เศรษฐกิจเวียดนาม คาดเติบโต 6.7% ปีนี้

ธนาคาร UOB ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัว 6.7% ในปี 2564 การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 4 นั้น เริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 เม.ย. ทำให้เกิดการล็อกดาวน์ ส่งผลให้เกิดการหยุดชะงักของธุรกิจครั้งใหญ่และการผลิตของอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบในทิศทางเชิงลบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอัตราการฉีดวัคซีนที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 6.6% นอกจากนี้ การส่งออกยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้าอย่างดีในปีนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจเวียดนามที่มีความเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานโลก

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-economy-predicted-to-maintain-67-growth-this-year-871461.vov

บทบาท จีน ใน CLMV หลังโควิด…อิทธิพลทางเศรษฐกิจยังคงเข้มข้น

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

บทบาททางเศรษฐกิจของจีนในกลุ่มประเทศ CLMV ในช่วงที่ผ่านมา นับว่าโดดเด่นมาก โดยเฉพาะด้านการค้า   ซึ่งเป็นผลจากยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่จีนพยายามเข้ามาสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ทั้งในด้านความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical connectivity) และความเชื่อมโยงทางสถาบัน (Institutional connectivity) ซึ่งมีส่วนในการกระตุ้นมูลค่าการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กับจีนให้เร่งตัวขึ้น อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางกายภาพ ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นระหว่างจีนกับ CLMV เ​กิดจากยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI)   อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รวมถึงการลงทุนก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่  ซึ่งมีส่วนดึงดูด FDI จีนให้มาตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมในพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการที่ตอบสนองความเป็นเมือง  ในขณะที่อิทธิพลของความเชื่อมโยงทางสถาบัน อาทิ การผ่อนคลายกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ ก็มีส่วนช่วยให้กิจกรรมการค้าระหว่างกลุ่มประเทศ CLMV กับจีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ อันมีจุดเริ่มต้นจากสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ  ยังถูกท้าทายด้วยความเปราะบางของห่วงโซ่อุปทานโลกซึ่งเกิดจากปัจจัยที่ไม่อาจคาดเดา  อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด19 ซึ่งอาจส่งผลให้จีนรวมถึงบริษัทต่างชาติในจีนหันมาให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านในฐานะห่วงโซ่อุปทานแห่งใหม่ เพื่อลดและกระจายความเสี่ยงด้านปฏิบัติการจากการที่ฐานการผลิตกระจุกตัวอยู่ในจีน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยคานอิทธิพลทางอ้อมในด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของจีนจะมากขึ้นหรือน้อยลงหลังโควิด ยังคงขึ้นอยู่กับยุทธศาสตร์ของจีนและท่าทีของกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีต่อจีนภายใต้ความขัดแย้งของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ และจีน  โดยคาดว่ากลุ่ม CLMV น่าจะอยู่ในฐานะแหล่งการผลิตสินค้าทางการเกษตร รวมถึงอาหาร ซึ่งตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านอาหารของจีน 

นอกจากนี้ CLMV ยังมีแนวโน้มได้รับการกระจายการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นในทิศทางที่เร่งตัวขึ้น โดยเวียดนามยังคงมีศักยภาพในการก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานใหม่สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นอย่างอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่อาจพยายามปรับสมดุล FDI ให้รองรับนักลงทุนสัญชาติอื่นที่มีศักยภาพสูงมากกว่าดึงดูด FDI จากจีนเป็นหลัก

ที่มา : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/China-CLMV-01-07-21.aspx

กิจการเวียดนาม ก้าวลงทุนโครงการต่างประเทศ ทั้งสิ้น 21.81 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงวางแผนและการลงทุน ระบุว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ นักลงทุนเวียดนามทุ่มเงินรวมทั้งสิ้น 21.81 พันล้านเหรียญสหรัฐ ด้วยจำนวน 1,420 โครงการ โดยส่วนใหญ่จะเข้าไปลงทุนในโครงการภาคเหมืองแร่และภาคเกษตรกรรม และจุดหมายทางการลงทุนยอดนิยมของเวียดนาม อาทิ ประเทศสปป.ลาว กัมพูชาและรัสเซีย คิดเป็นสัดส่วน 23.7%, 13.1% และ 12.9% ตามลำดับ ทั้งนี้ จำนวนเงินลงทุนใหม่และเงินลงทุนเพิ่มเติมในต่างประเทศ ทั้งสิ้น 546.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นอกจากนี้ ทั้งหมด 15 ประเทศที่ได้รับการลงทุนจากเวียดนาม ช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ได้แก่ สหรัฐฯ 302.8 ล้านเหรียญสหัฐ ตามมาด้วยกัมพูชา 89.1 ล้านเหรียญสหรัฐ แคนาดา 32.08 ล้านเหรียญสหรัฐ และฝรั่งเศส 32 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-firms-invest-us2181-billion-in-overseas-projects-868290.vov

เวียดนามเผยภาคอุตฯ การผลิตและแปรรูป ยังคงเป็นแหล่งดึงดูดที่สำคัญของการลงทุนจากต่างชาติ

ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป เป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มากที่สุด ตั้งแต่ต้นปีนี้ ด้วยเม็ดเงินราว 6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 43% ของยอดเงินทุนทั้งหมด จากโครงการลงทุนของต่างชาติ จำนวน 613 โครงการ ส่วนใหญ่ลงทุนในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า รองลงมาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ Do Nhat Hoang หัวหน้าหน่วยงานกระทรวงวางแผนและการลงทุน กล่าวว่าเม็ดเงิน FDI ไหลเข้าไปยังสาขาอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ พลังงาน อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป ถือเป็นเครื่องยืนยันว่าเวียดนามมีเสถียรภาพและเป็นที่จับตามองของนักลงทุนต่างชาติ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/manufacturing-and-processing-sector-playing-key-role-in-fdi-attraction/202916.vnp

เมืองโฮจิมินห์ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงต่างประเทศ 1.34 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 5 เดือนแรก

สำนักงานสถิติประจำเมือง เผยว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้าเมืองโฮจิมินห์ ทะลุ 1.34 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 16.52% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งจากตัวเลขเม็ดเงินทุนทั้งหมด 378.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ถุกโอนไปสู่โครงการใหม่ 187 โครงการ โดยเฉพาะด้านการพาณิชย์และอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติได้ระดมทุน 267.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปยังโครงการอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป จำนวน 7 โครงการ ตามมาด้วยโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 11 โครงการ ด้วยมูลค่า 85.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และโครงการเชิงพาณิชย์ ในขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม มูลค่าราว 270 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาสิงคโปร์และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/hcm-city-attracts-over-134-billion-usd-worth-of-fdi-in-first-five-months/202334.vnp

ดึงโมเดล EEC ปั้นเขตเศรษฐกิจใหม่ ดูดลงทุนหลังโควิด 4 แสนล้าน

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ. หรือเลขาฯอีอีซี) เผย ในช่วงที่ทั้งโลกต้องเผชิญกับกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นจังหวะดีที่ไทยจะใช้เวลานี้เพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและเตรียมพื้นที่เพื่อรอการลงทุนที่จะกลับมาหลังสถานการณ์ปกติ โดยการเพิ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษ 21 เขต 9 กลุ่มทั่วไทยและใช้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้นแบบ พร้อมเสริมสิทธิประโยชน์อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ศักยภาพสูงในแต่ละพื้นที่ โดยแผนนี้จะถูกผลักดันเข้าไปเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ 13 (ปี 2566-2570) หวังดึงเงินลงทุนโดยตรง (FDI) กว่า 4 แสนล้านบาท ดัน GDP โตได้ถึง 4-5%

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-679526

เวียดนามเผยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุด

ตามข้อมูลของกระทรวงวางแผนและการลงทุน เผยว่าตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงวันที่ 20 พ.ค. ยอดการเบิกจ่ายโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้น 6.7% เป็นมูลค่า 7.15 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป มีมูลค่าถึง 6.14 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกค้าส่ง โดยสิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยเม็ดเงิน 5.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 37.6% ของเงินลงทุนทั้งหมด ตามมาด้วยญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ นอกจากนี้ จังหวัดลองอาน (Long An) ถือเป็นแหล่งดึงดูดเม็ดเงินทุนจากต่างประเทศมากที่สุด ด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 3.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 23.9% ของทุนทั้งหมด ตามมาด้วยเมืองโฮจิมินห์ เก่นเทอ บินห์เดือง ไฮฟองและบั๊กเกียง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/singapore-tops-list-of-foreign-investors-over-five-month-period-861182.vov

เวียดนามก้าวขึ้นเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนยอดนิยม จาก 140 ประเทศทั่วโลก

กระทรวงวางแผนและการลงทุน (MPI) เผยเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนยอดนิยมในหมู่นักลงทุนต่างประเทศกว่า 140 ประเทศทั่วโลก มีจำนวน 33,000 โครงการที่มาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ด้วยเม็ดเงินจดทะเบียน 394 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 แต่ว่าเวียดนามสามารถบรรลุการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ แม้ว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศทั่วโลก ยังไม่แสดงสัญญาการฟื้นตัวเท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม แสดงให้เห็นว่าเวียดนามถือเป็น “ดินแดนที่ปลอดภัย” แก่การไหลเข้าของเม็ดเงินทุนจากต่างประเทศ ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกและธุรกิจอีกจำนวน เร่งหาโอกาสทางการลงทุนในเวียดนาม เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวต้องการกระจายห่วงโซ่อุปทาน และลดการพึ่งพาในตลาดจีน

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-emerges-as-popular-investment-destination-for-140-countries-31827.html

บริษัทสัญชาติจีนวางแผนเพิ่มกิจกรรมระหว่างประเทศหลังการแพร่ระบาด

ในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีนไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ธุรกิจของทั้งสองชาติจึงเปลี่ยนความสนใจไปยังประเทศทางฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจีนหันไปให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังคงมีการพัฒนาน้อยอย่างกัมพูชา โดยสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) 10 ประเทศ ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากทั่วโลกลดลงร้อยละ 31 ในปี 2020 แต่อย่างไรก็ตามจีนกลับเพิ่มการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนกว่า 14.36 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 51 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงความสำคัญของจีนต่อภูมิภาคนี้ในปัจจุบัน โดยอาเซียนถูกมองว่าเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับสามในเอเชียรองจากจีนและอินเดีย ซึ่งมีประชากรรวมถึง 660 ล้านคน รวมทั้งกลุ่มชนชั้นกลางก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย ปัจจุบันจีนถือเป็นแหล่ง FDI ลำดับต้นๆของกัมพูชา โดยมีเงินลงทุนเกือบ 900 ล้านดอลลาร์ ในช่วงปี 2020 ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นของ FDI จากทางจีนในกัมพูชาถึงร้อยละ 70

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50858253/chinese-firms-to-increase-post-pandemic-asean-activity/

เวียดนามดึงดูดโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ แม้เผชิญโควิด-19 ระบาด

ตามรายงานของกระทรวงวางแผนและการลงทุน เมื่อวันที่ 15 พ.ค. เปิดเผยว่าเวียดนามยังคงพยายามอย่างหนักในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยในปี 2563 เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวก (GDP) ถึง 2.91% และคาดว่าในปี 2564 เศรษฐกิจจะโตถึง 6.7% ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีจำนวน 33,000 โครงการที่มาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 394 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถึงแม้ว่าการลงทุนทั่วโลกจะไม่ขยายตัว แต่เวียดนามมียอดการลงทุนจากโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 24.7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : http://dtinews.vn/en/news/018/73882/vietnam-attracts-fdi-projects-amid-covid-19.html