กระทรวงแรงงานและสวัสดิการ เร่งนำคนว่างงานขึ้นทะเบียนงานใหม่

พลเมืองลาวที่หางานทำกับบริษัทหรือโรงงานสามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่หมู่บ้าน ซึ่งจะช่วยพวกเขาหางานใหม่ภายหลังการตกงานอันเนื่องมาจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้สั่งให้หน่วยงานทั่วประเทศประสานงานกับหน่วยงานท้องถิ่นในการให้ข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับจำนวนผู้ว่างงานที่ต้องการความช่วยเหลือ จำนวนคนตกงานพุ่งสูงขึ้น หลังจากคนหลายพันคนตกงาน เนื่องจากนายจ้างของพวกเขาหยุดดำเนินการและเลิกจ้างพนักงานเมื่อเกิดโรคระบาด กระทรวงได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งความพยายามในการช่วยเหลือผู้ว่างงาน โดยกล่าวว่าการแทรกแซงของรัฐเป็นสิ่งจำเป็นหลังจากการล็อกดาวน์บีบให้ธุรกิจจำนวนมากต้องระงับการดำเนินการ และต้องพักงานหรือเลิกจ้างคนงาน ธุรกิจจำนวนมากปิดตัวลงในช่วงล็อกดาวน์ และทางการต่างหวังว่าจะมีการจ้างงานฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเนื่องจากยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Ministry147.php

การค้าระหว่าง กัมพูชา-เกาหลีใต้ มีมูลค่ารวมถึง 451 ล้านดอลลาร์

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้กำลังเติบโต ก่อนร่างข้อตกลงการค้าทวิภาคีที่คาดว่าจะลงนามและมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปีนี้ โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายนการค้าทวิภาคีระหว่าง 2 ประเทศ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 451 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 6.7 ตามข้อมูลจากสมาคมการค้าระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ ซึ่งคิดเป็นกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังเกาหลีใต้รวมมูลค่า 159 ล้านดอลลาร์ หดตัวร้อยละ 1.6 ส่วนการส่งออกของเกาหลีใต้มายังกัมพูชากลับปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 11.9 คิดเป็นมูลค่า 292 ล้านดอลลาร์ โดยรองประธานหอการค้ากัมพูชากล่าวว่าถือเป็นการเคลื่อนไหวในทางที่ดีเพราะทั้งสองประเทศกำลังจะลงนามและดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเสรีที่กำลังจะมีขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบในเชิงบวกสำหรับภาคการส่งออกของทั้งสองประเทศ ภายใต้เงื่อนไขของข้อตกลงทางภาษีและการยกเว้นภาษี รวมถึงอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ จะลดลง หลังข้อตกลงทางการค้ามีผลบังคับใช้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50903734/cambodia-s-korea-latest-trade-valued-at-451-mn/

ทางการกัมพูชากำหนดทุนสำรองระหว่างประเทศไว้เกือบ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์

ทางการกัมพูชากำหนดทุนสำรองระหว่างประเทศไว้สูงถึง 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ สำหรับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศ ในขณะที่ภาคการธนาคารภายในประเทศยังคงแข็งแกร่งท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 โดยทุนสำรองระหว่างประเทศของกัมพูชาเพียงพอที่จะรับประกันการจัดหาสินค้าและบริการที่จำเป็นครอบคลุมกว่า 10 เดือน ในขณะเดียวกัน ธนาคารของกัมพูชายังคงมีความยืดหยุ่นอย่างเห็นได้ชัดด้วยการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ประมาณร้อยละ 18 สินเชื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 และเงินฝากเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2021 เศรษฐกิจของกัมพูชายังคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภาคการท่องเที่ยว การผลิต และการก่อสร้าง ในขณะที่การเกษตรกลับสามารถเติบโตได้ ซึ่งธนาคารและสถาบันการเงินในกัมพูชาได้ให้การช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้สินให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 367,239 บัญชี หรือคิดเป็นประมาณ 5.5 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50903507/cambodia-has-close-to-21-billion-in-international-reserves-securing-macroeconomic-stability/

FDI เวียดนาม ม.ค.-ก.ค. ดิ่งลง 11%

กระทรวงวางแผนและการลงทุน เผยว่าเวียดนามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ราว 16.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ค. 2564 ลดลง 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงจำนวนเม็ดเงิน FDI ที่ไหลเข้าลดลงอย่างมาก นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 เมื่อปลายเดือนเมษายน ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน แสดงให้เห็นว่าจำนวนเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทั้งสิ้น 16.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หากแบ่งเงินทุนออกเป็น 10.13 พันล้านเหรียญสหรัฐ มาจากโครงการที่จดทะเบียน 1,006 โครงการ เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบปีต่อปี อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ค. สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ด้วยมูลค่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาญี่ปุ่น 2.54 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเกาหลีใต้ 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/83410/fdi-in-jan-jul-falls-over-11.html

‘เวียดนาม-สปป.ลาว’ ค้าระหว่างประเทศ ครึ่งปีแรก โต 36.5%

จากข้อมูลของสำนักงานการค้าเวียดนามในสปป.ลาว เผยช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มูลค่าการค้าสองทางอยู่ที่ 671 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.5% เมื่อเทียบปีต่อปี และรายได้จากการส่งออกของเวียดนาม 329 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่รายได้จากการนำเข้า 341 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.1% และ 58.9% ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนาม ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ, ยานพาหนะและอะไหล่, เครื่องจักร อุปกรณ์และน้ำมันเชื้อเพลิง ในขณะเดียวกัน เวียดนามส่วนใหญ่นำเข้าไม้และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้จากสปป.ลาว รวมถึงแร่ธาตุและยาง เป็นต้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/998649/viet-nam-laos-enjoy-growth-in-two-way-trade-in-h1.html

ค้าชายแดนเมียนมาลดฮวบ 693 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

มูลค่าการค้าชายแดนเมียนมารวม 7.65 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 693 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่า 8.34 พันล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ  แบ่งเป็นการส่งออก 4.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการนำเข้า 2.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณการค้าที่ด่านชายแดนมูเซ ระหว่างจีน-เมียนมา มีมูลค่า 2.92 พันล้านดอลลาร์ ลดลงกว่า 638 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปีก่อน เมียนมามีด่านการค้าชายแดน 18 แห่ง ติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง จีน ไทย บังคลาเทศ และอินเดีย ทั้งนี้สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ฟาร์ม สัตว์ ทะเล ป่าไม้ เหมืองแร่ สินค้า CMP และอื่นๆ ส่วนการนำเข้าจะเป็นสินค้าทุน วัตถุดิบอุตสาหกรรม สินค้าส่วนบุคคล และวัตถุดิบ CMP เป็นหลัก

ที่มา : https://cdn.myanmarseo.com/file/client-cdn/2021/07/28_July_21_gnlm.pdf

สะพานข้ามแม่น้ำบ่อแก้ว-ไซยะบุรีเชื่อมต่อประเทศไทย แล้วเสร็จไปแล้วกว่า 65 เปอร์เซ็นต์

สะพานยาว 505 เมตรที่ทอดข้ามแม่น้ำโขงระหว่างอำเภอปากทาในจังหวัดบ่อแก้วและอำเภอคอบในจังหวัดไซยะบุรีซึ่งให้การเชื่อมโยงที่ง่ายกว่ากับประเทศไทย ขณะนี้เสร็จสมบูรณ์แล้วกว่าร้อยละ 65 มูลค่าก่อสร้างกว่า 180 พันล้านกีบ โดยโครงการได้รับทุนจากรัฐบาล สะพานนี้จะเชื่อมโยงได้ง่ายขึ้นจากถนนแห่งชาติหมายเลข 2243 ในอำเภอปากทา จังหวัดบ่อแก้ว ไปยังอำเภอคอบ จังหวัดไซบูรี และต่อไปยังประเทศไทย โดยจะเป็นช่องทางลัดสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ที่เดินทางผ่านพื้นที่และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างสปป.ลาวและไทย สะพานจะมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยรวมจากการปรับปรุงการไหลของสินค้า เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะเป็นสะพานเหล็กที่ยาวที่สุดในสปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Bokeo146.php

รัฐบาลกัมพูชาเดินหน้าสร้างถนนสายใหม่เชื่อมสีหนุวิลล์

รัฐบาลกัมพูชาเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ภายในประเทศ โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างถนนสายใหม่เพิ่มเติม 11 แห่ง ซึ่งจังหวัดสีหนุวิลล์ถือเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมมากที่สุดในการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยในปัจจุบันรัฐบาลได้จัดตั้งโครงการทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ ระยะทาง 190 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2022 โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ดำเนินการฟื้นฟูถนน 34 สายภายในจังหวัดสีหนุวิลล์ มูลค่ารวม 294 ล้านดอลลาร์ ซึ่งปัจจุบันจังหวัดพระสีหนุกำลังถูกสนับสนุนให้เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งของประเทศในการเชื่อมโยงไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ โดยธนาคารโลกประเมินให้กัมพูชาอยู่ในอันดับที่ 98 ของโลก ในด้านประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ที่พิจารณาจากตัวชี้วัด 6 ประการ ได้แก่ พิธีการทางศุลกากร โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งระหว่างประเทศ ความสามารถด้านโลจิสติกส์ การติดต่อและติดตาม ตลอดจนความตรงต่อเวลา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50902755/govt-presses-forward-with-new-roads-for-sihanoukville/

ในปัจจุบันกัมพูชามีท่าเรือทางแม่น้ำและทางทะเลรวมกันกว่า 100 แห่ง

กัมพูชามีท่าเรือภายในประเทศทั้งหมด 105 แห่ง โดยแบ่งออกเป็นท่าเรือริมแม่น้ำ 78 แห่ง ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง โตนเลสาบ โตนเลบาซัก และในจังหวัดต่างๆ และอีก 27 แห่ง คือท่าเรือทางทะเล ซึ่งกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง (MPWT) ได้แบ่งปันข้อมูลตัวเลขดังกล่าวและเสริมว่าท่าเรือส่วนใหญ่ดำเนินเกี่ยวกับการค้า อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ท่าเรือน้ำมัน และอื่นๆ โดยท่าเรือเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมการค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สู่การพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งรัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MPWT ได้จัดประชุมไปเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับกฎหมายท่าเรือที่จะมีบทบาทสำคัญในการจัดการและพัฒนาท่าเรือภายในประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการค้าในประเทศและระหว่างประเทศในระยะถัดไป

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50902640/cambodia-has-over-100-river-and-sea-ports/

อาเซียนร่วมสู้โควิด ยันไม่กั๊กยา-สินค้าจำเป็น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า อาเซียนจะประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (ซีออม) วันที่ 2-4 ส.ค.นี้ ซึ่งจะมีการติดตามการดำเนินงานสำคัญของสมาชิก เพื่อเร่งฟื้นเศรษฐกิจของภูมิภาคจากการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อรักษาและส่งเสริมความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต โดยจะขยายรายการสินค้าจำเป็นที่อาเซียนจะไม่จำกัดการส่งออกในช่วงโควิดเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดเพียงยาและเวชภัณฑ์ ซึ่งไทยจะเพิ่มสินค้าอาหาร และสินค้าเกษตรบางรายการ เพื่อทำให้การส่งออก-นำเข้าระหว่างสมาชิกคล่องตัว ไม่เกิดการขาดแคลน รวมทั้งเพิ่มบทบาทอาเซียนเชิงรุกการพัฒนาภูมิภาคให้ตอบรับกับแนวโน้มของโลกไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมเศรษฐกิจหมุนเวียน พัฒนาสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว รวมทั้งการเร่งรัดแผนงานด้านเศรษฐกิจที่บรูไน ประธานอาเซียนผลักดันให้สำเร็จในปีนี้ เช่น การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 และจัดทำกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ที่มา : https://www.thairath.co.th/business/economics/2151064