“นครโฮจิมินห์” ติดอันดับเมืองชั้นนำที่เป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

กรมส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ (FIA) กระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม เปิดเผยว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2565 เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม อยู่ในอันดับที่ 1 ของเมืองทั่วประเทศที่เป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีสัดส่วน 16.1% ของเม็ดเงินทุนรวม ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค. เวียดนามดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 2.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 24.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และประมาณ 309.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไหลเข้าไปยังโครงการที่จดทะเบียนใหม่ที่มีจำนวน 479 โครงการ เพิ่มขึ้น 17.6% และ 24.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามลำดับ นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของเมืองโฮจิมินห์ คิดเป็น 37.68% ของเงินทุนทั้งหมด รองลงมาญี่ปุ่น (17.9%) และเกาหลีใต้ (13.45%)

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-exports-to-cptpp-members-amount-to-us31-billion/

 

“ตลาดท่องเที่ยวเวียดนาม” กลับมาสู่สภาวะปกติ

ตามข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติเวียดนาม (VNAT) แสดงให้เห็นถึงตัวเลขของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง นักท่องเที่ยวภายในท้องถิ่นในเดือน ส.ค. มีจำนวนราว 8 ล้านคน ทำให้นักท่องเที่ยวรวม อยู่ที่ 79.8 ล้านคนในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. และเกินกว่าที่ตั้งป้าไว้ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวมทั้งสิ้น 60 ล้านคน เพิ่มขึ้น 33.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ถือว่าอยู่ในระดับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ รายได้รวมจากการท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าว อยู่ที่ 356.6 ล้านล้านดอง รายได้ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวในประเทศ ขณะที่ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวนมากกว่า 1.44 ล้านคน หดตัว 87.3% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 ส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลีใต้ 369,800 คน และชาวอเมริกัน 139,400 คน

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-domestic-tourism-market-back-on-track/

นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนนครอังกอร์ของกัมพูชาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

อุทยานโบราณคดีอังกอร์ (นครวัด) ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของกัมพูชา รายงานถึงสถานการณ์การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 8 เดือนแรกของปี โดยได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวกว่า 110,570 คน หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 17.6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สร้างรายได้กว่า 4.44 ล้านดอลลาร์ จากการขายตั๋วในช่วง มกราคม-สิงหาคมปีนี้ ซึ่งอุทยานโบราณคดีอังกอร์ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดเสียมราฐ มีพื้นที่กว่า 401 ตารางกิโลเมตร โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การ UNESCO ในปี 1992 ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด นครวัดได้ให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมากถึง 2.2 ล้านคน ในปี 2019 สร้างรายได้รวมกว่า 99 ล้านดอลลาร์ จากการขายตั๋วตามรายงานของ Angkor Enterprise

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501144320/cambodia-sees-big-jump-in-number-of-foreign-tourists-to-famed-angkor/

คาดโครงการลงทุนใหม่ในกัมพูชา สร้างการจ้างงานกว่า 2 พันตำแหน่ง

หลังจากสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) อนุมัติโครงการลงทุน 5 โครงการ ด้วยมูลค่าการลงทุนรวม 82.7 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการจ้างงานราว 2,000 ตำแหน่ง ในประเทศ โดยโครงการต่างๆ ครอบคลุมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ เสื้อผ้า การท่องเที่ยว โรงพยาบาล และเหมืองแร่ ตามการรายงานของ CDC ซึ่งโครงการแรกที่ CDC อนุมัติ เป็นของ  Kitatsu Solar (Cambodia) Co., Ltd. ประกอบกิจการโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ด้วยเงินลงทุน 23.4 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะจ้างงานในท้องถิ่น 637 ตำแหน่ง โครงการต่อมา Hen Jiu Garment Accessory Co., Ltd. วางแผนที่จะตั้งโรงงานเพื่อผลิตม้วนผ้าและด้าย ด้วยเงินลงทุน 5.1 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะจ้างงาน 463 ตำแหน่ง นอกจากนี้ CDC ยังอนุมัติโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในจังหวัดแกบอีกด้วย โดยจะดำเนินการภายใต้ Samanea Co., Ltd. ลงทุนราว 18.2 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาเกาะ Svay, Mates และ Kok ให้เป็นจุดท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งคาดว่าจะจ้างงาน 60 ตำแหน่ง รวมถึงการจ้างงานทางอ้อมเพิ่มเติมสำหรับประชาชนในพื้นที่ ในขณะเดียวกัน Khemunik Hospital Co., Ltd. วางแผนที่จะสร้างโรงพยาบาลขนาด 150 เตียง มูลค่าการลงทุน 23 ล้านดอลลาร์ ในจังหวัดกันดาล คาดว่าจะจ้างงานกว่า 458 ตำแหน่ง และโครงการสุดท้าย  Late Cheng Mining Development Co., Ltd. ดำเนินกิจการเหมืองแร่ ด้วยเงินลงทุน 13 ล้านดอลลาร์ คาดว่าจะจ้างงาน 300 ตำแหน่ง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501143278/investment-projects-worth-83-million-to-create-2k-jobs/

เมียนมาส่งมอบข้าว 1,000 ตัน ให้ศรีลังกาที่เผชิญวิกฤตทางเศรษฐกิจ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (วันที่ 2 กันยายน 2565) นาย U Aung Naing Oo รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมา เป็นตัวแทนในการส่งออกข้าวให้กับศรีลังกาจำนวน 1,000 ตัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเป็นการช่วยเหลือศรีลังกาในช่วงที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทั้งนี้ Mr. J.M. Bandara เอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำเมียนมา ได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลเมียนมาสำหรับมิตรไมตรีในครั้งนี้

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20220903/bc3cadf399f344f392557d5b4c812e7d/c.ht

จังหวัดคำม่วน สปป.ลาว ยืนยันพร้อมจ่ายหนี้โครงการพัฒนาจังหวัด 478 พันล้านกีบภายใน 10 ปี

จากการประชุมสามัญครั้งที่ 3 ของสภาประชาชนจังหวัดคำม่วนของสปป.ลาว ที่ประชุมได้มีการหยิบยกประเด็นเรื่องระเบียบการชำระหนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดหนี้เสีย จากแผนงานและการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งมุ่งเป้าการลงทุนเพื่อผลผลิต การลดหนี้ และลดการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็น สำหรับปีนี้มีหนี้ที่ต้องชำระให้กับผู้รับเหมาโครงการที่เข้ามาดำเนินการในจังหวัดจำนวน 54 โครงการ รวม 53 พันล้านกีบแก่ผู้ดำเนินการโครงการพัฒนา 54 โครงการ ส่วนหนี้ค้างชำระรวมจากปีงบประมาณที่ผ่านมา 478 พันล้าน คาดว่าจะสามารถชำระได้ภายใน 10 ปีข้างหน้า ที่ผ่านมางบประมาณได้ถูกนำไปใช้ในโครงการพัฒนาจังหวัดแต่กลับสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อย ในขณะที่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและอาคารสำนักงานบางแห่งก็ไม่สามารถเอื้อประโยชน์ต่อการใช้งาน โดยนาย เดชศักดา มณีคำ อธิบดีกรมการวางแผนและการลงทุน กล่าวว่า โครงการที่ไม่ประสบผลสำเร็จหรือมีความล่าช้า ควรมีการระงับและยุติลง

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/09/02/khammouane-expects-to-repay-lak-478-billion-debt-in-10-years/

ผู้ประกอบการกังวลต้นทุนผลิตสูงอุปสรรคสำคัญของธุรกิจ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (REPORTON BUSINESS SENTIMENT INDEX)เดือนสิงหาคม 2565 ดัชนีความเชื่อมั่นทรงตัวอยู่ที่ 49.6 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยความเชื่อมั่นด้านต้นทุนปรับดีขึ้นมากแม้จะยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อการลงทุนและการจ้างงานปรับลดลงเล็กน้อย สำหรับดัชนีฯ ภาคการผลิตยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 แต่ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากกลุ่มผลิตเหล็ก รวมถึงกลุ่มผลิตเคมี ปิโตรเลียม ยางและพลาสติกเป็นสำคัญ เนื่องจากความกังวลด้านต้นทุนลดลงตามราคาเหล็กและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อ การผลิต และผลประกอบการปรับเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวไม่เข้มแข็งกดดันให้ความเชื่อมั่นด้านสภาพคล่องของธุรกิจยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ต้นทุนการผลิตสูงยังคงเป็นอุปสรรคอันดับแรกในการดำเนินธุรกิจแต่สัดส่วนของผู้ประกอบการที่กังวลด้านต้นทุนเริ่มลดลง ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่กังวลต่อกำลังซื้อในประเทศปรับเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในอีก 12 เดือนข้างหน้าปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบปี จาก 4.8% ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ 4.5% ในเดือนนี้

ที่มา: https://www.naewna.com/business/677827

 

บริษัทญี่ปุ่นจับมือสหกรณ์เม็ดมะม่วงหิมพานต์กัมพูชา

สหกรณ์การเกษตร 12 แห่ง ในกัมพูชา ได้ทำสัญญาร่วมกับบริษัทญี่ปุ่น 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท Top Planning และ Kamya เพื่อจัดหาเม็ดมะม่วงหิมพานต์สดปริมาณกว่า 100 ตัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรกัมพูชาที่กำลังประสบกับปัญหาราคาเม็ดมะม่วงหิมพานต์ตกต่ำ ภายใต้สัญญาดังกล่าวมีกำหนดที่จะเริ่มดำเนินการในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวปีหน้า โดยในข้อกำหนดเน้นย้ำถึงด้านคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเป็นสำคัญ ในขณะที่รัฐบาลกัมพูชาคาดหวังเป็นอย่างมากว่าการลงนามดังกล่าวจะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิต ของเกษตรกรกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาสินค้าเกษตร ซึ่งภายใต้ข้อตกลงนี้บริษัทญี่ปุ่นตั้งราคาเม็ดมะม่วงหิมพานต์สดหนึ่งตันไว้ที่ราคา 1,625 ดอลลาร์ต่อตัน โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี กัมพูชาส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์สดปริมาณกว่า 670,000 ตัน ไปยังเวียดนาม คิดเป็นมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์ ลดลงมากกว่าร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501140414/japanese-firms-tie-up-with-cambodia-cashew-cooperatives/

โควิด-19 กระทบแรงงานกัมพูชาในต่างประเทศ ส่งเงินกลับลดลง 16.6%

โควิด-19 กระทบแรงงานกัมพูชาในต่างประเทศ ลงเงินกลับประเทศลดลงกว่าร้อยละ 16.6 หรือคิดเป็นมูลค่า 1,272 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตรงกันข้ามกับในช่วงปี 2014-2019 ที่มีการเติบโตกว่าร้อยละ 6.7 ต่อปี โดยข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยผ่านรายงาน “Asean Migration Outlook” ฉบับแรก ซึ่งปัจจุบันแรงงานกัมพูชาในต่างประเทศประมาณ 260,000 คน ตกงานหลังจากเกิดการแพร่ระบาดและได้เดินทางกลับมายังกัมพูชา โดยส่วนใหญ่กลับมาจากประเทศไทย ซึ่งในรายงานยังระบุเสริมอีกว่าการตกงานของแรงงานกัมพูชาในต่างชาติส่งผลทำให้ความยากจนในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปี 2019 ช่วงก่อนโควิด-19 แรงงานกัมพูชาในต่างประเทศมีมากกว่า 1 ล้านคน โดยกว่า 719,000 คน ทำงานในประเทศไทย หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของแรงงานกัมพูชาในต่างชาติ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501140226/covid-19-hit-cambodian-migrants-hard-remittances-fell-by-16-6/

“ไทย-เวียดนาม” จับมือดันราคาข้าวตลาดโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์ เปิดเผยว่าไทยและเวียดนามเห็นด้วยที่จะร่วมมือกันในการยกระดับราคาข้าวในตลาดโลก นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่านับว่าเป็นครั้งแรกที่ไทยและเวียดนาม ตกลงร่วมมือกันเพื่อยกระดับราคาข้าวในตลาดโลก โดยไทยและเวียดนามได้ริเริ่มในการเจรจาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีเป้าหมายตรงกันว่าเรื่องการปรับขึ้นราคาส่งออกข้าว เพื่อยกระดับอำนาจในตลาดโลกและเพิ่มรายได้เกษตรกร นอกจากนี้ ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) ชี้ว่าทั้งสองประเทศมีสัดส่วนการผลิตข้าวประมาณ 10% ของผลผลิตทั่วโลก และราว 26% ของการส่งออกโลก

ที่มา : https://www.nasdaq.com/articles/thailand-vietnam-to-cooperate-in-raising-rice-price-in-global-