มูลค่าการส่งออกกัมพูชาเพิ่มขึ้น สวนทางการนำเข้าที่ลดลง

มูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชาอยู่ที่ 5.9 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบเป็นรายปีในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ โดยมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดของกัมพูชาอยู่ที่ 8.1 พันล้านล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 1 ในช่วงเวลาเดียวกัน จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ (MFAIC) ซึ่งมูลค่าการนำเข้าที่ลดลงเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในเดือนมีนาคม (0.4%) และการเติบโตติดลบในเดือนเมษายน (13.9%) และพฤษภาคม (26.5%) ขณะที่การนำเข้าสินค้าสำคัญลดลงโดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ (โดยเฉพาะผ้า) และเครื่องจักรกล โดยการส่งออกของกัมพูชายังคงรักษาระดับการเติบโตที่ดีแม้ว่าประเทศคู่ค้าทั่วโลกจะเผชิญกับการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ซึ่งการเติบโตมาจากการส่งออกที่ขยายตัวสูงในเดือนมกราคม (25.4%) และกุมภาพันธ์ (22.8%) และพฤษภาคม (25.3%) โดยการเจริญเติบโตของการส่งออกมาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ร้อยละ 45 จักรยานร้อยละ 18 ข้าวร้อยละ 29 และผลิตภัณฑ์อื่นๆร้อยละ 30

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50749966/exports-rise-in-value-lower-imports/

เวียดนามหันมานำเข้าถ่านหินจากสหรัฐฯ

บริษัท Vinacomin ผู้ผลิตถ่านหินหลักของเวียดนาม แถลงการณ์เมื่อวันพุธถึงปริมาณการนำเข้าถ่านหินจากแคลิฟอร์เนียไปยังจังหวัดกว่างนิญ ในเดือนนี้กว่า 21,700 ตัน ซึ่งจากข้อมูลของกรมศุลกากร ระบุว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ การนำเข้าถ่านหินของเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แตะระดับสูงสุด 31.57 ล้านตัน ส่วนใหญ่จะนำเข้าจากออสเตรเลีย อินโดนีเซียและรัสเซีย เป็นต้น ถึงแม้ว่ารัฐบาลพยายามที่จะลดการพึ่งพาถ่านหิน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งนี้ สมาคมพลังงานเวียดนาม ระบุว่าในปีที่แล้ว เวียดนามผลิตกระแสไฟฟ้าร้อยละ 36.1 จากโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน เวียดนามหันจากผู้ส่งออกถ่านหินเป็นผู้นำเข้าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมีจำนวนเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นและอีกเหตุผลหนึ่ง คือการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ เวียดนามมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากยิ่งขึ้น เนื่องมาจากจำเป็นที่จะต้องรักษาเสถียรภาพทางการค้าระหว่างสองประเทศ

ที่มา : https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-begins-coal-import-from-us-4131170.html

เวียดนามเปิดตัวเลขเดือนม.ค.-มิ.ย. มียอดเกินดุลการค้า 5.46 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าพิษโควิด-19

ในช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย. ปี 2563 เวียดนามมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศสูงถึง 240 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งออกเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 122.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการนำเข้าที่ 117.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ เดือนมิ.ย. เวียดนามมียอดเกินดุลการค้า 1.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนาม ได้แก่ โทรศัพท์และชิ้นส่วน คาดว่ามียอดส่งออก 18.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ มีมูลค่า 19.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกัน ยอดส่งออกเสื้อผ้าลดลงร้อยละ 13 สู่ระดับ 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ จีนยังคงเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่า 34.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เวียดนามขาดดุลการค้าที่ 15.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน

ที่มา : https://vietreader.com/business/5246-vietnams-jan-june-trade-surplus-seen-expanding-to-546bln-despite-virus.html

ธุรกิจเวียดนาม 8 ราย ได้รับอนุญาตนำเข้าสุกรจากไทย

จากรายงานของกรมอนามัยสัตว์เวียดนาม ภายใต้กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท เปิดเผยว่ามีผู้ประกอบการเวียดนาม 8 รายที่ได้รับอนุญาติในการนำเข้าสุกรมีชีวิตจากประเทศไทย จำนวนมากกว่า 1.9 ล้านตัว ซึ่งปัจจุบัน มีธุรกิจรายหนึ่งได้ทำการกักกันสุกรที่นำเข้าจากไทย เพื่อเตรียมเชือดเป็นอาหาร อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น ทางกระทรวงอนุญาตให้สามารถนำเข้าสุกรมีชีวิตจากประเทศไทยได้ เพื่อที่จะเพาะพันธุ์และเชือดเป็นอาหาร ตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย. นอกจากนี้ กรมอนามัยสัตว์ได้ออกแนวทางเกี่ยวกับมาตรการ/กฎระเบียบสุขอนามัยของการนำเข้าสุกร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาคของโรคระบาดสัตว์และสร้างความมั่นใจถึงสถานะของฝูงสัตว์ในประเทศ นับว่าเป็นครั้งแรกที่เวียดนามอนุญาติให้มีการนำเข้าสุกรมีชีวิต

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/eight-vietnamese-businesses-eligible-to-import-pigs-from-thailand-415032.vov

เวียดนามนำเข้าเนื้อสุกรเพิ่มขึ้นถึง 300% ในช่วง 5 เดือนแรก

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงสิ้นเดือนพ.ค. ปริมาณนำเข้าเนื้อสุกรของเวียดนามถึง 67,640 ตัน เพิ่มขึ้น 298% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนธุรกิจในประเทศราว 130 รายทำการสั่งซื้อเนื้อสุกรและสินค้าที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่จะนำเข้าจากแคนาดา เยอรมัน โปรแลนด์ บราซิล สหรัฐฯ สเปนและรัสเซีย ซึ่งการนำเข้าดังกล่าว เผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน เนื่องจากอุปทานทั่วโลกลดลงและการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาที่รุนแรงในหลายประเทศ ทั้งนี้ ในเดือนม.ค. ปริมาณสุกรอยู่ที่ 678 ล้านตัว ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ทางกระทรวงฯ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการเจรจากับกลุ่มประเทศในภูมิภาค เพื่อนำเข้าสุกรมีชีวิต นอกจากนี้ หน่วยงานการโรคระบาดสัตว์ของเวียดนามและไทย เร่งหารือเกี่ยวกับขั้นตอนการขออนุญาตในการนำเข้าสุกรจากไทย

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/pork-imports-rise-nearly-300-in-five-months-414784.vov

เวียดนามนำเข้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พุ่ง 21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากตัวเลขทางสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ชี้ให้เห็นว่าการนำเข้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 ด้วยมูลค่า 21.78 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตในประเทศ อยู่ที่ราว 86.18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปี 2562 คิดเป็นสัดส่วน 88.4% ของมูลค่าการนำเข้ารวม ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ มีการนำเข้าสินค้าหลายรายการที่ลดลง ได้แก่ เครื่องจักรและชิ้นส่วน ผ้าทุกชนิด เหล็กเหล็กกล้า วัตถุดิบพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรก มูลค่าการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่ 97.48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน จีนยังคงเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มูลค่า 28.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเกาหลีใต้ อาเซียน ตามลำดับ นอกจากนี้ หลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทรวงวางแผนและการลงทุนเตรียมพิจารณา 2 สถานการณ์ถึงผลกระทบทางด้านการค้าของประเทศ ในกรณีที่ไวรัสระบาดจนถึงไตรมาสที่สอง คาดว่ายอดส่งออกลดลง 20% ในขณะเดียวกันยอดการนำเข้าลดลง 16%

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnams-imports-of-computers-electronic-products-and-components-exceed-usd-21-billion-21285.html

เวียดนามนำเข้ารถยนต์ลดลง 40% ในช่วง 2 เดือนแรก

จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) เปิดเผยว่าเวียดนามนำเข้ารถยนต์ 14,523 คัน ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงร้อยละ 43.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งจำนวนรถยนต์ต่ำกว่า 9 ที่นั่ง และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล มีอยู่ 10,768 และ 3,425 คัน ลดลงร้อยละ 39.6 และ 53.3 ตามลำดับ ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ เวียดนามซื้อรถยนต์ที่ประกอบจาก 2 ตลาดสำคัญ ได้แก่ ไทย (6,271 คัน) และอินโดนีเซีย (3,416 คัน) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 94.3 ของการนำเข้ารถยนต์รวม นอกจากนี้ ตามรายงานล่าสุดของกระทรวงฯ พบว่าเวียดนามนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ ด้วยมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากเกาหลีใต้ มูลค่า 1.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (28.5%) รองลงมาญี่ปุ่น 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (18.04%) และจีน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (18%) ในขณะเดียวกัน การลดลงของสินค้าคงคลังขนาดใหญ่ ในช่วงที่เหลือของปี 2562 ซึ่งผู้นำเข้าหลายรายยังคงต้องรอคำตัดสินใจจากรัฐบาล เพื่อที่จะลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นรถยนต์ จากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-car-imports-plummet-over-40-percent-in-first-two-months/171048.vnp

กระทรวงสาธารณสุขสปป.ลาว นำเข้าหน้ากากอนามัยจากเวียดนาม

กระทรวงสาธารณสุขมีแผนที่จะนำเข้าหน้ากากอนามัยจากประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงเวียดนาม ไทยและจีน เพื่อเอาชนะปัญหาการขาดแคลนสินค้า โดยหน้ากากอนามัย 2 ล้านแรกจะถูกนำเข้าไปยังสปป.ลาวในไม่ช้าซึ่ง 1.5 ล้านจะเป็นคนที่ทำงานด้านสุขภาพ งานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อจากผู้ป่วย จากนั้นจะมีการมอบหน้ากากอนามัยให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาลเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรคไปสู่ผู้อื่น อีก 500,000 จะถูกขายให้กับประชาชนทั่วไป ข้อตกลงการนำเข้าสรุปได้จากการร้องขอจากรัฐบาลสปป.ลาวไปยังเวียดนาม ซึ่งได้ระงับการส่งออกหน้ากากอนามัยชั่วคราวเนื่องจากเป็นที่ต้องการภายในประเทศสูง เวียดนามตกลงที่จะส่งออกหน้ากากไปยังสปป.ลาว เนื่องจากความสัมพันธ์พิเศษระหว่างทั้งสองประเทศ ภายในไม่กี่สัปดาห์บริษัทจากประเทศเพื่อนบ้านจะตั้งโรงงานสปป.ลาวเพื่อผลิตหน้ากากอนามัย เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะผลิตหน้ากากได้สูงสุด 500,000 เครื่องต่อเดือน ซึ่งแม้ว่าหน้ากากอนามัยที่นำเข้าจะไม่ตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน แต่ความต้องการเพิ่มขึ้นถึงสิบเท่า เนื่องจากความกังวลที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ COVID-19 แม้ว่าจะไม่มีรายงานในสปป.ลาวก็ตาม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าออกประกาศระบุราคาหน้ากากอนามัย ไม่เกิน 25,000 กีบต่อ 1 กล่องซึ่งมี 50 ชิ้นหรือ 1,000 กีบต่อชิ้นสำหรับการขายปลีก

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Health_57.php

เวียดนามนำเข้าเนื้อสุกรพุ่งสูงขึ้น 200%

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท เปิดเผยว่าในวันที่ 15 มีนาคม เวียดนามนำเข้าเนื้อสุกรประมาณ 25,300 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 205 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นผลมาจากการขาดแคลนผลผลิตเนื้อสุกรและการแพร่ระบาดของไข้อหิวาต์สุกรแอฟริกัน (ASF) โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศแคนาดา คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29 ตามมาด้วยเยอรมัน, โปแลนด์, บราซิลและสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้กระทรวงข้างต้นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินมาตรการเรื่องลดราคาเนื้อสุกร ทั้งนี้ ทางกระทรวงฯ ขอความร่วมมือกับบริษัทปศุสัตว์รายใหญ่ให้ปรับลดราคาสุกรมีชีวิตอยู่ที่ 70,000 ด่งต่อกิโลกรัม (3 ดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์เรียกร้องกับทางกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าให้ช่วยเหลือธุรกิจเวียดนามในการหาแหล่งวัตถุดิบจากการนำเข้าท่ามกลางสถานการณ์ไวรัสโคโรนา ซึ่งขัดขวางการค้าผ่านชายแดน นอกจากนี้ จากสถิติของกระทรวง ระบุว่าจำนวนสุกรทั่วโลกรวม 678 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนที่แล้ว โดยในช่วงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เวียดนามนำเข้าเนื้อกระบือเพิ่มขึ้นร้อยละ 128 ปริมาณอยู่ที่ 19,356 ตัน, เนื้อวัว (14,160 ตัน,เพิ่มขึ้นร้อยละ 217) และเนื้อสัตว์ปีก (48,300 ตัน,เพิ่มขึ้นร้อยละ 86)

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnams-pork-imports-up-over-200-411457.vov

สำรวจแหล่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4 จ. ภาคเหนือ เจาะสถานการณ์นำเข้าจากเมียนมาผ่านด่านแม่สอดไทย

เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จังหวัดตาก น่าน พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทางภาคเหนือ โดยข้อมูลพยากรณ์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่า เนื้อที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2562/63 รวม 4 จังหวัด มีจำนวน 2.319 ล้านไร่ ลดลงจากปี 2561/62 ที่จำนวน 2.419 ล้านไร่ (ลดลงร้อยละ 4) ผลผลิต 1.509 ล้านตัน ลดลงจากปี 2561/62 ที่จำนวน 1.743 ล้านตัน (ลดลงร้อยละ 13) เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง อีกทั้งยังประสบปัญหาหนอนกระทู้ระบาด ภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) กำหนดให้มีการนำเข้าโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคมของทุกปี ในอัตราภาษีนำเข้า 0% และโดยในช่วงวันที่ 1 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากแหล่งผลิตที่สำคัญของเมียนมา ได้แก่รัฐฉาน อิระวดี ซึ่งมีแนวชายแดนติดต่อกับจีน จำนวนมากถึง 279,000 ตัน โดยนำเข้าทางด่านพรมแดนแม่สอดจังหวัดตาก เนื่องจาก มีการระบาดของโรคอหิวาต์อาฟริกาในสุกร ทำให้จีนมีนโยบายไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมา ส่งผลให้ราคาข้าวโพดในประเทศมีแนวโน้มลดลงโดยราคาเฉลี่ยในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์อยู่ที่กิโลกรัมละ 7.77 บาทลดลงจาก 8.65 บาท (ร้อยละ 10) ในช่วงเดียวกันของปี 2562 ทั้งนี้ จากการสอบถามเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดตาก น่าน พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เกษตรกรมีความพึงพอใจที่รัฐบาลให้การช่วยเหลือ แต่เกษตรกรในบางพื้นที่ยังไม่เข้าใจหลักเกณฑ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ควรประชาสัมพันธ์รายละเอียดโครงการให้เกษตรกรทราบ และแนะนำให้ไปขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตรภายหลังจากที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้ว 15 – 60 วัน เพื่อรับสิทธิในการช่วยเหลือต่อไป

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/prg/3104872