‘เวียดนาม’ เผย CPI เดือน เม.ย. 65 ขยายตัว 0.18%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนเมษายน ขยายตัว 0.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าอุโภคบริโภคและบริการ จำนวน 11 รายการสินค้าที่ใช้ในการคำนวณดัชนี CPI พบว่าวัสดุก่อสร้างและที่อยู่อาศัย ขยายตัว 2.7%, ราคาก๊าซ เหล็กและวัสดุสำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลกระทบของสงครามยูเครน-รัสเซีย ในขณะเดียวกัน การบริการด้านวัฒนธรรม ความบันเทิงและการท่องเที่ยว และบริการด้านอาหารและการจัดเลี้ยง ขยายตัว 1.8% และ 3.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าการเติบโตในเดือนก่อนหน้า อันเนื่องมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการท่องเที่ยวและการเปิดเมือง

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/cpi-inches-up-0-18-in-april/

‘เวียดนาม’ เผยรัฐบาลกู้เงิน 54 ล้านล้านดอง ม.ค.-เม.ย.

สำนักงานบริหารหนี้ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ภาระหนี้ของรัฐบาลรวมทั้งสิ้นอยู่ที่ 54 ล้านล้านดอง เงินกู้สำหรับใช้เป็นงบประมาณของรัฐบาล วงเงินมากกว่า 51.3 ล้านล้านดอง (7.9% ของเป้าหมายรัฐบาล) ในขณะที่เงินกู้จากแหล่งอื่นๆ 2.5 ล้านล้านดอง ทั้งนี้ เฉพาะในเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว รัฐบาลชำระหนี้ไปแล้วกว่า 12.6 ล้านล้านดอง รวมไปถึงการชำระเงินกู้ในประเทศ 9 ล้านล้านดอง และชำระเงินเงินกู้จากต่างประเทศ 3.6 ล้านล้านดอง ทำให้เดือนม.ค.-เม.ย. รัฐบาลได้ชำระหนี้เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 91.6 ล้านล้านด่อง ซึ่งเป็นการชำระหนี้โดยตรงของรัฐบาลที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 84 ล้านล้านด่อง

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/govt-borrows-vnd54-trillion-from-jan-apr/

 

‘ภาคส่งออก’ แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนาม

ตามรายงานทางสถิติการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนเมษายน 2565 มีมูลค่า 33.26 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 32.19 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.5% ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เวียดนามเกินดุลการค้า 2.53 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ Maybank Investment Securities (MIB) รายงานว่าภาคเศรษฐกิจหลักของการส่งออกเวียดนามส่วนใหญ่มีการเติบโตเชิงบวก โดยน้ำมันดิบพุ่ง 204% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม อย่างไรก็ดี การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และการล็อกดาวน์อย่างเข็มงวดของประเทศจีน ไม่สร้างผลกระทบต่อการส่งออกของเวียดนาม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกิจการต่างๆ ส่งออกสินค้าคงเหลือตามการฟื้นตัวของอุปสงค์

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/export-sector-is-bright-spot-for-vietnam-economy/

 

‘เวียดนาม’ เผยยอดส่งออกข้าวทะลุ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (MARD) เปิดเผยว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกข้าวของเวียดนามกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะเดือนเมษายน เพียงเดือนเดียวที่ทำรายได้จากการส่งออกข้าว 273 ล้านเหรียญสหรัฐ ปริมาณกว่า 550,000 ตัน ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณส่งออกรวมอยู่ที่ 2.05 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้ว่าระดับราคาข้าวจะลดลง แต่หากเทียบกับคู่ค้า จะพบว่าราคาข้าวของเวียดนามยังสูงกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นผู้บริโภคข้าวเวียดนามรายใหญ่ที่สุด มีส่วนแบ่งการตลาด 42.6%

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-rice-exports-surpass-us1-billion-post942211.vov

 

สงครามรัสเซีย-ยูเครน สะเทือนเศรษฐกิจเวียดนาม

ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบเชิงลบต่อการจัดหาเชื้อเพลิงและวัตถุดิบของเวียดนามและยังผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิตหยุดชะงัก จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่ได้สิ้นสุด กิจการของเวียดนามต้องเผชิญกับอุปสรรคทางด้านเชื้อเพลิงและวัตถุดิบสำหรับการผลิต เหตุจากสงครามดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเวียดนามประสบปัญหาในการนำเข้าสินค้าบางรายการจากประเทศรัสเซียและส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียและยูเครน ในขณะเดียวกันเผิชญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการสั่งซื้อวัตถุดิบจากตลาดอื่นๆ โดยวิกฤติดังกล่าว เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกสูงขึ้น ผลผลิตและส่วนแบ่งการตลาดด้านการส่งออกเชื้อเพลิงและวัตถุดิบเพื่อการผลิตและบริโภค อาทิ ปิโตรเลียม ข้าวสาลี เป็นต้น ของรัสเซียและยูเครนมีขนาดใหญ่มาก

ที่มา : https://english.news.cn/europe/20220507/8d424defc5704109be27085d1e3cae91/c.html

 

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าดันส่งออกข้าวในตลาดอาเซียน

สำนักงานส่งเสริมการค้าเวียดนาม (Vietrade) กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ได้ประสานงานกับสำนักงานการค้าเวียดนามในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อหารือเรื่องการส่งออกข้าว โดยในปีที่แล้วฟินิปปินส์เป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม จำนวน 2.45 ล้านตัน เป็นมูลค่าราว 1.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากตลาดข้างต้นแล้ว เวียดนามยังส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียและบรูไน เป็นต้น นอกจากนี้ ตามข้อมูลของสำนักข่าวเวียดนาม (VNA) เปิดเผยว่าเวียดนามส่งออกข้าวไปยังตลาดมาเลเซียในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นอย่างมาก 104.4% และ 67.5% ในด้านของปริมาณส่งออกและมูลค่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

ที่มา : https://www.bernama.com/en/world/news.php?id=2078125