กัมพูชาร่วมกับออสเตรเลียหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยลงทุน

สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ร่วมกับโครงการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าการเกษตรกัมพูชา – ออสเตรเลีย (CAVAC) ได้มีการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยลงทุนทางการเกษตรและอาหาร โดยมีวัตถุประสงค์ในการพูดคุยเพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อมูลจากกระทรวงและสถาบันที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดตั้งหน่วยลงทุนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง CDC และ CAVAC ซึ่งหน่วยลงทุนด้านการเกษตรคาดว่าจะสร้างความสะดวกให้แก่นักลงทุนที่สนใจลงทุนในด้านการเกษตร โดยจะมีการอัพเดทข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับกฎระเบียบ สิ่งจูงใจและเงื่อนไขที่จำเป็น ผ่านการจัดทำกลยุทธ์เพื่อเผยแพร่ศักยภาพการลงทุนให้กับนักลงทุนได้พิจารณาลงทุน โดยคาดว่าหากจัดตั้งหน่วยลงทุนได้แล้วจะช่วยดึงดูดนักลงทุนด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรให้มาลงทุนในกัมพูชามากขึ้น ตามนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของกัมพูชาประจำปี 2015-2025 และการดำเนินกลยุทธ์การดึงดูดการลงทุนให้เป็นเป้าหมาย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50816226/cambodia-australia-discuss-establishment-of-agri-food-investment-unit/

NBC ขอบคุณ IMF หลังร่วมประเมินสถานการณ์หลังโควิด-19 ในกัมพูชา

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และกัมพูชาได้พบกันเพื่อหารือและประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคของกัมพูชาหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นผ่านการประชุมทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ระหว่างผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) และหัวหน้าทีม IMF ประจำประเทศกัมพูชา ซึ่งในระหว่างการประชุมผู้ว่าการได้แจ้งให้กับทีม IMF ทราบถึงความพยายามของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัส รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีการปรับปรุงนโยบายทางด้านการเงินภายในประเทศ รวมถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างเงินกู้เพื่อช่วยผู้กู้ที่ประสบปัญหาทางการเงินที่เป็นผลมาจากโควิด-19 โดยผู้ว่าการได้กล่าวขอบคุณ IMF สำหรับการสนับสนุนการพัฒนาของกัมพูชาโดยเฉพาะในภาคธนาคารที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50815896/nbc-governor-thanks-imf-for-development-support/

ญี่ปุ่นช่วยฟื้นฟูชุมชนสปป.ลาวจากอุทกภัยทางธรรมชาติ

รัฐบาลญี่ปุ่นบริจาคเงิน 180 ล้านเยนญี่ปุ่น (ประมาณ 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงสองปีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากฝนตกหนักและน้ำท่วมในแขวงสะหวันนะเขตและแขวงทางตอนใต้ของสปป.ลาว ภายใต้ข้อตกลงระหว่างปี 2564 ถึง 2565 กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมสถานทูตญี่ปุ่นประจำสปป. ลาวและโครงการอาหารโลก (WFP) จะแจกจ่ายข้าวให้กับประชาชนประมาณ 35,000 คน เพื่อสนับสนุนความพยายามในการฟื้นฟูด้านวามมั่นคงของอาหารนอกจากนี้ WFP รวมถึงการสนับสนุนการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร รวมถึงแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มั่นคงและมีประสิทธิภาพเพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Japan_36.php

เวียดนามมีความพร้อมทางด้านอีคอมเมิร์ซ

ตามรายงานการจัดอันดับดัชนีอีคอมเมิร์ซแบบธุรกิจ B2C เผยเวียดนามมีค่าดัชนี 61.6 คะแนน (เต็ม 100 คะแนน) อยู่ในระดับที่ดีกว่าอินโดนีเซีย (อันดับที่ 83) ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ (96), สปป.ลาว (101), กัมพูชา (117) และพม่า (130) การจัดอันดับดัชนีดังกล่าว พิจารณาตาม 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) ความสัมพันธ์ของการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่อยู่ในระดับสูง 2) ความน่าเชื่อถือของการจัดส่งพัสดุ 3) จำนวนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ต และ 4) จำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ที่มีบัญชีกับสถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์ ทั้งนี้ มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของทั่วโลก คาดว่าประมาณ 4.4 ล้านล้านด่องในปี 2561 เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม โควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนาม ขยายตัว 18% ในปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่า 11.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ นับว่าเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีตัวเลขเติบโตในอัตราเลขสองหลักในภาคธุรกิจนี้ ท่ามกลางโควิด-19 ระบาด

  ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-moves-up-in-e-commerce-readiness-28362.html

เวียดนามเผย ม.ค. ส่งออกแตะ 28 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าในเดือนมกราคม 2564 เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้ารวมอยู่ที่ 55 พันล้านเหรียญสหรัฐ มาจากการส่งออก 28.55 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 55% เมื่อเทียบเป็นรายปี สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของเวียดนามยังเติบโตในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ (6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 126 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว) รองลงมาคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ) และผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ (1.34 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เป็นต้น ในขณะที่สินค้าเกษตรและประมง ถือว่าเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในเดือนมกราคมนี้ ทั้งนี้ นาย “Tran Thanh Hai” รองผู้อำนวยการฝ่ายนำเข้าและส่งออก ภายใต้กระทรวงอุตฯ กล่าวว่าสถานการณ์การส่งออกของเวียดนามในเดือนมกราคมไปในทิศทางบวก เนื่องจากได้รับประโยชน์ของข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) อย่างไรก็ตาม ภาวการณ์ส่งออกยังคงเผชิญกับความท้าทายที่เกิดมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในปีนี้ แต่เชื่อว่ายังมีทิศทางที่เป็นบวก สาเหตุสำคัญมาจากเวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี ได้แก่ CPTPP และ EVFTA รวมไปถึงการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและห่วงโซ่อุปทาน

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnams-export-turnover-reaches-over-28-bln-usd-in-january-28383.html

รัฐบาลเมียนมาทุ่มเงินหนุนการใช้ไฟฟ้าช่วงโควิด

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 64 กระทรวงไฟฟ้าและพลังงานประกาศว่ารัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนสำหรับการใช้ไฟฟ้าในประเทศจำนวน 150 หน่วยในเดือนนี้ ซึ่งออกมาตรการนี้ได้ถูกใช้ไปเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้วเพื่อช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชากรในช่วงการระบาดของCOVID -19 จากนั้นเงินอุดหนุนจะขยายออกไปเป็นรายเดือนไป คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 35,000 ล้านจัตต่อเดือน โดยถ้าใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยหรือเท่ากับ 11,550 จัตจะถูกเรียกเก็บเงินแบบก้าวหน้า ขณะที่มิเตอร์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประเภทอื่น ๆ จะไม่ถูกนำมารวมในมาตรการนี้

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/government-extends-subsidies-electricity-myanmar.html

เริ่มแล้ว ‘ม33เรารักกัน’ เปิดลงทะเบียนรับ 4,000 บาท ตั้งแต่วันนี้–7 มี.ค. 2564

วันที่ 21 ก.พ. 2564 กระทรวงแรงงาน ได้เปิดลงทะเบียนโครงการ ‘ม33เรารักกัน’ รับเงินเยียวยา 4,000 บาท เป็นวันแรก สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  โดยสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.ม33เรารักกัน.com และตรวจสอบการได้รับสิทธิ ตั้งแต่วันนี้ -7 มี.ค.64  โดยผู้ได้รับสิทธิ์สามารถตอบสอบคุณสมบัติ ลายละเอียด และลงทะเบียนได้ในเว็บไซต์ https://www.xn--33-nqia4jubqa0kcg0o.com/ ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้ประกันตน ม.33 เข้าข่ายมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาในครั้งนี้ จำนวน 9.27 ล้านคน ใช้วงเงินทั้งสิ้นประมาณ 37,100 ล้านบาท

ที่มา: https://workpointtoday.com/m-33-we-love/

การใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวเวียดนามเริ่มฟื้นตัวในปี 64

ตามข้อมูลของศูนย์วิจัย Fitch Solutions เปิดเผยว่าอัตราการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของเวียดนามในปี 2564 คาดว่าจะเติบโต 7% เมื่อเทียบเป็นรายปี แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของการใช้จ่ายผู้บริโภคเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2558-2562 ขยายตัวเฉลี่ย 6.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งหากแบ่งประเภทของการใช้จ่าย พบว่าคนเวียดนามส่วนใหญ่จะใช้จ่ายไปกับอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ คาดว่าในปี 2564 การใช้จ่ายในหมวดนี้จะเติบโต 6.6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่ค่าใช้จ่ายหมวดอื่น คาดว่าจะเติบโตลดลง เนื่องจากภาคครัวเรือนลดการใช้จ่ายในสินค้าที่ไม่จำเป็น รวมถึงธุรกิจปิดตัวลง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยดังกล่าวเสนอให้รัฐใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคชาวเวียดนามและเศรษฐกิจในประเทศ ถึงแม้ว่าตัวเลขการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 2.5% ในปี 2563 นอกจากนี้ ธนาคารกลางเวียดนาม ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25-1% ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนมากขึ้น

ที่มา : http://hanoitimes.vn/vietnam-consumer-spending-recovery-getting-underway-in-2021-316196.html

เวียดนามเผย ม.ค. ทำรายได้จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่ม 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ระบุว่าในเดือนมกราคม 2564 เวียดนามส่งออกเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.3 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ดัชนีผลผลิตเครื่องนุ่งห่มและดัชนีผลผลิตเสื้อผ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.6% และ 9.9% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ นาย Vu Duc Gian ประธานสมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนาม กล่าวว่าวิกฤตโควิด-19 จะยังคงสร้างผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 อย่างไรก็ตาม หากได้รับวัคซีนโควิด-19 ในไตรมาสแรกและไตรมาสสองของปี 2564 คาดว่าจะควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าวได้ และส่งผลให้ตลาดเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอกลับมาฟื้นตัวในที่สุด อีกทั้ง อุตฯ เครื่องนุ่งห่มจำเป็นต้องสร้างห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะประเทศที่ได้ร่วมลงนามการค้าเสรีกับเวียดนามและอาเซียน นอกจากนี้ ในปีที่แล้ว เวียดนามทำรายได้จากการส่งออกเครื่องนุ่งห่มประมาณ 35 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผลมาจากการระบาดของเชื้อไวรัส และความตึงเครียดทางการค้าสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงเหตุการณ์อังกฤษแยกตัวออกจาก EU (Brexit)

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-earns-26-billion-usd-from-garment-exports-in-january/196399.vnp

ราคาสินค้าสินค้าโภคภัณฑ์ตลาดมัณฑะเลย์ ราคาลดฮวบ 10%

Mandalay Brokerage House เผยการปิดทำการของธนาคารและการขนส่งจากการประท้วงในประเทศทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรของเมียนมาถูกระงับ ส่งผลให้ราคาสินค้าสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงถึง 10% โดย Mandalay Brokerage House ให้บริการใน 3 ตลาด ได้แก่ การส่งออกไปยังประเทศจีน การส่งออกผ่านย่างกุ้ง และตลาดในประเทศ ซึ่งเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองและการปิดบริการของธนาคารได้นำไปสู่ความยากลำบากในการค้ากับจีนและอินเดีย ทั้งนี้ธุรกิจจะกลับมาก็ต่อเมื่อประเทศมีเสถียรภาพและเมื่อธนาคารกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/mandalay-market-sees-10-pc-drop-prices.html