“เวียดนาม” เผย 7 เดือนแรกของปี 65 ดัชนี CPI พุ่ง 2.54%
สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนก.ค. 65 เพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือนก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 1.44% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ สำนักงาน GSO ชี้ว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น 49.75% เนื่องจากสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความต้องการในการใช้บริการร้านอาหารจึงเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หมวดอาหารบริโภคนอกบ้านเพิ่มขึ้น 3.81% เมื่อเทียบเป็นรายปี ราคาวัสดุบ้านและข้าว เพิ่มขึ้น 7.84% และ 1.15% ตามลำดับ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนก.ค. 65 เพิ่มขึ้น 0.58% จากเดือนก่อน และ 2.63% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1272710/cpi-goes-up-2-54-per-cent-in-seven-months-gso.htmll
“เวียดนาม” เผย 7 เดือนแรกของปี 65 ทำสถิติยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่
สำนักงานบริการจดทะเบียน กระทรวงการวางแผนและการลงทุน เปิดเผยว่าเวียดนามมีการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ เดือนก.ค. 65 ทั่วประเทศ มีจำนวน 13,174 ราย เพิ่มขึ้น 50.7% โดยมีมีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 124 ล้านล้านดอง เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 89,407 ราย เพิ่มขึ้น 17.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่สูงสุดในช่วง 7 เดือนแรก ทั้งนี้ ธุรกิจตั้งใหม่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ มีจำนวน 65,700 ราย คิดเป็นสัดส่วน 73.5% ของยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ เพิ่มขึ้น 21.7% เมื่อเทียบปีต่อปี รองลงมาธุรกิจอุตสาหกรรมและก่อสร้าง 22,468 ราย เพิ่มขึ้น 9.3% นอกจากนี้ สำหรับจำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 94,570 ราย หลังจากหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธุรกิจต่างๆ ยังคงประสบปัญหา เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน
ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1272709/record-in-newly-established-firms-set-in-seven-months.html
เจ้าหน้าที่ IMF มองเวียดนามถูกทางในการผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจ
สำนักข่าวเวียดนาม (VNA) อ้างผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่าเวียดนามมาถูกทางในการเร่งปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่จำเป็นต้องปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของรัฐบาลที่มุ่งเน้นไปที่การเติบโตอย่างยั่งยืน ครอบคลุมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ คุณ Era Dabla-Norris หัวหน้านโยบายเศรษฐกิจการเงินขององค์กร IMF ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เปิดเผยว่าหนึ่งในความท้าทายสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ คือความแตกต่างของเศรษฐกิจ ธุรกิจ ภาคส่วนและแรงงาน โดยการแก้ไขปัญหาข้างต้นนั้น จำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและยกระดับศักยภาพ รวมถึงนโยบายเพื่อสร้างความมั่นใจในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
“อุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนาม” ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
สำนักงานการลงทุนจากต่างประเทศ (FIA) ของเวียดนาม เปิดเผยว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีเม็ดเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้ามายังภาคอุตสาหกรรมการผลิตของเวียดนาม มูลค่า 252 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของเงินทุนจากต่างประเทศทั้งหมดที่ไหลเข้าไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตามรายงานของสำนักงาน ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบัน เวียดนามมีโครงการลงทุนจากต่างชาติ จำนวน 34,898 โครงการ ด้วยมูลค่า 426.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภาคอุตสาหกรรมได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของโลก อาทิ Samsung, LG, Canon, Honda และ Toyota สะท้อนให้เห็นถึงการเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องในเวียดนาม
ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-process-manufacturing-attractive-to-foreign-investors/234399.vnp
Vietnam Economic Factsheet : Q2/2565
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ขยายตัว 7.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการขยายตัวเร็วที่สุดในรอบเกือบ 10 ปี (พ.ศ. 2554-2564) โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวด้านการส่งออกและการผลิต
ส่วน GDP เวียดนาม ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 6.42% สูงกว่าอัตราการเติบโตในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (5.74%) แต่ยังต่ำกว่าอัตราการเติบโต 7.28% และ 6.98% ของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561 และ 2562
โครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 : ภาคเกษตร ป่าไม้และประมง คิดเป็นสัดส่วน 11.05% ของ GDP, ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง 39.30% ของ GDP, ภาคบริการ 40.63% ของ GDP และมูลค่าเพิ่มที่หักลบด้วยภาษีการผลิตสุทธิ 9.02% ของ GDP
ด้านการใช้จ่าย : การอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัว 6.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว, การสะสมทุน ขยายตัว 3.92%, การส่งออกสินค้าและบริการ ขยายตัว 9.10% และการนำเข้าสินค้าและบริการ ขยายตัว 4.41%
“เวียดนาม-สปป.ลาว” ยอดการค้าระหว่างประเทศในช่วงครึ่งแรกของปี 65 พุ่ง 20.6%
สำนักงานการค้าเวียดนามในประเทศสปป.ลาว เปิดเผยว่าการค้าระหว่างเวียดนามและสปป.ลาวในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีมูลค่า 824 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากตัวเลขการค้าดังกล่าว มูลค่าการส่งออกของเวียดนามไปยังสปป.ลาว อยู่ที่ 309.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6% ในขณะที่มูลค่าการนำเข้า 514.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 45.4% โดยสินค้าส่งออกหลักของเวียดนามไปยังตลาดสปป.ลาว ได้แก่ น้ำมันเบนซิน (30.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ผักและผลไม้ (22.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในขณะเดียวกัน เวียดนามนำเข้าแร่และแร่ธาตุอื่นๆ, ปุ๋ย, ไม้และผลิตภัณฑ์ทำมาจากไม้ และยางพารา ตามลำดับ นอกจากนี้ จากการคาดการณ์ทิศทางการส่งออกของเวียดนามไปยังสปป.ลาว ในเดือนก.ค. จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจสปป.ลาว มีเสถียรภาพชั่วคราว หลังจากรัฐบาลอนุมัติสินเชื่อซื้อน้ำมัน 200 ล้านลิตร
ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-laos-trade-up-206-in-first-half/234336.vnp
“เวียดนาม” ขึ้นแท่นผู้ส่งออกเส้นใยและเส้นด้ายรายใหญ่อันดับ 6 ของโลก
ตามรายงานของสมาคม Vietnam Cotton and Spinning Association (VCOSA) พบว่าเวียดนามขยับอันดับผู้ส่งออกเส้นใยและเส้นด้ายรายใหญ่อันดับ 6 ของโลก มีมูลค่า 2.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 แซงหน้าเกาหลีใต้ โดยสมาคมมีรายได้เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ การส่งออกกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เส้นใย เส้นด้ายและผ้าผืน มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 18.73 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 20.81% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยสมาคมได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าตลาดจีนมีสัดส่วนราว 60% ของยอดการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเวียดนาม ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นผู้นำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ลดการนำเข้าจากประเทศจีน ทำให้เวียดนามมีโอกาสขยายส่วนแบ่งการตลาดได้
ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-becomes-world-s-sixth-largest-fibre-yarn-exporter-2042957.html