ส่งออกข้าวไทยยังซึม ปีนี้ตั้งเป้าแค่6ล้านตัน

พาณิชย์ มักน้อย ตั้งเป้าส่งออกข้าวปีนี้ แค่ 6 ล้านตัน หลังเจอสารพัด มรสุม ทั้งข้าวไทยราคาแพงกว่าคู่แข่ง ค่าบาทแข็ง พิษโควิด นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าวไทยในปี 64 ปริมาณ 6 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณใกล้เคียงกับการส่งออกในปี 63 ที่ส่งออกได้ทั้งปี 5.72 ล้านตัน โดยปัจจัยหลักที่กระทบต่อการส่งออกข้าวไทยในปี 64 ได้แก่ ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งสำคัญ เช่น อินเดีย และ เวียดนาม ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นระยะ ปัญหาตู้คอนเทเนอร์ที่ยังคงมีไม่เพียงพอใช้ส่งออก ประกอบกับผู้นำเข้าหลายประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากโควิดทำให้กำลังซื้อลดลง ดังนั้น การกำหนดเป้าส่งออกข้าวไทยที่ปริมาณ 6 ล้านตัน ถือว่าเป็นปริมาณที่เหมาะสมกับสถานการณ์ตลาดข้าวทั้งในและต่างประเทศ สำหรับแผนการตลาดส่งเสริมการส่งออกข้าวไทยในต่างประเทศในปี 64 จะเน้นประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการรักษากลุ่มลูกค้าเดิมและการแสวงหากลุ่มลูกค้าใหม่ให้ครอบคลุมตลาดข้าว โดยมีกิจกรรมสำคัญ เช่น การหารือกระชับความสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อิรัก บังกลาเทศ เป็นต้น รวมทั้งหารือประเทศผู้ส่งออกข้าว เช่น เวียดนาม เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การผลิตและตลาดข้าว การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ข้าวไทยเพื่อเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ และจัดกิจกรรมต่อยอดข้าวหอมมะลิไทยที่ได้เเชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกปี 63 เป็นต้น สำหรับการส่งออกข้าวปี 63 มีปริมาณรวมทั้งปี 5.72 ล้านตัน มูลค่า 1.16 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 62 ที่มีปริมาณ 7.58 ล้านตัน มูลค่า 1.31 แสนล้านบาท โดยมีปริมาณการส่งออกลดลง 24.54% และมูลค่าลดลง 11.23%

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/821272

พาณิชย์ลุยแก้ปัญหาตกเขียวกระเทียม ดึงเอกชนช่วยรับซื้อกก.13.50บ.

พาณิชย์ คลอดมาตรการเชิงรุกช่วยเหลือชาวไร่กระเทียม ดึงเอกชน 8 รายทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กก.ละ 13.50 บาท หลังพบตกเขียวกดราคาเหลือ กก.8 บาท พร้อมอัดมาตรการเสริม ช่วยดอกเบี้ยเงินกู้ 3% เพื่อซื้อกระเทียมเก็บ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังการประชุมวางแผนเชิงรุกรองรับการแก้ไขปัญหากระเทียม ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ว่า กระทรวงฯ ได้เตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมเป็นการล่วงหน้าเพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดมากช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. โดยกรมการค้าภายในได้ประสานงานกับพาณิชย์จังหวัด ซึ่งเป็นทีมเซลส์แมนของจังหวัด ร่วมกับภาคเอกชนจัดให้มีการเจรจาซื้อขายกระเทียมสดในราคาที่เป็นธรรม 8 สัญญา มีภาคเอกชน 8 บริษัทเป็นผู้ซื้อและกลุ่มเกษตรกร 8 กลุ่มเป็นผู้ขาย ในราคากระเทียมสดกิโลกรัมละ 13.50 บาท ซึ่งเป็นราคาชี้นำตลาดในฤดูกาลผลิตนี้ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้กำหนดมาตรการเสริมในช่วงที่กระเทียมออกมาก โดยมีมาตรการชะลอขาย ถ้าเกษตรกร ผู้รวบรวมกระเทียมหรือสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรชะลอขาย จะมีวงเงินช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ผู้รวบรวมกระเทียม ประมาณ 6 เดือน เมื่อราคาดีค่อยขาย ช่วยดอกเบี้ย 3% และมาตรการทางกฎหมายให้มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด โดยเฉพาะปัญหาการลักลอบการนำเข้ากระเทียมจากต่างประเทศ โดยได้สั่งการให้กรมศุลกากร ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เคร่งครัดการแก้ปัญหาลักลอบการนำเข้า ซึ่งจะนำเรื่องนี้ไปเรียนให้ที่ประชุม ครม.ทราบอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 26 ม.ค.64 เพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้ากระเทียมต่อไป  นอกจากนี้ จะเข้มงวดการออกไปอนุญาตนำเข้ากระเทียม ให้มีการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพของกระเทียมที่นำเข้า และเข้มงวดการตรวจสอบการขนย้าย หากตรวจพบการกระทำผิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/820902

ไทยลงทุนในเวียดนามพุ่งขึ้น

ตามข้อมูลของกระทรวงวางแผนและการลงทุน ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีโครงการจดทะเบียนใหม่ 40 โครงการ และอีก 23 โครงการที่จดทะเบียนเพื่อปรับเพิ่มเงินทุน และ 100 รายที่เป็นการช่วยเหลือทางเงินทุนในการบริหารจัดการทางบริษัท รวมถึงการเข้ามาซื้อหุ้นในเวียดนาม ด้วยเงินทุนราว 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวเลขข้างต้น เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2562 และประมาณ 7 เท่าเมื่อเทียบกับปี 58-63 ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ไทยติดอันดับ 1 ใน 9 ที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ด้วยเงินทุนสะสมทั้งหมด 12.8     ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปี นักลงทุนชาวไทยมีความสนใจในสาขาธุรกิจที่หลากหลายด้วยกัน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป พลังงานสะอาดและอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม การระบาดของโควิด-19 ทำให้นักลงทุนชาวไทยลงทุนมากขึ้น ทำการควบรวมและเข้าซื้อกิจการในเวียดนาม

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/858771/thai-investment-in-viet-nam-increases.html

พัฒนาการของไทย สู่ ‘ฮับ’ ยานยนต์ไฟฟ้าอาเซียน

ยานยนต์ไฟฟ้า ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันอย่างจริงจังในประเทศไทยเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ทั้งในฐานะ “อุตสาหกรรมใหม่” และในฐานะ “หนทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม” ของประเทศ หลายปีที่ผ่านมาดูเหมือนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเหมือนเช่นที่ผ่านมา ทั้งนี้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยไม่เฉพาะแต่เพียงรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยานยนต์ไฟฟ้าในไทย แตกแขนงออกไปในหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นรถบัสโดยสาร รถตุ๊กตุ๊ก รถขนาดเล็ก 4 ที่นั่งสำหรับใช้งานในเมือง บริการเช่ารถไฟฟ้า แอพพลิเคชั่นสำหรับเช่ารถไฟฟ้า เรื่อยไปจนถึงเรือใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยว โดยทั้งหมดนั่นเริ่มต้นจากพื้นฐานของการเป็น “ฐานการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 4 ในเอเชีย เป็นรองเพียงแค่จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เท่านั้น” ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ในเวลานี้ “โรดแม็ป” ของไทยในการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี ตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่ราวร้อยละ 30 ของรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในประเทศในปีหนึ่งๆ หรือราว 750,000 คัน ต้องเป็นรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าภายในสิ้นทศวรรษนี้ จัดสรร “แรงจูงใจ” เชิงภาษีให้เพื่อดึงดูดบรรดาค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ให้เข้ามาร่วมอยู่ในโครงการนี้

ที่มา : https://www.matichonweekly.com/column/article_390875

รัฐเล็งช่วยค่าจ้างแรงงานท่องเที่ยวคนละครึ่งพยุงกิจการ

“พิพัฒน์” เตรียมคุย “สุชาติ” ทำโค-เพย์ จ่ายค่าจ้างเดือนละครึ่ง 7,500 บาท หวังช่วยเอกชนท่องเที่ยวทั้งระบบจ้างงานเอาไว้ ไม่ต้องปิดกิจการจากผลกระทบของไวรัสโควิด นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้จะหารือกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือแรงงานภาคการท่องเที่ยวทั้งระบบที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เบื้องต้นรัฐบาลอาจนำแนวทางการร่วมจ่ายเงินค่าจ้าง (โค-เพย์) มาใช้ โดยรัฐบาลและผู้ประกอบธุรกิจจะร่วมกันจ่ายค่าจ้างให้พนักงานคนละครึ่ง ฝ่ายละ 7,500 บาทต่อเดือน เพื่อพยุงการจ้างงานเอาไว้ในระบบต่อไป หลังจากตอนนี้มีผู้ประกอบธุรกิจหลายรายได้รับความเดือดร้อนและอาจจำเป็นต้องปิดกิจการลงหากไม่มีแนวทางมาช่วยเหลือ ทั้งนี้ในการช่วยเหลือรูปแบบของการร่วมจ่ายเงินค่าจ้างรายเดือนนั้น จะกำหนดให้ช่วยเหลือครอบคลุมการจ่ายค่าจ้างสูงสุดรายละไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งรัฐและผู้ประกอบธุรกิจจะช่วยกันจ่ายคนละครึ่ง แต่ระยะเวลาที่เหมาะสมนั้น เบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะช่วยเหลือ 1 ปี หรือเป็นเวลากี่เดือน เพราะต้องพิจารณาวงเงินที่จะใช้ด้วย เช่น วงเงินของกองทุนประกันสังคม หรือขอใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหากใช้เงินในก้อนหลังก็ต้องหารือกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/819774

อคส.ลุยรีแบรนด์ข้าวถุง เป้ายอดปีนี้1,300 ล้าน

อคส.เดินหน้ารีแบรนด์ข้าวถุงครั้งใหญ่ ชูคุณภาพดีราคาถูก เน้นขายเข้าร้านธงฟ้า หลังรายได้ขายเข้าเรือนจำวูบกว่า 40% จากเสียภาพลักษณ์ทุจริตถุงมือยาง ทำส้มหล่นใส่ อ.ต.ก. เร่งกู้ตลาดคืน ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ 1,300 ล้านบาท ลุ้นตลาดจีนช่วยดันยอด 4,000 ล้าน นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เผยเดินหน้าต่อยอดในส่วนของงานปี 2563 แม้ว่ารายได้จะลดลงจากการจำหน่ายข้าว เข้าเรือนจำจะลดลงไปกว่า 40-50% จากเกิดกรณีทุจริตถุงมือยางช่วงปลายปีและอยู่ระหว่างการเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง ส่งผลให้เรือนจำหันไปซื้อข้าวจากองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.)เพิ่มขึ้น เบื้องต้นมีแผนจะทำข้าวถุงที่มีคุณภาพแต่ราคาถูกลงจากเดิม และปรับคุณภาพข้าวใหม่ มีการหาข้าวสายพันธุ์อื่นๆ มาทำตลาด เช่นจากกลุ่มเกษตรกรลพบุรี กลุ่มเกษตรกรบุรีรัมย์ เป็นต้น สำหรับช่องทางการจำหน่ายข้าวถุงแบรนด์ใหม่ของอคส. จะยังคงเน้นไปที่ร้านธงฟ้า ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล และในอนาคตจะมีไปวางจำหน่ายตามหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ นครราชสีมา พิษณุโลก ส่วนข้าวหอมมะลิจะเน้นขายเข้าโมเดิร์นเทรด วิลล่ามาร์เก็ต  และมีแผนส่งทำตลาดออนไลน์ในจีนผ่าน T-Mall  ที่กระทรวงพาณิชย์มีเครือข่ายอยู่ ทั้งนี้ตั้งเป้ารายได้ปีนี้ไว้ที่ 1,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีรายได้ 1,260 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการขายข้าวเข้าเรือนจำ หาก สามารถจำหน่ายข้าวเข้าเรือนจำทั่วประเทศได้จะทำให้มียอดขายแบบก้าวกระโดด ตั้งเป้ารายได้ปี 2565 ไว้ที่ 1,500 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นปีละ 10% แต่หากการจำหน่ายข้าวถุงประสบความสำเร็จในตลาดจีน อคส.น่าจะมีรายได้แตะ 4,000 ล้านบาท ได้ในปี 2565 

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/464255

บรูไนเจ้าภาพประชุมอาเซียนนัดแรก ผลักดัน 3 ยุทธศาสตร์ ฟื้นฟู-ดิจิทัล-ยั่งยืน

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (SEOM Retreat) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยประเทศบรูไนดารุสซาลาม ทำหน้าที่ประธานอาเซียน บรูไน ได้เสนอประเด็นสำคัญที่ต้องการผลักดันให้สำเร็จ ภายในปี 2564 จำนวน 10 ประเด็น ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการฟื้นฟู 2.ด้านการเป็นดิจิทัล และ 3.ด้านความยั่งยืน  สำหรับยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ที่ประธานอาเซียนต้องการผลักดันมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. ด้านการฟื้นฟู ส่งเสริมมาตราการค้าเสรี การจัดทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวและการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา 2. ด้านการเป็นดิจิทัล จัดทำแผนงานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน 3. ด้านความยั่งยืน เช่น การจัดทำกรอบการส่งเสริมผู้ผลิตรายย่อย สหกรณ์ และวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม  ในด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะมุ่งเน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความยั่งยืนของภูมิภาคภายหลังการระบาดของโควิด-19

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/iq03/3191228

การค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชากับไทยลดลงในช่วง ม.ค. – พ.ย. 2020

การค้าข้ามพรมแดนระหว่างกัมพูชาและไทยลดลงร้อยละ 22 ในเดือน ม.ค. – พ.ย. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันตั้งแต่ต้นปี (YTD) ของปี 2019 โดยการค้าทวิภาคีในช่วงเวลาดังกล่าวมีมูลค่าอยู่ที่ 6.6 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 8.6 พันล้านดอลลาร์ ตามสถิติของสถานทูตกัมพูชาประจำปี 2019 ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 1.1 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาดังกล่าวลดลงร้อยละ 52 YTD จาก 2.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 ส่วนการนำเข้าจากไทยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 6.3 พันล้านดอลลาร์ลดลงร้อยละ 12 YTD จาก 5.6 พันล้านดอลลาร์ ที่บันทึกไว้ในเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายนในปี 2019 ทำให้กัมพูชาขาดดุลการค้ากับไทย 4.5 พันล้านดอลลาร์ ในเดือนพฤศจิกายน โดยการค้าข้ามพรมแดนแต่เพียงช่องทางเดียวของไทยกับกัมพูชามีมูลค่าสูงถึง 572 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการส่งออกของกัมพูชาไปไทยในเดือนพฤศจิกายนมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 59 ล้านดอลลาร์ลดลงร้อยละ 56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำไว้ได้ที่ 135 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าจากไทยในเดือนพฤศจิกายนสูงถึง 513 ล้านดอลลาร์แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 28

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50803109/cambodia-thailand-2020-trade-down-jan-nov/

อาคมถกนายกฯเตรียมเยียวยาประชาชน ลั่นเงินมีพอไม่ต้องกู้เพิ่ม

อาคม ถกนายกฯ มาตรการเยียวยาโควิด ยันมีแจกแน่ แต่ขอเลือกก่อนว่าแบบ เราไม่ทิ้งกัน หรือ คนละครึ่ง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้เข้าหารือร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ถึงรายละเอียดบรรเทาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่โดยกระทรวงการคลังจะกลับมาทำการบ้านเพิ่มเติม ขณะนี้รัฐบาลได้มีการเตรียมการเรื่องบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนแล้ว ซึ่งกำลังพิจารณารูปแบบ เช่น การเยียวยาเหมือนเดิม 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน หรือจะใส่เม็ดเงินเหมือนโครงการคนละครึ่งหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่คลังต้องพิจารณา “ข้อเรียกร้องให้แจกเงิน 4,000 บาท ระยะเวลา 2 เดือนเยียวยาประชาชนนั้น เป็นข้อเสนอของเอกชน ไม่ทราบว่าเสนอบนพื้นฐานของอะไร แต่ส่วนของรัฐบาลได้มีการเตรียมการเรื่องบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งในรายละเอียดจะต้องพิจารณาอีกครั้ง แต่ยังไม่ได้เสนอ ครม.ในวันที่ 12 ม.ค.นี้ ต้องทำการบ้านให้จบก่อน” ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะใช้วงเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยล่าสุด กระทรวงการคลังกู้เงินจากวงเงินดังกล่าวแล้ว 3.7 แสนล้านบาท และเบิกจ่ายเงินแล้ว 3.6 แสนล้านบาท จึงยังมีเพียงพอ ยังไม่จำเป็นต้องขอกู้เงินเพิ่มเติม

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/818373

รัฐบาลกัมพูชาจัดหาเงินเพิ่มสำหรับการกักกันแรงงานที่เดินทางกลับจากไทย

รัฐบาลกัมพูชาตัดสินใจเพิ่มงบประมาณจัดสรรให้กับ 4 จังหวัดชายแดนสำหรับการกักกันแรงงานกัมพูชาที่เดินทางกลับจากประเทศไทยจำนวน 700 ล้านเรียล (170,000 ดอลลาร์) รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศกล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่าจังหวัดพระตะบองและบันเตียเมียนเจยได้รับการจัดสรรเพิ่มเติมอีก 200 ล้านเรียล (49,000 ดอลลาร์) จังหวัดอุดรมีชัยได้รับเงินเพิ่มอีก 100 ล้านเรียล (24,000 ดอลลาร์) สำหรับการต่อสู้กับ โควิด-19 ในภูมิภาค โดยรายงานอ้างว่าแม้ว่าจุดผ่านแดนของไทยจะยังคงถูกปิด แต่ก็ยังคงเปิดรับแรงงานกัมพูชาที่มีความประสงค์เดินทางกลับมายังกัมพูชา ซึ่งจำเป็นต้องมีการกักกัน 14 วัน ถึงจะอนุญาตให้เดินทางกลับไปยังบ้านพักได้

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50802078/government-provides-additional-700-million-riels-for-quarantining-of-workers-returning-from-thailand/