‘ฝรั่งเศส-ลาว’ เตรียมจัดประชุมเวทีเศรษฐกิจ ฉลองความสัมพันธ์ 70 ปี ทางการทูตและธุรกิจ

คณะกรรมการที่ปรึกษาการค้าต่างประเทศของฝรั่งเศสในลาว เตรียมจัดการประชุมเวทีเศรษฐกิจระหว่างฝรั่งเศสและลาว ระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2566 ที่เวียงจันทน์และสะหวันนะเขต เพื่อเป็นเวทีพบปะพูดคุยทางการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการ นักธุรกิจและนักลงทุนฝรั่งเศสที่สนใจลงทุนในประเทศลาว โดยการประชุมครั้งนี้กำหนดให้มีการพูดคุยและนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้องกับตลาดการค้าของลาว โอกาสในการสร้างเครือข่ายการค้าการลงทุน และเวทีการประชุมเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการทางธุรกิจที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจในประเทศลาว

ที่มา : https://laotiantimes.com/2023/10/19/france-laos-economic-forum-celebrates-70-years-of-diplomatic-business-ties/

รัฐบาล สปป.ลาว สั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ‘ลดการเดินทางไปต่างประเทศ’ เพื่อคลี่คลายปัญหาเงินกีบอ่อนค่า

รัฐบาล สปป.ลาว กำหนดมาตรการเพื่อลดจำนวนความต้องการสกุลเงินต่างประเทศ หนึ่งในมาตรการ คือ ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐ ลดการเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ควบคุมราคาสินค้าในตลาดท้องถิ่น ตลอดจนดำเนินการตามวาระระดับชาติในการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ความท้าทายอีกประการของรัฐบาลลาว คือ การควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีระดับที่สูง เนื่องจากต้นทุนสินค้าและบริการที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กำลังสร้างความยากลำบากเพิ่มเติมในการลดความยากจนของประเทศ

ที่มา : https://english.news.cn/asiapacific/20231019/fe96906a8c2b485997cd4e092ca24049/c.html

UMFCCI และ YPGCC หนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ยูนนาน-เมียนมาร์

เจ้าหน้าที่สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา (UMFCCI) เข้าพบคณะผู้แทน นำโดยประธานหอการค้าทั่วไปมณฑลยูนนาน (YPGCC) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจทวิภาคีและการยกระดับการค้า ด้านประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา กล่าวว่า ยูนนานถือเป็นท่าเรือบกที่สำคัญในด้านความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจกับเมียนมา และได้ขอให้ทางหอการค้ายูนนานช่วยเหลือเมียนมาในเรื่องของข้อบังคับและกฎระเบียบการนำเข้าของจีน รวมทั้งได้เชิญชวนให้ยูนนานลงทุนในภาคพลังงาน และภาคส่วนอื่นๆ เพื่อยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและกิจกรรมส่งเสริมการค้า ด้าน ดร.เกา เฟิง ประธาน YPGCC กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการเยือนเมียนมาครั้งนี้ เพื่อสร้างบันทึกความร่วมเมือ ที่ลงนามระหว่างยูนนานและเมียนมาร์ ในภาคพลังงานและเหมืองแร่ การบรรเทาภัยพิบัติ การท่องเที่ยว การบรรเทาความยากจน และยกระดับระเบียงเศรษฐกิจเมียนมาร์-จีน นอกจากนี้ การประชุมยังได้เน้นย้ำถึงการพัฒนาการลงทุนแบบทวิภาคี การพัฒนาการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการค้า การแลกเปลี่ยนข้อมูล การเสริมสร้างความร่วมมือเชิงปฏิบัติ ธุรกิจท่าเรือ อุปทานสินค้าข้าวและปุ๋ย การส่งออกสินค้าเกษตร การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการค้าข้ามพรมแดน

อย่างไรก็ดี ผู้แทนจากทั้งสองสภายังหารือเกี่ยวกับโอกาสความร่วมมือที่อาจเกิดขึ้นและความคิดเห็นเกี่ยวกับภาคเหมืองแร่ เหล็กและเหล็กกล้า การขนส่ง อีคอมเมิร์ซ การท่องเที่ยว เกษตรกรรม เภสัชกรรม อ้อย น้ำตาล ถั่วลิสง ผัก การประมง ผลิตภัณฑ์อาหาร การวิจัย และสารเคมีทางการเกษตร

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/umfcci-ypgcc-to-bolster-yunnan-myanmar-economic-cooperation/

จีนจ่อลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานกัมพูชา มูลค่ารวมกว่า 3.6 พันล้านดอลลาร์

ภาคพลังงานของกัมพูชาได้รับแรงผลักดันมหาศาลจากบริษัทจีนในการประกาศแผนการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานมูลค่ารวมกว่า 3.6 พันล้านดอลลาร์ ด้านนายกรัฐมนตรีฮุน มาเน็ต กล่าวขอบคุณและยินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับความสนใจด้านการลงทุน ในระหว่างการประชุม ‘Belt and Road Forum’ ที่กำลังดำเนินอยู่ในกรุงปักกิ่ง โดย Wang Bo ประธานบริษัท China Machinery Engineering Corporation (CMEC) ได้ให้คำมั่นว่าจะลงทุนประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ ภายในช่วงระยะเวลา 10 ปี หลังก่อนหน้าประสบความสำเร็จในหลายโครงการที่ได้เข้ามาลงทุนยังกัมพูชา ขณะที่ปัจจุบันบริษัทอยู่ภายใต้เครือ SINOMACH ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสำคัญ สำหรับในกัมพูชาบริษัทวางแผนที่จะเพิ่มเงินลงทุนมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์ ในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในอนาคตอันใกล้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ห้าเหลี่ยมของรัฐบาลกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501377951/china-to-charge-up-kingdoms-energy-sector-with-3-6-billion/

นักท่องเที่ยวเดินทางมายังกัมพูชาในช่วงเทศกาลประชุมแบนเกือบ 2 ล้านคน

กระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชารายงานสถานการณ์การนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปชุมแบน ซึ่งมีนักท่องเที่ยวราว 1.89 ล้านคน เดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 52.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนับเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 27,000 คน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 90.5 สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งได้รับความนิยม ได้แก่ จังหวัดเสียมราฐ อุดรมีชัย กัมปงธม และจังหวัดพระวิหาร รวมถึงบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล ได้แก่ จังหวัดพระสีหนุ แกบ กัมปอต และเกาะกง สำหรับพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือที่ได้รับความนิยม ได้แก่ พระตะบอง, บันเตียเมียนเจย, โพธิสัตว์ และไพลิน ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ กระแจะ มณฑลคีรี รัตนคีรี และสตึงแตรง เป็นสำคัญ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501378210/nearly-2-million-tourists-travel-during-pchum-ben-holiday/

กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ สปป.ลาว เดินหน้าแก้ไข‘ปัญหาท่าเรือทางบก’

กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ สปป.ลาว เริ่มดำเนินแผนงานปรับปรุงกระบวนการนำเข้าและส่งออกในท่าเรือทางบกทั่วประเทศ ทั้งการจัดการปัญหาการทุจริตและกระบวนการขนส่งข้ามแดนที่ยุ่งยาก โดยแบ่งระยะของแผนงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ปี 2566 มีเป้าหมายที่จะแก้ไขโครงสร้างการเก็บค่าธรรมเนียมและทบทวนระบบการจัดการงานข้ามหน่วยงาน ระยะที่ 2 ช่วงกลางปี 2567 จะทำการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องและกำหนดหลักการที่เป็นเอกภาพ และระยะยาวในช่วงสิ้นปี 2567 จะมุ่งเน้นการสร้างระบบวิธีการจัดการที่เหมาะสมและเชื่อมโยงการทำงานกับภาคีการค้าต่างประเทศ
เพื่อปรับปรุงข้อตกลงการขนส่งในระดับทวิภาคีและไตรภาคีระหว่างลาว จีน และไทย

ที่มา : http://: https://laotiantimes.com/2023/10/18/laos-ministry-of-industry-and-commerce-works-to-address-land-port-issues/

คณะกรรมการกำกับดูแลน้ำมันเชื้อเพลิงเมียนมาได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่

คณะกรรมการกลางว่าด้วยการกำกับดูแลความเรียบร้อยด้านการค้าและสินค้า ได้จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการนำเข้า จัดเก็บ และจัดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นใหม่เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการดังกล่าว ได้รับการจัดตั้งขึ้น โดยมีหน้าที่สำคัญในการป้องกันการสูญเสียรายได้ของรัฐ ทำให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา กำกับดูแลการออกใบอนุญาตและการนำเข้าน้ำมัน การจัดเก็บและจำหน่ายน้ำมันอย่างเป็นระบบให้มีคุณภาพมาตรฐานสำหรับน้ำมันที่นำเข้า จัดการกับความล่าช้าในการเทียบท่าของเรือบรรทุกน้ำมัน ตรวจสอบการจ่ายน้ำมันไปยังถังและสต็อกรายวันในมือ และประเมินระยะเวลาการรักษาความปลอดภัยของน้ำมัน นอกจากนี้ คณะกรรมการต้องแจ้งเรื่องกิจกรรมต้องสงสัยด้านคุณภาพไปยังคณะกรรมการกลางฯ และรายงานเกี่ยวกับบริษัทผู้นำเข้า ประเทศผู้ส่งออก ปริมาณการนำเข้า (ตัน) เลขทะเบียนและวันที่มาถึงของเรือบรรทุกน้ำมัน ไปยังคณะกรรมการจัดการการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และคณะกรรมการกลางฯ รวมทั้งจะมีการประเมินคุณภาพการจ่ายน้ำมันจากถังเก็บน้ำมัน เป็นระยะ เพื่อแจ้งสถานะสต๊อกสินค้าในถังเก็บน้ำมัน และทำการบันทึกและตรวจสอบย้อนกลับว่าพบพฤติกรรมฉ้อโกงในห่วงโซ่อุปทานหรือไม่ (ตั้งแต่การนำเข้าไปจนถึงขั้นตอนการจัดจำหน่าย) และเพื่อการควบคุมราคา

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/fuel-oil-supervisory-committee-reestablished/#article-title