พาณิชย์แนะค้าปลีกไทยเจาะตลาดเวียดนามทั้งออฟไลน์-ออนไลน์

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสุภาพร สุขมาก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ถึงโอกาสในการขยายตลาดการค้าปลีกของไทยเข้าสู่ตลาดเวียดนาม และการใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์ในการขยายโอกาสทางการขายเจาะเข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคของเวียดนามที่มีแนวโน้มเติบโต

ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เวียดนามเป็นตลาดค้าปลีกที่มีศักยภาพสูงและคาดว่าจะเติบโตมากกว่า 350,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 และจะมีสัดส่วน 59% ของยอดขายผลิตภัณฑ์ในประเทศทั้งหมดทำให้บริษัทต่างชาติที่ลงทุนในเวียดนาม ผู้ประกอบการค้าปลีกในประเทศต่างปรับเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศและปรับปรุงเพื่อการส่งออก รวมทั้งมีการลงทุนในอีคอมเมิร์ซเพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่มีกว่า 50% ของประชากรประมาณ 100 ล้านคน

ที่มา : https://www.thaipost.net/economy-news/397177/

“อีคอมเมิร์ซ” โตพุ่ง 60% ของเศรษฐกิจดิจิทัลเวียดนาม

จากรายงานในปี 2566 “การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยอีคอมเมิร์ซ – พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล” ระบุว่ายอดขายสินค้าออนไลน์รวม (Gross Merchandise Volume: GMV) ในปี 2565 เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น 31% คิดเป็นมูลค่า 49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 โดยเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามจะคงรักษาระดับการเติบโตของการซื้อของออนไลน์ที่ 19% ในช่วงปี 2568-2573 และจากผลการสำรวจของสมาคมอีคอมเมิร์ซเวียดนาม แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการเวียดนามกว่า 55% เชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานทางด้านไอทีและอีคอมเมิร์ซ มีบทบาทสำคัญในการผลิตและการดำเนินกิจการ ตลอดจนชาวเวียดนามราว 60 ล้านคน นิยมซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และใช้จ่ายออนไลน์เฉลี่ยต่อคน อยู่ที่ 260-285 ดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการพัฒนาอีคอมเมิร์ซต้องมีปัจจัยหลายประการ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมบุคลากรและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/e-commerce-accounts-for-60-of-vietnamese-digital-economy-2124771.html

เมียนมาเร่งกระตุ้นสินค้าในประเทศผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

กระทรวงอุตสาหกรรมของเมียนมาได้เชิญผู้ประกอบการและผู้ผลิตในประเทศให้ขายสินค้าของตนเองผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่รัฐบาลจัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมการส่งออก โดยผู้ประกอบการที่ต้องการใช้แพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์สามารถเชื่อมต่อกับหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกได้ภายในวันที่ 28 เมษายน 2566 ทั้งนี้แพลตฟอร์มดังกล่าวจะให้บริการจัดส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็วและมีวิธีการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวกมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้ซื้อจากประเทศ

ที่มา: https://english.news.cn/asiapacific/20230319/9075354d3e6f4711968d2411ca797057/c.html

ตลาดค้าปลีกเวียดนาม ผลักดันโมเมนตัม “อีคอมเมิร์ซ”

ตลาดค้าปลีกของเวียดนามมีสัญญาณการฟื้นตัวในเชิงบวก โดยเฉพาะอุปสงค์ในประเทศ หลังโควิด-19 และในบริบทใหม่ของตลาด ทำให้ธุรกิจและผู้ค้าปลีกหลายรายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งจากข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่าในปี 2565 พื้นที่ภาคค้าปลีกให้เช่าในตัวเมืองในภาคใต้ของประเทศ ยังคงอยู่ในระดับเท่าเดิม เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้น 1.5 ล้านตารางเมตร ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Vietnam Association of Realtors (VARs) ระบุว่าความต้องการพื้นที่ค้าปลีกในศูนย์การค้าในเมืองใหญ่ เช่น โฮจิมินห์ จะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากการขยายตัวของแบรนด์ต่างๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคให้ความสนใจแบรนด์สินค้าในกลุ่มสุขภาพ กีฬา และกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความต้องการอาคารของอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/retail-market-motivates-e-commerce-gain-momentum-post1006824.vov

“สตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซ” ได้รับความนิยมในเวียดนาม

สตาร์ทอัพอีคอมเมิร์ซกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และถือว่าค่อนข้างปลอดภัยในแวดวงสตาร์ทอัพเชิงนวัตกรรมในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยไม่ได้หมายถึงความสำเร็จ เพราะการจะประสบความสำเร็จได้ในตลาดที่กำลังพัฒนานั้น ต้องใช้ความพยายามและความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก โดยเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านอีคอมเมิร์ซ มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 72.1 ล้านคน คิดเป็น 73.2% ของประชากรทั้งประเทศ และอยู่ในอันดับที่ 12 ในแง่ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกในเดือนกันยายน ปี 2565 นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าในปีที่แล้ว ขนาดของตลาดอีคอมเมิร์ซค้าปลีกของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 16.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 7.5% ของรายได้ของประเทศจากการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/innovative-start-ups-in-the-e-commerce-sector-2103908.html

คาดตลาดอีคอมเมิร์ซกัมพูชาจะมีมูลค่าแตะ 1.78 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2025

Penn Sovicheat ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและโฆษกกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวถึงภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซภายในประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งในปีที่ผ่านมา (2022) ตลาดอีคอมเมิร์ซกัมพูชามีมูลค่าสูงถึง 1.28 พันล้านดอลลาร์ และในปีนี้คาดว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1.50 พันล้านดอลลาร์ โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซจะขยับขึ้นไปแตะ 1.78 พันล้านดอลลาร์ในปี 2025 จากการเข้าถึงและการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างมาก ซึ่งในปี 2022 จากจำนวนประชากร 17.06 ล้านคน มีการเชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือ 22.06 ล้านครั้ง มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 13.44 ล้านคน และมีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย 12.6 ล้านคนในกัมพูชา ในปีที่แล้ว ซึ่งตลาดอีคอมเมิร์ซในกัมพูชาคาดว่าจะขยายตัวด้วยอัตราการเติบโตต่อปีที่ร้อยละ 13.51 ในช่วงปี 2023-2027 ที่อาจทำให้มูลค่าตลาดสูงถึง 2.10 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2027 จากการวิจัยของ statista.com

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501214272/cambodias-e-commerce-market-eyes-1-78b-by-2025/

“เศรษฐกิจดิจิทัล” เวียดนามโตเร็วสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตามข้อมูลจาก กูเกิล (Google) ร่วมกับ เทมาเส็ก (Temasek) และ เบน แอนด์ คอมพานี (Bain & Company) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามจะเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามแตะ 23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ เพิ่มขึ้น 28% แรงผลักดันที่ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามเติบโตสูงขึ้นมาจาก ‘อีคอมเมิร์ซ’ ที่มีอัตราการขยายตัว 26% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ทั้งนี้ เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากการสำรวจพบว่าผู้บริโภคดิจิทัลส่วนใหญ่ราว 90% ต้องการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดยให้ความสำคัญกับการบริการจัดส่งอาหาร (60%) และการส่งของออนไลน์ (54%)

นอกจากนี้ ตามรายงานยังระบุว่าผู้บริโภคมีนิสัยในการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ และ 8 ใน 10 คนยังคงซื้อของออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เพราะว่ามีความสะดวก

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-has-highest-digital-economy-growth-in-southeast-asia-2075889.html

ผลสำรวจชี้ “ผู้บริโภคเวียดนามยุคดิจิทัล” ใช้โซลูชั่นการเงิน

จากรายงาน SYNC Southeast Asia ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าประชากรชาวเวียดนามทั่วประเทศกว่า 80% เป็นผู้บริโภคดิจิทัล และเวียดนามเป็นตลาดชั้นนำที่มีการนำเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้ โดยกลุ่มผู้บริโภคดิจิทัลส่วนใหญ่ 58% มีการใช้บริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงบริการแอปพลิเคชั่นที่ช่วยในการโอนเงินและธนาคารดิจิทัล ทั้งนี้ ส่วนแบ่งเฉลี่ยของอีคอมเมิร์ซและธุรกิจการค้าปลีกโดยรวมยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ 15% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของอินเดียและจีน 10% และ 4% ตามลำดับ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/nearly-60-of-digital-consumers-in-vietnam-use-fintech-solutions/240652.vnp

“เวียดนาม” เผยรายได้อีคอมเมิร์ซแบบ B2C พุ่งแตะ 16 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้

เวียดนาม อยู่ที่ราว 16.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นปีแรกที่มีมูลค่าอยู่ในระดับสูงสุด และจากตัวแทนของสำนักงานอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม กล่าวว่าตามรายงานข้างต้น แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ของตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโรค โดยเฉพาะที่สร้างความรุนแรงต่อภาคการค้าและบริการของเวียดนามและทั่วโลก ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนรายได้ยอดค้าปลีกอีคอมเมิร์ซและบริการ เพิ่มจากเดิม 7% มาอยู่ที่ 27% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อีกทั้ง มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามจะก้าวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-b2c-retail-e-commerce-revenue-to-exceed-16-billion-this-year-2060814.html

“อีคอมเมิร์ซ” กุญแจสำคัญ เพิ่มโอกาสขยายการค้าเวียดนาม-สหราชอาณาจักร

ภาคธุรกิจของเวียดนามได้รับการกระตุ้นให้มาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อที่จะขยายการเข้าถึงตลาดสหราชอาณาจักร (UK) หลังจากข้อตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA) มีผลบังคับใช้แล้ว โดยสหราชอาณาจักรเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่อันดับที่ 4 ของโลกที่ทำรายได้กว่า 117.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 หากพิจารณาผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในตลาดอีคอมเมิร์ซของสหราชอาณาจักร คือเว็บไซต์ร้านค้า amazon.co.uk ทำรายได้ 17.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่แล้ว รองลงมา tesco.com และ argos.co.uk คิดเป็นสัดส่วนทั้งสามร้านค้ารวมกัน 30% ของรายได้ออนไลน์ในสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมอิคอมเมิร์ซ เติบโตสูงถึง 53% ในปี 2564 ดังนั้น คุณ Bùi Thanh Hằng ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ ชี้ว่าข้อตกลง UKVFTA จะอนุญาติให้ใช้วิธีการใหม่ในการเข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1312561/e-commerce-the-key-to-increase-bilateral-trade-between-viet-nam-and-the-uk.html