ผลกระทบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากมีการจัดเก็บ 100% ต่อภาคธุรกิจไทย ครั้งที่ 1

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจผลกระทบของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ครั้งที่ 1 หากมีการจัดเก็บ 100% ต่อภาคธุรกิจไทย จากกลุ่มตัวอย่างภาคธุรกิจทั่วประเทศ จำนวน 1,252 ราย ผลการศึกษา พบว่า

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลยกเลิกการลดหย่อน ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่อัตรา 90% ในปี 2565 ( ร้อยละ 84.1)  หากมีการเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างิ ในอัตราปกติ (100%) จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 88.1) เมื่อรัฐบาลมีการยกเลิกการลดหย่อนภาษีฯ จะส่งผลกระทบโดยรวมต่อธุรกิจโดยรวมต่ำกว่า 5 แสนบาท (ร้อยละ 69.5) จากสถานการณ์ปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างคิดว่าไม่เหมาะสมที่ภาครัฐจะดำเนินการจัดเก็บภาษีฯ ในอัตราปกติ (100%) (ร้อยละ 92.2) เหตุเพราะว่าสภาวะเศรษฐกิจยังไม่กลับสู่ภาวะปกติและมีความเปราะบาง(ร้อยละ 44.2) ส่วนเวลาที่เหมาะสมแก่การที่ภาครัฐจะกลับมาเก็บภาษีฯ ในอัตราปกติ (100%) พบว่าไม่สามารถคาดการณ์ได้ (ร้อยละ 62.8) ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบัน มาตรการหรือความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ต้องการได้รับมากที่สุดคือ ขยายกรอบระยะเวลาการลดหย่อนภาษีฯ  (ร้อยละ 30.2) หากภาครัฐขยายกรอบระยะเวลาในการยกเว้นการจัดเก็บภาษีฯ ออกไปในปี 2565-66 กลุ่มตัวอย่างจะนำเงินในส่วนที่จะต้องชำระภาษี ไปใช้รักษาสภาพคล่องของธุรกิจ (ร้อยละ 27.5) สิ่งที่อยากให้ภาครัฐดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขในกระบวน การจัดเก็บภาษีฯ  คือ หลักเกณฑ์ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน (ร้อยละ 23.0) หากจำเป็นต้องปรับอัตราภาษีฯ ในอัตราปกติ (100%) กลุ่มตัวอย่างเห็นว่ารัฐบาลควรลดอัตราภาษีลง เพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจ (ร้อยละ 32.0) และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีฯ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ คือ ลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระแก่ธุรกิจ (ร้อยละ 40.4)

ที่มา: สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย                                 เข้าถึงได้จาก https://bit.ly/3MfXiTD