CRF-Alibaba ส่งเสริมการส่งออกข้าวของกัมพูชาไปยังจีน

Lun Yeng เลขาธิการสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) กล่าวว่าปัจจุบันกำลังร่วมมือกับ Alibaba Group แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีน ในการหารือเกี่ยวกับวิธีการส่งเสริมการส่งออกข้าวสารของกัมพูชาในตลาดจีน ภายใต้การพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งปัจจุบันผู้นำเข้าข้าวสารของจีนจากกัมพูชาบางราย ได้เริ่มขายข้าวสารออนไลน์แล้วในจีน โดยกัมพูชาส่งออกข้าวสารไปยังตลาดจีนกว่า 118,041 ตัน ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ทำรายได้เข้าประเทศกว่า 77.4 ล้านดอลลาร์ รายงานโดย CRF ซึ่งจีนถือเป็นตลาดส่งออกหลักสำหรับข้าวสารของกัมพูชา คิดเป็นกว่าร้อยละ 42.43 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของกัมพูชาในช่วงเวลาดังกล่าว สำหรับพันธุ์ข้าวที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ข้าวหอมพรีเมียม ข้าวหอม ข้าวขาวเมล็ดยาว ข้าวนึ่ง และข้าวอินทรีย์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501318853/crf-alibaba-to-promote-cambodian-rice-in-china/

พาณิชย์แนะค้าปลีกไทยเจาะตลาดเวียดนามทั้งออฟไลน์-ออนไลน์

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสุภาพร สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ถึงโอกาสในการขยายตลาดการค้าปลีกของไทยเข้าสู่ตลาดเวียดนาม และการใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ในการขยายโอกาสทางการขายเจาะเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคของเวียดนามที่มีแนวโน้มเติบโต

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เวียดนามเป็นตลาดค้าปลีกที่มีศักยภาพสูงและคาดว่าจะเติบโตมากกว่า 350,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 และจะมีสัดส่วน 59% ของยอดขายผลิตภัณฑ์ในประเทศทั้งหมดทำให้บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในเวียดนาม ผู้ประกอบการค้าปลีกในประเทศต่างปรับเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศและปรับปรุงเพื่อการส่งออก รวมทั้งมีการลงทุนในอีคอมเมิร์ซเพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่มีกว่า 50% ของประชากรประมาณ 100 ล้านคน

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/397177/

“เวียดนาม” ตลาดค้าปลีกออนไลน์ ปี 65 โต 20%

จากรายงาน Vietnam E-commerce White Book 2022 พบว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ในทางกลับกัน ตลาดค้าปลีกออนไลน์ของเวียดนามในปี 2564 เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ มีมูลค่า 13.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่ารายได้จากการค้าปลีกและบริการ หดตัว 0.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะเดียวกัน ส่วนแบ่งของมูลค่าการค้าปลีกอิเล็กทรอนิกส์ในปีที่แล้ว อยู่ที่ 7% ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าและบริการรวม เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับปี 2563 อีกทั้ง คาดการณ์ว่าการค้าปลีกออนไลน์จะเพิ่มขึ้น 20% ในปีนี้ คิดเป็นมูลค่า 16.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/eretailing-to-grow-20-this-year/239588.vnp

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา สนับสนุน SMEs ผ่านตลาดออนไลน์

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านตลาดออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า 300 แห่ง สมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์บนแพลตฟอร์มที่ทางกระทรวงเป็นผู้พัฒนา โดยผู้ประกอบการที่สมัครส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเกษตร หัตถกรรม อาหารและเครื่องดื่มแปรรูป และอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตลาดออนไลน์ได้รับการออกแบบมาเพื่อขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในกัมพูชาเป็นสำคัญ ให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงคู่ค้าทางธุรกิจ โดย e-marketplace ของ CambodiaTrade ได้รับการพัฒนาและสนับสนุนทางด้านการเงินจาก Enhanced Integrated Framework for Trade-Related Assistance for Trade-Related Assistance for Least-Developed Countries จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50972924/smes-apply-to-sell-products-on-commerce-ministrys-online-marketplace/

กางแผนส่งออกครึ่งปีหลัง เน้นออนไลน์-เปิดตลาดใหม่

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เตรียมแผนผลักดันส่งออกในช่วงครึ่งหลังปี 64 โดยเน้นในรูปแบบออนไลน์ ทั้งการจัดงานแสดงสินค้าเสมือนจริงและผสมผสานการจัดงานแสดงสินค้าและการเข้าร่วมในต่างประเทศ การเจรจาการค้าออนไลน์ รวมถึงกิจกรรมแบบออฟไลน์ในประเทศที่เป็นเป้าหมาย ส่วนแผนการขยายการส่งออก จะเน้นการรักษาตลาดเดิม เช่น สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพิ่มเพิ่มตลาดใหม่ เช่น รัสเซีย มองโกเลีย (ประตูสู่กลุ่มประเทศยูเรเซีย) อินเดีย และแอฟริกาใต้ รวมทั้งฟื้นตลาดเก่าที่ เช่น อิรัก และซาอุดีอาระเบีย พร้อมเร่งผลักดันเสินค้าที่ต้องการของตลาด 3 กลุ่มหลัก คือ สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าทำงานที่บ้าน และสินค้าป้องกันการติดเชื้อ

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/852866

กัมพูชาพลักดันการชำระเงินผ่านระบบออนไลน์ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

ธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ได้เรียกร้องให้ลูกค้าและผู้ค้าปลีกใช้ประโยชน์จาก e-wallets และแอพต่างๆ เช่น Bakong เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทางการกัมพูชามองว่าดิจิทัลแบงกิ้งจะมีส่วนช่วยลดจำนวนการแพร่ระบาดลงได้โดยลดความจำเป็นในการทำธุรกรรมระหว่างบุคคลลง ซึ่ง NBC ยังสนับสนุนให้ธนาคารและสถาบันหลักๆ ภายในประเทศให้สิ่งจูงใจแก่ผู้บริโภคและธุรกิจที่เลือกทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ เนื่องจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้ใช้ความระมัดระวังในการจับธนบัตรและแนะนำให้ประชาชนล้างมือให้สะอาดหลังจากได้สัมผัสเงิน โดยจากข้อมูลของ NBC ปัจจุบันชาวกัมพูชามากกว่าร้อยละ 59 ทำธุรกรรมช่องทางออนไลน์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50862261/customers-and-retailers-urged-to-pay-online-to-help-prevent-covid-19-spread/

เวียดนามเผยมูลค่าโมบายอีคอมเมิร์ซ แตะ 10.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ปี 66

บริษัทวิจัยทางตลาด “Appota” เผยว่าโมบายพาณิชย์ในเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยมูลค่าราว 10.2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 ซึ่งการเติบโตดังกล่าว มีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้มาจากธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) ในเวียดนาม และในอีกแง่หนึ่ง อัตราการทำธุรกรรมครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าแพลตฟอร์มโทรศัพท์มือถือได้รับความนิยมมากกว่าเดสก์ท็อป คิดเป็นสัดส่วน 62% ของการทำธุรกรรมทั้งหมด ทั้งนี้ เมื่อปีก่อน จำนวนผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปในเวียดนาม ทั้งสิ้น 49 ล้านคน ติดอันดับที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย (137 ล้านคน) และฟิลิปปินส์ (57 ล้านคน) สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซและระบบการชำระเงิน ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ใช้และมูลค่าการซื้อในเวียดนาม ตลอดจนยกระดับศักยภาพของตลาดอีคอมเมิร์ซเร็วๆนี้

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-mobile-e-commerce-to-value-us102-billion-by-2023-317335.html

สนง.ส่งเสริมการค้าเวียดนามจับมืออาลีบาบา ผลักดันธุรกิจผ่านช่องทางส่งออกออนไลน์

สำนักงานส่งเสริมการค้าเวียดนาม (Vietrade) และเว็บไซต์อาลีบาบา (Alibaba) ที่เป็นแพลต์ฟอร์มอีคอมเมิร์ซในระดับโลก แบบ B2B ของกลุ่มบริษัทอาลีบาบา ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อส่งเสริมธุรกิจเวียดนามในการยกระดับการส่งออกออนไลน์และจัดตั้งอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ ซึ่งภายใต้การลงนามบันทึกความเข้าใจนั้น ทางอาลีบาบาจะให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคสำหรับหน่วยงานส่งเสริมการค้าและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน สำนักงานส่งเสริมการค้าได้มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับอาลีบาบา เพื่อปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีดิจิตอลและเพิ่มขีดความสามารถในด้านอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ ตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามในปี 2563 เติบโต 18% ด้วยมูลค่า 11.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้ว่าขยายตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่เวียดนามก็ยังเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอัตราการเติบโตของอีคอมเมิร์ซเป็นตัวเลขสองหลัก

ที่มา : https://vov.vn/en/economy/vietrade-alibabacom-partner-to-help-firms-with-online-export-843718.vov

โควิดหนุน ‘ช้อปออนไลน์’ ฮิตทั่วอาเซียน

ผลวิจัยล่าสุดชี้ นักช้อปชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มซื้อของกินของใช้และสินค้าจำเป็นอื่นๆ ทางออนไลน์ต่อไป แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าจะยุติลง โดยผลวิจัยจากบริษัทที่ปรึกษา “เบนแอนด์คัมพะนี” และเฟซบุ๊ค เผยว่ากระแสอีคอมเมิร์ซและดิจิทัลมาแรงทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แรงหนุนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่วานนี้ (9 มิ.ย.) มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 7 ล้านคน ซึ่งหุ้นส่วนเบนแอนด์คัมพะนี จากสิงคโปร์ เผยกับเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีว่า เทรนด์การซื้อสิ่งของจำเป็นผ่านทางออนไลน์จะดำรงอยู่ต่อไป การซื้อขายของกินของใช้ออนไลน์เป็นภาคส่วนใหญ่ที่ยังไม่ถูกเจาะ ด้วยเหตุผลด้านโลจิสติกส์และอื่นๆ แต่ช่วงไวรัสระบาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาคส่วนนี้โตขึ้นเกือบ 3 เท่า ผู้ใช้ 1 ใน 3 ที่ให้ข้อมูลกล่าวว่า พวกเขามีแผนซื้อของชำผ่านอินเทอร์เน็ตต่อไป ทั้งนี้การใช้จ่ายซื้อของกินของใช้โดยรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ราว 3.5 แสนล้านดอลลาร์ โดยยอดซื้อออนไลน์คิดเป็นเพียงสัดส่วนเล็กๆ ของมูลค่าทั้งหมด แต่ก็เติบโตขึ้นมาก

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/884379

พาณิชย์ เผยยอดขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางออนไลน์โต 20% ช่วงโควิด-19 ระบาด

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระตุ้นให้การขอใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form D แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) เพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.63 ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงในภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีผู้ประกอบการขอรับบริการ e-Form D จากกรมการค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 20% จากช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.63 สำหรับ e-Form D เป็นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียนที่ ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้ให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า e-Form D อย่างเต็มรูปแบบ (Live Operation) กับสมาชิกอาเซียน ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.63อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสดควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่กรมฯ ยังคงตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้รับบริการด้วยการเดินหน้ายกระดับการให้บริการด้วยนวัตกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยการผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ e-Form D มากขึ้น เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการนำเข้า-ส่งออก

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3128621