภาพอยู่แล้ว จะพัฒนาเทคโนโลยีให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและขยายการส่งออกในตลาดโลกได้ โดยในปี 2562 ไทยเป็นผู้ส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อันดับที่ 6 ของโลก ทั้งนี้ จากสถิติการค้าระหว่างประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่าไทยส่งออกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ มูลค่าสูงถึง 3,943 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น สหรัฐฯ สัดส่วนร้อยละ 37 ฮ่องกง, อาเซียน, สหภาพยุโรปและจีน เป็นต้น หากจำแนกรายสินค้า พบว่า ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่ม สำหรับการเปิดเสรีทางการค้าถือเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกสินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ของไทยเติบโต นอกจากนี้ “ผู้ประกอบการควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อนำมาพัฒนาสินค้าให้ทันต่อความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็กและเบา ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งควรวางแนวทางปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว และเพิ่มความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก”

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3125668

สศช.ประเมินพิษ “โควิด” ฉุดจีดีพีไทยทั้งปีติดลบ 5-6%

สศช.เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 63 ติดลบ 1.8% ส่วนแนวโน้มปี 63 คาดว่า ติดลบ 5-6% เป็นผลมาจากการระบาดของโควิด-19 เป็นหลัก พร้อมคาดไตรมาส 2 น่าจะหนักที่สุดหลังจากทุกกิจการหยุดหมด นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 63 และแนวโน้มปี 63 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2563 ปรับตัวลดลง 1.8% เทียบกับการขยายตัว 1.5%  ในไตรมาสก่อน หลังจากได้รับผลกระทบโควิด-19 และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อเนื่องจากปีก่อน ส่วนไตรมาสที่ 2 ประเมินว่า น่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะเกิดการล็อคดาวน์ ทำให้ธุรกิจต่างๆ และการท่องเที่ยวหยุดชะงัก อย่างไรก็ตามทั้งปี 63 สศช. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวลดลงในช่วงลบ 5-6% เนื่องจากการปรับตัวลดลงรุนแรงของเศรษฐกิจ และปริมาณการค้าโลก ,การลดลงรุนแรงของจำนวน และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ,เงื่อนไขและข้อจำกัดที่เกิดจากการระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศ และ ปัญหาภัยแล้ง โดยคาคว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าจะปรับตัวลดลง 8% การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมปรับตัวลดลง 1.7% และ 2.1% ตามลำดับ

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/775078

เอกชนเสียงแตกเข้าร่วมซีพีทีพีพี

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เปิดเผยว่า คณะทำงานจะมีการประชุมอีกรอบในวันที่ 21 พ.ค.นี้เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ว่า ควรจะสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมซีพีทีพีพีหรือไม่  หลังจากที่ผ่านก็ได้มีการประชุมไปแล้วรอบหนึ่งโดยรับฟังความเห็นจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหาทั้งสิทธิยา เมล็ดพันธุ์ แรงงาน การจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมกันนี้ก็ขอให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์มาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในความตกลงดังกล่าว นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.อยู่ในช่วงของการประชุมหารือถึงเรื่องดังกล่าว เพราะแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมก็มีความแตกต่างกัน หรือแม้แต่อุตสาหกรรมเดียวกันก็มีความเห็นที่ต่างกันเพราะมีทั้งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งซีพีทีพีพีมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณามาก ไม่เพียงแต่ประเด็นที่เป็นปัญหาที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่   ไม่เหมือนกับเอฟทีเออื่นๆที่สามารถตกลงเจรจากันได้ง่ายกว่า ขณะนี้ภาคเอกชนยังมีความเห็นที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สิ่งที่เห็นตรงกันคือ อนาคตในการค้าขายในโลกเศรษฐกิจแบบนี้จำเป็นที่ไทยต้องเข้าร่วมในความตกลงต่างๆ เอฟทีเอ หรือการเจรจาแบบทวิภาคี พหุภาคี

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/774921

เวียดนามเล็งส่งออกผักผลไม้สดไปยัง ‘ไทย’

สมาคมพืชผักและผลไม้เวียดนาม (VinaFruit) เปิดเผยว่าดำเนินการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ไทยและแอฟริกา โดยได้รับสัญญาเชิงบวกเมื่อปีที่แล้ว มูลค่าส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนามไปยังไทย อยู่ที่ 74.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 66.3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้ นาย Dang Phuc Nguyen เลขาธิการของสมาคมฯ เสนอให้กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเจรจากับกระทรวงเกษตรของไทย เพื่อสร้างความสมดุลทางการค้าแก่ผักผลไม้ เนื่องจากเวียดนามขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง และให้คำแนะนำว่าธุรกิจเวียดนามควรศึกษาตลาดเจาะลึกมากขึ้น ในขณะที่ มองหากลุ่มลูกค้าและขยายเครือข่ายทางการค้า ทั้งนี้ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ชี้ให้เห็นว่าไทยเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะผักผลไม้สดจากเวียดนาม นอกจากนี้ การจัดแสดงสินค้าในไทยประจำปี จะช่วยให้ธุรกิจเวียดนามสามารถศึกษาความต้องการของตลาดและลูกค้าในท้องถิ่นได้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-seeks-to-export-fresh-fruits-vegetables-to-thailand/173292.vnp