การค้าทวิภาคี กัมพูชา-เวียดนาม แตะ 9 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021
กระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เปิดเผยว่า การค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-เวียดนาม มีมูลค่ารวมมากกว่า 9 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 80 เมื่อเทียบกับปี 2020 และยังคงรักษาอัตราการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ตามข่าวประชาสัมพันธ์ของ Pham Minh Chinh นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ซึ่งนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้เน้นย้ำถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการรักษาและกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างความมั่นคงและการพัฒนาในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือในการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ภายใต้รูปแบบ New Normal เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นในช่วง ม.ค.-ก.พ. มูลค่าแตะ 291 ล้านดอลลาร์
กัมพูชาส่งออกสินค้ามูลค่า 291 ล้านดอลลาร์ ไปยังญี่ปุ่นในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ลดลงร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวรายงานโดยองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) โดยกัมพูชานำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 87.3 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการค้าทวิภาคีรวม 378.4 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าสำคัญของกัมพูชาที่ได้ส่งออกไปยังญี่ปุ่นได้แก่ เสื้อผ้า อุปกรณ์ไฟฟ้า และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ในขณะที่สินค้าสำคัญของญี่ปุ่นที่ได้ทำการส่งออกไปยังกัมพูชา ได้แก่ เครื่องจักร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ไฮเทค เป็นสำคัญ ซึ่งในปีที่แล้ว ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่าง กัมพูชา-ญี่ปุ่น อยู่ที่ 2,332 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นกัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 1,752 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
CDC อนุมัติ 4 โครงการลงทุนใหม่ วงเงินเกือบ 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้ให้ใบอนุญาตในการลงทุนแก่บริษัทเอกชน 4 แห่ง เป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 31.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษในเมืองหลวงพนมเปญ จังหวัดสวายเรียง และพระสีหนุ โดยรายชื่อทั้ง 4 บริษัทมีดังนี้ 1.Covered Bridge Cabinetry Manufacturing Co., Ltd., 2. SDJC Steel and Wire (Cambodia) Products Co., Ltd., 3. Solteam (Cambodia) Co., Ltd. และ 4. Wendua Packaging (Cambodia) Co., Ltd. ทั้ง 4 บริษัทจะลงทุนในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วัสดุบรรจุภัณฑ์ กล่องกระดาษแข็ง กล่องไม้ ชั้นวางของที่ทำจากไม้ และถุงพลาสติกตามลำดับ คาดว่าจะสร้างงานให้กับคนท้องถิ่นได้เกือบ 2,500 ตำแหน่ง ซึ่งจากการลงทุนดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเสถียรภาพเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในขณะที่กัมพูชากำลังฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19
คาดสินค้ากลุ่มพลังงาน ดันเงินเฟ้อกัมพูชาพุ่ง 4.7% ในปี 2022
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดกัมพูชาได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤต สงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ค่อนข้างต่ำ แต่อัตราเงินเฟ้อภายในจะยังคงเร่งขึ้นภายในปี 2022 ตามรายงานล่าสุดของ ADB โดยได้คาดการอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 4.7 จากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานและน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น อันเนื่องมาจากวิกฤตสงคราม ประกอบกับอุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยก๊าซธรรมชาติถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการผลิตปุ๋ยไนโตรเจน ซึ่งรัสเซียและเบลารุสส่งออกสินค้าชนิดนี้คิดเป็นกว่าร้อยละ 32 ของการส่งออกทั่วโลก ส่งผลทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกพืชผลคาดว่าจะเพิ่มขึ้น นอกจากปุ๋ยแล้ว ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นยังทำให้การทำฟาร์มมีต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อด้านอาหารทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501054826/energy-prices-set-to-accelerate-inflation-to-4-7-in-2022/
2021 กัมพูชาส่งออกสินค้าไปยังอินเดียมูลค่าแตะ 113.87 ล้านดอลลาร์
Ly Thuch รองประธาน Cambodian Mine Action and Victim Assistance Authority (CMAA) กล่าวในงานครบรอบ 10 ปีหอการค้าอินเดีย-กัมพูชา (INCHAM) ซึ่งมี Sandeep Majumdar ประธาน INCHAM, สมาชิกและแขกรับเชิญภายในงาน ว่าการส่งออกของกัมพูชาไปยังอินเดียมีมูลค่าอยู่ที่ 113.87 ล้านดอลลาร์ ในปี 2021 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 99 เมื่อเทียบเป็นรายปีจาก 57.17 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและอินเดีย โดยเสริมว่าด้วยเสถียรภาพทางการเมือง ภาษีนิติบุคคลต่ำ ระบบเศรษฐกิจแบบเปิด แรงงานอายุน้อย และไม่มีการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ที่ถือเป็นปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างกัมพูชาและอินเดียปรับตัวเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง
ADB ชี้ RCEP-FTA ผลักดันเศรษฐกิจกัมพูชา
Anthony Gill ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ประจำสาขากัมพูชา กล่าวว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และข้อตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคี (FTA) จะสร้างประโยชน์ให้กับกัมพูชาเป็นอย่างมากในระยะยาว โดยเฉพาะในด้านของการค้าและการลงทุนเป็นสำคัญ ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดการจ้างงานให้กับคนในท้องถิ่น และก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ภายในประเทศ โดย ADB ระบุว่าเศรษฐกิจของกัมพูชาคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.3 ในปี 2022 และเติบโตร้อยละ 6.5 ในปี 2023 อันเนื่องมาจากภาคการส่งออกสินค้า และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ