โควิด-19 กระทบเศรษฐกิจ CLMV เติบโตต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ประเทศยิ่งพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งกระทบหนัก (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3100)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง COVID-19 กระทบเศรษฐกิจ CLMV เติบโตต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษ ประเทศยิ่งพึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งกระทบหนัก โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ CLMV ผ่านทางการพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในธุรกิจท่องเที่ยว และภาคการส่งออก โดยประเทศที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศมาก ยิ่งได้รับผลกระทบในเชิงลบมาก
- กัมพูชา เป็นประเทศที่ได้รับรับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากพึ่งพารายได้จากต่างประเทศทั้งในธุรกิจท่องเที่ยวและภาคการส่งออก โดยคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะหดตัวประมาณ 60% ในปีนี้ ส่วนภาคการส่งออกนั้น กัมพูชายังพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาด EU และสหรัฐฯ มากที่สุด ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่ม EU คือประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มากที่สุดในเวลานี้ จึงคาดว่ามูลค่าส่งออกจะหดตัวถึง 10% ในปีนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจกัมพูชาโดยรวมจะหดตัวกว่า 0.9% ในปี 2563
- เวียดนาม เวียดนามได้รับผลกระทบปานกลาง เนื่องจากพึ่งพารายได้จากต่างประเทศในภาคการส่งออกเท่านั้น และยังโชคดีที่ เวียดนามมีประเทศคู่ค้าหลักที่หลากหลายทำให้การกระจายความเสี่ยงในการส่งออกค่อนข้างดี ประกอบกับสินค้าส่งออกหลักของเวียดนาม คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะได้รับอานิสงค์จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปด้วยการทำงานที่บ้าน (Work From Home) จึงทำให้อุปสงค์ของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่มขึ้น และทำให้ภาพรวมการส่งออกของเวียดนามหดตัวไม่มากนัก คาดว่ามูลค่าการส่งออกของเวียดนามจะหดตัวประมาณ 5% ในปีนี้ ประกอบรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบเงินให้เปล่า และการลดภาษี คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามจะยังคงเติบโตได้ในระดับ 3.6% ในปีนี้
- เมียนมา เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ค่อนข้างน้อย เพราะมีรายได้จากภาคการส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของเมียนมาก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักของเมียนมา คือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งได้รับผลกระทบหนักจากราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ สินค้าส่งออกสำคัญอันดับสองของเมียนมา คือ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ก็ได้รับผลกระทบหนักทั้งจากการปิดโรงงานในจีน และจากอุปสงค์สินค้าที่ลดลงในตลาด EU จึงคาดว่ามูลค่าการส่งออกของเมียนมาจะหดตัวถึง 10% ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม EU ได้จัดตั้งกองทุนเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน (Quick Assistance Fund) มูลค่า 500 ล้านยูโร เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมสิ่งทอในเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะช่วยอุดหนุนการจ้างงานและการบริโภคของครัวเรือน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ากองทุนเงินช่วยเหลือฉุกเฉินของ EU ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1% ของ GDP จะช่วยพยุงรายได้ของประชาชน และทำให้การบริโภคในครัวเรือนยังเติบโตได้ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของเมียนมาก็ยังคงเป็นไปตามกำหนดการเดิม จึงคาดว่าในภาพรวมเศรษฐกิจเมียนมาจะยังเติบโตได้ในระดับ 4.3% ในปี 2563
- สปป.ลาว ก็เป็นอีกประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ค่อนข้างน้อย เนื่องจากไม่ได้พึ่งพารายได้จากธุรกิจท่องเที่ยว หรือภาคการส่งออกมากนัก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจท่องเที่ยวของลาวพึ่งพานักท่องเที่ยวไทยมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักที่สุดในอาเซียนในปีนี้ จึงคาดว่าธุรกิจท่องเที่ยวของลาวน่าจะได้รับผลกระทบหนักตามไปด้วย ส่วนภาคการส่งออกของสปป.ลาวคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะหดตัวประมาณ 5% ในปีนี้ ยังโชคดีที่ ภาคการส่งออกของสปป.ลาวส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงานกับผู้คนจำนวนมาก ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวก็เพิ่งเริ่มพัฒนาและยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับ GDP จึงทำให้รายได้ของประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และทำให้การบริโภคในครัวเรือนยังเติบโตได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงซึ่งมีมูลค่ากว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปตามกำหนดการเดิม จึงทำให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มากนัก เมื่อดูภาพรวมแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจสปป.ลาวจะยังเติบโตได้ในระดับ 3.9% ในปี 2563
“แม้ว่าวิกฤตโควิด-19 จะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทLกลุ่ม CLMV อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ แต่เศรษฐกิจ CLMV ก็ยังสามารถเติบโตได้ในระดับ 3.4% ในปีนี้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจ CLMV ดยรวมยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วใน 1-2 ปีข้างหน้า โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ระดับ 6.4% ในปี 2564และ 6.5% ในปี 2565“
ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/z3100.aspx