ทำไมนักลงทุนต่างชาติเลือก ‘เวียดนาม’ แทนตลาดเพื่อนบ้าน?

บริษัทที่ปรึกษา PwC เผยแพร่รายงาน Vietnam Outlook: “โอกาสทางเศรษฐกิจท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19” ระบุว่าหลังจากรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสเป็นเวลานาน เวียดนามยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของ GDP ที่ 2.58% ในปี 2564 และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตติดต่อกัน 2 ปีติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจไม่ได้แสดงถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่แท้จริง เนื่องจากเศรษฐกิจจะฟื้นตัวรูปตัว K โดยภาคเศรษฐกิจสำคัญของประเทศได้รับผลกระทบในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว โรงแรม บริการอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ตลอดจนภาคการส่งออก นอกจากนี้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางการค้ากับตลาดโลกดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับตลาดเพื่อนบ้านแล้ว เวียดนามยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของห่วงโซ่อุปทานจำนวนมากและคลื่นการย้ายฐานการผลิต

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/business/what-makes-foreign-investors-choose-vietnam-instead-of-neighboring-markets-820867.html

 

‘เวียดนาม’ เผยอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามยูเครน-รัสเซีย

บริษัท Agribank Securities JSC (Agriseco) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์เวียดนาม มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบและราคาอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่เกิดความขัดแย้งของสมรภูมิรัสเซีย-ยูเครน โดยประเทศรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีชั้นนำของโลกและอยู่ในอันดับที่ 3 ของผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ทำให้ระดับราคาสูงขึ้น 17.8% อีกทั้ง ยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดรายใหญ่อันดับที่ 4 ของโลก หรือคิดเป็นสัดส่วน 22% ของอุปทานทั่วโลก ดังนั้นราคาข้าวโพดจึงเพิ่มขึ้น 8.4% นับตั้งแต่เริ่มเกิดสงคราม ทั้งนี้ ตามรายงานของ Agriseco ชี้ว่าความตึงเครียดของสงครามยูเครนและรัสเซีย ส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาอาหารทั่วโลก โดยทั้งสองประเทศมีสัดส่วนการส่งออกข้าวสาลี 29% ของการส่งออกทั่วโลก และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 19% ในขณะที่อุตสาหกรรมปศุสัตว์ในประเทศส่วนใหญ่จะนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ตั้งแต่ข้าวสาลีไปจนถึงธัญพืช ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าราคาอาหารที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของธุรกิจปศุสัตว์และอาหารสัตว์ในท้องถิ่น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1161595/russia-ukraine-crisis-hits-local-livestock-industry.html

 

แนวโน้มเศรษฐกิจ ‘เวียดนาม’ ปี 65 พุ่งทะยานเกินกว่าที่คาดการณ์

แนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2565 จะขยายตัวเหนือความคาดหมาย เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวและกระแสการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งกองทุนต่างชาติหลายสำนักได้ประมาณการว่าเศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้จะขยายตัว 7.5%

อย่างไรก็ตาม ไม่น่าแปลกใจที่เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวในระดับที่สูง สาเหตุสำคัญมาจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของอุปสงค์ในประเทศ การก่อสร้างและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ตลอดจนมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีมูลค่า 15 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ นาย Michael Kokalari หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก VinaCapital แสดงความเห็นว่าการบริโภคในครัวเรือนของเวียดนามมีแนวโน้มฟื้นตัวจากลดลง 6% ในปี 64 และเพิ่มขึ้น 5% ในปีนี้ นอกจากนี้ ผลการสำรวจของสหรัฐฯ รายงานว่าขณะนี้ยังมีประเทศที่ต้องการเดินทางไปเวียดนามเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ภาคการท่องเที่ยวจะช่วยให้ GDP ของเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3% ในปีนี้ และในอีกปี 2566 นักท่องเที่ยวชาวจีนจะกลับมาสู่ตลาดเวียดนาม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-economy-forecast-to-grow-beyond-expectation-in-2022/222789.vnp

‘FDI เวียดนาม’ ช่วง 2 เดือนแรก 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

กรมส่งเสริมการลงทุนต่างประเทศ (FIA) กระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม (MPI) เปิดเผยว่าเวียดนามดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้ราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 91.5% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 20 ก.พ. เวียดนามอนุมัติโครงการ FDI ใหม่จำนวน 183 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 631.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจำนวนโครงการใหม่เพิ่มขึ้น 45.2% แต่เงินทุนลดลง 80.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี อีกทั้ง นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป 3.13 พันล้านเหรีญสหรัฐ รองลงมาอสังหาริมทรัพย์, โครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ การผลิตและจำหน่ายพลังงาน ตามลำดับ

นอกจากนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ สิงคโปร์เป็นแหล่งเงินทุนรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ด้วยมูลค่ากว่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 34.2% ของเม็ดเงินทุนต่างชาติทั้งหมด ตามมาด้วยจีน 538 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-attracts-nearly-5-billion-usd-of-fdi-in-two-months/222784.vnp

‘เวียดนาม’ เผย CPI เฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 1.68%

สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม (GSO) เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือน ก.พ.65 เพิ่มขึ้น 1.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 1.68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) เพิ่มขึ้น 0.67% ถือว่าต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ย สะท้อนให้เห็นถึงความผันผวนของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค สาเหตุสำคัญมาจากราคาอาหารและราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/cpi-up-168-percent-in-first-two-months-of-2022/222733.vnp

 

เทรนด์อีคอมเมิร์ซ ‘เวียดนาม’ ดันธุรกิจ บริการขนส่งโต

ตามข้อมูลของสมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนาม (VECOM) รายงานว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในเวียดนาม เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 38% หากนับตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยที่ 33% ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอีคอมเมิร์ซในเวียดนาม เมื่อปีที่แล้วตลาดออนไลน์ยักษ์ใหญ่เติบโตราว 8-50% ทั้งนี้ ยอดคำสั่งซื้อบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ย. ในปีที่แล้ว สาเหตุมาจากการเข็มงวดของมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และคาดการณ์ว่ายอดคำสั่งซื้อจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 8-10% ต่อปี นอกจากนี้ ธุรกิจให้บริการขนส่งเตรียมการตอบสนองกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดย ณ สิ้นเดือน ก.ย.64 จำนวนผู้ให้บริการไปรษณีย์ในเวียดนามสูงถึง 650 ราย เพิ่มขึ้น 67 รายเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1158307/fast-growing-e-commerce-fuels-delivery-service-boom-in-viet-nam.html