‘VinFast’ รถยนต์ไฟฟ้าเวียดนาม เปิดตัวอย่างเป็นทางการในสหรัฐอเมริกา

VinFast ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติเวียดนาม ประกาศเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ VF e35 และ VF e36 เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่งาน Los Angeles Auto Show 2021 โดยคุณ Michael Lohscheller CEO ของ VinFast ได้ออกมากล่าวว่างานนี้ถือเป็นก้าวครั้งสำคัญของบริษัท และแสดงให้เห็นถึงความภูมิใจของบริษัทที่ทำการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าโมเดลแรกของโลก ทั้งนี้ รถยนต์รุ่นล่าสุดเป็นรถ SUV ที่มีความโดดเด่นทั้งด้านฟีเจอร์และมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งโมเดลนี้มีความสามารถทางการแข่งขัน เนื่องจากความสะดวกสบายและราคา นอกจากนี้ อนาคตข้างหน้า ทางบริษัทวางแผนที่จะจำหน่ายรถยนต์ VF e35 และ VF e36 ในสหรัฐฯ ปีหน้า ราคาประมาณ 40,000-60,000 เหรียญสหรัฐ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vinfast-electric-cars-officially-launched-in-us-905831.vov

 

ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ ‘ตลาดรถยนต์เวียดนาม’ โตต่อเนื่อง

ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศจะขยายตัวต่อไปจนถึงเดือนสุดท้ายของปีนี้ หลังจากขยายตัวสูงถึง 120% ในเดือน ต.ค. สมาคมผู้ผลิตรถยนต์เวียดนาม (VAMA) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 16 พ.ย. ยอดขายรถยนต์ของสมาชิก อยู่ที่ 29,797 คัน โดยตลาดรถยนต์นั่ง มีปริมาณการขาย 19,865 คัน เพิ่มขึ้น 138% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 9,492 คัน เพิ่มขึ้น 94% รถยนต์แบบพิเศษ 404 คัน เพิ่มขึ้น 45% สืบเนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ยอดขายรถยนต์รวมทั้งสิ้นของสมาชิก VAMA ทุกเซ็กเมนต์ อยู่ที่ 218,734 คัน เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/auto-market-to-continue-growing-experts-905531.vov

‘เกษตรกรรมเวียดนาม’ เล็งปรับวิธีการให้เข้ากับการเกษตรยุคใหม่

นาย Le Minh Hoan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท เผยในการสัมมนาเมื่อวันที่ 16 พ.ย. ณ กรุงฮานอย ว่าเวียดนามควรยกระดับการเกษตรสีเขียวให้เหมาะสมกับบริบทใหม่ ในขณะเดียวกัน เวียดนามต้องปรับแนวคิดทางด้านการเกษตร โดยมุ่งเน้นไปที่ภาคเกษตรกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แทนที่การสร้างปริมาณผลผลิตสูง ดังนั้น รัฐมนตรีจึงเสนอให้มีการปรับการเกษตรด้วยดิจิทัลและพื้นที่ชนบท รวมถึงการจัดการผลิต เก็บเกี่ยว การกระจาย การฝึกอบรมบุคลากรและความเชื่อโยงในทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างทางการเกษตรจะทำได้โดยการเพิ่มศักยภาพและความได้เปรียบ ซึ่งมุ่งเน้นที่การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในประเทศและระหว่างประเทศ นับว่าเป็นการสร้างตำแหน่งใหม่ของภาคการเกษตรของเวียดนาม

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnamese-agriculture-seeks-ways-to-adapt-to-new-context-905542.vov

‘อโกด้า’ ชี้ชาวเวียดนามคาดการเดินทางทั่วโลกจะกลับมาอีกครั้งในอีก 6 เดือนข้างหน้า

อโกด้า (Agoda) ผู้ให้บริการดิจิทัลแพล็ตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว เปิดเผยผลสำรวจหัวข้อ “ต้อนรับการกลับมาเดินทางอีกครั้ง” พบว่าชาวเวียดนามส่วนใหญ่ 60% คาดว่าการเดินทางจะกลับมาดำเนินการอีกครั้งในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 45-54 ปี ส่วนใหญ่ 52% มองในแง่ดีต่อการปราศจากข้อจำกัดในการเดินทางในเอเชีย แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ เมื่อสอบถามถึงการเดินทางทั่วโลกโดยปราศจากข้อจำกัด พบว่ากลุ่มอายุ 55 ปีขึ้นไปมองในทิศทางที่ดีมากที่สุด (54%) รองลงมาคือกลุ่มอายุ 45-54 ปี (45%)

ทั้งนี้ แม้ว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 1 ใน 10 คาดหวังว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าเวียดนามได้ หลังจากผ่านไปเพียง 2 ปี รัฐบาลก็ได้ประกาศว่าจะเริ่มเปิดจุดหมายปลายทางบางแห่งสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน พ.ย. โดยเริ่มจากฟู้โกว๊ก (Phú Quốc) แต่มีเพียง 27% เท่านั้นที่เชื่อว่าการเปิดพรมแดนเต็มรูปแบบอีกครั้งน่าจะเป็นภายในสิ้นปีนี้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1080584/vietnamese-expect-global-travel-to-restart-in-next-6-months-agoda.html

‘IHS Markit’ ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัว

จากข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายปีนี้ของ IHS Markit แสดงให้เห็นถึงโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังคงเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ต่อวันกลับมาเพิ่มขึ้น รวมถึงการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ตาม ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ต่อวัน เริ่มลดลงในช่วงครึ่งหลังของเดือน ก.ย. และต้นเดือน ต.ค. การผ่อนตลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้โรงงานหลายแห่งกลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง ส่งผลให้ดัชนี PMI ภาคการผลิต พุ่งขึ้นแตะ 52.1 จุด ในเดือน ต.ค. นอกจากนี้ สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจอีก 5 ปีข้างหน้า มีปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามกลายมาเป็นหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชีย ได้แก่

(ประการแรก) เวียดนามยังคงได้รับประโยชน์จากต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่ำ,

(ประการที่สอง) เวียดนามมีกำลังแรงงานที่มีขนาดใหญ่และมีการศึกษาที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

(ประการที่สาม) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการใช้จ่ายทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน

(ประการที่สี่) เวียดนามได้รับประโยชย์ในฐานะตลาดที่มีศักยภาพ

(ประการที่ห้า) บริษัทต่างชาติกระจายห่วงโซ๋อุปทานการผลิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อลดความเสี่ยงการหยุดชะงักด้านอุปทานและปัญหาทางการเมือง

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/ihs-markit-optimistic-about-vietnams-economic-recovery-from-covid-19-wave-905282.vov

บริษัทค้าปลีกเสื้อผ้า-รองเท้าแบรนด์ดังกระทบหนัก หลัง “เวียดนาม” ปิดโรงงานล็อคดาวน์โควิดยาวนาน

โดย Money & Banking (การเงินการธนาคาร)

นักวิเคราะห์จาก BofA Securities เป็นธนาคารเพื่อการลงทุนข้ามชาติของอเมริกาภายใต้การดูแลของ Bank of America ระบุว่า ผลกระทบของการปิดโรงงานที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานในเวียดนาม มีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากกับผู้ค้าปลีดเสื้อผ้าและรองเท้าหลายรายที่วางแผนไว้สำหรับปี 2565

โดย BofA Securities มองถึงเหตุผลหลายประการสำหรับการคาดการณ์นี้ รวมข้อเท็จจริงที่ว่าการกลับมาของเศรษฐกิจในเวียดนามตอนใต้ ซึ่งมีผู้ผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าจำนวนมาก มีการเคลื่อนไหวช้ากว่าทางตอนเหนือมาก

เนื่องจากเวียดนามประสบกับจำนวนผู้ป่วยโควิดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรงในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ส่งผลให้มีการล็อคดาวน์ในพื้นที่อีกครั้ง การผลิตต้องหยุดชั่วคราวและส่งผลกระทบต่อบริษัทต่างๆ เช่น Adidas และ Nike ที่ต้องพึ่งพาภูมิภาคนี้เป็นอย่างมากในการผลิตรองเท้าผ้าใบและเสื้อผ้ากีฬา โดย BofA ตั้งข้อสังเกตว่าธุรกิจต่างๆ ได้เริ่มเปิดทำการอีกครั้งแล้ว แต่อัตราการฉีดวัคซีนยังคงต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

Mohamed Faiz Nagutha นักเศรษฐศาสตร์ของ BofA กล่าวว่า แม้ว่ากิจกรรมการผลิตจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปีที่แล้วหลังจากการหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโควิดในช่วงสั้นๆ พร้อมเสริมว่า แต่กฎการดำเนินงานโรงงานในปัจจุบันในเวียดนามยังคงเข้มงวดและซับซ้อนมาก ซึ่งอาจขัดขวางความสามารถของพนักงานในการกลับไปทำงานได้

“โดยรวมแล้ว เราคาดว่าการแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบต่อความคาดหวังในการกลับมาดำเนินกิจกรรมการผลิตใหม่อย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ยังคงมีอยู่ ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานในส่วนอื่นๆ ของเอเชีย

ด้าน Puma ได้เตือนแล้วว่าปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในเวียดนาม จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทขาดแคลนในปีหน้า ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Adidas ปรับลดแนวโน้มในปี 2564

ที่มา : https://www.moneyandbanking.co.th/article/news/vietnam-factory-effect-retail-market-161164

อ้างอิง : https://www.cnbc.com/2021/11/15/factory-shutdowns-in-vietnam-to-have-longer-impact-for-retailers-bofa.html

ยอดขนส่งสินค้า ‘รถไฟเวียดนาม-จีน’ พุ่ง

ตามข้อมูลทางสถิติของการรถไฟเวียดนาม (VRN) เปิดเผยว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ปริมาณการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างเวียดนาม-จีนผ่านช่องทางชายแดนด่านหล่าวกายและด่งดัง อยู่ที่ 838,000 ตัน เพิ่มขึ้น 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าไนไตรมาสที่ 3 การระบาดของโควิด-19 จะลุกลามไปยังหลายจังหวัด ส่งผลกระทบต่อปริมาณการขนส่งสินค้าในประเทศที่อยู่เส้นทางรถไฟสายเหนือ-ใต้ ทั้งนี้ Pham Duc Khai หัวหน้าสถานีรถไฟด่งดัง (Dong Dang) กล่าวว่าแม้จะเผชิญกับการระบาดของเชื้อโรค แต่ปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศผ่านสถานีดังกล่าว มากกว่า 400,000 ตัน ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/railway-goods-transport-between-vietnam-china-surges/215495.vnp