‘IMF’ คาดการณ์เศรษฐกิจเวียดนามปี 65 โต 6%

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2565 ขยายตัว 6% และจะพุ่งขึ้น 7.2% ในปี 2566 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คาดการณ์ในครั้งนี้เป็นผลมาจากการใช้นโยบายให้ปรับตัวร่วมกับการระบาดของโควิด-19 และการประสบความสำเร็จจากการฉีดวัคซีน ควบคุมการระบาด ทั้งนี้ นาง Era Dabla-Norris หัวหน้าคณะทำงานกองทุนการเงินระหว่างประเทศฝ่ายภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ได้เข้าร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาวุโสของธนาคารกลางเวียดนาม (SBV), กระทรวงการคลัง (MOF), สำนักงานวางแผนและการลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะปรึกษาหารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงการให้คำแนะนำด้านนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ IMF เปิดเผยว่าความขัดแย้งในยูเครน คาดว่าจะส่งผลกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อ ถึงแม้ว่าราคาสินค้าสูงขึ้น แต่ภาวะเงินเฟ้อยังสามารถควบคุมได้และอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ 4%

ที่มา : https://hanoitimes.vn/vietnam-forcast-to-achieve-gdp-growth-of-6-this-year-imf-320607.html

 

‘เวิลด์แบงก์’ เผยการเติบโตทางเศรษฐกิจเวียดนาม ปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญ

ตามรายงาน “Vietnam Macro Monitoring” ของเวิลด์แบงก์ (ธนาคารโลก) เปิดเผยว่าเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 1/2565 ขยายตัว 5.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากภาคการส่งออกและบริการที่ฟื้นตัว ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมี.ค. ขยายตัว 8.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี เทียบเท่ากับช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ในขณะการค้าระหว่างประเทศ พบว่าเดือน มี.ค. เวียดนามเกินดุลการค้า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ท่ามกลางความขัดแย้งของสงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 2.4% ในเดือนมี.ค. นับเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 7 เดือน แต่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมาย (4.0%)

ที่มา : https://en.nhandan.vn/business/item/11407902-vietnam%E2%80%99s-economic-growth-driven-by-good-recovery-of-sectors-wb.html

 

‘เวิลด์แบงก์’ พร้อมสนับสนุนดันเวียดนามเป็นเศรษฐกิจที่มีรายได้สูง ปี 2045

มานูเอลา วี. เฟอโร รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เดินทางมาเยือนเวียดนามนับว่าเป็นวันที่ 5 (วันที่ 25 มี.ค.) ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีเวียดนาม “ฟาม มินห์ จิญ” และนายนายเวือง ดิ่งห์ เหวะ ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม โดยทั้งสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับความท้าทายของเวียดนามในการยกระดับประเทศ รวมถึงวิธีการที่จะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนเวียดนาม ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญในการมาเยือนเวียดนามในครั้งนี้ คือการจัดทำร่างแผนและแนวทางแก้ไขเพื่อให้เวียดนามบรรลุเป้าที่จะกลายมาเป็นเศรษฐกิจที่มีรายได้สูงภายในปี 2045 อีกทั้ง มานูเอลา วี. เฟอโร เน้นย้ำว่าธนาคารโลกถือเป็นหุ้นส่วนพัฒนาที่สำคัญแก่ประเทศเวียดนามและเสนอโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรม เพื่อรองรับความท้าทายใหม่ๆ

ที่มา : https://vir.com.vn/wb-pleges-to-support-vietnam-to-become-high-income-economy-by-2045-92233.html

 

500 บริษัทโตเร็วที่สุดในเวียดนาม มองศก.เติบโตเป็นบวก ปี 65

การสำรวจล่าสุดของ Vietnam Report เปิดเผยว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 83.3% ของบริษัทที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุด 500 แห่งในเวียดนาม (FAST500) มองทิศทางเศรษฐกิจเวียดนามปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวก เนื่องจากเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ในขณะเดียวกัน เมื่อสอบถามถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจ พบว่าส่วนใหญ่ 89.2% วางแผนที่จะขยายกิจการ และ 67.6% มีความมั่นใจทางด้านความสามารถทางการแข่งขัน เพราะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่ค้าและลูกค้า รวมถึงผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสูงและราคาที่แข่งขันได้ ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่อยู่ใน FAST500 ล้วนให้ความสำคัญกับการทำกลยุทธ์ โดยส่วนใหญ่ 91.9% ธุรกิจวางแผนที่จะฝึกอบรมบุคลากร รองลงมา 83.8% ส่งเสริมการขายมากขึ้น, เร่งปรับวิธีการทำงานทางดิจิทัล (67.6%), จ้างพนักงาน (56.8%), พัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยง (48.6%) และ 37.8% วางแผนที่จะสร้างความร่วมมือและการลงทุนในอนาคตอันใกล้นี้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/up-to-833-percent-of-fast500-firms-optimistic-about-2022-outlook/223429.vnp

 

อุปสงค์ในประเทศขยายตัว ภาคการส่งออกกระตุ้นเศรษฐกิจเวียดนาม ปี 65

องค์กรระหว่างประเทศหลายสถาบัน มองว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวดี สำหรับผลการวิเคราะห์ขององค์กรจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก “Fitch Ratings” มีมุมมองในทิศทางที่เป็นบวกมากที่สุด โดยคาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโต 7.9% ในปี 2565 และ 6.5% ในปีหน้า และสถาบันอื่นๆ เช่น ธนาคารโลก (5.5%) และธฯคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (6.5%) ทั้งนี้ Fitch Ratings มองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนาม สาเหตุสำคัญมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและการส่งออกเวียดนามยังคงขยายตัวแข็งแกร่ง ซึ่งภาคการส่งออกของเวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน การเบี่ยงเบนของการค้าจากจีนและข้อตกลงการค้าหลายฉบับ ทั้งนี้ อันที่จริง การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของเวียดนามมาหลายปีแล้ว แม้จะมีผลกระทบด้านลบจากการระบาดของโควิด-19 แต่มูลค่าการส่งออกของเวียดนามในปีที่แล้ว อยู่ที่ 336.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 19%YoY

 

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/business/positive-domestic-demand-exports-to-boost-vietnam-s-growth-in-2022-818218.html

 

สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ชี้‘ศก.เวียดนาม’ สดใส ปี 65 ขยายตัว 6.7%

สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด (SCB) ระบุว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโต 6.7% ในปีนี้ และ 7.0% ในปี 2565 นายเอ็ดเวิร์ด ลี หัวหน้าฝ่ายวิจัยอาเซียน ของธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ จะขยายตัว 4.4% ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวจากในปี 2564 ที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ 5.8% สาเหตุสำคัญมาจากนโยบายการเงินและการคลังที่เข็มงวด ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงักและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ นาย Ben Hung ประธานกรรมการบริหารธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ประจำเอเชีย กล่าวว่าเวียดนามเป็นตลาดสำคัญขององค์กรในภูมิภาคเอเชียและมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนทางการเงินให้เวียดนาม ตลอดจนการให้ความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของรัฐบาลจะช่วยให้นักธุรกิจมีความมั่นใจเข้าไปการลงทุนในระยะยาว

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1156427/vns-economy-to-grow-at-67-per-cent-in-2022-standard-chartered.html

 

‘Fitch Ratings’ ประเมินเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในปี 65

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings เปิดเผยรายงานพบว่าระดับการฉีดวัคซีนในประเทศที่เพิ่มขึ้น ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงที่การระบาดจะมีผลต่อการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในอนาคต อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังคงอยู่ในความไม่แน่นอน โดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2564 ขยายตัว 2.6% ซึ่งเติบโตต่ำกว่าที่สถาบันฯคาดการณ์ไว้ที่ 7% เมื่อเดือนเม.ย.64 รวมถึงได้ประกาศอันดับเครดิตของเวียดนามที่ ‘BB’ และมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม ทั้งนี้ สถาบันฯ Fitch มองว่าปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า GDP Q3/64 หดตัวลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว เป็นผลมาจากรัฐฯ ควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเมื่อตั้งแต่ครั้งก่อน โดยภาครัฐได้ปรับแนวนโยบายจาก “ZERO COVID” ให้ทำการปรับแบบยืดหยุ่น เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnamese-economy-to-recover-fast-in-2022-fitch-ratings/221688.vnp

‘ธนาคารโลก’ จ่อมอบเงินทุน 221.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หนุนฟื้นฟูเวียดนาม เหตุโควิด-19

รัฐบาลเวียดนามและธนาคารโลก (WB) ตกลงร่วมบันทึกลงนามการจัดหาเงินทุนเป็นมูลค่า 221.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเวียดนามจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านการปฏิรูปนโยบายและเพิ่มความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยงบประมาณดังกล่าว เป็นการให้ความช่วยเหลือรูปแบบเงื่อนไขผ่อนปรน มีระยะเวลา 30 ปี และทำการปฏิรูปนโยบายเสาหลัก 2 ด้าน ได้แก่ 1) ช่วยการฟื้นฟูทางด้านเศรษฐกิจของเวียดนาม การลดภาะภาษีของธุรกิจและปรับปรุงมาตรการทางการเงินช่วยเหลือแก่กลุ่มเปราะบาง เป็นต้น 2) สนับสนุนนโยบายการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เร่งให้เป็นรัฐบาลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) และส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
ที่มา : http://hanoitimes.vn/world-bank-provides-us2215-million-to-support-vietnam-recovery-from-covid-19-319638.html

“เวิลด์แบงก์” คงประมาณการจีดีพีของเวียดนามปี 65 ขยายตัวเป็นบวก

Jacques Morisset หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้ากลุ่มโครงการของธนาคารโลกประจำเวียดนาม ประมาณการณ์ตัวเลข GDP ของเวียดนามในปี 2565 เติบโต 6%-6.5% กรณีที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ และรักษาระดับของความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ในขณะเดียวกันปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อเศรษฐกิจเวียดนามในปีหน้านั้น ยังคงเป็นปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะเชื้อโรคที่มีการกลายพันธุ์ใหม่ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอื่นที่มีผลต่อเศรษฐกิจ สังเกตได้จากประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเปิดจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และอีกปัจจัยหนึ่งคือเรื่องของเงินเฟ้อ โดยได้ตั้งเข้าสังเกตไว้ว่าเศรษฐกิจชุมชนกำลังเผชิญกับเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากการเสื่อมของอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในประเทศยังไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าอุปทาน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนในการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม มีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ 1) เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มุ่งเน้นไปที่การกระจายห่วงโซ่อุปทาน 2) เวียดนามสามารถใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์จากเศรษฐกิจสีเขียว และ 3) อุปสงค์ในประเทศ จำนวนชนชั้นกลางที่เพิ่มสูงขึ้น
ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/wb-remains-positive-on-vietnamese-gdp-growth-target-for-next-year-post914137.vov

‘เวียดนาม’ คาด GDP ปี 64 โต 2%-2.5%

นาย Tran Tuan Anh หัวหน้าคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงคาดการณ์ไม่ได้ ทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจเวียดนาม (GDP) ปีนี้ คาดว่าจะชะลอตัวลงเหลือ 2%-2.5% อย่างไรก็ตาม หลังการปรากฏตัวของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเติบโตชะลอตัวราว 0.2%-0.4% ในปีหน้า ขณะที่เวียดนามก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โดยเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 3/64 ปรับตัวลดลง 6.17% นับว่าเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุด ตั้งแต่มีการบันทึกสถิติและแถลงตัวเลขเศรษฐกิจรายไตรมาส ทั้งนี้ เวียดนามจำเป็นต้องมีการปรับตัว เพื่อทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวหลังจากสิ้นสุดการแพร่ระบาด ด้วยการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาระยะยาว ทั้งด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมและความทันสมัยต่อสถานการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/vietnams-2021-gdp-estimated-at-2-2-5/