ไทย-ฮ่องกง เอ็มโอยูหุ้นส่วนศก.

รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 พ.ย.นี้ ผู้ว่าการเขตบริหารพิเศษฮ่องกง จะเดินทางมาไทย เพื่อเข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-ฮ่องกง เป็นครั้งแรก กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 6 ฉบับ โดยฉบับแรกถือเป็นฉบับใหญ่ที่สุด เป็น กรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลที่มีเนื้อหาครอบคลุมความร่วมมือในการพัฒนาทุกด้าน ส่วนเอ็มโอยูที่เหลือจะเป็นกรอบการพัฒนาที่แยกออกเป็นด้าน ต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรม การเงิน และนวัตกรรม ทั้งนี้ในการหารือครั้งดังกล่าว ทั้ง 2 ประเทศจะร่วมกันพิจารณาแนวทางความร่วมมือระหว่างกันซึ่งต่อยอดมาจากการเดินทางไปเยือนฮ่องกงของนายสมคิด และคณะ เมื่อช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยในระหว่างการหารือครั้งนี้จะยกเนื้อหาที่ครอบคลุมทางด้านเศรษฐกิจหลายเรื่องมาหารือกัน เช่น การทำความตกลงการค้าไทยฮ่องกง การส่งเสริมผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัพ การร่วมมือทางด้านเทคโนโลยี การเชื่อมโยงด้านการเงินระหว่างกัน และการส่งเสริมเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงทางด้านประเด็นทางการเมืองด้วย นอกจากนี้ยังมีคณะของ รมต.พาณิชย์และการพัฒนาเศรษฐกิจของฮ่องกง พาคณะนักธุรกิจฮ่องกงกว่า 50 คนมาเยือนไทย เพื่อมาศึกษาช่องทางการค้าและการลงทุน และวันที่ 28 พ.ย.นี้ จะมีงานสัมมนาใหญ่เพื่อชี้แจงข้อมูลการลงทุนด้วย.

ที่มา: นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 28 พ.ย. 2562

จุดพลุเอฟทีเอ “ไทย-ฮ่องกง”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานสัมมนา “THAILAND 2020 # ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ” ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 63 ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากภายนอก โดยเฉพาะปัจจัยของสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีนที่ยังไม่มีความชัดเจน จึงอาจส่งผลกระทบต่อการค้าขายและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกไปถึงปี 64 โดยปีนี้เห็นได้ชัดเจนว่าสงครามการค้าที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีแรก เกิดการชะลอตัวค่อนข้างมาก ทั้งนี้หลังจากผ่านพ้นการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 เสร็จสิ้นลงถือว่าประเทศต่างๆได้มีข้อตกลง และความร่วมมือกันเป็นอย่างดี โดยจีนที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตใหม่ๆ ถือเป็นโอกาสให้กับไทยในการดึงดูดการลงทุนของจีนเข้ามา เพื่อนำเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยของจีนเข้ามาต่อยอดและพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย โดยมี 5 เรื่องสำคัญๆที่ต้องปรับเปลี่ยนประเทศและต้องทำให้ได้ เช่น อีอีซี, การเปิดประมูล 5 จี ในปีหน้า เป็นต้น ดังนั้น ประเทศไทยต้องอาศัยความได้เปรียบในฐานะศูนย์กลางของอาเซียน ที่เชื่อมต่อนโยบายของจีนผ่านความร่วมมือผ่านเส้นทางสายไหม สู่อีอีซี โดยมี Greater bay area : GBA ที่ประกอบไปด้วย ฮ่องกง กวางตุ้ง มาเก๊า เป็นหัวหอกที่ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญรองรับนโยบายการย้ายฐานการผลิต ทำให้ประเทศไทยมีบทบาทในการเชื่อมโยงกับ CLMV  ซึ่งจากการหารือกับนางแคร์รี แลม ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง มีความประสงค์จะเดินทางมาไทย โดยจะมีการลงนามข้อตกลงทางการค้าเสรี ไทย-ฮ่องกอง เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนฮ่องกง ย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทยและเชื่อมโยงตลาดทุนร่วมกัน ภายในสิ้นปีนี้.