ไทยร่วมมือซาอุฯ ส่งเสริมพัฒนาสินค้าฮาลาล

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้การต้อนรับ นายมาญิด บิน อับดุลเลาะฮ์ อัลกอเศาะบี รมว.พาณิชย์แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียและคณะ เพื่อหารือความร่วมมือและแนวทางการขับเคลื่อนการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของทั้งสองประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมอาหาร ซาอุดีอาระเบียมีความยินดีที่ได้ร่วมมือและดำเนินการร่วมกันในอุตสาหกรรมฮาลาล เนื่องจากซาอุดีอาระเบียเป็นศูนย์กลางของตลาดฮาลาลในภูมิภาคชาติอาหรับ อีกทั้งมีผู้บริโภคจำนวนมาก นับเป็นเรื่องสำคัญมากหากได้รับความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้น โดยได้มีการวางแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมือด้านฮาลาลระหว่างสองประเทศ เพื่อผลักดันให้สินค้าฮาลาล รวมทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภคของไทย สามารถเข้าถึงตลาดซาอุดีอาระเบียได้มากขึ้น อย่างไรก็ดีทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริมสินค้าฮาลาลระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย มุ่งเน้นไปที่สินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล ขยายโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทย สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงข้อมูลและช่องทางการจำหน่ายสินค้าในตลาดซาอุดีอาระเบีย ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี ร่วมพัฒนากลยุทธ์และมาตรฐานสินค้าฮาลาล เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าและความสามารถในการแข่งขัน

ที่มา : https://www.naewna.com/business/804219

‘เวียดนาม’ เผยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ 5 อันดับแรก ทำรายได้สูงถึง 12.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำนักงานอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม เปิดเผยรายงานอีคอมเมิร์ซของเวียดนาม ประจำปี 2566 แสดงให้เห็นว่าภาพรวมของอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และพบว่ารายได้จากแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์แบบ B2C จะมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าสูงถึง 650 ล้านล้านดองในปี 2567 โดยรายได้จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ 5 อันดับแรกของเวียดนาม มีมูลค่าสูงถึง 12.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับปี 2566 ในขณะที่รายได้จากอีคอมเมิร์ซของเวียดนามแบบ B2C มีมูลค่าเกินกว่า 20.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 ทั้งนี้ แม้ว่าอีคอมเมิร์ซจะมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่ว่าเผชิญกับปัญหาในเรื่องของแหล่งที่มาของสินค้า ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล โครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์อีคอมเมิร์ซ และความไว้วางใจของผู้บริโภค ซึ่งปัจจัยดังกล่าวต้องได้รับการแก้ไข

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1651271/total-revenue-of-viet-nam-s-top-5-e-commerce-platforms-can-reach-12-4-billion.html

นายกฯ เร่งลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับอาลีบาบา หวังดันสินค้ากัมพูชาโต

ดร. ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวในระหว่างการไปเยือนประเทศจีนครั้งล่าสุดว่าปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกับอาลีบาบาเพื่อผลักดันการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกัมพูชาไปยังตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอาลีบาบามีลูกค้าเข้าใช้บริการนับหลายร้อยล้านรายทั่วโลก ผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อขายผ่านตัวกลาง ด้านนายกฯ กล่าวเสริมถึงโอกาสในการขายสินค้าเกษตรของกัมพูชาโดยเฉพาะลำไยจากจังหวัดไพลินของกัมพูชาที่ได้เริ่มวางขายบนเว็บไซต์อาลีบาบาแล้ว ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดดังกล่าว อีกทั้งทางการยังพร้อมที่จะผลักดันสินค้ากลุ่มหัตถกรรม และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลก

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501394994/pm-reminds-signing-an-agreement-with-alibaba-to-sell-cambodian-products/

รัฐบาล สปป.ลาว จัดอีเว้นท์ลดราคาสินค้าในนครเวียงจันทน์

กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ร่วมมือกับบริษัทห้างร้านท้องถิ่นจัดงานขายสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดในนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือนซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่ส่งผลให้ค่าครองชีพสูง โดยทางการได้ลดราคาสินค้าประเภทอาหารยอดนิยม เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไวไว น้ำมันพืช น้ำมันหอย น้ำปลา เครื่องปรุงรสแม็กกี้ น้ำยาล้างจาน และผงชูรส ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายสินค้ากลุ่มดังกล่าวกระจายไปยังร้านค้า 17 สาขา ในเขตศรีสัตตนาค จันทะบูลี ไชยเชษฐา นาทรายทอง และปากน้ำ นับตั้งแต่วันที่ 26-30 กันยายน โดยรัฐบาลยังได้จำกัดจำนวนสินค้าที่บุคคลสามารถซื้อได้ในแต่ละหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ เพื่อไม่ให้ร้านค้าต่างๆ ขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งรัฐบาลกำลังเร่งพิจารณาขยายโครงการไปยังจังหวัดอื่นๆ และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/09/27/lao-government-lowers-prices-for-essential-goods-in-vientiane-capital/

กัมพูชาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมรวมกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020

การส่งออกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของกัมพูชา รวมถึงสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่มมูลค่ารวมอยู่ที่ 6.37 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2020 ลดลงกว่าร้อยละ 43 เมื่อเทียบเป็นรายปี จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกัมพูชา โดยจากรายงานระบุว่าการส่งออกเสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าที่เกี่ยวกับการเดินทางของกัมพูชา มีมูลค่าการส่งออกรวมอยู่ที่เพียง 3 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 9.32 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 ซึ่งสถานการณ์ภายในอุตสาหกรรมยังคงถดถอย เห็นได้ชัดจากการปิดตัวของโรงงานผลิตเสื้อผ้ากว่า 101 แห่ง ภายในปี 2020 โดยในปี 2019 กัมพูชาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมรวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มมูลค่า 11.18 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปี 2018

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50832215/cambodia-exported-over-6-billion-worth-of-industrial-products-in-2020/

‘กรมเจรจาฯ’ ลงใต้หนุนสินค้าช้างเผือกปัตตานี ใช้ประโยชน์จาก FTA เจาะตลาดอาเซียน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี พบผู้ประกอบการสินค้าศักยภาพ ทั้งประมงพื้นบ้าน ทอผ้า และเลี้ยงปลาสลิด แนะพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยกระดับสินค้าเฉพาะถิ่น ชี้! โอกาสเจาะตลาดอาเซียนสูง โดยเฉพาะประเทศแถบชายแดนใต้ อย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย พร้อมชี้ช่องใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายส่งออกเพิ่มเพื่อเพิ่มแต้มต่อทางการค้าและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทย การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้ทราบถึงความสามารถในการผลิตสินค้าท้องถิ่นที่มีศักยภาพ โดยกรมฯ ได้ให้ข้อมูลและองค์ความรู้ด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศ การจัดทำแผนธุรกิจ การตลาด และด้านบุคลากร พร้อมทั้งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการท้องถิ่นให้มีมาตรฐานเทียบเคียงต่างประเทศ

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/beco/3208192

กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นในเดือนมกราคมลดลง

การส่งออกของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่นลดลงในเดือนมกราคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลที่เปิดเผยโดยองค์การการค้าภายนอกของญี่ปุ่น (JETRO) ซึ่งกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่ารวม 138 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมกราคมลดลงร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีที่แล้ว ส่วนการนำเข้าสินค้าของกัมพูชาจากญี่ปุ่นในช่วงเดียวกันมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 37 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 โดยการค้าทวิภาคีรวมอยู่ที่ 176 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2020 ซึ่งรองประธานหอการค้ากัมพูชากล่าวว่าแม้ปริมาณการค้าจะลดลง แต่เชื่อมั่นว่าหลังจากทั่วโลกได้มีการให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ไประยะหนึ่งแล้วจะส่งผลให้กิจกรรมทางด้านการค้าระหว่างประเทศฟื้นตัวขึ้นโดยถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ สินค้าส่งออกที่สำคัญของกัมพูชาไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เสื้อผ้า กระเป๋าเดินทาง รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง กระดาษ เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องหนัง ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญของญี่ปุ่นไปยังกัมพูชา ได้แก่ เครื่องจักร รถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า และพลาสติก เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50824888/cambodias-exports-to-japan-down-in-january/

ความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นในเวียดนาม

ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) เปิดเผยว่าพื้นที่เพาะปลูกผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นจากในปี 2559 อยู่ที่ 53,350 เฮกตาร์ เป็น 237,693 เฮกตาร์ในปีที่แล้ว และส่งออกไปยัง 180 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีนและญี่ปุ่น เป็นต้น ด้วยมูลค่ารวม 335 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ว่าทางนาย Ha Phuc Mich ประธานสมาคมเกษตรอินทรีย์เวียดนาม กล่าวว่าการเติบโตที่รวดเร็วของเกษตรอินทรีย์ สร้างความกังวลในเรื่องการควบคุมคุณภาพ ทั้งนี้ ผู้อำนวยการของบริษัท Vinh Hiep Co. , Ltd ชี้ให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการทั่วโลกและข้อกำหนด/มาตรฐานเป็นสิ่งที่จำเป็นของการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน แต่ในปัจจุบัน การผลิตเกษตรอินทรีย์ของเวียดนามยังคงเผชิญกับอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะมาจากค่าใช้จ่ายในการวิจัยที่สูงและใช้เวลานาน เป็นต้น นอกจากนี้ ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ในการยกระดับมูลค่าและทำให้ยั่งยืน ได้แก่ ขยายพื้นที่เกษตรกรรม สร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจและสหกรณ์ รวมถึงฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/demand-for-organic-farm-produce-on-the-rise-in-vietnam/189381.vnp

พาณิชย์ เผยยอดขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางออนไลน์โต 20% ช่วงโควิด-19 ระบาด

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระตุ้นให้การขอใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form D แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) เพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.63 ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงในภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีผู้ประกอบการขอรับบริการ e-Form D จากกรมการค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 20% จากช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.63 สำหรับ e-Form D เป็นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียนที่ ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศได้ให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า e-Form D อย่างเต็มรูปแบบ (Live Operation) กับสมาชิกอาเซียน ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.63อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสดควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่กรมฯ ยังคงตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้รับบริการด้วยการเดินหน้ายกระดับการให้บริการด้วยนวัตกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยการผลักดันให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ e-Form D มากขึ้น เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการนำเข้า-ส่งออก

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3128621

เวียดนามเผยสินค้า 12 รายการ อาจเปิดไต่สวนการฉ้อโกงแหล่งกำเนิดสินค้า

หน่วยงานกำกับดูแลด้านมาตรการการค้าของเวียดนาม (TRAV) ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยสินค้า 12 รายการที่เข้าข่ายทุจริตแหล่งกำเนิดสินค้าหรือลักลอบขนส่งสินค้าผิดกฎหมาย อาทิ ไม้อัดที่ทำมาจากไม้เนื้อแข็ง, เบาะฟอง, ตู้ไม้, หินอัด, ท่อทองแดง, ข้อต่อเหล็กสำเร็จ, ล้อเหล็ก และเหล็กแปรรูปเรียบร้อยแล้ว เป็นต้น สินค้าดังกล่าวมีมูลค่าส่งออกสูงอย่างมากในปี 2562 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายได้ของตู้ไม้ปรับตัวขึ้น 1.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว จากปี 2561 อยู่ที่ 913 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนสหรัฐฯยังคงเป็นผู้นำเข้าหินอัดรายใหญ่จากเวียดนาม ด้วยมูลค่าในปี 2562 อยู่ที่ 118.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่า 2.5 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ ยังมีการสอบสวนเพิ่มและไต่สวนการการทุ่มตลาดแก่สินค้าประเภทเดียวกันจากประเทศอื่นๆ ได้แก่ จีน อินเดียและตุรกี ข้อมูลข้างนั้นอยู่ภายใต้คำสั่งนายกรัฐมนตรี (824/QD-TTg) เกี่ยวกับการป้องกันในการหาทางจัดการหลีกเลี่ยงทางการค้าและทุจริตแหล่งกำเนิดสินค้า

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/twelve-products-may-face-trade-origin-fraud-investigation-authority/171837.vnp