การลงทุนของเกาหลีใต้ในเมียนมาหยุดชะงักจากการระบาดของ COVID-19

ข้อมูลจากเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้กล่าวว่าการให้สินเชื่อและโครงการที่ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่างประเทศเกาหลีและแผนการลงทุนของบริษัทเกาหลีถูกระงับหรือเลื่อนออกไปจากวิกฤตทั่วโลก เศรษฐกิจเมียนมาอาจมีผลกระทบอย่างมากและต้องใช้เวลาอีกนานกว่าวิกฤติจะหยุดลง หากเป็นเช่นนั้นรัฐบาลเกาหลีจะทำการช่วยเหลือประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้แผนการลงทุนจะได้รับผลกระทบแต่การค้าทวิภาคีจะยังคงดำเนินต่อไป เกาหลีใต้เป็นหนึ่งใน 10 อันดับต้น ๆ ที่ลงทุนในเมียนมา และคิดเป็นตัวเลขการลงทุนสะสมจากประเทศเอเชียตะวันออกถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ เดือนมีนาคม 2563 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2562-2563 การค้าทวิภาคีมีมูลค่าสูงกว่า 337 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยมีมูลค่าการส่งออก 178 ล้านดอลลาร์และนำเข้า 158 ล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/south-korean-investments-myanmar-halted-pandemic.html

กัมพูชามีการลงทุนใหม่มูลค่ารวม 900 ล้านเหรียญสหรัฐ

กัมพูชารายงานโครงการลงทุนใหม่ 40 โครงการมูลค่ารวมกว่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ตามรายงานของสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ซึ่งโครงการที่ได้รับอนุมัติยกตัวอย่าง เช่น การผลิตเสื้อผ้า สินค้าการท่องเที่ยว เครื่องใช้ในครัวเรือน เฟอร์นิเจอร์ หลอดไฟและแบตเตอรี่ รวมไปถึงการก่อสร้างโรงแรมห้าดาวและตลาดซูเปอร์มาร์เก็ต โดยโครงการ 40 โครงการเป็นของบริษัทหลายบริษัทที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองหลวงของกรุงพนมเปญและในจังหวัด ตาแกว, กันดาล, กัมปงสปือ, กำปงจาม, ตบุงคมุม, พระสีหนุ, เสียมเรียบ, และสวายเรียง ซึ่งโครงการลงทุนจะสร้างงานใหม่ให้กับคนในท้องถิ่นกว่า 30,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเมืองหลวงของกัมพูชา

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50706552/cambodia-new-investments-totaling-900-million-spread-over-nine-provinces/

ฝรั่งเศสมีแผนเพิ่มการลงทุนในเมียนมา

จากรายงานของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของเมียนมา (UMFCCI) ภายหลังจากหยุดการลงทุนไปแปดปี ฝรั่งเศสเตรียมขยายการลงทุนที่มีอยู่และกำลังเริ่มลงทุนในเมียนมาด้านต่าง ๆ เช่น พลังงาน ทางรถไฟ ท่าเรือและอื่น ๆ ทั้งนี้กำลังพูดคุยเกี่ยวกับการจับคู่ธุรกิจฝรั่งเศส – เมียนมา นำโดยสภาธุรกิจฝรั่งเศส – เมียนมา ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ซึ่งจัดขึ้นโดย UMFCCI ธุรกิจของฝรั่งเศสมีความกระตือรือร้นที่จะหาพันธมิตรเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศ แม้เมียนมากำลังเผชิญปัญหาภายในแต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ ยังคงต้องพัฒนาต่อไป โดยนักธุรกิจฝรั่งเศสมีความสนใจลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษติวาล่า จากข้อมูลของคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) ฝรั่งเศสเป็นคู่ค้าอันดับที่เก้าจากคู่ค้า 50 อันดับแรกของเมียนมาและในปีที่แล้วมีปริมาณการค้าระหว่างประเทศ 551 ล้านเหรียญสหรัฐ ตั้งแต่ปี 1988 ถึง 2011 ฝรั่งเศสลงทุนในเมียนมาไปแล้ว 469 ล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/france-keen-invest-more-myanmar-says-official.html

เวียดนามลงทุนต่างประเทศในเดือนม.ค. ทะลุ 3.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลของสำนักงานการลงทุนต่างประเทศ (FIA) เปิดเผยว่าจำนวนเงินลงทุนของเวียดนามไปยังต่างประเทศ 3.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนม.ค. นับว่าเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ประกอบไปด้วย 7 โครงการใหม่ด้วยเงินทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 3.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีกหนึ่งโครงการที่ปรับเพิ่มเงินทุนประมาณ 140,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยประเภทของกิจการส่วนใหญ่ที่เวียดนามลงทุนไปยังต่างประเทศ คือ ภาคการค้าปลีกและค้าส่ง (71.8% ของเงินลงทุนจดทะเบียนทั้งหมด) รองลงมาภาคก่อสร้าง ภาคการผลิตและแปรรูป และโทรคมนาคม ทั้งนี้ในเดือนม.ค. ธุรกิจเวียดนามลงทุนไปยังสหรัฐอเมริกามากที่สุด คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาญี่ปุ่น กัมพูชาและเกาหลีใต้ ตามลำดับ สำหรับประเภทธุรกิจอื่นๆที่น่าสนใจอีก ได้แก่ ธุรกิจประเภทเกษตรกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ในปี 2562 ยอดเงินทุนที่เวียดนามลงทุนไปยังต่างประเทศทั่วโลก มีมูลค่ามากกว่า 508 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลงทุนไปยัง 164 โครงการใหม่ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 403 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีก 29 โครงการที่ปรับเพิ่มเงินทุนรวมอยู่ที่ราว 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnam-invests-397-million-usd-abroad-in-january-409501.vov

กลุ่มธุรกิจสวิสมองเห็นโอกาสการลงทุนในภาคส่วนต่างๆของกัมพูชา

คณะผู้แทนจากหอการค้าของสวิตเซอร์แลนด์แสดงถึงความสนใจที่จะลงทุนในภาคต่างๆของกัมพูชา โดยได้ขอความร่วมมือในการขอทราบข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนในประเทศกัมพูชา ซึ่งสมาชิกกล่าวว่าพวกเขาสนใจเนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของกัมพูชาและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการทำการค้าและการลงทุน โดยเมื่อเห็นศักยภาพของเศรษฐกิจของกัมพูชาแล้วคณะผู้แทนหอการค้าสวิสซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯต้องการสำรวจและหาข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติม ในการประกอบการตัดสินใจทำธุรกิจในกัมพูชา ซึ่งในขณะเดียวกันรัฐบาลได้กำหนดชุดของการปฏิรูปที่มุ่งปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุน ความหลากหลายทางเศรษฐกิจและการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันกัมพูชามีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับประเทศอื่นๆ เช่นเดียวกับ AmCham และ EuroCham โดยเป็นกลุ่มสมาชิกที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการค้าการลงทุนในกัมพูชา เพื่อการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50685292/swiss-businesses-see-opportunities-for-investments-in-various-sectors

ไตรมาสแรกของปีงบฯ 62-63 FDI เมียนมาพุ่ง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

เมียนมาสามารถดึงดูดเงินลงทุนกว่า 1.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากต่างประเทศ ของปีงบประมาณ 62-63 ซึ่งเริ่มในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 62 ถึง 24 มกราคมของปีงบประมาณนี้ เดือนที่แล้วมี บริษัท ต่างประเทศ 23 แห่งที่มีเงินลงทุนมากกว่า 433.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการลงทุนพม่า (MIC) เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น 11,951 ตำแหน่ง การลงทุนแบ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ ปศุสัตว์และการประมง และภาคการผลิตตามลำดับ ในขณะเดียวกัน MIC ไฟเขียวแก่ผู้ประกอบการชาวเมียนมา 39 ราย ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 647.6 พันล้านจั๊ต (431.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ย่างกุ้งดึงดูดการลงทุน 60% ทั้งในประเทศและต่างประเทศตามด้วยมัณฑะเลย์ 30% และที่เหลือไหลไปสู่ภูมิภาคและรัฐอื่น ๆ สิงคโปร์ จีน และไทยเป็นนักลงทุนหลัก กฎหมายบริษัทใหม่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 ให้การยกเว้นภาษีแก่นักลงทุนโดยขึ้นอยู่กับการพัฒนาของภูมิภาคและรัฐ

ที่มา : http://www.xinhuanet.com/english/2020-01/28/c_138739270.htm

โรงถลุงเหล็กในเมียนมากำลังรอการลงทุน

กระทรวงแผนงาน การเงิน และอุตสาหกรรม กำลังมองหาการการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ที่สนใจลงทุนโรงงานเหล็กของมยินจาน เมืองมยินจานในเขตมัณฑะเลย์ ซึ่งมีกำลังการผลิต 1.8 ล้านตันต่อปี ตอนนี้นิติบุคคลของรัฐที่ดำเนินงานในมยินจาน คือ Heavy Industrial Enterprise กำลังมองหานักลงทุนเข้าร่วมลงทุน คาดว่าจะต้องใช้เงินประมาณ 225 พันล้านจัตในการดำเนินการรวมทั้งนักลงทุนกำลังหาทางช่วยโรงงานให้เสร็จและดำเนินการ ปัจจุบันมีการนำเข้าเหล็กถึง 90% ของประเทศและอีก 10% มาจากการผลิตเองในท้องถิ่น สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณการว่าความต้องการใช้เหล็กของเมียนมาจะยังคงขยายตัวในอัตรา 8% ต่อปีโดยความต้องการใช้เหล็กในประเทศอาจเกิน 3 ล้านตันในปี 2563 และสูงถึง 5 ล้านตันในปี 2568

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/state-owned-steel-mill-seeks-investors.html

นักลงทุนชาวจีนกระตือรือร้นที่จะหาโอกาสการลงทุนในสปป.ลาว

นักธุรกิจจีนมีความสนใจในการลงทุนในด้านต่าง ๆ ในสปป.ลาว โดยเมื่อวันที่ 6 มกราคมมีการประชุมของผู้ประกอบการสปป.ลาวและจีนโดยมีการหารือในรายละเอียดการส่งเสริมผู้ประกอบและการส้รางบรรยากาศที่ดีในการลงทุน ซึ่งเป้าหมายที่นักธุรกิจจีนสนใจจะลงทุนครอบคลุมตั้งแต่ภาคอุตสหกรรมในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ พลังงาน การผลิตกระดาษ ไปจนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางพิเศษ โรงพยาบาล และท่าเรือรวมถึงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกด้วย นอกจากนี้การประชุมดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้สร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจและเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการสปป.ลาวและจีนมีโอกาสในการร่วมทุนในอนาคต ผลของการจัดประชุมครั้งนี้จะทำให้มีนักธุรกิจจีนเข้ามาลงทุนในสปป.ลาวมากขึ้นนอกเหนือจาก เศรษฐกิจที่จะขยายตัวจะรวมถึงการได้เรียนรู้และพัฒนาจากเทคโนโลยีของต่างชาติที่เข้ามาอีกด้วย

ที่มา : http://annx.asianews.network/content/chinese-investors-keen-find-investment-opportunities-laos-111891

เวียดนามจัดงานแสดงสินค้าในเมียนมา

งานแสดงส่งเสริมสินค้านานาขาติเวียดนามประจำปี 2562 “Vietnam Expo 2019” จัดขึ้นในกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ระหว่างวันที่ 19-22 ธันวาคม มีคณะธุรกิจเวียดนามกว่า 80 รายและซุ้มแสดงส่งเสริมสินค้า 120 บูธ โดยมีการแสดงสินค้าที่หลากหลาย ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องจักร สินค้าอุปโภคบริโภค และการให้บริการของธนาคาร เป็นต้น สำหรับวัตถุประสงค์ภายในกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อผลักดันความร่วมมือทางด้านธุรกิจและส่งเสริมแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก รวมไปถึงขยายระบบการกระจายสินค้าและเรียนรู้เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ การลงทุนในประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ เวียดนามเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในเมียนมา อยู่ในอันดับที่ 7 และมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศราว 860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2561 ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 1.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2562

ที่มา : https://en.nhandan.com.vn/business/item/8246402-vietnamese-products-promoted-in-myanmar.html

เวียดนามยังคงเป็นจุดมุ่งหมายในการลงทุนข้ามพรมแดน

จากการสำรวจของบริษัท PwC เปิดเผยถึงผลสำรวจนักธุรกิจชั้นนำกว่า 1,000 คน ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจการประกอบธุรกิจข้ามพรมแดนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ปี 2562-2563 (Doing business across borders in Asia Pacific 2019-2020) โดยผลของการสำรวจในครั้งนี้ พบว่าบริษัทเวียดนามมีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และกลุ่มธุรกิจมีแนวโน้มทิศทางเป็นบวกมากกว่าธุรกิจในภูมิภาคความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34 ของธุรกิจที่อื่นๆทำรายได้ในระดับสูงได้ โดย 4 ใน 5 ของนักธุรกิจชั้นนำของเวียดนาม ระบุว่าได้วางแผนในการเพิ่มเงินทุนด้านระบบควบคุมอัตโนมัติและทักษะแรงงาน ขณะที่ ผู้ประกอบการร้อยละ 80 มองว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี คือกุญแจสำคัญที่จะประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ นักธุรกิจเวียดนามส่วนใหญ่คาดว่าจะเพิ่มเงินลงทุนในประเทศในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะสูงกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เป็นต้น

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnam-remains-a-top-destination-for-crossborder-investment-407715.vov