ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติในไทย ไตรมาสที่ 3/2564

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เผย ‘ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ ไตรมาสที่ 3 ปี 2564  (สิงหาคม-ตุลาคม 2564)  ซึ่งสำรวจความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย 29 ประเทศ จำนวน 66 ราย พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติโดยรวมอยู่ที่ระดับ 41.7 เพิ่มขึ้นจาก 27.7 ในไตรมาสก่อนหน้า หลังจากรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์และเตรียมเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ ทำให้ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจต่างชาติปรับตัวดีขึ้น

ผลสำรวจด้านธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติกำลังเผชิญอยู่พบว่า อันดับแรกคือ ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ จากต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้น อาทิเช่น ค่าขนส่ง ค่าเงินที่ผันผวน ภาระทางภาษี และการขาดแรงงานในการผลิต  (21.7%) รองลงมาคือ ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันทางการเงินได้ รวมถึงขาดการสนับสนุนจากทางภาครัฐ (18.1%) และธุรกิจคู่ค้าส่วนใหญ่ปิดตัวลงเป็นการชั่วคราวหรือถาวร ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (15.7%)

ขณะเดียวกันสิ่งที่นักธุรกิจต่างชาติต้องการให้รัฐบาลไทยสนับสนุนและแก้ไขปัญหา คือ 1) มีแผนควบคุมโควิด-19 ที่ชัดเจน  2)นโยบายการให้เงินอุดหนุน ค่าจ้าง ค่าเช่า ฯ ต่อภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 3) แก้ไขกฎระเบียบที่ซับซ้อนในการเข้ามาลงทุน ให้มีความทันสมัย เอื้อต่อการลงทุน รวมถึงกระบวนการขอVisa และWork Permit ให้ง่ายขึ้น และ 4)จัดหาวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนให้เร็วที่สุดและทั่วถึงที่สุด และผ่อนปรนมาตรการโควิดเพื่อให้ภาคธุรกิจดำเนินกิจการได้สะดวกขึ้น

ทั้งนี้สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน เพื่อแก้ไขปัญหาทางธุรกิจ คือ 1) ปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบ ที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (FBA) ให้มีความทันสมัย เอื้อต่อการลงทุน รวมถึงกระบวนการขอ Visa และ Work Permit ง่ายขึ้น 2) สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สนับสนุนซอฟต์โลน และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ แก่ผู้ประกอบการที่ได้ผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั้งธุรกิจไทยและต่างประเทศ และ 3) สร้างเสถียรภาพทางการเมือง ลดขั้นตอนในการดำเนินงาน

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย