AMRO ลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชา

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) เปิดเผยการคาดการณ์เศรษฐกิจของกัมพูชาว่าจะเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยได้ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปี 2021 เหลือขยายตัวร้อยละ 2.8 จากที่คาดการณ์ในเดือน มี.ค. ที่ร้อยละ 4 ซึ่ง AMRO กล่าวว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะกลับมาเติบโตในปีหน้าที่ร้อยละ 6.6 จากความสามารถในการเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โดย AMRO ยังได้ปรับลดการคาดการณ์ GDP สำหรับภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งรวมถึง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งคาดการณ์การเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.1 ลดลงจากการคาดการณ์ในเดือน มี.ค. ที่ร้อยละ 6.7 โดยคาดว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคอาจจะกลับมาเติบโตที่ร้อยละ 5 ในปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50949126/amro-cuts-growth-forecast-but-predicts-more-next-year/

ส่งออกกัมพูชาในช่วง 8 เดือน ยังคงขยายตัว

ปริมาณการส่งออกของกัมพูชาในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ยังคงเป็นบวก แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยปริมาณการค้าอยู่ที่ 25,610 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือน มกราคม-สิงหาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็นการส่งออกมูลค่ารวม 11,010 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20.4 โดยการนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 14,600 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งการขยายตัวของการส่งออกในช่วง 8 เดือน ได้รับแรงหนุนจากการส่งออกเสื้อผ้า จักรยาน และสินค้าส่งออกอื่นๆ รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ ยาง หนังขนสัตว์ อุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนไฟฟ้า สายไฟและสายเคเบิล กล้วย น้ำตาล รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50949168/total-trade-volume-in-the-first-eight-months-of-this-year-remains-positive/

9 เดือนขอลงทุนทะลุ 5 แสนล้านบาท บีโอไอโชว์ตัวเลขต่างชาติโตกว่า 200%

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2564 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 1,273 โครงการ เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับปี 2563 เงินลงทุนรวม 520,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีมูลค่าสูงกว่าปี 2563 ทั้งปีซึ่งอยู่ที่ 432,000 ล้านบาท พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่าเงินลงทุน 269,730 ล้านบาท คิดเป็น 52% ของการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ลงทุนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด รองลงมาคือ การแพทย์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ การเกษตรและแปรรูปอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ที่น่าสนใจคือ มูลค่าขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ มี 587 โครงการ เงินลงทุน 372,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 220% เมื่อเทียบกับปีก่อน ประเทศที่ลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสิงคโปร์

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_2985772

ภาคการผลิตเมียนมาดึงดูดเม็ดเงิน FDI กว่า 286 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณที่แล้ว

คณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท เผย ปีงบประมาณ 2020-2021 บริษัทต่างชาติส่วนใหญ่จับตาการลงทุนในภาคการผลิตของเมียนมา โดยเพิ่มทุนประมาณ 286 ล้านเหรียญสหรัฐออกใน 27 โครงการ ซึ่งสถานประกอบการผลิตและธุรกิจที่ต้องการกำลังแรงงานจำนวนมากได้รับการจัดลำดับความสำคัญมากเป็นพิเศษ แต่ต้องเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ลดลงอย่างมากจากความต้องการของตลาดสหภาพยุโรปส่งผลให้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าแบบการตัด การผลิต และบรรจุภัณฑ์ CMP บางแห่งปิดตัวลง คนงานหลายพันคนตกงาน แม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาลงหลังเริ่มมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของ GDP ประเทศ ปีงบประมาณที่แล้ว เมียนมาร์ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า 3.79 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ซึ่งรวมถึงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/manufacturing-sector-attracts-286-mln-last-fy/#article-title

‘บริษัทต่างขาติ’ ชี้เวียดนามยังเป็นเป้าหมายที่น่าลงทุนที่ดี

ตามการประชุมแบบเสมือนจริงภายใต้ชื่องาน ‘ลงทุนเวียดนาม ชนะและความท้าทาย’ นาย Nguyen Hai Minh หุ้นส่วนบริษัท Mzazrs และรองประธานหอการค้ายุโรป กล่าวว่าเวียดนาม ปัจจัยทางด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการส่งออก และในปีนี้ การลงทุนจากต่างประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงความกังวลว่านักลงทุนต่างชาติจะไม่เข้ามาทำธุรกิจหรือย้ายออกนอกประเทศ ด้วยเหตุนี้ หอการค้ายุโรปจึงทำการสำรวจในเดือน สิ.ค. พบว่าบริษัทร้อยละ 18 ย้ายฐานการผลิตยางส่วนไปยังประเทศอื่นแล้ว และร้อยละ 16 ยังคงอยู่ในช่วงการประเมิน ทั้งนี้ จากการสอบถามกับหลายๆ บริษัท กล่าวว่าโควิด-19 จะอยู่อีกไม่นาน และคงมองเวียดนามในทิศทางที่เป็นบวกสำหรับด้านการลงทุน ตลอดจนเวียดนามเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/foreign-firms-continue-to-see-vietnam-as-good-investment-location/209497.vnp

 

จับตาเงินดองเวียดนามมีทิศทางแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ปี 64

ศูนย์วิจัย Fitch Solutions ได้ปรับการคาดการณ์ค่าเงินดองเวียดนามในปี 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 22,900 ดองต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิม 22,800 ดองต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนผู้ให้บริการทางการเงินคาดว่าค่าเงินดองเฉลี่ยอยู่ที่ 23,000 ดองต่อดอลลาร์สหรัฐปี 2566 ทั้งนี้ นักวิเคราะห์จากสถาบัน Fitch กล่าว่าแนวโน้มค่าเงินดองจะทรงตัวในระดับที่แข็งค่าขึ้น หลังจากค่าเงินดองแข็งค่าต่อดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่เดือน ก.ค. 64 และยังคงมีมุมมองที่เป็นบวกจากปัจจัยการไหลเข้าของเม็ดเงินทั้งการค้าและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แต่ที่สำคัญกว่านั้น ธนาคารกลางดูเหมือนจะสนับสนุนค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น เพื่อที่จะควบคุมราคานำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและต้นทุนโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของภาคการส่งออกในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะช่วยหนุนค่าเงินดอง ถึงแม้ว่าการค้าจะเผชิญกับอุปสรรคจากการหยุดชะงักในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เนื่องจากมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 แต่รัฐบาลประกาศให้กิจการกลับมาดำเนินการในโรงงาน

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1056845/vietnamese-currency-forecast-to-strengthen-against-us-dollar-in-2021.html

 

ส่งออกรถยนต์ไปเมียนมาสะดุด ทางการประกาศห้ามนำเข้าชั่วคราว

นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้า กระทรวงพาณิชย์เมียนมา ได้ระงับการเปิดศูนย์ขายรถยนต์ใหม่ รวมทั้งระงับการออกใบอนุญาตนำเข้าและการอนุญาตนำเข้ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นไป เพื่อลดการใช้เงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าสินค้ารถยนต์ฯ ประกาศฯ มีดังนี้ 1.กรณีการนำเข้ารถยนต์ที่ใช้แล้วและการนำเข้ารถยนต์ส่วนบุคคล 2.กรณีการนำเข้าจากศูนย์การขายรถยนต์และโชว์รูมรถยนต์ 3.กรณีที่มีการนำเข้าให้กับข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ทหารและตำรวจที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ทั้งนี้ในช่วงเดือนม.ค.-ส.ค. 2564 ไทยส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไปเมียนมา มูลค่า 1,991.13 ล้านบาท โดยผ่านชายแดนมูลค่า 1,500.34 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 75.35%

ที่มา: https://www.naewna.com/business/608193

รัฐบาลตั้งเป้าใช้รถยนต์ไฟฟ้า 1 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568

รัฐบาลตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าตามท้องถนนของประเทศเป็น 1% ภายในปี 2568 และมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ในปี 2573 นายกรัฐมนตรีพันธุ์คำ วิภาวัณ ได้อนุมัตินโยบายใหม่เกี่ยวกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการนำเข้าเชื้อเพลิงและลดการปล่อยก๊าซที่เป็นอันตรายเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในภาคการขนส่งเพื่อเพิ่มจำนวนผู้จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลจะไม่กำหนดข้อจำกัดในการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า แต่ยานพาหนะที่นำเข้าและจำหน่ายในประเทศลาวต้องได้มาตรฐานสากล ไม่เพียงแค่การส่งเสริมการนำเข้าแต่ยังแต่งตั้ง Electricite du Laos (EDL) เป็นผู้ให้บริการติดตั้งสถานีชาร์จเพื่อเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างครบวงจร นโยบายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สำหรับปี 2573 และวิสัยทัศน์สำหรับปี 2593 อีกทั้งนโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการบรรลุวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Govt_targets_198.php

ประชากรกัมพูชาได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส กว่า 13.4 ล้านคน

กัมพูชาเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างน้อย 1 โดส ให้กับประชาชนไปแล้วกว่า 13,468,296 คน โดยฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มแรก คือ ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แล้วเสร็จแล้วกว่าร้อยละ 99.16 ของกลุ่มเป้าหมาย 10 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวน 9,915,738 คน ได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งเปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนโดยรวมของกัมพูชา ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ร้อยละ 84.18 จากประชากรประมาณ 16 ล้านคนทั่วประเทศ โดยกลุ่มที่สอง คือ เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6-12 ปี ได้ทำการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสแล้วกว่าร้อยละ 94.23 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1.9 ล้านคน และกลุ่มสุดท้าย คือ เยาวชนอายุตั้งแต่ 12-17 ปี ได้ทำการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสแล้วกว่า 1.6 ล้านคน จากทั้งหมด 1.8 ล้านคน ซึ่งได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50948401/more-than-13-4-million-in-cambodia-have-received-at-least-one-dose-of-covid-19-vaccine/

กัมพูชาอนุมัติร่างแผนการลงทุนภาครัฐประจำปี 2022-2024

คณะรัฐมนตรีกัมพูชา อนุมัติร่างการลงทุนสาธารณะ (PIP) กรอบระยะเวลา 3 ปี 2022-2024 ภายใต้กรอบงบประมาณ 9,201 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในจำนวนนี้ได้มาจากรัฐบาลและพันธมิตรด้านการพัฒนาจำนวน 7,713.3 ล้านดอลลาร์ (รัฐบาลกัมพูชา 477.1 ล้านดอลลาร์ และจากพันธมิตรด้านการพัฒนา 7,236.2 ล้านดอลลาร์) และเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติม 1,487.7 ล้านดอลลาร์ โดยมีโครงการทั้งหมด 673 โครงการ รวมถึงโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน 185 โครงการ ซึ่งต้องใช้เงินทุน 5,817 ล้านดอลลาร์ และ สำหรับ 488 โครงการ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาแห่งชาติประจำปี 2019-2023 ต้องใช้เงินทุนอีกราว 3,384 ล้านดอลลาร์ โดยการลงทุนดังกล่าวถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ตลอดจนเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายสำหรับการผลักดันประเทศให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50948415/draft-3-year-rolling-public-investment-programme-2022-2024-approved/