ปี 66 สปป.ลาว เตรียมแผนรับมือนักท่องเที่ยวจีนทะลักเข้าประเทศ

การประชุมของกรมพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวของสปป.ลาว เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566) นางโฟนมาลี อินทผาลัม อธิบดีกรมพัฒนาการท่องเที่ยว ได้คาดการณ์ว่า ปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศราว 368,000 คน เพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยในการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการเตรียมความพร้อมการรับมือกับนักท่องเที่ยวจีนที่จะเริ่มเดินทางเข้ามาสปป.ลาว ซึ่งการหารือจะประกอบไปด้วย การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก การเดินทางภายในประเทศ สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคาร บริษัทท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ ร้านขายของที่ระลึก การบริการ และการรักษาความปลอดภัย ทั้งนี้ ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าสปป.ลาว จำนวน 1,022,727 คน แต่ในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาสปป.ลาว เพียง 45,249 คน

ที่มา: https://english.news.cn/20230228/b92c4946f6044de29fd524aebed39e6b/c.html

ราคาถั่วดำและถั่วแระ พุ่ง ! จากความต้องการของต่างประเทศที่สูงขึ้น

หอการค้าแห่งภูมิภาคย่างกุ้ง เผย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ราคาของถั่วแระอยู่ที่ 1,930,000 จัตต่อตัน ในขณะที่ราคาถั่วดำอยู่ที่ 1,762,000 จัตต่อตัน แต่ ณ ปัจจุบัน (25 กุมภาพันธ์ 2566) ความต้องการจากตลาดจีนและอินเดียเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ราคาถั่วแระขยับขึ้นเป็น 2,126,500 จัตต่อตัน ส่วนราคาถั่วดำขยับขึ้นเป็น 1,860,000 จัตต่อตัน โดย 10 เดือนที่ผ่านมาในปีงบประมาณปัจจุบัน 2565-2566 (เดือนเมษายน 2565 ถึง เดือนมกราคม 2566) เมียนมามีรายได้จากการส่งออกถั่วทั้งหมด 1.5 ล้านตัน มีมูลค่ากว่า 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการส่งอออกถั่วดำ 595,886.762 กิโลกรัม (489.688 ล้านดอลลาร์) และถั่วแระ 185,505.772 กิโลกรัม (144.611 ล้านดอลลาร์) ที่เหลือเป็นถั่วชนิดอื่นๆ โดยถั่วดำและถั่วแระส่วนใหญ่ถูกส่งออกไปยังอินเดียและจีนเป็นหลัก

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/prices-of-black-grams-pigeon-peas-on-upward-trajectory-amid-robust-foreign-demand/#article-title

สปป.ลาว – ไทย ลงนาม MoU ขนส่งผ่านทางรถไฟข้ามชายแดน

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งชาติ สปป.ลาว (LNR) ได้ลงนาม MoU ด้านการขนส่งทางรถไฟข้ามชายแดน ไทย-ลาว-จีน กับ บริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จำกัด จากประเทศไทยซึ่งได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้สามารถขนส่งสินค้าทางรถไฟผ่านชายแดนไทย-สปป.ลาว-จีน ได้ ซึ่งภายใต้ MoU นี้ LNR จะเป็นผู้ประสานงานและทำการจองขบวนรถไฟบรรทุกสินค้าจาก รฟท. เพื่อให้ บจก.เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต ใช้ในการขนส่งทางรางข้ามชายแดน ทั้งนี้ บจก.เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จะต้องปฏิบัติตามกฎและข้อบังคับของ รฟท. อย่างเคร่งครัด และต้องรายงานข้อมูลการส่งสินค้าให้กับ LNR ทราบล่วงหน้าก่อน 15 วัน

ที่มา: https://kpl.gov.la/En/detail.aspx?id=71651

นักลงทุนจีนแห่กลับเข้ามาลงทุนยังกัมพูชา

นักลงทุนและนักธุรกิจชาวจีนต่างกระตือรือร้นที่จะกลับเข้ามาลงทุนยังกัมพูชาหลังจากการเปิดพรมแดนของจีน โดยการคาดการณ์ดังกล่าวถูกกล่าวในระหว่างงานฟอรัมที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่าง กัมพูชา-จีน (ไหหลำ) ณ กรุงพนมเปญ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเกือบ 200 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ นักธุรกิจ และนักลงทุนจากกัมพูชาและจีนเข้าร่วมการประชุม ด้าน Sok Sopheak รัฐมนตรีต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเสริมว่า กัมพูชาคาดว่าจะมีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ตามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีน และเกาหลีใต้ รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นสำคัญ โดย FTA กัมพูชา-จีน และ RCEP ส่งผลทำให้การค้าทวิภาคีระหว่าง จีน-กัมพูชา มีมูลค่าสูงถึง 1.16 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นการส่งออกของกัมพูชามีมูลค่า 1.2 พันล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 17.9 และนำเข้ามูลค่า 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ซึ่งปัจจุบันกัมพูชาได้ปฏิรูประบบการดำเนินงาน และพยายามออกมาตรการต่างๆ มากมาย เพื่อสนับสนุนการลงทุนและภาคธุรกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501243609/chinese-investors-keen-to-return-to-cambodia/

ไทยเปิดเวทีประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก มั่นใจเอกชนกว่า 4 พันคนร่วมวง-เงินสะพัด 5 หมื่นล้าน

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า หอการค้าไทย-จีน จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก (World Chinese Entrepreneurs Convention-WCEC) ครั้งที่ 16 ขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มิ.ย. 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สร้างเวทีใหม่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของนักธุรกิจชาวจีนทั่วโลก และร่วมกันหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางธุรกิจแบบพหุภาคี เพื่อเปิดยุคใหม่ในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ หลังจากเศรษฐกิจทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา “ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนและเป็นประเทศที่มีนักธุรกิจชาวจีนอาศัยอยู่มากที่สุดราว 10 ล้านคน มีการทำการค้า การลงทุน ในไทยด้วยรากฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งขณะนี้นักธุรกิจชาวจีนต้องการออกมาลงทุนในต่างประเทศอย่างมากหลังจากการลงทุนชะลอมา 3 ปีในช่วงโควิด ซึ่งไทยก็เป็นเป้าหมายแรกที่จีนเลือกมาลงทุน คาดว่าการจัดประชุมครั้งนี้จะมีนักธุรกิจชาวจีนและตัวแทนจากองค์กรธุรกิจ 50 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมราว 4,000 คน ทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท ช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี”

ที่มา : https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_7525589

“โครงสร้างพื้นฐานเวียดนาม” ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากจีน

นาย Jiehe Yan ประธานบริษัท China Pacific Construction กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่าทางบริษัทจะเตรียมจัดตั้งสำนักงานตัวแทนในเวียดนาม เพื่อทำการสำรวจศักยภาพการลงทุนในภาคโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ในขณะเดียวกัน ดร.โจนาธาน ชอย (Dr. Jonathan Choi) ประธานหอการค้าจีน ได้เดินทางมายังประเทศเวียดนามเมื่อเดือนก่อน เพื่อส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจระดับภูมิภาค การค้า บริการและภาคอุตสาหกรรม และยังกล่าวด้วยว่าเวียดนามเป็นศูนย์กลางดึงดูดที่น่าสนใจของนักลงทุนชาวจีน ทั้งนี้ การลงทุนของจีนในประเทศเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2558-2565 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 17% ต่อปี ถึงแม้ว่ามีการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด แต่กระแสการลงทุนยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากหลายโครงการสำคัญจากจีน ไต้หวันและฮ่องกง ได้ขยายธุรกิจหรือปรับเพิ่มเงินทุน เพื่อยกระดับผลผลิตในเวียดนาม

ที่มา : https://vir.com.vn/vietnams-infrastructure-luring-chinese-investment-99771.html

จีน-เมียนมา ร่วมส่งเสริมการค้าและเศรษฐกิจในยุคหลัง COVID-19

เมื่อวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา นายหลี่ เฉินหยาง อธิบดีกรมพาณิชย์มณฑลยูนนานของจีนได้เข้าพบและหารือกับ นาย ออง เนียง อู รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของเมียนมาเกี่ยวกับการเปิดชายแดนและนโยบายส่งเสริมการค้า ความร่วมมือทางการเงิน และความร่วมมือด้านการเกษตรของทั้งสองประเทศ ต่อมาวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 นายหลี่ เฉินหยาง ยังได้เข้าพบกับ นาย ยู เอ วิน ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเมียนมา (UMFCCI) เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการพัฒนาภาคธุรกิจเอกชนของเมียนมาและมณฑลยูนนาน ทั้งนี้ หลังสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย เมียนมาพยายามเพิ่มการส่งออกไปยังจีนโดยเฉพาะมณฑลยูนนานให้มากขึ้นเพื่อให้การค้าระหว่างประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20230216/d51ad3ab59524454966ad689bf9eb78e/c.html

กัมพูชาเตรียมจ่อจัดตั้งศูนย์การค้าในประเทศจีน

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชากล่าวถึงการว่างแผนจัดตั้งศูนย์การค้ากัมพูชา 5 แห่ง ในประเทศจีน ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา รวมถึงการดึงดูดการลงทุนจากจีนเข้ามายังกัมพูชามากขึ้น ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐของกัมพูชาเริ่มจากเมือง ฉางชุน, ฮาร์บิน, หนานจิง, ไท่หยวน และเจิ้งโจว โดยการจัดตั้งศูนย์การค้าเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การบูรณาการทางด้านการตลาดและการกระจายความเสี่ยงของประเทศ เพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในกัมพูชา กล่าวโดย Penn Sovicheat โฆษกกระทรวงการต่างประเทศและโฆษกของกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา ซึ่งในเดือนมกราคมปีนี้ การค้าทวิภาคีระหว่างจีนและกัมพูชา มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 972 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 28.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามรายงานของกรมศุลกากรและสรรพสามิต

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501238754/cambodia-to-set-up-commercial-centres-in-china/

เร่งเอฟทีเอ “อาเซียน-จีน” เสร็จปีหน้า

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ได้เป็นประธานฝ่ายอาเซียน เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 เพื่อหารือการเริ่มเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-จีน ให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมธุรกิจในปัจจุบัน และสามารถรองรับความท้าทายที่เกิดขึ้นในโลก

 

สำหรับการประชุมครั้งนี้ อาเซียนและจีนได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแผนงานการเจรจา ระเบียบวิธีการประชุม โครงสร้างข้อบทที่จะอยู่ในความตกลง และตั้งเป้าหมายเจรจาให้เสร็จสิ้นภายในปี 67 ซึ่งจะช่วยขยายมูลค่าการค้าของทั้ง 2 ฝ่ายให้เติบโต ผ่านการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงให้มากขึ้น รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น สำหรับความตกลง ACFTA ฉบับเดิม เริ่มมีผลใช้บังคับด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ตั้งแต่ปี 2548 2550 และ 2553 ตามลำดับ อาเซียนและจีนจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงเพื่อยกระดับความตกลงดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน โดยช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 65 การค้าระหว่างกัน มีมูลค่า 530,327 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 9.68% เทียบช่วงเดียวกันของปี 64 โดยอาเซียนส่งออก 210,928 ล้านเหรียญฯ และอาเซียนนำเข้า 319,399 ล้านเหรียญฯ.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/business/economics/2628191

กัมพูชาคาดภาคการท่องเที่ยวฟื้น หลังนักท่องเที่ยวจีนกลับมา

กัมพูชามีตั้งความหวังสำหรับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หลังจากนักท่องเที่ยวจีนเริ่มทยอยเดินทางมายังประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สะท้อนจากการที่เที่ยวบิน CA745 ของสายการบินแอร์ ไชน่า ได้นำนักท่องเที่ยวชาวจีนประมาณ 125 คน เดินทางมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติพนมเปญจากกรุงปักกิ่ง เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 ก.พ.) ซึ่งทางการกัมพูชาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น นำโดย Thong Khon รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา และ Wang Wentian เอกอัครราชทูตจีนประจำกัมพูชา ในการให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มแรกๆ ด้านรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวกล่าวเสริมว่าจีนถือเป็นตลาดหลักสำหรับภาคการท่องเที่ยวทั่วโลก เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนประมาณกว่า 155 ล้านคน เดินทางท่องเที่ยวไปยังทั่วโลก ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับกัมพูชาในปีนี้ มีความพยายามเป็นอย่างมากในการดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน โดยตั้งเป้าไว้ที่จำนวน 800,000 ถึง 1 ล้านคน ในปีนี้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501235626/cambodia-pins-high-hopes-for-tourism-recovery-after-chinese-tourists-comeback/