“การค้าเวียดนาม-สปป.ลาว” เติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2565

จากการประชุมข้อตกลงครั้งที่ 44 ของคณะกรรมการความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัฐบาลลาวและรัฐบาลเวียดนาม ระบุว่ารายได้จากการค้าระหว่างเวียดนามและลาว ในปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เวียดนามส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อยู่ที่ 656.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.4% โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นน้ำมัน ก๊าซ ปุ๋ย เหล็กและเครื่องจักร เป็นต้น ในขณะที่เวียดนามนำเข้า อยู่ที่ 1.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 34.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ สำนักงานการค้าเวียดนามในลาว เปิดเผยว่าธุรกิจอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศ ได้ร่วมมือและประสานงานกันในการส่งเสริมการค้าตลอดทั้งปี รวมถึงจัดการประชุมความเชื่อมโยงทางการค้าทั้งสินค้าเกษตร อาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนพฤษภาคม

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnamlaos-trade-records-impressive-growth-in-2022/247884.vnp

“สนามบินเวียดนาม” เผย ม.ค. รองรับผู้โดยสาร ทะลุ 9.8 ล้านคน

สำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม (CAAV) เปิดเผยว่าในเดือน ม.ค. สนามบินเวียดนามทั่วประเทศ รองรับผู้โดยสารมากกว่า 9.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.8% จากเดือนก่อนหน้า ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารต่างประเทศ มีจำนวน 2.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% ในขณะที่ผู้โดยสารภายในประเทศ มีจำนวน 7.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 15% จากเดือนก่อนหน้า อีกทั้ง สนามบินเวียดนามรองรับกับการขนส่งสินค้าได้ประมาณ 112,000 ตัน เพิ่มขึ้น 11.6% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2565 นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลเต๊ด แต่ก็ไม่มีปัญหาความแออัดในสนามบิน โดยเฉพาะสนามบินโหน่ยบ่ายและเติ่นเซินเญิ้ต

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnams-airports-serve-more-than-98-million-passengers-in-january/247849.vnp

“ธนาคารเวียดนาม” เล็งจ่ายปันผลเป็นเงินสดครั้งแรก! ในรอบ 3 ปี

“TPBank” ธนาคารเวียดนาม ประกาศจ่ายปันผลเป็นเงินสดในอัตรา 25% แทนการจ่ายปันผลเป็นหุ้นเหมือนปีที่ผ่านมา หมายความว่าผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินปันผล 2,500 ดอง (0.11 เหรียญสหรัฐ) ต่อหุ้น และคาดว่าจะจ่ายปันผลในไตรมาสแรกของปีนี้ นับว่าเป็นธนาคารแห่งแรกที่จ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดในปี 2566 โดยก่อนหน้านี้ธนาคารเวียดนาม “Vietnam International Commercial Joint Stock Bank” หรือ VIB เปิดเผยว่าหากได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นและธนาคารแห่งรัฐ จึงสามารถดำเนินการจ่ายปันผลเป็นเงินสดสูงถึง 35% ของทุนจดทะเบียน ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผล 3,500 ดองต่อหุ้น

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1480247/banks-plan-to-pay-cash-dividends-for-first-time-in-three-years.html

Vietnam Economic Factsheet : 2565

FACTSHEET VIETNAM ปี 2565

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเวียดนาม ปี 2565 ขยายตัว 8.02% ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554-2563 โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และยังถือว่าเป็นการเติบโตในระดับที่สูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งไว้ที่ 6-6.5% โดยตัวเลข GDP ในไตรมาส 4 ของปีนี้เติบโต 5.92% ขยายตัวมากกว่าที่คาดไว้ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกที่อาจจะได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่หดตัวลงทั่วโลก

โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ปี 2565  พบว่าภาคเกษตร ป่าไม้และประมง คิดเป็นสัดส่วน 11.88% ของ GDP, ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง (38.26% of GDP), ภาคบริการ (41.33% of GDP) และภาษีเงินอุดหนุน (8.53% of GDP)

ด้านการใช้จ่าย ปี 2565 พบว่าการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้าย ขยายตัว 7.18%, การสะสมสินทรัพย์ ขยายตัว 5.75%, การส่งออกสินค้าและบริการ ขยายตัว 4.86% และการนำเข้าสินค้าและบริการ ขยายตัว 2.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

“เวียดนาม” เผยหนี้อสังหาฯ แตะ 1,200 ล้านล้านดอง

กระทรวงการก่อสร้าง เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 พบว่ายอดสินเชื่อคงค้างของภาคอสังหาริมทรัพย์ มีมูลค่าสูงถึง 1,200 ล้านล้านดอง และภาระหนี้ดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากธนาคาร ประมาณ 800 ล้านล้านดอง และพันธบัตรอสังหาริมทรัพย์ 419 ล้านล้านดอง ทั้งนี้ ในปี 2565 เพียงปีเดียว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้กู้เงิน 180.7 ล้านล้านดอง เพื่อเป็นเงินทุนสำหรับโครงการที่อยู่อาศียและการพัฒนาเมือง โดยเงินกว่า 144.1 ล้านล้านดอง หรือคิดเป็น 18.16% ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ถูกใช้ไปกับการก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่เงินอีก 85.2 ล้านล้านดองถูกใช้ไปซื้อที่ดิน

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/real-estate-sector-s-debt-hits-vnd1-200-trillion-2105830.html

S&P Global ชี้ “ภาคการผลิตเวียดนาม” เพิ่มขึ้น 6.6%

ตามข้อมูลจาก S&P Global Market Intelligence ระบุว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเวียดนาม เพิ่มขึ้น 6.6% ในปี 2566 อย่างไรก็ตามภาคอุตสาหกรรมยังคงเผชิญกับปัจจัยท้าทายหลายด้านในปีนี้ อาทิเช่น ยอดคำสั่งซื้อใหม่และการผลิตที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของเวียดนาม อยู่ที่ระดับ 47.4 จุดในเดือนมกราคม เพิ่มขึ้นจาก 46.4 จุด ในเดือนธันวาคม แสดงให้เห็นถึงภาวะที่ถดถอยอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ นาย Andrew Harker ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์ของ S&P Global Market Intelligence กล่าวว่าถึงแม้สภาวะอุปสงค์สำหรับบริษัทผู้ผลิตในเวียดนามจะยังคงเผชิญกับความท้าทายในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งนำไปสู่การลดลงของผลผลิต คำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน แต่ก็มีสัญญาณเชิงบวกจากผลการสำรวจดัชนี PMI และหนึ่งในปัจจัยบวกสำคัญในเดือนมกราคม คือ ยอดคำสั่งส่งออกใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา : https://en.baophuyen.vn/1/52010/vietnam%E2%80%99s-industrial-production-to-rise-6-6-in-2023–s-p-global.html

EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ปี’66 ขยายตัวแกร่ง แต่ต่ำกว่าศักยภาพก่อน COVID-19

SCB EIC คาดเศรษฐกิจ CLMV ในปี 2566 ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น แต่ยังต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในช่วงก่อนการระบาด COVID-19 โดยมีอัตราการเติบโตที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ โดยประเมินว่าในปีนี้กัมพูชาจะขยายตัวได้ 5.5% สปป.ลาวและเมียนมา 3.0% และเวียดนาม 6.2% อีกทั้ง เศรษฐกิจ CLMV ในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากอุปสงค์ภายในประเทศและการท่องเที่ยว การบริโภคภายในประเทศมีปัจจัยบวกจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง เห็นได้จากการจ้างงานในเวียดนามในไตรมาส 4 ปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดตั้งแต่เกิดการระบาด COVID-19 ขณะเดียวกัน ภาคบริการจะได้อานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีความสำคัญต่อ CLMV คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30-35% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2562 โดยจีนอนุมัติให้กรุ๊ปทัวร์สามารถเดินทางมากัมพูชา และสปป.ลาวได้ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ และคาดว่าจะเพิ่มรายชื่อประเทศที่สามารถเดินทางมาได้เร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้กัมพูชาและเวียดนามจะได้รับผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวมากที่สุด เนื่องจากพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวสูงอยู่ที่ 18.2% และ 9.8% ต่อ GDP ตามลำดับ

ที่มา : https://thaipublica.org/2023/02/eic-expects-stronger-clmv-economic-growth-in-2023/