สอดส่ายหาโอกาสธุรกิจขนมขบเคี้ยวในเวียดนาม

โดย SME Go Inter

จากการสำรวจของบริษัท The Harris Poll and Mondelez International เผยว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในเวียดนาม ขนมขบเคี้ยวกำลังเข้ามาแทนที่มื้ออาหารดั้งเดิม เนื่องจากวิถีการดำเนินชีวิตสมัยใหม่ที่เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ขนมขบเคี้ยวสามารถสร้างกำไรทั่วโลกรวมทั้งในเวียดนาม

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครโฮจิมินห์ ระบุว่าขนมขบเคี้ยวมียอดขายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากนักเรียนและพนักงานออฟฟิสนิยมซื้อในช่วงพักและตลาดกำลังมีความหลากหลายมากขึ้น เพราะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศ

ด้านผลกระทบและโอกาสของผู้ประกอบการไทย ปัจจุบันตลาดของขนมขบเคี้ยวของเวียดนามมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็ว เป็นโอกาสของสินค้าและบริการจากไทยในการขยายตลาดเข้าสู่เวียดนาม ขณะเดียวกันเวียดนามมีผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวจากต่างชาติ เช่น Nestle หรือ Lay’s เป็นต้น สำหรับขนมขบเคี้ยวแบรนด์ไทยที่มีวางจำหน่าย เช่น สาหร่ายเถ้าแก่น้อย ขาไก่โลตัส เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสสำหรับขนมขบเคี้ยวแบรนด์ไทยอื่นๆ ที่จะเข้าสู่ตลาด ดังนี้

  1. แนวโน้มประชากรเวียดนามวัยรุ่นถึงวัยทำงานจำนวนมาก ด้วยกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้น
  2. พฤติกรรมบริโภคที่เปลี่ยนไป (ขนมขบเคี้ยวเปลี่ยนไปเป็นการบริโภคทดแทนมื้ออาหาร)
  3. ตลาดเวียดนามมีความหลากหลายมากขึ้น
  4. คนเวียดนามเปิดกว้างต่อสินค้าใหม่ๆ

ที่มา : https://www.bangkokbanksme.com/en/vietnam-snacks

อุตสาหกรรมรถยนต์เวียดนามยังคงเติบโต … แม้การนำเข้าจากไทยจะเพิ่มกว่าร้อยละ 46

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เวียดนามเป็นประเทศที่ตลาดรถยนต์มีโอกาสเพิ่มปริมาณขึ้นอีกมากในระยะอีก 5 ถึง 7 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจก่อให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศเพิ่มได้ แม้ปัจจุบันเวียดนามจะยังตามหลังประเทศอื่นๆในอาเซียนอยู่หลายด้าน อย่างไรก็ตาม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากเวียดนามมีการพัฒนาต่อเนื่องในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับสูงเช่นปัจจุบัน ภาครัฐมีการออกแบบนโยบายที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนได้อย่างเหมาะสม การสร้างระบบสินเชื่อของสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งและเข้าถึงลูกค้าได้หลายระดับ รวมถึงการพัฒนาความน่าเชื่อถือของรถยนต์สัญชาติเวียดนามเอง ก็อาจทำให้ภาพของอุตสาหกรรมรถยนต์เวียดนามเปลี่ยนแปลงไปได้ โดยเฉพาะในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้านี้

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมรถยนต์ในเวียดนามที่ยังไม่เข้มแข็งนัก ทำให้ต้องพึ่งพิงรถยนต์นำเข้าในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะทำให้ไทยยังมีโอกาสที่จะส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังตลาดเวียดนามได้อย่างต่อเนื่อง แม้ในระยะยาวอาจจะมีโอกาสที่การส่งออกไม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงดังเช่น ณ ขณะปัจจุบัน เนื่องจากคาดว่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นในเวียดนามดังกล่าวข้างต้น

สำหรับในปี 2562 นี้ ไทยยังคงมีโอกาสส่งออกรถยนต์ไปยังเวียดนามได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ไทยมีโอกาสส่งออกรถยนต์ไปตลาดเวียดนามได้เพิ่มขึ้นเป็น 83,000 คัน หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 46 จากที่ปี 2561 สามารถส่งออกไปได้ประมาณ 57,000 คัน ส่วนในปี 2563 ที่จะถึงนี้ก็คาดว่าการส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 100,000 ถึง 103,000 คัน โดยประเภทรถที่จะเติบโตได้ดี คือ รถยนต์นั่ง ที่ตลาดให้ความนิยมค่อนข้างมาก

โดยสรุป แม้ว่าพื้นฐานต่างๆของเวียดนามปัจจุบันจะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนให้แข็งแกร่งขึ้นมายังเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่มาก แต่ด้วยโอกาสที่ตลาดรถยนต์ในประเทศจะมีแนวโน้มขยายตัวสูงในอนาคต และการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ในระยะต่อไปที่มุ่งไปสู่รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ก็อาจจะเป็นโอกาสให้ค่ายรถสัญชาติเวียดนามพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของตนเองขึ้นในประเทศได้ในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลทำให้การส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามเติบโตได้ในระดับที่จำกัดในระยะข้างหน้า แต่เวียดนามเองก็ยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญอีกมากเพื่อให้พัฒนาขึ้นไปได้ถึงจุดนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคที่จะรองรับต่อความต้องการของตลาด รวมถึงอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาดที่สูงมาก เมื่อค่ายรถสัญชาติญี่ปุ่น เกาหลี และตะวันตก มีแนวโน้มจะตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่างๆในฐานการผลิตอื่นในภูมิภาคอาเซียน และมีโอกาสที่จะส่งออกมายังเวียดนามได้เช่นเดียวกัน

ที่มา : https://kasikornresearch.com/th/analysis/k-econ/economy/Pages/z3038.aspx

จัดทัพลงทุนธุรกิจสปาใน CLMV

โดย ปุลวัชร ปิติไกรศร

ธุรกิจสปาเป็นหนุ่งในธุรกิจดาวรุ่งของไทยที่ขยายตัวควบคู่กับการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวเอเชียที่นิยมใช้บริการสปาของไทย ทั้งนี้ Global Wellness Institute ประเมินว่าตลาดสปาของไทยมีมูลค่าราว 4.3 หมื่นล้านบาทในปี 2017 และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากการขยายตัวด้านรายได้และจำนวนชนชั้นกลางในจีน รวมถึงยังคว้าโอกาสจากจุดแข็งด้านคุณภาพการบริการ รูปแบบการทำสปาที่มีเอกลักษณ์ และองค์ความรู้ด้านสมุนไพร

อีไอซี (EIC) มองว่ากัมพูชาและเวียดนามเหมาะกับการเข้าไปลงทุนธุรกิจสปา โดย IMF คาดว่ารายได้ต่อหัวของประชากรกัมพูชาจะขยายตัวเฉลี่ย 7.5% ต่อปีในช่วง 5 ปีข้างหน้า ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวเฉลี่ย 29% ต่อปีในช่วงปี 2013-2017 ทั้งนี้ เมืองที่น่าลงทุน คือ ‘พนมเปญและเสียมฐาน’ ซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของกัมพูชา

นอกจากนี้ ปัจจุบัน ธุรกิจสปาของกัมพูชาส่วนใหญ่เป็น hotel spa ที่บริหารโดยโรงแรมระดับสากล เช่น Le Méridien Spa หรือ So SPA by Sofitel แต่ยังไม่มี day spa ที่มีมาตรฐานสากลเปิดให้บริการมากนัก

ในขณะที่เวียดนามมีจุดที่น่าสนใจ คือ ภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตรุดหน้ากว่าประเทศอื่นในกลุ่ม CLMV จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวเฉลี่ย 23% ต่อปีระหว่างปี 2013-2017 จนแตะระดับ 4 ล้านคน ขณะที่ จำนวนชนชั้นกลางก็คาดว่าจะขยายตัวจนมีจำนวน 33 ล้านคนในปี 2020 ส่งผลให้เวียดนามมีฐานลูกค้าคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวจีนที่ใหญ่กว่าประเทศอื่น การลงทุนในเมืองใหญ่อย่างดานัง ฮานอยและโฮจิมินห์จึงมีความน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม เวียดนามมีรูปแบบการทำสปาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งอาจส่งผลให้รูปแบบการทำสปาจากต่างประเทศไม่ได้รับความนิยมมากนักจากคนท้องถิ่น ผู้ประกอบการอาจต้องปรับรูปแบบการทำสปาแบบสากลให้เหมาะสมกับคนท้องถิ่นเพื่อให้ตัดสินใจใช้บริการได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน เวียดนามพบว่ามีการลงทุนจากกลุ่มธุรกิจสปาขนาดใหญ่อย่าง Six Senses รวมถึง Le SPA ที่บริหารโดย AccorHotels ก็เริ่มเปิดให้บริการในโรงแรมหลายแห่ง

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในความเสี่ยงที่สำคัญของการขยายธุรกิจสปาในกัมพูชาและเวียดนามคือการเปลี่ยนงานของแรงงานท้องถิ่นในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลาง ซึ่งมักจะเปลี่ยนงานบ่อยครั้งเมื่อมีโอกาสได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น เนื่องจากกฎหมายของทั้งสองประเทศกำหนดสัดส่วนการจ้างงานแรงงานท้องถิ่นของบริษัทต่างชาติ ซึ่งเป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจสปาที่เติบโตโดยการขยายสาขา ผู้ประกอบการจึงควรหาวิธีแก้ไขปัญหานี้หากต้องการรุกตลาดในทั้งสองประเทศ

ที่มา : https://www.scbeic.com/th/detail/product/5048