กระทรวงการคลัง สปป.ลาว ออกกฎระเบียบภาษีใหม่สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

กระทรวงการคลัง สปป.ลาว ได้ประกาศกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการชำระภาษีภาคบังคับสำหรับแพลตฟอร์มช้อปปิ้งดิจิทัลทั้งหมด กฎระเบียบดังกล่าวแบ่งประเภทเว็บไซต์ช้อปปิ้งแพลตฟอร์มดิจิทัลออกเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ องค์กรที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) องค์กรขนาดเล็กและบุคคลธรรมดา นิติบุคคลและองค์กรขนาดใหญ่ โดยองค์กรที่จดทะเบียนกับระบบภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องระบุหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและใบรับรองภาษีมูลค่าเพิ่มในโฆษณาสำหรับการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ พวกเขายังต้องแจ้งให้ผู้ใช้ทราบทุกครั้งที่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจขนาดย่อมไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ใช้ทราบเมื่อเก็บภาษี แต่ต้องแสดงหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีในการโฆษณา ทั้งนี้ เฉพาะองค์กรที่จดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เท่านั้น ที่ต้องเชื่อมต่อข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์กับระบบการจัดการข้อมูลรายได้ภาษี (TaxRIS)

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/02/20/lao-government-rolls-out-new-tax-regulations-on-e-commerce/

GDT รายงานการจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาแตะ 75 ล้านดอลลาร์ ในปี 2023

กรมสรรพากร (GDT) รายงานการจัดเก็บภาษ๊มูลค่าเพิ่ม (VAT) มูลค่ารวมกว่า 75.5 ล้านดอลลาร์ จากภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปี 2023 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มูลค่า 44 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในการจัดเก็บภาษีอันเกิดจากระบบการจัดเก็บภาษีใหม่ของ GDT ร่วมกับการตระหนักรู้ในการชำระภาษี และการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่าง Google, Facebook, YouTube, Alibaba, Microsoft และ TikTok ซึ่งเริ่มจัดเก็บตั้งแต่เดือนเมษายน 2022 สำหรับการจัดเก็บภาษีโดยภาพรวม GDT รายงานการจัดเก็บภาษีไว้ที่ 3.61 พันล้านดอลลาร์ ในปีดังกล่าว ซึ่งเท่ากับร้อยละ 101 ของเป้าหมายการจัดเก็บภาษี

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501429247/gdt-nets-75-million-from-e-commerce/

‘ผลสำรวจ’ ชี้คนเวียดนาม Gen Z นิยมซื้อของออนไลน์ เหตุสะดวก รวดเร็ว ได้ดีลพิเศษ

จากการสำรวจของ ‘Lazada’ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ เปิดเผยว่าชาวเวียดนามส่วนใหญ่ 58% นิยมซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว ง่ายในการซื้อสินค้า รวมถึงสามารถส่งสินค้าไปถึงบ้านได้โดยไม่ต้องเสียเวลาและกำลังในการเลือกซื้อ ทั้งนี้ การเติบโตของโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้แก่ Facebook, TikTok, Instagram และ YouTube ส่งผลให้ธุรกิจหันมาใช้โฆษณาออนไลน์บนแพลตฟอร์มโซเชียลอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มคน ‘Gen Z’ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของนักช้อปทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอโปรโมชั่นต่างๆ ทั้งการให้ส่วนลดสูงสุด 50% หรือการให้บัตรกำนัลมูลค่า 50,000 ดอง (2 ดอลลาร์สหรัฐ) หากซื้อสินค้าออนไลน์รวมกันมูลค่าเกินกว่า 5 แสนดอง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/gen-z-leads-online-shopping-for-convenience-good-deals/276213.vnp

‘กระแสอีคอมเมิร์ซ’ ดันยอดนักช้อปออนไลน์เวียดนาม

สำนักข่าววีเอ็นเอ็กซ์เพรส (VnExpress) ได้อ้างคำกล่าวของคุณ Tran Van Trong เลขาธิการของสมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนาม ว่าจากตัวเลขการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาดอีคอมเมิร์ซที่เป็นผลมาจากจำนวนนักช้อปออนไลน์เพิ่มมากชึ้น ทั้งในแง่การพัฒนาทักษะการซื้อของออนไลน์และมูลค่าการซื้อ ในขณะที่นาย Dang Anh Dung รองประธานเจ้าหน้าที่บริการของลาซาด้า เวียดนาม กล่าวว่าประชากรเวียดนามที่ซื้อสินค้าออนไลน์ มีจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 57 ล้านคนในปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหลวง ได้แก่ ฮานอย โฮจิมินห์และดานัง เป็นต้น

นอกจากนี้ ‘อีคอมเมิร์ซ’ ถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลเวียดนาม และคาดว่าจะเติบโตสูงถึง 22% มูลค่า 24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568

ที่มา : https://english.news.cn/20231123/3426c6078e824b6ea290936c3007e8c7/c.html

‘เศรษฐกิจดิจิทัลเวียดนาม’ พุ่ง 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2568

คุณ Nguyễn Sinh Nhết Tân รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม กล่าวในที่การประชุมสุดยอดอุตสาหกรรมและการค้าดิจิทัลเวียดนาม ปี 2566 ที่กรุงฮานอย ว่าอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม โดยรัฐมนตรีช่วยฯ ได้อ้างถึงรายงานของ Google, Temasek และ Bain & Company ที่แสดงให้เห็นว่าเวียดนามเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเวลา 2 ปี ติดต่อกัน (2565-2566) และคาดว่าจะเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ มูลค่าสินค้ารวม (GMV) ของการซื้อขายผ่านดิจิทัล คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 20% มูลค่า 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ และพุ่งสูงขึ้นอยู่ที่ราว 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-digital-economy-to-reach-45-billion-by-2025-2217609.html

GDT จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาเกือบ 63 ล้านดอลลาร์

กรมสรรพากร (GDT) รายงานการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มูลค่ารวมกว่า 62.8 ล้านดอลลาร์ จากภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี โดยเริ่มจัดเก็บนับตั้งแต่ในช่วงเดือนเมษายนปีนี้ จากบริษัทต่างๆ เช่น Google, Facebook, YouTube, Alibaba, Microsoft และ TikTok หลังแพลตฟอร์มด้านการช้อปปิ้งออนไลน์ดังกล่าวกลายเป็นเทรนด์หรือไลฟ์สไตล์ที่สำคัญของคนกัมพูชามากขึ้นเรื่อยๆ โดยสร้างโอกาสมากมายสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงตอบสนองต่อความต้องการของคนในประเทศ สำหรับการจัดเก็บภาษีทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกันมีมูลค่ารวมกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นร้อยละ 85.8 ของเป้าหมายการจัดเก็บประจำปี ที่ได้กำหนดไว้มูลค่า 5.5 พันล้านดอลลาร์ จากการจัดเก็บภาษีและศุลกากร ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปี 2022

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501394733/gdt-collects-63-million-vat-on-e-commerce/

‘ศก.ดิจิทัลเวียดนาม’ จ่อทำรายได้แตะ 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 68

จากรายงานของกูเกิล (Google) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามจะขยายตัว 20% ต่อปี ในช่วงปี 2566-2568 และมีแนวโน้มว่าจะทำรายได้สูงถึงประมาณ 45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 นับว่าเป็นการเติบโตที่เร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่นาย Nguyen Binh Minh คณะกรรมการบริหารของสมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนาม (VECOM) คาดการณ์ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจดิจิทัลมีพื้นฐานที่มั่งคง แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของอีคอมเมิร์ซที่แข็งแกร่งในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ ภาคธุรกิจต่างๆ ยังมีความมั่นใจในการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของอีคอมเมิร์ซ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยเหตุนี้ แพลตฟอร์มดิจิทัลของเวียดนาม จึงได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการตอบสนองความต้องการการพัฒนาของธุรกิจท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/vietnam-likely-to-achieve-digital-economic-growth-of-around-us45-billion-by-2025-post1057628.vov

‘เวียดนาม’ ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการชำระเงินออนไลน์ โต 50% ปี 2568

กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) ตั้งเป้าที่จะส่งเสริมการชำระเงินออนไลน์ในตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านตัวกลางในการชำระเงินหรือแอปพลิเคชั่น มีสัดส่วน 50% ภายในปี 2568 เป็นไปตามแผนระดับชาติว่าด้สนการพัฒนาอีคอมเมิร์ซ ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล (CID) เป็นศูนย์ในการพัฒนาและนำเอาโซลูชั่นต่างๆ มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์และยกระดับระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ นอกจากนี้ ศูนย์จะมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาระบบการชำระเงินที่ปลอดภัยสำหรับกิจกรรมอีคอมเมิร์ซโดยใช้ระบบเอสโครว์  (ESCROW) เพื่อปกป้องทั้งผู้บริโภคและผู้ขายในธุรกรรมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/cashless-payments-in-ecommerce-to-account-for-50-by-2025/267608.vnp

อีคอมเมิร์ซกัมพูชาเติบโตต่อเนื่อง หลังสื่อสังคมออนไลน์ขยายตัว

สื่อสังคมออนไลน์กำลังเข้าครอบคลุมภาคอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาอย่างรวดเร็ว โดยธุรกิจท้องถิ่นเกือบทั้งหมดส่งเสริมสินค้าและบริการผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นสำคัญ ซึ่งข้อความดังกล่าวได้รายงานไว้ใน The Consumer Report 2023 ที่เผยแพร่โดย Standard Insights ผ่านความร่วมมือกับ Confluences ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของโซเชียลมีเดียในระบบเศรษฐกิจภายใต้ชื่อเรื่อง “e-Commerce – Online Shopping Penetration” โดยจากการประมาณการต่างๆ พบว่าในกัมพูชามีผู้ใช้โซเชียลมีเดียถึง 10.95 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 65 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเน้นไปที่แพลตฟอร์มชื่อดังเช่น Facebook ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 10.45 ล้านคนในกัมพูชา ตามมาด้วย Facebook Messenger ที่มีผู้ใช้ 7.20 ล้านคน, TikTok ผู้ใช้ 7.06 ล้านคน, Instagram ผู้ใช้ 1.75 ล้านคน, LinkedIn ผู้ใช้ 530,000 คน และ Twitter ผู้ใช้ 393,200 คน เป็นสำคัญ เช่นเดียวกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ที่มีซื้อขายสินค้าบนโลกออนไลน์ สำหรับชาวกัมพูชามากกว่าหนึ่งในสี่ (ร้อยละ 29.97) มีการซื้อสินค้าออนไลน์หลายครั้งต่อเดือน โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพนมเปญ อย่างไรก็ตามรายงานยังย้ำว่าโซเชียลมีเดียยังคงเป็นแหล่งข้อมูลยอดนิยมที่ผู้คนค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ซึ่งพบว่าลูกค้ากว่าร้อยละ 61.90 ยอมรับว่าได้รับอิทธิพลจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram หรือ Twitter ในเรื่องของการตัดสินใจซื้อสินค้า

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501340001/social-media-platforms-taking-over-e-commerce-segment/

“เวียดนาม” ส่งเสริมอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนอาเซียน

คุณ Le Hoang Anh ผู้อำนวยการกรมการค้าออนไลน์และเทคโนโลยีสารสนเทศเวียดนาม เปิดเผยรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน Google, Temasek และ Bain & Company ในปี 2565 ที่มุ่งเน้น 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทยและเวียดนาม โดยในปีที่แล้ว มีผู้ใช้บนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นครั้งแรกมากถึง 20 ล้านคน ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งภูมิภาคเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 460 ล้านคน ทั้งนี้ ตามรายงานของ Statista คาดการณ์ว่าอาเซียนจะบรรลุอัตราการเติบโต 2 เท่าต่อปี และจะเติบโตที่ 11.43% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา จีนและแคนาดา นอกจานี้ เมื่อศึกษากรณีประเทศเวียดนาม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนได้รับการประเมินว่ามีศักยภาพสูงและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-fosters-cross-border-e-commerce-in-asean-2157258.html