“ตลาดธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกของเวียดนาม” แนวโน้มเติบโตในปี 2566

ตลาดพื้นที่ค้าปลีก (Retail space) ของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2566 ตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมค้าปลีก โดยเฉพาะการลงทุนระลอกใหม่ของแบรนด์ดังจากต่างประเทศ ในส่วนของมุมมองของผู้เชี่ยวชาญอย่าง คุณ Nick Bradstreet หัวหน้าฝ่ายตลาดค้าปลีกของ Savills’ Asia-Pacific กล่าวว่าแบรนด์ค้าปลีกชื่อดังหลายแห่งได้พิจารณาขยายการดำเนินธุรกิจในเวียดนาม เนื่องจากเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งและเล็งเห็นถึงศักยภาพของเวียดนาม ยกตัวอย่างเช่น บริษัทลอตเต้ (Lotte) เดินหน้าทำโปรเจกต์ใหม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายแก่เวียดนามในปัจจุบัน คือ ศูนย์การค้ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ค้าปลีกต่างชาติ

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-retail-real-estate-market-expects-growth-in-2023-2103611.html

ประเมินเศรษฐกิจเวียดนาม 2 ฉากทัศน์ ปี 2566

จากข้อมูลของ Central Institute for Economic Management (CIEM) เปิดเผยว่าได้ทำการประเมินเศรษฐกิจเวียดนาม 2 ฉากทัศน์ (Scenario) ในปี 2566 หลังจากเศรษฐกิจเวียดนามขยายตัว 8% ในปีที่แล้ว โดยเป็นการวิเคราะห์ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ ได้พิจารณาจากปัจจัยต่างๆ มากกว่าปีที่แล้ว ได้แก่ ความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด การแข่งขันทางภูมิศาสตร์และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นต้น ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทางสถาบันฯ จึงประเมินเศรษฐกิจของเวียดนามในปีนี้ ออกเป็น 2 ฉากทัศน์ (1) ฉากทัศน์แรก เศรษฐกิจของเวียดนามจะขยายตัว 6.47% และ (2) ฉากทัศน์ที่สอง เศรษฐกิจของเวียดนามจะขยายตัว 6.83%

ที่มา : https://english.vov.vn/en/economy/two-scenarios-for-vietnamese-economy-in-2023-post997878.vov

“AMRO” ปรับเพิ่ม GDP เวียดนาม ปี 66 โตสูงขึ้น แม้ว่าศก.ภูมิภาคชะลอตัว

สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) รายงานประจำเดือน ม.ค. เปิดเผยว่าได้ปรับตัวเลขเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2566 ขยายตัว 6.8% จากเดิมที่ปรับประมาณการเศรษฐกิจว่าจะขยายตัว 6.5% แต่หากเทียบกับเศรษฐกิจในประเทศภูมิภาค อาทิเช่น อาเซียน+3 ในปี 2566 ว่าจะขยายตัวประมาณ 4.3% จากในครั้งก่อนที่ประมาณการไว้ที่ 4.6% และในปี 2565 ชะลอตัว 3.7% สาเหตุหลักมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน +3 ที่อ่อนแอลง โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีอัตราการขยายตัวที่อ่อนแอลงอย่างมาก นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อของเวียดนาม คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3% ในปีนี้ และเงินเฟ้อของภูมิภาคอาเซียน+3 ปรับตัวลดลงจาก 6.3% ในปี 2565 มาอยู่ที่ 4.5% ในปีนี้

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1452456/amro-revises-viet-nam-s-2023-gdp-upward-despite-regional-slowdown.html

“บ่าเหรี่ยะ หวุงเต่า” ตั้งเป้ารายได้ต่อหัว 8,200 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566

คุณ Dang Minh Thong รองประธานคณะกรรมการจังหวัดบ่าเหรี่ยะ หวุงเต่า (Ba Ria – Vung Tau) กล่าวว่าในปี 2566 เงินลงทุนเพื่อการพัฒนาในจังหวัดจะสูงถึง 59 ล้านล้านดอง หรือประมาณ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.54% โดยรายได้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 89 ล้านล้านดอง ดังนั้น ทางหน่วยงานจังหวัดจึงจัดทำแผนการปฏิบัติงาน (Action Plan) อาทิเช่น โครงสร้างพื้นฐานระหว่างภูมิภาค โครงการสำคัญต่างๆ รวมถึงโครงการของรัฐฯ ระยะกลางในปี 2564-2569 และยังพัฒนาจังหวัดบ่าเหรี่ยะ หวุงเต่าให้กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของชาติ นอกจากนี้ จังหวัดดังกล่าวได้รับเงินลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้นประมาณ 2.07 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/ba-ria-vung-tau-aims-for-per-capita-grdp-of-8200-usd-in-2023/247275.vnp

ทุนสำรองเงินฯ ของเวียดนาม มูลค่าเติบโตสูงขึ้นในปี 2566

ตามรายงานของบริษัทหลักทรัพย์ VNDirect Securities Corporation ระบุว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้และปรับเพิ่มทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเวียดนาม ซึ่งจะช่วยลดค่าเงินดองของเวียดนาม ทั้งนี้ บริษัท VNDirect ยังคาดว่าบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลการค้า 0.4% ของ GDP ในปีนี้ จากที่คาดการณ์ว่าจะขาดดุล 1.3% ของ GDP ในปีที่แล้ว ด้วยเหตุนี้ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเวียดนามจะฟื้นตัวสู่ระดับการนำเข้าได้มากกว่า 3 เดือน และแตะระดับ 102 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในสิ้นปีนี้ จากระดับปัจจุบันที่ 89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/1451472/viet-nam-s-foreign-exchange-reserves-to-grow-this-year.html

สื่ออินเดีย ชี้เวียดนามก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของเอเชีย

บทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ “THE STAT READE TIMES” เปิดเผยว่าเวียดนามจะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชั้นนำของเอเชีย โดยเฉพาะเทคโนโลยีและเครื่องแต่งกาย โดยบทความข้างต้นระบุว่าบางประเทศในเอเชียยังอยู่ในช่วงค่อยๆ ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัส แต่เวียดนามยังคงมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และ GDP ของประเทศ เร่งขยายตัว 8.02% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 นับเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้ง เวียดนามมีแรงงานที่สามารถแข่งขันได้และต้นทุนการผลิตต่ำ ประกอบกับประชากรวัยหนุ่มสาว จำนวน 97 ล้านคน โดยสัดส่วนประชากร 70% อยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 35 ปี ซึ่งเป็นกำลังแรงงานจำนวนมากสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต

ที่มา : https://en.nhandan.vn/indian-newspaper-vietnam-could-be-asias-next-industrial-hotspot-post121907.html

จีนเปิดประเทศ! ดันท่องเที่ยว ส่งออกและลงทุนของเวียดนาม

ตามรายงาน “2023 outlook: Three ripples from China’s re-opening” ของธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ระบุว่ากลุ่มประเทศในอาเซียนได้รับผลประโยชน์อย่างมากจากการกลับมาเปิดประเทศของจีน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับปัจจัยบวกจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แม้ว่าจะมีความหวังในการสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการค้า ทั้งนี้ เวียดนามและไทยจะเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุด เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนมีสัดส่วนราว 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่อยู่ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของเวียดนามไม่ได้พึ่งพาภาคการท่องเที่ยวมากเท่าไรนักหากเทียบกับประเทศไทย

ที่มา : https://vir.com.vn/chinas-re-opening-to-impact-vietnam-99304.html