BOI ไฟเขียว ‘เชอรี’ ค่ายรถระดับโลกจากจีน ตั้งฐานผลิต EV พวงมาลัยขวาในไทย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ผลจากความพยายามในการดึงการลงทุนจาก บริษัท Chery Automobile ให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้ประสบความสำเร็จตามแผนที่หารือกัน โดย Chery (เชอรี) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของจีนและเป็นผู้นำเทคโนโลยียานยนต์ระดับโลก ที่มียอดการส่งออกรถยนต์เป็นอันดับ 1 มาอย่างต่อเนื่อง 21 ปี โดยในปี 2566 Chery มียอดส่งออกกว่า 1.8 ล้านคัน ได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชนิดพวงมาลัยขวา เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง โดยโครงการนี้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา สำหรับแผนการลงทุนของบริษัท Chery Automobile ในประเทศไทย จะดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อบริษัท “โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย)” ซึ่ง OMODA และ JAECOO เป็นแบรนด์ของ Chery สำหรับทำตลาดในต่างประเทศ โดยจะตั้งโรงงานที่จังหวัดระยอง ในเฟสแรก ภายในปี 2568 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ BEV และ HEV ปีละประมาณ 50,000 คัน และในเฟสที่ 2 ภายในปี 2571 จะขยายกำลังการผลิตถึงปีละ 80,000 คัน สำหรับการส่งเสริมโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และไฮบริด (HEV) บีโอไอได้อนุมัติให้การส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 26 โครงการ จาก 19 บริษัท รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1123160

บีโอไอยันลงทุนปี’64 สร้างงาน1.1แสนตำแหน่ง

มีรายงานจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แจ้งว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา บีโอไอ ให้การอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1,572 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 511,900 ล้านบาท โดยเป็นการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 768 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 49 ของโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น มีมูลค่ารวม 315,620 ล้านบาท การอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ 69 โครงการ เงินลงทุนรวม 60,300 ล้านบาท มีโครงการที่น่าสนใจ เช่น โครงการโปรตีนแอนติเจนและโปรตีนแอนติบอดีตัดแต่งพันธุกรรม โครงการผลิตภัณฑ์เซลล์และยีนบำบัดเพื่อการรักษาโรคในกลุ่ม Car T Cell เป็นต้น พร้อมระบุว่าโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ช่วยสร้างงาน 113,562 ตำแหน่ง โดยโครงการในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีการจ้างงานเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 40 ของการจ้างแรงงาน หรือมีการจ้างงานประมาณ 45,081 ตำแหน่ง

ที่มา: https://www.naewna.com/business/661586

9 เดือนขอลงทุนทะลุ 5 แสนล้านบาท บีโอไอโชว์ตัวเลขต่างชาติโตกว่า 200%

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า ช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2564 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 1,273 โครงการ เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับปี 2563 เงินลงทุนรวม 520,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีมูลค่าสูงกว่าปี 2563 ทั้งปีซึ่งอยู่ที่ 432,000 ล้านบาท พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่าเงินลงทุน 269,730 ล้านบาท คิดเป็น 52% ของการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ลงทุนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด รองลงมาคือ การแพทย์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ การเกษตรและแปรรูปอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ที่น่าสนใจคือ มูลค่าขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ มี 587 โครงการ เงินลงทุน 372,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 220% เมื่อเทียบกับปีก่อน ประเทศที่ลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสิงคโปร์

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_2985772

อะไรทำให้ ‘เวียดนาม’ เนื้อหอม ดึงดูดนักลงทุน ก้าวสู่ฐานการผลิตโลก สวนทาง ‘ไทย’ ที่กำลังโดนทิ้ง

โดย รุ่งนภา พิมมะศรี I กองบรรณาธิการสายเศรษฐกิจ ไทยรัฐพลัส

ความสามารถในการแข่งขันของไทยลด และกำลังโดนทิ้ง

ความกังวลที่ว่านักลงทุนรายใหม่จะไม่เข้ามา และนักลงทุนรายเดิมจะหนีไป เกิดขึ้นจริงแล้ว ดังที่มีข่าว ข้อมูล และตัวเลขต่างๆ-บริษัทต่างชาติปิดบริษัท บริษัทต่างชาติย้ายฐานการผลิต แรงงานร่ำไห้หน้าโรงงานในวันทำงานวันสุดท้าย คือเหตุการณ์ที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่เรื่อยมา และข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่อาจจะฟังดูเศร้าๆ คือ บริษัทสัญชาติไทยเองก็ไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีนักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนในไทยเลย เพียงแต่ตัวเลขจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุนใน 3 ปีหลังลดลง และมูลค่าไม่สูงเท่าประเทศคู่แข่งรายสำคัญอย่างเวียดนาม

เมื่อช่วงกลางปี 2564 ที่เพิ่งผ่านมา มีข่าวอันลือลั่นจากรายงานของ KKP Research ที่ว่าโลกกำลังจะทิ้งไทย ซึ่งข้อมูลในรายงานบอกว่า เมื่อเทียบการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศใน 5 ประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ พบว่าสัดส่วนของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยมีสัดส่วนอยู่มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปี 2547-2550 แต่ในช่วงปี 2559-2562 ลดเหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันอ่อนแอลง

ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ว่าสถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง

เวียดนามดึงดูดนักลงทุนเก่ง สวนทางกับไทย

กราฟเทียบมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของไทยกับเวียดนาม จากคลังข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ช่วยให้เห็นภาพความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนของเวียดนามชัดขึ้น

ปี 2563 ข้อมูลจากกระทรวงการวางแผนและการลงทุน ประเทศเวียดนาม ระบุว่า 11 เดือนแรกของปี 2563 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนามมีมูลค่า 17,200 ล้านดอลลาร์ โดยภาคการผลิตและการแปรรูปดึงดูดการลงทุนมากที่สุด ส่วนประเทศที่เข้าไปลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง

“ยังมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ ไว้วางใจ และมีความจำเป็นต้องลงทุนในเวียดนามเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้การเดินทางของนักลงทุน ตลอดจนการตัดสินใจลงทุนครั้งใหม่ และการขยายขนาดโครงการโดยตรงจากต่างประเทศยังคงได้รับผลกระทบ” ข้อมูลจากทางการเวียดนาม

และในปี 2564 นี้ นับถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 มูลค่าเงินทุนจากโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในเวียดนาม อยู่ที่ประมาณ 9,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 306,832 ล้านบาท มากกว่าของไทยในช่วงเวลาเดียวกันที่มีมูลค่า 278,658 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 6.8 เปอร์เซ็นต์จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ปัจจัยเด่นของเวียดนามที่โดนใจบริษัทต่างชาติ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าอะไรเป็นเหตุผล เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้บริษัทต่างชาตินิยมเลือกเวียดนามเป็นฐานการผลิต? ไม่ว่าจะสำหรับการขยายฐานการผลิตเพิ่มเติม หรือย้ายฐานการผลิตมาจากประเทศอื่น

ศูนย์พัฒนาการค้าและธุรกิจไทยในอาเซียน สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เคยวิเคราะห์ปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ว่ามี 6 ปัจจัย ดังนี้

  1. ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล

เวียดนามปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว คือพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดแนวทางการบริหารประเทศทุกด้าน ทําให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น และนโยบายต่างๆ ได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้นำประเทศมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการบริหารประเทศ และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในเวียดนาม

  1. ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์

เวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะพลังงาน และแร่ธาตุ เช่น มีแหล่งน้ำมันดิบกระจายอยู่ทั่วทุกภาค เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายสำคัญอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย, มีปริมาณเชื้อเพลิงสำรอง เช่น ก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม และถ่านหินอยู่มาก รวมทั้งแร่ธาตุสําคัญ คือ บอกไซต์ โปแตสเซียม และเหล็ก นอกจากนี้ ยังมีป่าไม้ มีทรัพยากรดินและน้ำอย่างเพียงพอทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเอื้อต่อการเพาะปลูก

  1. เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ

เวียดนามมีประชากรมากถึง 90 ล้านคน ชาวเวียดนามเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และชาวเวียดนามโพ้นทะเลหรือที่เรียกว่า ‘เวียดกิว’ ซึ่งมีประมาณ 3 ล้านคน โอนเงินกลับประเทศปีละประมาณ 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีคุณภาพดีจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี

  1. เน้นนโยบายเป็นมิตรกับทุกประเทศ

เวียดนามให้ความสำคัญกับมิตรประเทศ รวมถึงนโยบายด้านความปลอดภัย ทําให้เวียดนามไม่เคยตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย และแทบไม่มีปัญหาอาชญากรรมขั้นร้ายแรง ประกอบกับเวียดนามมีกฎหมายที่เข้มงวดและมีบทลงโทษรุนแรง ส่งผลให้เวียดนามเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจเข้าไปลงทุน

  1. เวียดนามให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง

มีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ตลอดจน สาธารณูปโภคต่างๆ ให้มีความสะดวกและทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC)

  1. ความได้เปรียบด้านแรงงาน

ชาวเวียดนาม 48 ล้านคน หรือคิดเป็น 55 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรเวียดนามทั้งหมดอยู่ในวัยทำงาน มีอายุระหว่าง 15-64 ปี และอัตราการรู้หนังสือของชาวเวียดนามสูงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ทำให้เวียดนามมีแรงงานคุณภาพจำนวนมาก อัตราค่าจ้างแรงงานต่ำ และยังสามารถหาแรงงานได้ง่าย นายจ้างสามารถรับสมัครแรงงานได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านกระทรวงแรงงานของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน ชาวเวียดนามก็มีความสนใจสมัครงานโดยเฉพาะกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นจุดแข็งของตลาดแรงงานในเวียดนาม

อ่านต่อ : https://plus.thairath.co.th/topic/money/100479

กิจกรรม “สานสัมพันธ์ Mentor และ Mentee : ตะลุย CLMV ตลาดและโอกาสการลงทุนของนักธุรกิจไทย”

📌 Mentee รุ่นที่ 1 กลุ่มประเทศสปป.ลาว และเมียนมา ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “สานสัมพันธ์ Mentor และ Mentee” ครั้งที่ 2 ขึ้นเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่าง Mentor และ Mentee ทุกกลุ่มประเทศ เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม 2563 เวลา 15.00–19.00 น. ห้องเอนกประสงค์ อาคาร 24 (อาคารใบเรือ) ชั้น 18 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยกิจกรรมภายในงานมีการบรรยายให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการค้าการลงทุนซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถจากภาครัฐและเอกชนที่เชี่ยวชาญในการทำการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV อาทิ

🔴 “เปิดประสบการณ์การค้า ” โดย คุณพันละคร สีบุญเรื่อง ที่ปรึกษาส่วนตัวรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมสปป.ลาว

ผ่านทาง Video Conference

🔴 “เปิดประสบการณ์การค้า ตลาดเมียนมา” โดย คุณกริช  อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา

🔴 “การพัฒนาผู้ประกอบการไทย และสิทธิประโยชน์ BOI”  โดย คุณเลิศชาย เอี่ยมไธสง นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน     สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

บีโอไอนำผู้ประกอบการไทยจับมือรับช่วงผลิตกับบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์

นางสาวซ่อนกลิ่น  พลอยมี ผู้อำนวยการกองพัฒนาและเชื่อมโยงการลงทุน (BUILD) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) (ที่ 3 จากซ้าย) จับมือกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นำคณะผู้ประกอบการ SMEs ไทยเข้าเยี่ยมชมสายการผลิต พร้อมรับฟังนโยบายการจัดซื้อชิ้นส่วนจากบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก เช่น อีวี ชาร์จเจอร์ สวิชชิ่งเพาเวอร์ซัพพลาย และให้บริการการจัดการระบบความร้อนและกำลังไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ เป็นต้น โดยกิจกรรมนี้จะก่อให้เกิดการสั่งซื้อชิ้นส่วนระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ไทย กับบริษัทเดลต้าต่อไป

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/444169?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=Macro_econ

BOI ห่วงขาดแรงงาน อุตฯ ดิจิทัล-อิเล็กทรอนิกส์

บีโอไอห่วงอุตฯดิจิทัลขาดแคลนแรงงาน สวนทางคำขอลงทุนโตก้าวกระโดด รับผลนิว นอร์มอล-เวิร์คฟอร์มโฮม ขณะส.อ.ท.วอนกระทรวงการอุดมศึกษาทำหลักสูตรพัฒนา การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้ปัจจุบันมีนักลงทุนแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนไทยเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมดิจิทัล จำนวนมาก โดยคำขอส่งเสริมการลงทุนช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) พบว่า อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มาแรงเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่า 10,620 ล้านบาท ต่อเนื่องถึงเดือนเม.ย.-พ.ค.ก็ยังขยายตัว มูลค่าคำขอเพิ่มอีก 17,000 ล้านบาท รวม 5 เดือน(ม.ค.-พ.ค.) มูลค่าคำขอรวมประมาณ 27,000 ล้านบาท ปัจจุบัน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ฯยังขาดแคลนอย่างมาก ซึ่งปัญหาขาดแคลนแรงงานอุตสาหกรรมดิจิทัลนี้บีโอไอได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เตรียมตัวเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้แล้ว เพราะบีโอไอไม่มีอำนาจในการจัดการด้านแรงงาน แรงงานในอุตสาหกรรมดิจิทัลต้องใช้ทักษะความสามารถ ขณะที่อุตสาหกรรมอาจสับเปลี่ยนการทำงานแทนกันได้ ดังนั้นขณะนี้จึงอยู่ระหว่างทำงานร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เพื่อทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในจัดทำหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรในอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากนี้หลักสูตรที่มีประสิทธิภาพ การจูงใจให้นักศึกษาเข้าเรียนสาขาวิชาชีพนี้ก็เป็นเรื่องที่อว.ต้องประสานกับหน่วยงานด้านการศึกษาอื่นที่เกี่ยวข้อง​ รายงานข่าวแจ้งว่าความต้องการแรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ในช่วง 5 ปี (2562-66) จะอยู่ที่ 46,500 – 49,500 คน

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/886026?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic

สมคิด สั่งบีโอไอเร่งสร้างปมเด่นประเทศไทย

รองนายกฯ สมคิด มอบนโยบายบีโอไอ ชี้ใช้โอกาสภาพลักษณ์จัดการโควิดดี เป็นโอกาส หันทิศใหม่สร้างฐานธุรกิจในประเทศให้ใช้ฐานการผลิตเกษตร อาหารที่ดีให้เป็นประโยชน์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการทำงานให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า ได้สั่งให้บีโอไอปรับรูปแบบการทำงานใหม่ โดยใช้โอกาสที่ทั่วโลกเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ เร่งสร้างปมเด่นให้กับประเทศไทย เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีนี้ โดยต้องสร้างฐานธุรกิจภายในประเทศให้มากขึ้น เพราะไทยเรามีจุดเด่นทั้งด้านเกษตร อาหาร และการบริการที่สามารถผลักดันจนเป็นศูนย์กลางซีแอลเอ็มวี        นายสมคิด กล่าวว่า ยังสั่งให้บีโอไอตั้งเป้าหมายการทำงานในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยต้องสร้างธุรกิจของไทยก้าวไปสู่ชั้นของธุรกิจยูนิคอร์น หรือ ธุรกิจที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้ได้ เพราะปัจจุบันมีธุรกิจไทยหลายประเภทที่สามารถผลักดันขึ้นมาเป็นยูนิคอร์นได้หากบีโอไอเข้าไปช่วยส่งเสริมถูกจุด…

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/780008