ประชาชนตื่นรับมือวิกฤติโคโรนาแห่ซื้อสินค้าจำเป็นเข้าบ้าน ข้าวสาร น้ำดื่ม อาหารกระป๋อง ทิชชูยอดฮิต

จากการสำรวจของ”ฐานเศรษฐกิจ” ในช่วงสุดสัปดาห์ พบว่าจากกระแสที่ประชาชนเริ่มกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19ว่าจะกินระยะเวลายาวไปนานแค่ไหนยังไม่มีใครตอบได้ อีกทั้งการแพร่ระบาดก็เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าจำเป็นในช่วงสุดสัปดาห์  โดยพบว่ามีสินค้าที่วางขายตามห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างค้าปลีก บางประเภทเริ่มขาด  เช่น น้ำดื่ม บางยี่ห้อ ข้าวสาร อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำตาลทราย  และกระดาษทิชชูบางยี่ห้อ   จากการสอบถามของพนักงานขายที่ร้านโมเดิร์นเทรดแห่งหนึ่งในย่านลาดพร้าว  ยอมรับว่าช่วงวันหยุดสินค้าจำเป็นหลายอย่างขายดี บางช่วงขาดต้องรอมาเติมเป็นระยะ

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/424832?utm_source=homepage_hilight&utm_medium=internal_referral

กรมการค้าต่างประเทศ เดินสายประชาสัมพันธ์ข้าวไทย

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เข้าร่วมงานงานแสดงสินค้า Gulfood 2020 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 16 – 20 ก.พ. 63 ที่ผ่านมา เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ข้าวไทยรวมทั้งสร้างความรับรู้เกี่ยวกับมาตรฐานข้าวไทยและศักยภาพของผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยได้นำตัวอย่างข้าวคุณภาพดีของไทย ชนิดต่างๆ เช่น ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวเหนียว ไปจัดแสดงร่วมกับการจัดบอร์ดประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับมาตรฐานข้าวไทยนอกจากนี้ยังได้นำเสนอข้าวที่มีคุณลักษณะพิเศษของไทยและข้าวเพื่อสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อาทิ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวหอมนิล ข้าวกล้องแดง ข้าว กข 43 และข้าว กข 79 ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น ตลอดจนการจัดให้ชิมตัวอย่างข้าวไทยชนิดต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าชมงานได้สัมผัสรสชาติของข้าวไทยที่มีความหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า และผู้สนใจทั่วไป ได้มีการสอบถามรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องคุณลักษณะและมาตรฐาน รวมถึงเรื่องราคาข้าวรวมทั้งยังได้นำผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรนวัตกรรมเข้าร่วมจัดแสดงและประชาสัมพันธ์ด้วย โดยผู้นำเข้าทั้งจากตะวันออกกลางและจากทั่วโลกกว่า 100 ราย อาทิ อินเดีย ฟิลิปปินส์ บาห์เรน จอร์แดน ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้  ได้ให้ความสนใจสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยทั้งที่เป็นอาหารและไม่ใช่อาหาร  ซึ่งสินค้าที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ กระเทียมดำ โยเกิร์ตจากมะพร้าว น้ำนมข้าวยาคู ผลิตภัณฑ์แต่งกลิ่นเทียมจากส่วนผสมธรรมชาติ และอาหารสำหรับทารก

ที่มา :https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/870189?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=economic

กบง.ชงครม.ลดค่าไฟฟ้าช่วยปชช.ฐานราก-ธุรกิจรายย่อย

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า  ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กบง.) มีมติเห็นชอบ 4 มาตรการเร่งด่วนเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) 10 มี.ค. นี้ วงเงินรวมประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1.เห็นชอบการคืนเงินประกันมิเตอร์การขอใช้ไฟฟ้าให้กับครัวเรือน 21.5 ล้านราย สำหรับประเภทบ้านเรือนที่ใช้อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละรายว่าจ่ายเงินประกันมิเตอร์กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เท่าไหร่จะมีสิทธิ์ขอคืนเงินประกันได้ โดยจะเริ่มทยอยคืนตั้งแต่รอบบิลที่จะถึงนี้ 2.กบง.ยังมีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการกิจการพลังงาน(กกพ.) ตรึงอัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนอยู่ที่ประมาณ 3.50 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 3 เดือน ช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.63 จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.64 บาทต่อหน่วย คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือประมาณ 5,000 ล้านบาท อีกทั้งจะขอความร่วมมือจาก กฟภ.และกฟน.ช่วยลดค่าไฟฟ้าอีก 11 สตางค์ วงเงินประมาณ 4,800 ล้านบาท รวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท 3.เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้าบิลเดือนเม.ย.และเดือนพ.ค.ให้นานได้ถึง 6 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชนประเภทบ้านเรือนที่ใช้อยู่อาศัยกิจการขนาดเล็ก และกิจการโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยกเว้นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ 4.เห็นชอบให้นำเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าวงเงิน 4,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบปี 62 วงเงิน 2,500 ล้านบาท และปี 2563 วงเงิน 1,500 ล้านบาท ให้กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย มาใช้ดำเนินโครงการสร้างงานให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาภัยแล้งในท้องถิ่นต่างๆ เช่น ขุดลอกคูคลอง ผันน้ำ เป็นต้น เป็นการอัดฉีดเม็ดเงินในการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก บรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว…

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/economic/761932

‘กยท.’ หวั่นออร์เดอร์ส่งออกยางไปจีนวูบ 2 ล้านตัน

โควิด-19 พ่นพิษหนัก กยท.หวั่นใจออร์เดอร์จีนวูบ 50% ทุบน้ำยางส่งไปจีนชะงัก 2 ล้านตัน ฉุดราคาน้ำยางลง เร่งสปีดหน่วยงานรัฐใช้ยาง ล่าสุดดึง รพ.รามาธิบดี เอ็มโอยูปั๊มอุปกรณ์การแพทย์แปรรูปจากยาง การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงส่งผลให้ตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักเลื่อนชิปเมนต์ส่งมอบยางออกไปก่อนในขณะนี้ และแรงงานที่อยู่ในภาคโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมยางพารายังไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานที่โรงงานได้เต็มที่ ปีนี้จึงอาจจะล่าช้า อย่างไรก็ตาม คาดว่าช่วงเดือนมีนาคมนี้น่าจะคลี่คลายดีขึ้น เพราะจีนเริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ กยท.ตั้งเป้าหมายว่าจะมีการใช้ยางพาราในประเทศ 300,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ตั้งเป้าหมายไว้ 160,000 ตัน และมีการใช้ยางพาราจริงประมาณ 140,000 ตัน คาดว่าจะมีการใช้เพิ่มขึ้นจากการสร้างถนน และหน่วยงานนำยางแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยจะมีงบฯการวิจัยและพัฒนา 400 ล้านบาท” เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว และเข้าสู่ช่วงปิดการกรีดยาง รวมทั้งผลจากโรคใบด่างส่งผลให้ผลผลิตลดลงและยังได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ออร์เดอร์จากจีนหยุดชะงัก โดยปกติจีนมีการสั่งออร์เดอร์น้ำยางสดจากไทยกว่า 50% ของปริมาณน้ำยางทั้งหมดในประเทศ หรือออร์เดอร์หายไปประมาณ 2 ล้านตัน ดังนั้น กยท.จึงต้องเร่งผลักดันการใช้ยางในประเทศจากการสร้างถนน สร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์และหน่วยงานนำยางแปรรูปผลิตภัณฑ์ ล่าสุดได้บันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ด้านการวิจัยและพัฒนา ระหว่าง กยท.กับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนาแบบจำลองสื่อการเรียนการสอนทางการแพทย์จากยางพาราแปรรูปที่เป็นประโยชน์ต่อนักวิจัยในการพัฒนาวิจัย ทดแทนการนำเข้า และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา ในระยะเวลา 3 ปี รายงานจาก กยท.ระบุว่า ขณะนี้ระดับราคาน้ำยางสด ณ วันที่ 4 มี.ค. 2563 อยู่ที่ กก.ละ 42.80 บาท จากเดือนก่อนหน้า (3 ก.พ.) อยู่ที่ กก.ละ 39.80 บาท ส่วนราคาเอฟโอบีอยู่ที่ กก.ละ 50.55 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เคยอยู่ที่ กก.ละ 47 บาท ไทยมีการส่งออกยางพาราในเดือนมกราคม 2563 ปริมาณ 296,348 ตัน เพิ่มขึ้น 0.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่า 388 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.02%

ที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-429452

แบงก์ชาติ หวั่นบริโภคดิ่งลึก ไวรัสลามหนักฉุด GDP ต่ำ 1%

ธปท.ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีนี้โตต่ำสุด เผยเดือน ก.พ. ตัวเลขดิ่งลึก กนง.จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง เร่งใช้งบฯปี”63-ภัยแล้ง-ไวรัส COVID-19 หวั่นโรคระบาดลามทั้งปี ฉุดจีดีพีโตต่ำ 1% ชี้ยกเลิกงานอีเวนต์-กิจกรรมในประเทศ ส่งผลการบริโภคหดตัวไม่ถึง 4% ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปีนี้จะต่ำสุดของปี 2563 โดยตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ก.พ. จะเป็นเดือนที่ลงลึกสุด เนื่องจากผลกระทบจากปัจจัยการระบาดของไวรัส COVID-19 ยังไม่กระทบมากนัก และยังคงติดตามสถานการณ์ 3 ปัจจัย 1.พ.ร.บ.งบประมาณปี”63 ที่ประกาศใช้และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐที่จะออกมา 2.ภัยแล้งที่รุนแรงกว่าปี 2559 เนื่องจากสต๊อกน้ำไม่เพียงพอและอยู่ในภาวะวิกฤต 3.COVID-19 แม้การระบาดในจีนเริ่มชะลอตัว แต่การระบาดเพิ่มนอกประเทศ เช่น เกาหลี และในยุโรป ที่พุ่งขึ้นค่อนข้างเร็ว และมีผลต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทย จากเดิมที่กระทบแค่เศรษฐกิจจีน ทั้ง 3 ปัจจัยสถานการณ์ยังไม่นิ่ง และมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยเดือน ม.ค. 2563 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำหดตัวต่อเนื่องที่ 1.3% ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้วัดการลงทุนภาคเอกชน หดตัวติดลบ 8.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวสูง เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 ยังไม่ประกาศใช้ โดยการใช้จ่ายในส่วนรายจ่ายประจำติดลบ 20.4% และรายจ่ายลงทุนติดลบ 35.5% ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีอัตราการเติบโต 1.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวรวมเดือน ก.พ. คาดว่าจะหายไป 40-45% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยนักท่องเที่ยวจีนหายไปกว่า 90% ฉุดการบริโภคทั้งปีหดต่ำกว่า 4% สำหรับสถานการณ์การยกเลิกการจัดงานอีเวนต์ การประชุมสัมมนาต่าง ๆ เบื้องต้นจะกระทบกิจกรรมภายในประเทศที่มีผลต่อการบริโภค คาดว่าการบริโภคทั้งปี 2563 ไม่น่าจะยืนการเติบโตได้ในระดับ 4% ตามกรอบประมาณการ แต่เชื่อว่าหากไวรัส COVID-19 เริ่มคลี่คลาย จะเห็นกิจกรรมต่าง ๆ กลับมาเป็นปกติได้ ขณะเดียวกัน ธปท.ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย ธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบการ ส่วนหนึ่งก็เพื่อช่วยเหลือประคองให้ลูกค้า-ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจในช่วงนี้ไปก่อน

ที่มา: https://www.prachachat.net/finance/news-426856

ลดภาษี-แจกเงิน ยาแรงพยุงศก.

กูรูแนะรัฐออกมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กระตุ้นกำลังซื้อคนชั้นกลาง ฉีดเงินผ่านชิม ช้อป ใช้-บัตรผู้มีรายได้น้อย สัญญาณเศรษฐกิจเดือนมกราคม 2563 อยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนหดตัวโดยอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว ด้านการใช้จ่ายภาครัฐทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนหดตัว ส่วนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงตาม และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์เห็นพ้องเสนอรัฐบาลออกมาตรการชุดใหญ่เพื่อประคองเศรษฐกิจภายใน ท่ามกลางปัจจัยลบและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ตีวงกว้างฉุดกำลังซื้อ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสนอให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการคงภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ไว้ที่ 7% นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เห็นด้วยหากจะลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน และเพื่อให้ภาคธุรกิจเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอี และลูกจ้างได้มีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้น กระทรวงแรงงานควรยกเว้นให้นายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นเวลา 6 เดือน นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การลดภาษีมูลค่าเพิ่มลง 2% จาก 7% เหลือ 5% นั้น อาจจะเป็นหนึ่งในทางเลือกซึ่งทางการต้องพิจารณาในหลายมิติ ลงนั้น หากเป็นมาตรการชั่วคราวเมื่อถึงตอนครบกำหนดจะปรับขึ้นจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจแย่ลง เพราะประชาชนจะกักตุนสินค้า แนวทางแจกเงินผ่านกลไกกองทุนหมู่บ้านฯ นั้น ส่วนตัวก็เห็นด้วย เพราะประชาชนในชนบทและเกษตรกรได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ประเด็นทุกวันนี้มาจากธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบและเริ่มขยายวงธุรกิจอื่นในวงกว้างขึ้น เรื่อยๆ ทั้งค้าปลีก ขนส่ง โรงแรม โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในกลุ่มนี้จึงต้องหาทางช่วยให้ตรงจุดและคิดหาวิธีเยียวยาชั่วคราวเพื่อประคองกันไปด้วย นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดการเงินและการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ฯ กล่าวว่า ตอนนี้นโยบายต้องหาเงินเข้ากระเป๋าประชาชนไม่ใช่หาเงินเข้ากระเป๋านายทุน โดยเฉพาะต้องหาทางว่าทำอย่างไรให้คนมีรายได้เข้ามา เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากพิจารณาปรับลดลงจะเอื้อให้คนระดับกลาง-บนสามารถจับจ่ายใช้สอย ช่วยให้คนมั่นใจสามารถใช้จ่ายซึ่งเป็นการหมุนรอบเศรษฐกิจ นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เสนอให้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นมาตรการระยะสั้นในปีนี้ เพราะเวลานี้คนขาดความเชื่อมั่นและไม่กล้าจ่าย แต่เมื่อสถานการณ์ไวรัสคลี่คลายชัดเจนคนจะเริ่มออกมาใช้จ่าย ซึ่งเห็นได้จากหลายประเทศใช้วิธีออกมาตรการกระตุ้น เช่น ฮ่องกงและสิงคโปร์ใช้วิธีแจกเงินเช่นกัน แต่วงเงินอาจจะไม่เหมาะกับเมืองไทยแต่ก็มีหลายมาตรการที่จะนำมาใช้ได้ ส่วนกรณีแจกเงินผ่านกองทุนหมู่บ้านฯ หากจะเพิ่มให้มีการสร้างงานในพื้นที่ควบคู่ไปด้วยก็จะดี

ที่มา: https://www.thansettakij.com/content/money_market/423159?utm_source=homepage_hilight&utm_medium=internal_referral

EXIM BANK สนับสนุนทางการเงินแก่ธนาคารชเว ส่งเสริมผู้ประกอบการเมียนมานำเข้าสินค้าไทย

นางสาวดรัสวันต์ ชูวงษ์ (ที่ 3 จากขวา) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) และ ดร.ลา ตาว (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้จัดการทั่วไป ธนาคารชเว (Shwe Bank) ร่วมลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินของ EXIM BANK สำหรับให้ธนาคารชเวนำไปใช้สนับสนุนธุรกิจของผู้ประกอบการเมียนมาที่ต้องการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้การค้าไทย-เมียนมามีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยมี ดร.เตง ซอ (กลาง) รองประธานบริหาร ธนาคารชเว เป็นสักขีพยาน ณ ธนาคารชเว สำนักงานใหญ่ ย่างกุ้ง เมียนมา เมื่อเร็ว ๆ นี้

ที่มา : https://www.ryt9.com/s/prg/3098728

ลุ้นรัฐกระทุ้งงบ-ออกมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ

วิจัยกรุงศรีฯ ลุ้นรัฐกระทุ้งงบ-ออกมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ คาดไวรัสโควิดจบมี.ค.นี้หนุนนักท่องเที่ยวดีครึ่งปีหลัง ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกจะขยายตัวติดลบ 0.7% แต่เชื่อว่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในครึ่งปีหลัง โดยคาดหวังว่าจะมีนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในเดือนมี.ค.นี้เหลือ 0.75% จากปัจจุบัน 1% และรอภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มหลังจากงบประมาณ 63 มีผลบังคับใช้คาดกลางเดือนมี.ค.นี้ ทั้งนี้จากที่ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัว 1.5% เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมากจนอาจกระทบต่อเนื่องถึงภาคการผลิต การจ้างงาน และการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ขณะเดียวกันงบประมาณ 63 ที่ล่าช้ายังส่งผลให้งบเบิกจ่ายสูญเสียไปแล้ว 1.5 แสนล้านบาท คาดหลังจากเดือนมี.ค.นี้เมื่องบประมาณ 63 มีผลบังคับใช้ โดยรัฐบาลจะต้องเร่งเบิกจ่ายให้เร็วที่สุดอาจมีเหลือ 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมางบประมาณล่าช้ากระทบต่องบลงทุนภาครัฐและลงทุนเอกชนเพราะโครงการลงทุนภาครัฐไม่ชัดเจน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรเริ่มจากช่วยกระตุ้นจับจ่ายใช้สอยในประเทศ เช่นที่ผ่านมาแจกเงินเช็คช่วยชาติ ยังทำให้ห้างร้านได้ลดราคา ให้คนที่ไม่ได้เช็คช่วยชาติได้เข้าถึงสินค้าที่ลดราคานั้นด้วย ยิ่งทำให้เกิดกำลังซื้อเพิ่มได้อีก อย่างไรก็ตามไวรัสโควิด-19 คาดจะไม่ยืดเยื้อ เชื่อว่าจะกระทบเศรษฐกิจสูงสุดเดือนก.พ.-มี.ค.นี้ และจะค่อย ๆ ลดลง หลังเดือนพ.ค.จากอัตราการแพร่กระจายจะลดลง โดยครึ่งปีหลังเมื่อไวรัสฯ กลับมาดีขึ้น จะทำให้การท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาดีขึ้นตามไปด้วย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/759323

ถกทูตพาณิชย์ปรับทัพส่งออกปี63

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเรียกประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลก 28 ก.พ.นี้เพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกและปรับทัพใหม่หลังเจอไวรัสโควิด-19ระบาดหนัก  นายสมเด็จ สุสมบูรณ์  อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า  ในวันที่ 28 ก.พ.นี้จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ทั่วโลกเพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกของไทยในปี 63  พร้อมทั้งปรับแผนงานการส่งออกในตลาดในสถานการณ์ที่มีการแข่งขันสูง ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  สงครามการค้าสหรัฐ-จีน  เป็นต้น ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีแผนการหรือกิจกรรมส่งเสริมการค้าเพื่อกระตุ้นการส่งออกที่แตกต่างกัน ส่วนแผนการการเจาะตลาด 18 ประเทศที่วางไว้ก็คงต้องมีการปรับใหม่เพื่อความเหมาะสมหลังจากที่เกิดเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโควิค-19 สำหรับแผนการตลาดที่ต้องต้องปรับใหม่ เช่น แผนการโปรโมทสินค้าผลไม้ในดือนเม.ย.ต้องดูความเป็นไปได้ว่าจะสามารถเข้าไปทำกิจกรรมโปรโมทได้หรือไม่ หากไม่ได้ก็ต้องระงับไว้ก่อน พร้อมกับปรับแผนให้เน้นในเรื่องของการขายออนไลน์ให้มากขึ้น แต่หากว่าจีนคุมสถานการณ์ได้ไว้ เราก็ต้องรีบเข้าจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด  ขณะเดียวกันก็ต้องมองไปที่ตลาดอื่นๆด้วย

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/economic/758828

รถไฟเชื่อมระหว่างกัมพูชาและไทยใกล้ที่จะเปิดทำการในเร็วๆนี้

เจ้าหน้าที่การรถไฟของกัมพูชาและไทยจะประชุมเพื่อหารือเรื่องการขนส่งทางรถไฟข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ โดยปลัดกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งกล่าวว่าข้อตกลงด้านการขนส่งทางรถไฟข้ามพรมแดนได้ลงนามไว้ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือเปิดทำการ ซึ่งการเชื่อมต่อใหม่จะช่วยให้การขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุน ปรับปรุงความปลอดภัย ลดปัญหาการจราจรติดขัดและมีส่วนช่วยในการพัฒนาของทั้งสองประเทศรวมทั้งเพิ่มการเชื่อมโยงเพิ่มเติมกับสมาชิกอาเซียนและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งรัฐบาลของทั้งสองประเทศคาดหวังว่าจะปรับปรุงการขนส่งและส่งเสริมการค้า นอกจากนี้ยังเปิดตัวสะพานมิตรภาพ Stung Bot – Ban Nong Ian เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างสองประเทศอีกด้วย  โดยเส้นทางรถไฟสายเหนือจะเชื่อมต่อกัมพูชาและไทยเริ่มต้นที่กรุงพนมเปญและเดินทางไปยังปอยเปตที่ชายแดนไทยระยะทาง 386 กิโลเมตร ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่าการค้าทวิภาคีระหว่างกัมพูชาและไทยอยู่ที่ 9.41 พันล้านเหรียญสหรัฐ ณ ปี 2562 เพิ่มขึ้นจาก 8.39 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50689585/cambodia-thailand-railway-a-stop-nearer-being-ready