‘คลัง’ จี้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย หลังกำลังซื้อร่วง ฉุดจัดเก็บรายได้รัฐ

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาล สุทธิในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566-ม.ค.2567) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 824,115 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,836 ล้านบาท และเป็นการจัดเก็บรายได้ลดลง 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ผลการจัดเก็บบรายได้ของภาครัฐที่ต่ำกว่าเป้าหมาย เป็นสัญญาณที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในสภาวะชะลอตัว โดยส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการซื้อที่ลดลง เนื่องจากการดำเนินนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะการตัดสินใจซื้อรถยนต์ และที่อยู่อาศัย ที่แม้จะยังมีดีมานด์อยู่แต่ประชาชนขาดความสามารถในการผ่อนชำระ เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงจึงทำให้ยอดผ่อนชำระสูงขึ้นด้วย ยอดโอนรถยนต์หรืออสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงจึงทำให้การจัดเก็บภาษีซึ่งเป็นรายได้ของรัฐบาลลงตามไปด้วย ทั้งนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยในวันนี้อาจจะไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจในทันที แต่อาจต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือน จึงไม่กังวลประเด็นที่ว่าจะกระทบกับอัตราเงินเฟ้อในประเทศ รวมทั้งประเด็นที่ว่าจะทำให้เงินไหลออกนอกประเทศ เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของไทยก็มีความต่างจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐมากอยู่แล้วหากธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาระดับหนึ่งก็จะไม่กระทบกับอัตราแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ตามนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงโดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน ขณะที่หน่วยงานที่จัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ รัฐวิสาหกิจ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีการนำส่งรายได้เหลื่อมมาจากปีก่อนหน้า และกรมสรรพากร โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ หากไม่รวมรายได้พิเศษรวม 36,666 ล้านบาท จากฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้รัฐบาลสุทธิจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.7%

ที่มาภาพ : ประชาชาติธุรกิจ

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1118713

กัมพูชาส่งออกยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้นถึง 90% ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2024

ข้อมูลการค้าล่าสุดจากกรมศุลกากรและสรรพสามิต (GDCE) ระบุว่า ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2024 กัมพูชาสามารถส่งออกยางพาราแปรรูป มูลค่า 215 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการส่งออกยางพารากัมพูชา สวนทางกันกับผลผลิตยางพาราธรรมชาติทั่วโลกที่มีแนวโน้มลดลง ภายใต้ภาวะราคายางพุ่งสูงขึ้น สำหรับทั้งปี 2023 กัมพูชาสามารถทำรายได้จากการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพารา 919 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 69.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ตลาดยางพาราของกัมพูชาส่วนใหญ่ส่งออกไปยัง จีน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย และสหภาพยุโรป เป็นสำคัญ ด้านผู้เชี่ยวชาญมองว่าตลาดยางธรรมชาติยังคงเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนที่เติบโตต่ำกว่าคาดในช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว ซึ่งจีนเป็นผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากสงครามยืดเยื้อระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และ อิสราเอล-ฮามาส รวมถึงต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501458804/cambodias-rubber-article-exports-rise-90-percent/

อินโดนีเซียเตรียมนำเข้าข้าว 22,500 ตัน จากกัมพูชา เพื่อรองรับเทศกาล Eid al-Fitr

รัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนที่จะนำเข้าข้าว 22,500 ตัน จากกัมพูชา เพื่อเติมเต็มคลังข้าวภายในประเทศ รองรับความต้องการบริโภคในช่วงก่อนเทศกาลอีฎิ้ลฟิตริ (Eid al-Fitr) ตามที่สำนักงานอาหารแห่งชาติ (National Food Agency – Bapanas) แถลง โดยให้ความสำคัญกับข้าวที่ผลิตภายในประเทศเป็นอันดับแรก แต่ในครั้งนี้ทางการได้ตัดสินใจว่า บูลอก (Bulog – บริษัทโลจิสติกส์ของรัฐบาล) จะทำการจัดซื้อข้าวจากต่างประเทศ ว่าจะนำเข้าข้าว 22,500 ตัน จากกัมพูชา กล่าวโดย Arief Prasetyo Adi หัวหน้า Bapanas กล่าว ณ กรุงจาการ์ตา สำหรับปีที่แล้วรัฐบาลอินโดนีเซียได้แจกจ่ายข้าวสารช่วยเหลือประชาชนกว่าผู้ซึ่งได้รับประโยชน์กว่า 22 ล้านคน เป็นระยะเวลา 7 เดือน ขณะที่ปีนี้รัฐบาลตั้งเป้าที่จะแจกจ่ายเป็นระยะเวลา 6 เดือน

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501459050/indonesia-to-import-22500-tonnes-rice-from-cambodia-for-eid-al-fitr/

การให้กู้ยืมแก่โรงงานน้ำมันที่ต้องการเงินทุน

กลุ่มบริหารจัดการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมัน จัดหาเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนสินเชื่อเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมัน เพื่อขยาย ติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัยให้กับโรงงานน้ำมันในท้องถิ่น สร้างโรงงานน้ำมันที่ทันสมัยแห่งใหม่ และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศสำหรับความต้องการเงินทุนทางธุรกิจ สำหรับจำนวนเงินกู้ เงินทุนหมุนเวียนมีตั้งแต่ขั้นต่ำ 10 ล้านจ๊าด ถึงสูงสุด 300 ล้านจ๊าด ในขณะที่เงินกู้สำหรับทุนถาวรอยู่ที่ขั้นต่ำ 20 ล้านจ๊าด ถึงสูงสุด 300 ล้านจ๊าด ผู้ที่ต้องการได้รับเงินกู้มากกว่า 300 ล้านจ๊าด สามารถสมัครโดยตรงกับคณะทำงานจัดการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาโรงงานน้ำมัน สำนักเลขาธิการ และธนาคารพัฒนาการเกษตรแห่งเมียนมา (สำนักงานใหญ่) โดยระยะเวลาเงินกู้และระยะเวลาชำระคืนคือ 1 ปีสำหรับสินเชื่อเพื่อการลงทุนหมุนเวียนเชิงพาณิชย์ และ 3 ปีสำหรับสินเชื่อเพื่อการลงทุนคงที่ โดยผ่อนชำระ 3 งวด และจะมีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ร้อยละ 5 ต่อปี

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/loans-to-be-provided-to-oil-millers-in-need-of-capital/

แผนติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 14MW สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา

กระทรวงพลังงานไฟฟ้า (MoEP) ได้ประกาศแผนการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิตสูงสุด 14 เมกะวัตต์ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา (SEZ) ในเมืองตันลยิน เขตย่างกุ้ง โดยปัจจุบัน โรงงานสามแห่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาได้ติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ซึ่งผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 2 เมกะวัตต์ การศึกษาเพิ่มเติมที่ดำเนินการโดยบริษัทต่างๆ ในเขตดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าระบบพลังงานแสงอาทิตย์มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 14 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ดี บริษัทเมียนมา-ญี่ปุ่น ติละวา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (MJTD) ยืนยันว่าเมื่อติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว พลังงานส่วนเกินจะถูกส่งและแจกจ่ายไปยังโรงงานอื่นๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษผ่านสายไฟฟ้าของกระทรวงไฟฟ้ากำลัง ทั้งนี้ Thilawa SEZ ครอบคลุมพื้นที่ 667.275 เฮกตาร์ (ประมาณ 1,650 เอเคอร์) ดึงดูดการลงทุนจากบริษัท 114 แห่งใน 21 ประเทศ ในบรรดาเขตเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินการอยู่ในเมียนมา เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวามีความโดดเด่นและประสบความสำเร็จมากที่สุด

ที่มา : https://www.gnlm.com.mm/installation-of-14mw-solar-power-system-planned-for-thilawa-sez/

‘เวียดนาม’ อนุมัติแผนโครงการพัฒนาข้าวคุณภาพสูงและปล่อยคาร์บอนต่ำ มูลค่า 375 ล้านเหรียญฯ

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (MARD) รายงานว่ามีแผนที่จะดำเนินการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเพาะปลูกข้าวแบบคาร์บอนต่ำในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง โดยโครงการนี้ริเริ่มมาจากรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายการพัฒนานาข้าวคาร์บอนต่ำและมีคุณภาพสูง และจะเริ่มดำเนินการใน 12 จังหวัดภายในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2569-2574

ทั้งนี้ Nguyen Thế Hinh รองหัวหน้าคณะกรรมการบริหารโครงการ กล่าวว่าค่าใช้จ่ายของโครงการดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 375 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเงินทุนส่วนใหญ่มาจากการกู้เงินกับธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศ (IBRD) และจากรัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่น

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยผ่านการพัฒนาและการเสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรเกษตรกรและสหกรณ์ ในขณะเดียวกันก็ระดมทรัพยากรสินเชื่อสำหรับพื้นที่ที่ใช้แนวปฏิบัติคาร์บอนต่ำ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1652331/375-mln-fund-to-boost-high-quality-low-carbon-rice-production.html

‘เวียดนาม’ ติดอันดับ 3 ทำกำไรจากคริปโตมากที่สุดในโลก ปี 66

เชนอนาไลซิส (Chainalysis) บริษัทข้อมูลวิเคราะห์บล็อกเชน เปิดเผยว่าเวียดนามทำกำไรจากสกุลเงินดิจิทัลมากที่สุดอันดับ 3 ของโลกในปี 2566 มีมูลค่าราว 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองจากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร โดยจากข้อมูลของบริษัทแสดงให้เห็นถึงประชากรที่อยู่ในประเทศที่มีฐานะรายได้ปานกลางและประเทศรายได้สูง จะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากการทำกำไรหรือรายได้จากเงินดิจิทัล ยกตัวอย่างเช่น เวียดนาม จีน อินโดนีเซียและอินเดีย คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจากการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่านักลงทุนคริปโตทั่วโลกทำกำไรรวมทั้งสิ้นในปีที่แล้ว อยู่ที่ 37.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ทิศทางของนักลงทุนในปีนี้ คาดหวังราคาจะปรับตัวสูงขึ้นไปกว่านี้ หลังจากราคายังไม่ทะลุระดับจุดสูงสุด (ATH) ในปี 2564

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-ranks-third-in-crypto-gains-in-2023-us-analysis-firm/283183.vnp

มันสำปะหลังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของ สปป.ลาว ในเดือนมกราคม 67

มูลค่าการส่งออกของ สปป.ลาว ในเดือนมกราคม 2567 มีมูลค่า 561 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 749 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมันสำปะหลังเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่ง ภายใต้มูลค่า 94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกท่าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ แร่ทองคำและทองคำแท่ง มูลค่า 44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ มูลค่า 39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยางพารา มูลค่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ตลาดส่งออกหลัก คือ จีน โดยมีมูลค่าการค้าประมาณ 198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศไทยและเวียดนาม มีมูลค่าประมาณ 134 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 129 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ด้านการนำเข้า น้ำมันดีเซลเป็นสินค้านำเข้ามากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลิตภัณฑ์เคมี อุปกรณ์เครื่องจักรกล ยานพาหนะทางบก และเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็มีส่วนช่วยอย่างมากต่อการนำเข้าของประเทศ โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศไทย มูลค่าการนำเข้า 309 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศจีน 298 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเวียดนาม สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญในอันดับรองลงมา

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/03/19/cassava-leads-lao-exports-in-january-2024-amid-trade-deficit/

รัฐบาล สปป.ลาว ประกาศแผนขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10%

รัฐบาล สปป.ลาว ได้ประกาศแผนที่จะเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเพิ่มรายได้งบประมาณของรัฐและสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ โดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ยังขาดรายละเอียดเฉพาะเกี่ยวกับวันดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งอยู่ระหว่างการอนุมัติจากภาคส่วนต่างๆ ของรัฐบาล โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะปรับขึ้นนี้จะใช้บังคับกับธุรกรรมต่างๆ รวมถึงการนำเข้า สินค้าและบริการทั่วไป การนำเข้าแร่ ตลอดจนการผลิตและค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/03/20/lao-government-to-raise-value-added-tax-rate-to-10-percent/

รัฐบาลกัมพูชาออกพันธบัตรมูลค่า 58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023

รัฐบาลกัมพูชาสามารถระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาล 58.26 ล้านดอลลาร์ ในปี 2023 ซึ่งตามกฎหมายกัมพูชาสามารถออกพันธบัตรได้สูงสุด 200 ล้านดอลลาร์ โดยการออกพันธบัตรในครั้งนี้คิดเป็นร้อยละ 29 ของวงเงินตามกฎหมายกำหนด ขณะที่รัฐบาลได้ออกพันธบัตรผ่านแพลตฟอร์มการประมูลธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (National Bank of Cambodia Auction Platform – NBCP) ซึ่งรายงานไว้ในระหว่างการประกาศตัวเลขหนี้สาธารณะของกัมพูชาประจำปี 2023 โดยกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังชี้แจงว่ารัฐบาลกัมพูชาออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนภายในประเทศ ซึ่งจะนำไปใช้ในกิจกรรมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับในปี 2024 รัฐบาลกัมพูชาเตรียมออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่ารวม 108 ล้านดอลลาร์ เพื่อนำไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการลงทุนและความยั่งยืนของการบริหารหนี้สาธารณะ สำหรับสิทธิพิเศษของผู้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจะได้รับการยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 50 สำหรับดอกเบี้ยที่ได้รับจากการถือครองและซื้อขายพันธบัตร นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังได้รับการยกเว้นภาษีกำไรส่วนทุนจากการซื้อและขายพันธบัตรเป็นเวลา 3 ปี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501457942/kingdom-raises-58-million-from-government-bond-issuance-in-2023/