“เวียดนาม” ขึ้นแท่นอันดับ 2 ช้อปปิ้งออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บริษัทสตาร์ทอัพด้านการขนส่งสินค้า “Ninja Van Vietnam” ได้เปิดเผยรายงานการวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ชี้ให้เห็นว่าตลาดเวียดนามเป็นประเทศชั้นนำที่มีการซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ย 104 ครั้งต่อปี และปัจจุบันมีสัดส่วน 15% ของการทำธุรกรรมซื้อสินค้าออนไลน์ทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากประเทศไทย 16% ทั้งนี้ ตามรายงานยังบ่งชี้ว่าปีนี้ คนเวียดนามซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ มีจำนวนมากกว่า 51 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ยอดใช้จ่ายในการช้อปปิ้งออนไลน์อยู่ที่ 12.42 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่าง พบว่าผู้ตอบส่วนใหญ่ 73% ซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นประจำ และ 59% นิยมสั่งซื้อสินค้าหรือซื้อสินค้าบ่อยครั้งบนเว็บไซต์ต่างประเทศ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-comes-second-in-sea-for-online-shopping-post957465.vov

“แบงก์ชาติเวียดนาม” ขายเงินสกุลดอลลาร์ เหตุรักษาตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

ตามข้อมูลของบริษัท Viet Dragon Securities Company (VDSC) เปิดเผยว่าธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ได้ทำการขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ราว 12-13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศ ซึ่งมูลค่าเงินข้างต้นนั้นคิดเป็นสัดส่วน 11% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเวียดนาม ปัจจุบันทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมีมูลค่ามากกว่า 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นกันชนสำคัญในการรักษาเสถียรภาพของตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและช่วยให้รองรับแรงกระแทกจากปัจจัยภายนอก ทั้งนี้ ธนาคารกลางเวียดนาม มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของการลดค่าเงินดองเวียดนาม และรักษาเสียรภาพของอุปสงค์-อุปทานเงินดอลลาร์ในตลาดแลกเปลี่ยนในประเทศ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1269358/central-bank-sold-greenback-to-stabilise-forex-market.html

ททท.จับตาเงินเฟ้อพ่นพิษ รายได้ท่องเที่ยวปี 66 รวม 2.3 ล้านล้านบาท

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ได้แถลงทิศทางการส่งเสริมการตลาดของ ททท.ในปี 2566 โดยได้วางเป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวจากตลาดในประเทศและต่างประเทศรวม 1.25-2.38 ล้านล้านบาท และวางตำแหน่งทางการตลาดไว้ว่าเป็นประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงสุด 1 ใน 5 ของโลก ขณะที่เมื่อปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ไทยอยู่อันดับที่ 4 ซึ่งในปี 2566 คาดมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 11-30 ล้านคน ขณะที่เป้าหมายรายได้ ตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 580,000 ล้านบาทถึง 1.5 ล้านล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 50,000-54,000 บาทต่อคน ลดลงจากไตรมาสแรกของปีนี้ ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 77,000 บาทต่อคนต่อทริป คาดว่าเกิดจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก และการขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวประหยัดการใช้จ่าย

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2448546

H1 กัมพูชาจัดเก็บภาษีแตะ 70% ของเป้าหมายการจัดเก็บประจำปี 2022

กรมภาษีอากร (GDT) กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกัมพูชากล่าวถึงรายงานการจัดเก็บภาษีเงินได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2022 ที่จัดเก็บได้ถึงร้อยละ 70 ของกรอบการจัดเก็บภาษีประจำปี 2022 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,973 ล้านดอลลาร์ จากมูลค่า 2,819 ล้านดอลลาร์ ที่ได้มีการกำหนดไว้ รวมถึง GDT ยังคาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้เกินเป้าถึงร้อยละ 10 ในปีนี้ หลังจากได้ทำการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีใหม่ ในขณะที่กรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ซึ่งรับหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้าขาเข้าและออก ได้รายงานถึงการจัดเก็บภาษีศุลกากรในช่วง 6 เดือนแรกของปีที่มูลค่า 1,293 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 50.1 ของแผนการจัดเก็บภาษีประจำปี

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501112847/h1-tax-income-collection-reaches-70-of-2022-plan/

ท่าเรือพนมเปญกัมพูชา รายงานผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี

ท่าเรืออิสระพนมเปญ (PPAP) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา (CSX) ได้รายงานถึงผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งมีรายรับที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 29 หรือคิดเป็นมูลค่า 19.76 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน มกราคม-มิถุนายนของปีนี้ โดยปริมาณตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.02 หรือคิดเป็น 209,176 TEU (หน่วยเทียบเท่า 20 ฟุต) ซึ่งในเดือนมิถุนายนเพียงเดือนเดียว ท่าเรือมีรายรับสูงถึง 3.59 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่ารายรับที่เพิ่มสูงขึ้นของท่าเรือสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจในระดับภูมิภาคและในระดับโลก และเพื่อให้สอดรับกับการฟื้นตัวทางฝั่งผู้บริหารท่าเรือได้เตรียมสร้างท่าเรือตามแม่น้ำอีก 7 แห่ง เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางการเกษตรและการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501113592/phnom-penh-autonomous-port-sees-h1-revenue-surging/

การค้าเขตการค้าเมียวดี หดตัวเหลือ 42.262 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กระทรวงพาณิชย์เมียนมา เผย มูลค่าการค้าของเขตการค้าเมียวดีของวันที่ 18-24  มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 42.262 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  แบ่งเป็นการส่งออก 13.165 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  และนำเข้า 29.097 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ซึ่งน้อยกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าที่มีการส่งออก 10.786 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้า 0.561 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ การส่งออกลดลงในสินค้าเกษตรและเครื่องนุ่งห่ม ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้นจะเป็นอุปกรณ์โทรศัพท์และการสื่อสาร จำหน่ายและติดตั้งพลังงานไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปุ๋ย วัตถุดิบพลาสติก เภสัชภัณฑ์ และสิ่งทอลูกไม้

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/myawady-trade-zone-handled-us-42-262-million-worth-of-trade-volume/#article-title

ออสเตรเลีย งดรับแรงงานเกษตร เข้าประเทศ !

เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 นาย พอล เคลลี เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำสปป.ลาว กล่าวว่า รัฐบาลออสเตรเลียประกาศงดรับแรงงานต่างชาติในภาคเกษตรผ่านโครงการวีซ่าแรงงานเกษตร ในระหว่างเข้าพบนาง เบย์คัม คัตติยา รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ซึ่ง นาง เบย์คัม คัตติยา แสดงความหวังว่าทั้ง 2 ประเทศ จะทำงานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานสปป.ลาวที่ถูกส่งไปทำงานยังออสเตรเลียผ่านโครงการอื่น ๆ จะได้รับประสบการณ์ พัฒนาทักษะแรงงาน และส่งเงินกลับมายังครอบครัวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น แม้ว่าสปป.ลาวและออสเตรเลียจะยังไม่ได้ลงนาม MoU เกี่ยวกับการส่งออกแรงงาน แต่มีบางบริษัทได้แอบอ้างโฆษณาว่าสามารถพาไปทำงานที่ออสเตรเลีย ทั้งนี้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้เตือนประชาชนไม่ให้หลงเชื่อโฆษณาดังกล่าว เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของการจ้างงานที่ผิดกฎหมาย

ที่มา: http://kpl.gov.la/En/Detail.aspx?id=67833

 

สถาบัน CIEM ชี้ทิศทางเศรษฐกิจเวียดนาม ปี 2565

สถาบัน Central Institute for Economic Management (CIEM) ได้แถลงเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้จะขยายตัวสูงถึง 6.9% ในกรณีฉากทัศน์ที่ดี (Best Case Scenario) ซึ่งเป็นตัวเลขใกล้เคียงที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 7% ในปีนี้ ขณะที่คาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.7% ตลอดจนการส่งออกขยายตัว 16.3% และดุลการค้าราว 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สถาบัน CIEM ระบุว่ายังมีปัจจัยหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามในช่วงครึ่งหลังของปี อาทิ ความสามารถในการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 สายพันธ์ใหม่และโรคอื่นๆ การดำเนินงานตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ สำหรับปัจจัยอื่นๆ เช่น ผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่เวียดนามลงนามไว้และการจัดการความเสี่ยงทางด้านการค้าและเทคโนโลยีกับประเทศมหาอำนาจของโลก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/ciem-provides-two-scenarios-for-vietnam-s-economic-growth-this-year-2040431.html

“เวียดนาม-ยูเค” ยอดการค้าระหว่างประเทศ แตะ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ตามข้อมูลของสำนักงานตลาดยุโรป-สหรัฐฯ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม เปิดเผยว่าในปีที่แล้ว การส่งออกและการนำเข้าระหว่างเวียดนาม-สหราชอาณาจักร (UK) มีมูลค่าอยู่ที่ 6.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และจากการคาดการณ์ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ตัวเลขของการค้าทั้งสองประเทศจะสูงถึง 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุหลักมาจากการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA) ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรคาดว่าจะฟื้นตัว หลังสิ้นสุดการแพร่ระบาดและรัฐบาลฯ ยกเลิกข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ เริ่ม 18 มี.ค.65 ทำให้ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นโอกาสแก่ผู้ส่งออกเวียดนาม โดยเฉพาะตลาดยูเคที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของเวียดนามในยุโรป รองจากเยอรมนีและเนเธอแลนด์ นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของสหราชอาณาจักรไปยังเวียดนามในปี 2564 อยู่ที่ 4.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นสองเท่าของมูลค่าก่อนที่จะก่อตั้งหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1268982/viet-nam-uk-trade-expected-to-reach-us-10-billion.html

‘อนุสรณ์’ยันประเทศไทย ไม่วิกฤตซ้ำรอย‘ศรีลังกา-ลาว’

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังกล่าวถึง ความเป็นไปได้ของเศรษฐกิจไทยที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแบบศรีลังกาหรือลาวว่าจะยังไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างน้อยในระยะสองสามปีข้างหน้านี้ แต่มีความเสี่ยงเรื่องฐานะทางการคลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยภายในประเทศจะทำให้ภาระต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของหนี้ภาครัฐ หนี้ภาคเอกชน หนี้ครัวเรือน ด้านผลกระทบของวิกฤตในศรีลังกาและลาว ทำให้ปริมาณการค้าต่อกันลดลงโดยเฉพาะการส่งออกของไทยไปศรีลังกาลดลง การเจรจาเปิดเสรีทางการค้าแบบทวิภาคีกับศรีลังกาต้องชะงักไป การค้าชายแดนไทย-ลาวลดลง

ที่มา: https://www.naewna.com/business/667372