เอกชนเชียร์บิ๊กตู่ล็อกดาวน์แค่พื้นที่เสี่ยง

เอกชนเชียร์บิ๊กตู่ล็อกแค่พื้นที่เสี่ยง หวั่นล็อกทั้งประเทศ ศก.เจ็บหนักแน่ จี้รัฐเพิ่มสิทธิคนละครึ่งอีก 20-30 ล้านราย หวังหล่อเลี้ยงร้านค้า–ลดภาระประชาชน  พับเราเที่ยวด้วยกันไปก่อน นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับมาตรการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ประกาศไม่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ หรือประกาศเคอร์ฟิว โดยใช้วิธีแก้ปัญหาเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงไป เนื่องจากหากประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศ จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างรุนแรงแน่นอน  เพราะตอนนี้ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะเสี่ยงสูงทั้งหมด พื้นที่ไหนมีปัญหา ก็เลือกแก้เฉพาะจุด มีความเหมาะสมมากกว่า พื้นที่ไหนพอไปได้ ความเสี่ยงน้อย ก็ให้เฝ้าระวัง และป้องกันอย่างเข้มข้นต่อไป เพื่อให้เศรษฐกิจยังพอขับเคลื่อนได้  นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เบื้องต้นได้ประเมินความเสียทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การระบาดรอบ 2 เสียหายประมาณวันละ 3,000 – 5,000 ล้านบาท หรือประมาณเดือนละ 1–1.5 แสนล้านบาท เป็นผลจากประชาชนชะลอการใช้จ่าย เทียบจากการประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศครั้งแรกช่วงเดือน มี.ค.–เม.ย. 63 มีมูลค่าความเสียหายวันละ 10,000 ล้านบาท แม้การระบาดรอบ 2 จะยังไม่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ แต่มีมูลค่าความเสียหายสูง เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้กึ่งๆ ล็อกดาวน์ทั้งประเทศแล้ว และจังหวัดที่ล็อกดาวน์ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ และเมืองท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ทั้งนี้ภาครัฐ ควรกระตุ้นมาตรการทางเศรษฐกิจลงมาเพิ่มเติมในไตรมาสแรก เพื่อชดเชยมูลค่าเศรษฐกิจหายไปเป็นแสนล้านบาท โดยพาะมาตรการคนละครึ่ง ที่เห็นผลอย่างชัดเจนในการช่วยกระจายรายได้อย่างทั่วถึง และช่วยลดภาระค่าครองชีพ ควรเปิดกว้างเพิ่มเติมอีก 20 -30 ล้านราย เพื่อกระจายอย่างทั่วถึง ซึ่งไม่รวมกับผู้ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปแล้ว ขณะที่โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ควรชะลอไปก่อน รอให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้วกลับมาให้คนเดินทางท่องเที่ยวใหม่ เชื่อว่า หากเติมเงินกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทั้งปี 64 ขยายตัวได้บวก 2-3% แต่ถ้าไม่มีมาตรการกระตุ้นออกมา จีดีพีจะขยายตัวในกรอบ 0-2% เท่านั้น      

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/816820

เมียนมาเตรียมจัดตั้ง MSME เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ

นาย U Zaw Min Win ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสหภาพเมียนมา (UMFCCI) กล่าวว่าเมียนมาเตรียมจัดตั้งสมาคม MSME เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม (MSME) และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เขียนกฎระเบียบขององค์กรแล้วและจะส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท (DICA) MSME มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและมีส่วนช่วยในการสร้างโอกาสในการทำงานมากขึ้น จนถึงขณะนี้มีธุรกิจทั้งหมด 70,866 แห่งที่จดทะเบียนในหน่วยงานพัฒนาของ MSME โดยมีอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่ลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันในเมียนมาธุรกิจ MSME มีถึงร้อยละ 90

ที่มา: https://www.mmtimes.com/news/myanmar-establish-msme-association-support-economy.html

ก.พาณิชย์สำรวจคนแห่ซื้อออนไลน์ เงินสะพัด5หมื่นล้าน

กระทรวงพาณิชย์ สำรวจแห่ซื้อออนไลน์ เงินสะพัด 5 หมื่นล้าน ขรก. นักศึกษาช้อปเยอะขึ้น ส่วนใหญ่ เสื้อผ้า รองลงมาอาหาร ส่วนมาตรการรัฐ คนติดใจ คนละครึ่งมากสุด รองลงมาเป็นชิมช้อปใช้ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่า  สนค. ได้ประมาณการยอดการใช้จ่ายออนไลน์รายเดือนตามข้อมูลที่มีการสำรวจพบว่า มีมูลค่าถึง 52,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 7.80% ของยอดการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมของประเทศ โดยส่วนใหญ่ซื้อเท่าเดิม 46.14% ซื้อลดลง  35.83% และซื้อเพิ่มขึ้น 18.03% ทั้งนี้ ผู้ที่ซื้อเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พนักงานรัฐ และกลุ่มนักศึกษา โดยผู้ที่มีรายได้สูง จะมีแนวโน้มซื้อสินค้าออนไลน์เฉลี่ยต่อเดือนสูงมากกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า ซึ่งส่วนใหญ่นิยมซื้อสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มสมัยใหม่ อาทิ ลาซาด้า ช้อปปี้ มากที่สุด คิดเป็น 46.45% รองลงมาคือ ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ โลตัส บิ๊กซี วัตสัน โรบินสัน 25.32% และผ่านเฟซบุ๊ก 16.44% สำหรับค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการ ส่วนใหญ่มียอดซื้อต่ำกว่า 1,000 บาทต่อเดือน คิดเป็น 49.23% รองลงมา 1,001–3,000 บาท  37.57% และมากกว่า 3,000 บาท 13.20% โดยสินค้าและบริการที่นิยมซื้อผ่านออนไลน์มากที่สุดยังคงเดิม ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า 27.46% อาหารและเครื่องดื่ม 21.13% ผลิตภัณฑ์และของใช้ภายในบ้าน 18.69%  และสุขภาพและความงาม ของใช้ส่วนบุคคล  17.71% สนค.ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่า โครงการคนละครึ่งได้รับความนิยมเข้าร่วมมากที่สุด คิดเป็น 50.18% ตามด้วย ชิม ช้อป ใช้ 45.30% เราเที่ยวด้วยกัน 21.06% และช้อปดีมีคืน  7.70% โดยประชาชนที่เข้าร่วมกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เห็นว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศได้จริง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐดังกล่าว จะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังการซื้อ ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีรายได้ รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการและประชาชนให้สามารถเข้าถึงและใช้ระบบดิจิทัลในการซื้อขายสินค้าได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายเล็กเข้าในระบบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงผู้ค้าและผู้บริโภคเพื่อรับทราบความต้องการและเสนอมาตรการให้ตรงเป้าและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/811499

Xaignavong Group Sole Company Limited ตั้งเป้าขยายอุตสาหกรรมท่อเฟส 2

15 ปีที่ผ่านมาของการนำเข้าอุปกรณ์เกี่ยวกับท่อไปยังสปป.ลาวมีมูลค่ามหาศาล นาย Langkone ประธานและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Xaignavong สังเกตเห็นว่ามีเงินตราต่างประเทศจำนวนมากไหลออกจากประเทศในขณะเดียวกันความต้องการสินค้าเหล่านี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเจตนารมณ์ในการลดการไหลออกของเงินตราต่างประเทศและช่วยสนับสนุนการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการปรับปรุงอุตสาหกรรมให้ทันสมัยจึงเกิดการก่อตั้ง Toyo Industry Lao Factory Company Limited หรือ Toyo Pipe Factory ในปี 2559 ภายใต้บริษัทแม่อย่าง Xaignavong Group Sole Company Limited ปัจจุบัน Xaignavong Group กำลังจะมีการลงทุน 20 พันล้านกีบในเฟสที่สองของการก่อสร้างโรงงานท่อ นาย Langkone ประธานและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Xaignavong กล่าวกับเวียงจันทน์ไทม์สเมื่อวานนี้ว่าการก่อสร้างคาดว่าอุตสาหกรรม Toyo ใหม่จะแล้วเสร็จภายในแปดเดือนการผลิตทุกขั้นตอนจะทันสมัยเทียบเท่ามาตรฐานกอุตสาหกรรมท่อในภูมิภาคอาเซียนซึ่งในระยะสองจะมีการขยายพื้นที่ของโรงงานจาก 2 เฮกตาร์เป็น 3 เฮกตาร์ การลงทุนครั้งใหม่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในเวียงจันทน์และในประเทศอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการสร้างโรงงานใหม่ในระยะที่สองจะสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นทำให้ บริษัทต้องกำชับการดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้และปฏิบัติตามนโยบายการพัฒนาสีเขียว

ที่มา : http://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Xaignavong_224.php

ธปท.คุยเศรษฐกิจไทยดี เปิดเมือง-มีวันหยุดยาว-รัฐกระตุ้นใช้จ่าย

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย. ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเกือบปกติในหลายภาคส่วน และจากปัจจัยชั่วคราวคือวันหยุดยาวพิเศษประกอบกับการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่ไตรมาส 3/63 เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากหดตัวสูงในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งจากการประกาศวันหยุดยาวพิเศษเพื่อชดเชยช่วงสงกรานต์ที่เลื่อนมา ด้านปัจจัยด้านรายได้และความเชื่อมั่นผู้บริโภคทยอยปรับดีขึ้น สำหรับปัจจัยที่ยังต้องติดตามในระยะต่อไป คือ การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในต่างประเทศ การฟื้นตัวของตลาดแรงงาน แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงมีความเปราะบาง ความยั่งยืนของการฟื้นตัวภาคยานยนต์ โดยมองว่า การฟื้นตัวอย่างช้าๆของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า จะเป็นปัจจัยกดดันภาคยานยนต์ในระยะต่อไป และความไม่แน่นอนทางการเมือง อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นภาคเอกชนและอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า “แนวโน้มในไตรมาส 3 มองว่าจะปรับดีขึ้นและติดลบน้อยลงกว่าไตรมาส 2 อย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้จะต้องรอติดตามในรายละเอียดอีกครั้ง และในไตรมาส 4 มองว่าจะทยอยฟื้นตัวได้” นางสาวชญาวดีกล่าว.

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/1965659