CDC อนุมัติโครงการการลงทุนใหม่ 4 โครงการ มูลค่าการลงทุนแตะ 100 ล้านดอลลาร์

กรมพัฒนาการลงทุนภาคเอกชนกัมพูชา (CDC) รายงานถึงการอนุมัติโครงการการลงทุนแห่งใหม่ 4 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 100 ล้านดอลลาร์  ได้แก่โครงการจัดตั้งโรงงานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ บริษัท L-Q New Energy Co Ltd. ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ UBE Snoul ใช้เงินลงทุนรวมกว่า 84.5 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสามารถสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นได้กว่า 1,000 ตำแหน่ง โครงการที่ 2 จัดตั้งโรงงานผลิตและแปรรูปท่อเหล็กทุกชนิด ภายใต้บริษัท Eastcam Casting Co., Ltd. ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษซานตงซานเซล โดยโครงการนี้ใช้เงินลงทุนมูลค่ารวมกว่า 5.8 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสามารถสร้างงานได้ประมาณ 200 ตำแหน่ง โครงการที่ 3 จัดตั้งโรงงานผลิตไม้อัด บริษัท MEGA HARDWOOD CO., LTD ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ (SSEZ) ด้วยเงินลงทุน 5 ล้านดอลลาร์และสามารถสร้างงานได้ประมาณ 300 ตำแหน่ง และโครงการที่ 4 จัดตั้งโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า บริษัท XIN JIN WEI GARMENT (CAMBODIA) CO., LTD ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ ด้วยเงินทุน 1.5 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะสามารถสร้างงานได้ 550 ตำแหน่ง

ที่มา: https://www.khmertimeskh.com/501116207/cdc-approves-four-new-projects-worth-more-than-100-million/

‘เวียดนาม’ เล็งหาผลประโยชน์จากการลงทุนสหรัฐฯ ด้านพลังงานหมุนเวียน

จากการประชุมสุดยอดธุรกิจเวียดนาม-สหรัฐฯ ณ กรุงฮานอย คุณ  Pham Tan Cong ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของเวียดนาม (VCCI) เปิดเผยว่าพลังงานเป็นหนึ่งในสาขาเศรษฐกิจที่มีศักยภาพทางในการร่วมมือการลงทุนระหว่างบริษัทเวียดนามและสหรัฐฯ และเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการเวียดนามและสหรัฐฯ มีโอกาสที่ดีในการสร้างความร่วมมือทางด้านก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG), พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางการค้าและความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ทั้งนี้ คุณ Hoang Tien Dung ผู้อำนวยการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า กล่าวว่าเวียดนามตั้งเป้าในปี 2573 ว่าจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน สัดส่วน 45% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ โดยนายฝ่าม มิงห์ จิ๋ง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ประกาศว่าเวียดนามได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพลังงานอย่างยั่งยืนเป็นอันดับแรก

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnam-seeks-us-investment-in-renewable-energy/223430.vnp

 

ทำไมนักลงทุนต่างชาติเลือก ‘เวียดนาม’ แทนตลาดเพื่อนบ้าน?

บริษัทที่ปรึกษา PwC เผยแพร่รายงาน Vietnam Outlook: “โอกาสทางเศรษฐกิจท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19” ระบุว่าหลังจากรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสเป็นเวลานาน เวียดนามยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของ GDP ที่ 2.58% ในปี 2564 และเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตติดต่อกัน 2 ปีติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจไม่ได้แสดงถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่แท้จริง เนื่องจากเศรษฐกิจจะฟื้นตัวรูปตัว K โดยภาคเศรษฐกิจสำคัญของประเทศได้รับผลกระทบในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว โรงแรม บริการอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ตลอดจนภาคการส่งออก นอกจากนี้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางการค้ากับตลาดโลกดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับตลาดเพื่อนบ้านแล้ว เวียดนามยังคงเป็นจุดหมายปลายทางของห่วงโซ่อุปทานจำนวนมากและคลื่นการย้ายฐานการผลิต

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/business/what-makes-foreign-investors-choose-vietnam-instead-of-neighboring-markets-820867.html

 

ทางการกัมพูชากำหนดแผนยุทธศาสตร์ ดึงการลงทุนเพิ่มขึ้น

ทางการกัมพูชากำหนดแผนยุทธศาสตร์ (2021-2024) ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิต เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าการเดินทาง หวังดึงดูดการลงทุนมายังกัมพูชามากขึ้น รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคส่วนนี้ โดย Okhna Kong Sang กล่าวรายงานเสริมว่าการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของกัมพูชามีมูลค่ากว่า 11.389 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 เพิ่มขึ้น 1.505 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมูลค่าการส่งออกเสื้อผ้าของกัมพูชาอยู่ที่ 8.017 ล้านดอลลาร์ ส่วนการส่งออกรองเท้าอยู่ที่ 1.390 พันล้านดอลลาร์ และ สินค้าเพื่อการเดินทางอยู่ที่ 1.490 พันล้านดอลลาร์ และหมวดสินค้าสิ่งทออื่นๆ รวม 0.492 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2021

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501036530/garment-footwear-and-travel-goods-development-strategic-plan-to-attract-more-investment/

รอบ1 ปี เขตพะโค ดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติสะพัดกว่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และลงทุน ในประเทศอีก 8.3 พันล้านจัต

จากรายงานของคณะกรรมการการลงทุนเขตพะโค (BRIC) ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2564 ถึง 1 ก.พ. 2565 เขตพะโคสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจำนวน 110.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการลงทุนภายในประเทศจำนวน 8.329 พันล้านจัต สร้างตำแหน่งงานกว่า 4,953 ตำแหน่ง โดยพื้นที่ของเขตพะโคนั้นขึ้นอยู่กับการเกษตรและปศุสัตว์เป็นหลัก เนื่องจากมีแหล่งวัตถุดิบมากมายในการผลิตปุ๋ยธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใช้แรงงานในการตัด การผลิต และการบรรจุ (Cutting Making and Packaging : CMP) ที่น่าสนใจเพราะมีแรงงานฝีมืออยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้การอนุมัติให้เข้ามาลงทุนต้องผ่านการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนเท่านั้น

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/bago-region-pulls-over-110-mln-foreign-investment-k8-3-bln-domestic-investment-in-one-year/#article-title

กัมพูชา-ญี่ปุ่น จัดการเจรจาค้นหาโอกาสด้านการลงทุน

คณะผู้แทนระดับรัฐมนตรีและนักธุรกิจระดับทวิภาคีจากทั้งญี่ปุ่นและกัมพูชาได้จัดประชุมเมื่อต้นเดือน ก.พ. ณ สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) เพื่อเปิดมุมมองใหม่สำหรับนักลงทุนชาวญี่ปุ่นในการลงทุน ในกัมพูชา ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญในการขยายการลงทุนและเป็นส่วนในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางด้านธุรกิจในกัมพูชา โดยในการประชุมได้พูดถึงภายใต้กรอบความตกลงระหว่างกัมพูชาและญี่ปุ่น ว่าด้วยการเปิดเสรี การส่งเสริม และการคุ้มครองการลงทุน ซึ่งลงนามโดยนายกรัฐมนตรีฮุน เซน และอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น เมื่อ 14 ม.ย. 2007 ที่ผ่านมา โดยได้ยกหัวข้อขึ้นมาอภิปราย ได้แก่ ผลประโยชน์ทางภาษี การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ระบบการขนส่งโลจิสติกส์ ลดอัตราค่าไฟฟ้า และการนำเข้ารถยนต์โดยบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนในกัมพูชา ซึ่งในเดือน ม.ค. เพียงเดือนเดียว สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ได้อนุมัติและจดทะเบียนโครงการลงทุน 147 โครงการ ของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ด้วยเงินลงทุนรวมประมาณ 2.9 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501028593/cambodia-and-japan-hold-high-level-talks-to-explore-investment-opportunities/

เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา ให้คำมั่นส่งเสริมการลงทุนในกัมพูชา

Sok Chenda Sophea รัฐมนตรีผู้แทนนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) และ Masahiro MIKAMI เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกัมพูชา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมกัมพูชา ครั้งที่ 23 เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ณ สภาพัฒนากัมพูชา โดยการประชุมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลไกในการรักษาระดับการลงทุน ซึ่งรัฐมนตรีผู้แทนนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำถึงกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา โดยเพิ่งได้รับการอนุมัติและประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2021 ซึ่งได้กลายเป็นพื้นฐานทางกฎหมายด้านการลงทุนสำหรับกัมพูชา ในการดึงดูดการลงทุนและช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501028646/the-japanese-ambassador-to-cambodia-committed-to-continue-efforts-to-promote-japanese-fdi-inflow-into-cambodia/

4 เดือนของงบประมาณฯ สิงคโปร์นำโด่งเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของเมียนมา

จากข้อมูลคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัท ( DICA) พบว่า สิงคโปร์กลายเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเมียนมาในช่วงสี่เดือนของบประมาณปัจจุบัน (2564-2565) ซึ่งเริ่มในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยดึงดูดเงินลงทุนกว่า 506 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากวิสาหกิจต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาลงทุนในประเทศ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 64 ถึงวันที่ 31 ม.ค. 65 ภาคบริการครองอันดับหนึ่งของเงินลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดด้วยเงินลงทุนกว่า 206 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  รองลงมาคือภาคการผลิตมีมูลค่าการลงทุนกว่า 114 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และภาคการก่อสร้าง 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสิงคโปร์เป็นผู้นำด้านการลงทุนด้วยเม็ดเงินกว่า 275 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ในปีงบประมาณที่แล้ว เมียนมาได้รับเงินลงทุนในประเทศกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20220207/812846d52591466085c5fa7840faf7a1/c.ht

‘ซัมซุง’ จ่อลงเม็ดเงินเพิ่มอีก 850 ล้านเหรียญสหรัฐ เหตุตั้งบริษัทลูกในเวียดนาม

การประชุมคณะกรรมการของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์อย่าง “ซัมซุง (Samsung)” ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ประกาศอนุมัติเงินลงทุน 850 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการตั้งบริษัทลูกในเวียดนามเพื่อทำการผลิตแผงวรจง flip-chip ball grid arrays (FC-BGA) โดยบริษัทจะใช้เงินลงทุนจนถึงปี 2566 เพื่อสร้างสายการผลิต FC-BGA ใหม่ ทั้งนี้ แผนของบริษัทลูกในเวียดนามแห่งนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การผลิต FC-BGA ในขณะที่โรงงานซัมซุงในเมืองซูวอน จังหวัดคยองกี และเมืองปูซานจะเชี่ยวชาญในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์
ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/10973202-samsung-to-invest-additional-850-mln-usd-in-vietnamese-subsidiary.html

บ.เกาหลีใต้ เล็งลงทุนระยะยาวในเวียดนาม

นายเวือง ดิ่งห์ เหวะ (Vuong Dinh Hue) ประธานรัฐสภาเวียดนาม และผู้นำธุรกิจ Samsung Electronics, SK, and Lotte Shopping & Lotte Mart กล่าวว่าทางบริษัทมีความสนใจที่จะร่วมมือกับเวียดนามในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมไฮเทค ตลอดจนช่วยเหลือผู้ประกอบการชาวเวียดนามถึงการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานโลก ในขณะเดียวกัน มุมมองต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ เวียดนามยังคงเป็นจุดหมายที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนชาวเกาหลีใต้อีกด้วย ทั้งนี้ นายเวือง ได้แสดงความยินดีถึงการเปิดตัวโครงการศูนย์วิจัยนวัตกรรมของบริษัทซัมซุงในเวียดนาม และหวังว่ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์จะนำไปวิจัยและผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อทำให้สายการผลิตเทคโนโลยีชั้นสูงสมบูรณ์ในเวียดนาม นอกจากนี้ นายเวือง แสดงความขอบคุณกับบริษัทกลุ่ม SK ที่ทำการสนับสนุนกว่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ และจะส่งเสริมกลุ่มบริษัทในการพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาด ผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์โทรคมนาคมอื่นๆ

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/rok-firms-desire-to-invest-in-vietnam-in-long-run-911294.vov