เวียดนาม-นิวซีแลนด์ ตั้งเป้าการค้า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563

สำนักงานการค้าเวียดนามในนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่าในปัจจุบัน เวียดนามเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับที่ 16 ของนิวซีแลนด์และมูลค่าการค้าสองฝ่ายเพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากทั้งสองประเทศได้เข้าร่วมความตกลงพันธมิตรทางการค้า จากปี 2552 มูลค่า 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนถึงปี 2561 มาอยู่ที่มากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้น 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 เป็นผลมาจากทั้งสองประเทศส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและยังเป็นสมาชิก “CPTPP” ทั้งนี้ เศรษฐกิจของเวียดนามและนิวซีแลนด์มีการส่งเสริมซึ่งกันและกันในหลายๆด้าน นิวซีแลนด์เป็นตลาดส่งออกสำคัญและมีศักยภาพของเวียดนาม อาทิ สินค้าเกษตร อาหารทะเล กาแฟ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่มและวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น นอกจากนี้ เดือนก.พ. 2563 นิวซีแลนด์มีโครงลงทุนโดยตรงในเวียดนามจำนวน 41 โครงการ คิดเป็นมูลค่าจดทะเบียนรวม 209.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน เวียดนามมีโครงการลงทุนโดยตรงในนิวซีแลนด์จำนวน 10 โครงการ คิดเป็นมูลค่าจดทะเบียนรวม 32.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมุ่งเน้นไปยังภาคอุตสาหกรรมการแปรรูป การผลิต การค้าปลีกและบริการซ่อมแซมยานยนต์

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnam-and-new-zealand-target-usd-17-billion-of-trade-value-in-2020-21563.html

ครม.โยนเผือกร้อน CPTPP ให้สภาพิจารณา

ครม.โยนเผือกร้อนให้สภาฯ ส่ง “พุฒิพงษ์” หารือสภาฯตั้งคณะกรรมการวิสามัญ ถกผลดี ผลเสีย ไทยเข้าร่วมเจรจาซีพีทีพีพี ก่อนส่งกลับ ครม.อีกครั้ง ขณะที่ “จุรินทร์” เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ระบุลดความขัดแย้ง น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกกรอบความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ขึ้นมาหารือ และเห็นร่วมกันว่าควรจะเสนอเรื่องนี้ให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา โดยให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อการศึกษาผลบวกและลบ ที่ไทยจะเข้าร่วมกรอบความร่วมมือนี้ ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เห็นด้วยกับกลไกดังกล่าว ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. มอบหมายให้ นายพุฒิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ประสานสภาเพื่อจัดตั้งคณะกรรรมการวิสามัญฯ ขึ้นมาแล้วหาข้อสรุปร่วมกัน

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/882379

ธนาคารโลกเผยข้อตกลงการค้าเสรี EVFTA ยกระดับการส่งออกเวียดนาม 12% ปี 2573

ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่าข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) จะช่วยให้เศรษฐกิจเวียดนามและยอดส่งออก เติบโตร้อยละ 2.4 และ 12 ตามลำดับ ภายในปี 2573 ตามรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MoIT) โดยข้อตกลงดังกล่าวคาดว่ามีโอกาสที่จะขยับผู้คนให้ออกมาจากความยากจน ประมาณ 100,000-800,000 คน ทั้งนี้ ธนาคารโลกมองว่าเวียดนามจะได้รับผลประโยชน์มากขึ้นจากการเข้าร่วมข้อตกลง EVFTA และ CPTPP หากดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจโดยรวมและสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด (Rules of Orgin) เป็นหนึ่งในสิ่งที่ท้าทายอย่างมากของเวียดนาม เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่นำเข้าวัตถุดิบมาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ทางกระทรวงการค้าฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปีนี้ เพิ่มส่งเสริมและปรับแก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาฉบับปี 2553

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/wb-evfta-could-lift-vietnams-exports-by-12-by-2030-414153.vov

เอกชนเสียงแตกเข้าร่วมซีพีทีพีพี

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อความเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เปิดเผยว่า คณะทำงานจะมีการประชุมอีกรอบในวันที่ 21 พ.ค.นี้เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ว่า ควรจะสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมซีพีทีพีพีหรือไม่  หลังจากที่ผ่านก็ได้มีการประชุมไปแล้วรอบหนึ่งโดยรับฟังความเห็นจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นปัญหาทั้งสิทธิยา เมล็ดพันธุ์ แรงงาน การจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมกันนี้ก็ขอให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์มาให้ข้อมูลข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในความตกลงดังกล่าว นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.อยู่ในช่วงของการประชุมหารือถึงเรื่องดังกล่าว เพราะแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมก็มีความแตกต่างกัน หรือแม้แต่อุตสาหกรรมเดียวกันก็มีความเห็นที่ต่างกันเพราะมีทั้งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์และเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งซีพีทีพีพีมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณามาก ไม่เพียงแต่ประเด็นที่เป็นปัญหาที่สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่   ไม่เหมือนกับเอฟทีเออื่นๆที่สามารถตกลงเจรจากันได้ง่ายกว่า ขณะนี้ภาคเอกชนยังมีความเห็นที่ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สิ่งที่เห็นตรงกันคือ อนาคตในการค้าขายในโลกเศรษฐกิจแบบนี้จำเป็นที่ไทยต้องเข้าร่วมในความตกลงต่างๆ เอฟทีเอ หรือการเจรจาแบบทวิภาคี พหุภาคี

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/774921

JETRO : เผยธุรกิจต่างชาติชื่นชมการปรับปรุงนโยบายการค้าของเวียดนาม

รองประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) กล่าวว่าผู้ประกอบการต่างชาติชื่นชมความพยายามในการปรับปรุงนโยบายการค้าระหว่างประเทศของเวียดนาม อย่างใกล้ชิดกับแนวโน้มโลก จากการสัมภาษณ์กับสำนักข่าวเวียดนาม (VNA) ระบุว่าเวียดนามได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และเข้าร่วมองค์การค้าโลก รวมถึงข้อตกลง CPTPP ขณะที่ เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนโยบายปฏิรูป ‘โด่ยเหมย’ ในปี 1986 ทั้งนี้ GDP ของเวียดนาม เพิ่มขึ้นจาก 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1986 มาอยู่ที่ 245 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 นับว่าเป็นอัตราเติบโตสูงสุดในอาเซียน การเติบโตดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากการดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติและการส่งออกขยายตัว นอกจากนี้ ผลการสำรวจของเจโทรเมื่อปีที่แล้ว เกี่ยวกับการดำเนินงานของธุรกิจญี่ปุ่นในเอเชียและโอเชียเนีย ระบุว่าธุรกิจญี่ปุ่นส่วนใหญ่ร้อยละ 63.9 วางแผนที่จะขยายธุรกิจไปยังเวียดนาม สำหรับความคิดเห็นดีที่สุดนั้น เป็นเรื่องของขนาดตลาดและศักยภาพในการเติบโตของตลาด พร้อมกับความมั่งคงทางสังคมและการเมือง

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/jetro-vice-chairman-foreign-firms-laud-vietnams-improving-global-trade-policies/172418.vnp

พาณิชย์ ถอน CPTPP พ้นครม.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้สัมภาษณ์กรณีการเสนอเรื่อง CPTPP ( comprehensive and progressive agreement for transpacific partnership) หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก สู่การพิจารณาของ ครม. ว่า การเสนอเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.) ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเมื่อปรากฏว่ายังมีความเห็นแย้งกันอยู่ในระหว่างฝ่ายต่างๆ กระทรวงพาณิชย์จึงได้ถอนเรื่องที่เสนอออกไปแล้ว ทั้งนี้ นายจุรินทร์กล่าวว่าจะไม่เสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมอีก ตราบใดที่ภาคส่วนต่างๆในสังคมยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอผลการศึกษาและระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เข้าสู่วาระการพิจารณาของครม.ในวันที่ 28 เม.ย.ตามมติของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(กนศ.) ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2563 นั้นนายจุรินทร์ เห็นว่า ยังมีข้อกังวลบางประเด็นของ CPTPP อาทิ การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ การเปิดตลาดให้กับสินค้าใช้แล้วที่นำมาปรับปรุงสภาพเป็นของใหม่และการจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ และข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิดในปัจจุบัน อาจจะไม่เหมาะสมกับเวลา จึงเห็นขอถอนเรื่องออกไป

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/878089?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic

เวียดนามตั้งเป้ายอดส่งออกเครื่องนุ่งห่ม 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเวียดนาม (VITAS) เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในประเทศ ยังคงตั้งเป้ามูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2562 แม้ว่าจะเผชิญกับอุปสรรคมากมาย เพื่อให้ได้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อุตสาหกรรมดังกล่าวต้องมีอัตราการเจริญเติบโตในการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 11-12 ต่อปี โดยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.1 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวยังคงสูงกว่าเมื่อเทียบกับผู้ผลิตรายอื่น เช่น จีน อินเดีย และบังคลาเทศ เป็นต้น และทางสมาคมหวังว่าผู้ประกอบการจะได้รับยอดคำสั่งซื้อขนาดใหญ่ เพื่อให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นในเดือนธันวาคม ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญของผู้ประกอบการ คือ การหาตลาดใหม่และการร่วมมือกับพันธมิตรทางการค้า ซึ่งในปัจจุบันธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี ได้แก่ EVFTA และ CPTPP เป็นต้น นอกจากนี้ ทางผู้บริหารระดับสูงของสมาคมสิ่งทอเวียดนาม มองว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน นับว่าเป็นไปได้ยากที่อุตสาหกรรมสิ่งทอจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ภายในปีนี้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/569282/garment-export-target-of-40-billion-a-long-shot.html#lGuhOAC3rkrrqwYh.97

เวียดนามตั้งเป้า GDP ขยายตัว 7% ในปี 2564-2568

จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลและวิเคราะห์เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NCIF) คาดการณ์ว่าเวียดนามจะมีอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเวียดนาม (GDP) ที่ระดับร้อยละ 7 ต่อปี ในช่วงปี 2564-2568 สำหรับเศรษฐกิจมหภาคอยู่ในระดับทรงตัว อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 ต่อปี และผลิตภาพแรงงานจะขยายตัวร้อยละ 6.3 ต่อปี โดยข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) คาดว่าจะมีผลกระทบเขิงบวกมากกว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เนื่องมาจากมีกลุ่มประเทศที่ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับเวียดนามอยู่แล้ว ซึ่งทั้ง 2 ของความตกลงการค้าเสรีดังกล่าวนั้น จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมาก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมาก ได้แก่ เสื้อผ้า สิ่งทอ และรองเท้า  เป็นต้น นอกจากนี้ เขตการค้าเสรีจะช่วยให้เวียดนามปรับปรุงนโยบายและสภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจ

ที่มา : https://english.vov.vn/economy/vietnams-gdp-expected-to-expand-7-in-20212025-406577.vov