ออมสินบุก Non Bank กดดอกเบี้ย 5% ช่วยคนระดับฐานรากเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารกำลังจะเข้าสู่ธุรกิจ Non Bank เต็มตัวเพื่อให้คนระดับรากหญ้าได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งในระบบด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าในตลาดอย่างน้อย 5% โดยมีแผนที่ยื่นขอใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อทำธุรกิจนอนแบงก์ภายในช่วงต้นปี 2566 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ภายในปลายไตรมาส 3 ปี 2566 หรือต้นไตรมาส 4 ปี 2566 โดยจะเป็นการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล (P-Loan) ด้วยระบบ Digital Lending ให้วงเงินกู้ 1-2 หมื่นบาทต่อราย พร้อมเปิดตัวสินเชื่อ My Credit ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. นี้ เจาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้าแม่ค้า รับจ้าง ผู้มีรายได้ประจำ วงเงินกู้ 10,000-30,000 บาท ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 2 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยจะใช้ Alternative Data แทนการวิเคราะห์รายได้ เช่น การใช้ข้อมูลจ่ายค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า จำนวนเม็ดเงินที่ไหลเวียนในระบบ MyMo ฯลฯ เบื้องต้นตั้งวงเงินรวมสำหรับโครงการนี้ไว้ที่ 1,000 ล้านบาท เบื้องต้น ตั้งเป้าลูกค้า 1 แสนราย ซึ่งมาจากฐานลูกค้า MyMo ที่มีอยู่กว่า13 ล้านราย

ที่มา: https://www.naewna.com/business/685655

“AMRO” คาดการณ์ศก.เวียดนามปีนี้ ขยายตัว 7%

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ ได้ประมาณการเศรษฐกิจเวียดนามปี 2565 คาดว่าจะขยายตัว 7% เนื่องจากผลการดำเนินงานของประเทศที่กลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ต้นปีนี้และความสำเร็จในการควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้เป็นประเทศที่มีการเติบโตสูงสุดเป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากมาเลเซียที่คาดว่าจะขยายตัว 7.3% อย่างไรก็ดีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปีหน้า คาดว่าจะชะลอตัวเหลือ 6.5% ซึ่ง การคาดการณ์ของสำนักงาน AMRO เป็นไปตามรายงานของหลายสำนักงานระหว่างประเทศ อาทิเช่น เวอร์แบงค์, มูดี้ส์, ไอเอ็มเอฟ และยูโอบี เป็นต้น นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อของเวียดนามในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.5% และจะชะลอตัวเหลือ 3.3% ในปี 2566

ที่มา : https://en.nhandan.vn/vietnams-gdp-projected-at-7-in-2022-amro-post118662.html

โครงการท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวในจังหวัดกำปอตของกัมพูชาเสร็จสมบูรณ์แล้ว

ท่าเรือท่องเที่ยวกำปอต ก่อสร้างขึ้นภายใต้เงินกู้จาก ADB จำนวน 18 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อด้านการท่องเที่ยวทางทะเลของประเทศกัมพูชาและประเทศเพื่อนบ้านเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยก่อนหน้านี้ท่าเรือดังกล่าวสามารถรองรับได้เฉพาะเรือขนาดเล็ก หากคิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวรองรับได้เพียง 300-400 คน ซึ่งท่าเรือแห่งใหม่คาดว่าจะรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดกำปอตประมาณ 6 กม. บนพื้นที่ขนาดมากกว่า 4 เฮกตาร์ เริ่มก่อสร้างขึ้นในปี 2018 ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับภาคการท่องเที่ยวในการรองรับนักท่องเที่ยว ตามรายงานโครงสร้างพื้นฐานภายในท่าเรือประกอบด้วยท่าเรือที่มีท่าเทียบเรือ, อาคารผู้โดยสารและร้านอาหาร, ถนน, สถานที่เก็บขยะ, อาคารควบคุม, ห้องน้ำสาธารณะ, อ่างเก็บน้ำ, สระน้ำ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ โดยท่าเรือท่องเที่ยวกำปอตสามารถเชื่อมต่อกับท่าเรือในสีหนุวิลล์, เกาะกง, เกาะรง, เกาะตราลและท่าเรืออื่นๆ ในเวียดนามและไทย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501165066/20-million-kampot-tourist-port-completed/

คาด FTA กัมพูชา-เกาหลี กระตุ้นการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม

ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลี (CKFTA) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมปีนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นการส่งออกของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ โดยเฉพาะสินค้าประเภทเครื่องแต่งกาย ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยข้อตกลง CKFTA จะทำการยกเลิกภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าจากกัมพูชาร้อยละ 95.6 ในขณะที่กัมพูชาจะยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าจากเกาหลีร้อยละ 93.8 จากข้อมูลของ TexPro ซึ่งเป็นเครื่องมือเจาะลึกตลาดของ Fibre2Fashion กัมพูชา ได้รายงานถึงมูลค่าการส่งออกเครื่องแต่งกายของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้มีมูลค่ามากถึง 187.65 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 ในขณะที่ปี 2020 มูลค่าการส่งออกลดลงเหลือ 169.72 ล้านดอลลาร์ เนื่องโควิด-19 โดยในปีที่แล้วสถานการณ์การส่งออกปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่มูลค่า 167.15 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ปัจจุบัน (8เดือนแรกของปี) กัมพูชาส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวไปแล้วมูลค่า 128.86 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501165052/fta-may-boost-cambodias-apparel-exports-to-south-korea-next-year/

ครึ่งปีแรก ค้าระหว่างประเทศเมียนมา ทะยานแตะ 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย การค้าระหว่างประเทศของเมียนมาในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2565-2566 อยู่ที่ 17.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 14,078 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ การค้าชายแดนลดลง 89.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากมาตรการการควบคุม COVID-19 เข้มงวดของจีนและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myanmar-foreign-trade-soars-to-over-17-bln-in-h1/#article-title

เดือนก.ย.65 เงินเฟ้อ สปป.ลาว พุ่งแตะ 34% สูงสุดในรอบ 22 ปี

สำนักสถิติของสปป.ลาว เผย อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 34% สูงกว่าเดือนที่ผ่านมา 30%  (เดือนสิงหาคม 2565) สูงสุดในรอบ 22 ปี จากราคาอาหาร ยา เชื้อเพลิง และสินค้าอุปโภคบริโภค ที่พุ่งสูงขึ้น เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ และการระบาดของ COVID-19 ได้กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังพบว่าเงินเฟ้อของสปป.ลาว สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่า การที่สปป.ลาว พึงพาการนำเข้ามากเกินไป และเงินกีบที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศเป็นสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ นอกจากนี้ การประสบปัญหาอุทกภัยในปีนี้ ได้สร้างความเสียหายให้ผลผลิตทางการเกษตรและทรัพย์สินต่างๆ รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ต่างๆ ส่งผลให้มีความต้องการอาหารในประเทศเพิ่มมากขึ้น

ที่มา: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten196_Inflation_y22.php

ททท.จ่อออกโปรไฟไหม้ ดึงคนไทยเที่ยวไทยสกัดทัวร์ต่างประเทศ

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2565 ททท.เตรียมผลักดันโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ลักษณะโปรไฟไหม้ เพราะภายหลัง 31 ต.ค.2565 มาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย อาทิ คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกันจะสิ้นสุดลง จึงต้องดันโครงการใหม่ออกมาเพื่อช่วยลดต้นทุนการท่องเที่ยวของคนไทย ขณะที่ไทยกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจ และสถานการณ์น้ำท่วมซ้ำเติมบรรยากาศการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ททท.จึงต้องปรับตารางเวลาดำเนินการตามแผนกระตุ้นการท่องเที่ยว ไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2566 มาใช้กระตุ้นการท่องเที่ยว โดยออกโปรโมชันแบบโปรไฟไหม้ ซึ่งยึดหลักการเดียวกับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แต่เบื้องต้นใช้งบประมาณประจำปี 2566 เพื่อดึงกลุ่มคนไทยที่พร้อมเดินทางและพร้อมใช้จ่าย ดังนั้นต้องดึงคนไทยกลุ่มนี้ไว้ให้เที่ยวเมืองไทยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 และไตรมาส 1 ปี 2566 และยังเป็นการสกัดการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของกลุ่มนักท่องเที่ยวไทย ที่เตรียมเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่งเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี และฮ่องกง

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2521373

“เวียดนาม” ตลาดค้าปลีกออนไลน์ ปี 65 โต 20%

จากรายงาน Vietnam E-commerce White Book 2022 พบว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ในทางกลับกัน ตลาดค้าปลีกออนไลน์ของเวียดนามในปี 2564 เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ มีมูลค่า 13.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่ารายได้จากการค้าปลีกและบริการ หดตัว 0.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน ส่วนแบ่งของมูลค่าการค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์ในปีที่แล้ว อยู่ที่ 7% ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าและบริการรวม เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับปี 2563 อีกทั้ง คาดการณ์ว่าการค้าปลีกออนไลน์จะเพิ่มขึ้น 20% ในปีนี้ คิดเป็นมูลค่า 16.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/eretailing-to-grow-20-this-year/239588.vnp

“โคคา-โคล่า” สร้างโรงงานในจังหวัดลองอัน ประเทศเวียดนาม

คุณ Peeyush Sharma ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทโคคา-โคลา เวียดนาม (Coca-Cola Vietnam) กล่าวว่าทางบรัษัทกำลังขยายสร้างโรงงานในจังหวัดลองอัน (Long an) โดยตามตัวแทนของบริษัท เปิดเผยว่าโรงงานจะครอบคลุมพื้นที่ 19 เฮคเตอร์ และมีแผนใช้เงินลงทุนรวม 136 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเป็นโรงงงานแห่งที่ 4 นับตั้งแต่บริษัทเริ่มก่อตั้งในเวียดนามเมื่อปี 2537 ทั้งนี้ โรงงานที่จะเริ่มก่อสร้างแห่งนี้จะมีขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัทในเวียดนาม โดยใช้โมเดลโรงงานอัจฉริยะและเทคโนโลยีสมัยใหม่ นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1341840/coca-cola-viet-nam-to-build-a-factory-in-long-an.html

บริษัทท้องถิ่นของเมียนมา เข้าซื้อ Puma Energy ของ Trafigura เพื่อขยายธุรกิจพลังงานในประเทศ

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา Puma Energy บริษัทลูกในเมียนมาของ บริษัท Trafigura จากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนด้านการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์และโลจิสติกส์ชั้นนำระดับโลก อีกทั้งยังเป็นซัพพลายเออร์หลักด้านเชื้อเพลิงการบินในเมียนมา ได้ลงนามในข้อตกลงเพื่อขายหุ้นหุ้น Puma Energy Asia Sun (PEAS) และ National Energy Puma Aviation Services (NEPAS) ในเมียนมาให้กับบริษัทเอกชนในท้องถิ่นเพื่อดำเนินการขายเชื้อเพลิงการบินในประเทศแทน โดย NEPASC ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Puma Energy จากสิงคโปร์และ Myanmar Petrochemical Enterprise ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ได้ดำเนินธุรกิจเชื้อเพลิงเครื่องบินมาในประเทศ มาตั้งแต่ปี 2558

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/trafiguras-puma-energy-to-sell-myanmar-business-to-local-private-company/#article-title