กัมพูชาขาดดุล BOP แตะร้อยละ 3 ของ GDP ประเทศ

กัมพูชาขาดดุลการชำระเงิน (BOP) ที่ 996 พันล้านเรียล ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 3 ของ GDP ประเทศ ตามรายงานล่าสุดของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) สำหรับดุลการชำระเงินและดุลบัญชีเงินทุนอยู่ที่ 1,634 พันล้านเรียล ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 4.9 ของ GDP ในขณะเดียวกัน บัญชีการเงิน สำหรับไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 6.11 พันล้านเรียล ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของ GDP โดยจากข้อมูลของ NBC ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 BOP ของกัมพูชาเกินดุลที่ 1,366 พันล้านเรียล เมื่อเทียบกับการขาดดุล 322 พันล้านเรียล ในไตรมาสแรกของปี 2023 ด้านการส่งออกของกัมพูชาในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 18.59 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ เครื่องแต่งกาย รองเท้า สินค้าเพื่อการท่องเที่ยว จักรยาน และสินค้าเกษตร อย่าง ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง กล้วย และมะม่วง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501418108/kingdoms-bop-deficit-stood-at-3-percent-of-gdp-in-2023-q3/

สปป.ลาว ขาดดุลเงินตราต่างประเทศ กระทบภาคสินเชื่อและการท่องเที่ยว

ผู้ว่าการธนาคารกลาง สปป.ลาว ได้เน้นย้ำถึงต้นตอของการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และกำหนดมาตรการหลัก เพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้ในระหว่างการประชุมกับคณะสภาแห่งชาติ โดย สปป.ลาว ประสบกับปัญหาขาดดุลเงินตราต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งหมายความว่าการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศน้อยกว่าการไหลออก ทำให้เกิดความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจ จนทำให้รัฐบาลต้องจำกัดจำนวนเงินกู้เนื่องจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ดุลการชำระเงินโดยรวมขาดดุล นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้ สปป.ลาว สูญเสียรายรับในรูปเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จากการที่ภาคการท่องเที่ยวที่หยุดชะงักและการลงทุนจากต่างประเทศที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งถือเป็นแหล่งที่มาหลักของเงินตราต่างประเทศของ สปป.ลาว ขณะที่ในปี 2022 มูลค่าการส่งออกของ สปป.ลาว อยู่ที่ 8.19 พันล้านดอลลาร์ แต่เข้าประเทศเพียง 2.7 พันล้านดอลลาร์ ตัวอย่างเช่น ในปี 2022 สปป.ลาว มีรายได้จากการส่งออกไฟฟ้าประมาณ 2.2 พันล้านดอลลาร์ แต่ไหลเข้า สปป.ลาว เพียง 500 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนได้รับอนุญาตให้ชำระหนี้ในต่างประเทศ จากการกู้เงินนอกประเทศเพื่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าใน สปป.ลาว

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Bol126.php

กัมพูชาเกินดุลการชำระเงิน (BOP) ในปี 2020

ดุลการชำระเงินของกัมพูชา (BOP) เกินดุลร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2020 โดยมีการเติบโตที่ได้รับแรงหนุนจากการไหลเข้าของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการส่งออกตามรายงานของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา (NBC) ซึ่งการส่งออกรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 ในปี 2020 จากการส่งออกทองคำ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จักรยาน ข้าว และยางพารา อย่างไรก็ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มที่ถือเป็นสินค้าสำคัญลดลงประมาณร้อยละ 7.8 โดยรายงานของ NBC ระบุว่าการนำเข้าทั้งหมดที่มายังกัมพูชาลดลงร้อยละ 10.1 ในปี 2020 ซึ่งการลดลงเป็นผลมาจากการชะลอตัวของการนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า รองเท้า วัสดุก่อสร้าง ยานยนต์และเชื้อเพลิง ในส่วนของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของกัมพูชาในปี 2020 ลดลงร้อยละ 11.9 ในปี 2020 เช่นเดียวกัน สาเหตุหลักมาจากการลดลงของการลงทุนในภาคธนาคาร (ลดลงร้อยละ 14.2) และภาคการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (ลดลงร้อยละ 9.8)

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50807074/payments-balance-up-kingdom-sees-a-1-7-percent-surplus-in-2020/

อาเซียนบวกสามผนึกกำลังเพิ่มประสิทธิภาพความช่วยเหลือทางการเงิน เสริมสภาพคล่องหากขาดดุลการชำระเงิน ผ่านกลไกการริเริ่มเชียงใหม่

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ เป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน+3 คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค (Regional Financing Arrangement) ในการเสริมสภาพคล่องระหว่างกันในกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงิน หรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น และเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือด้านการเงินที่ได้รับจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ และเมื่อครั้งการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนบวกสาม (AFMGM+3) ครั้งที่ 23 ได้มีมติเห็นชอบร่างความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM) Agreement) ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยขอให้แต่ละประเทศสมาชิกดำเนินการภายในเพื่อลงนามในร่างความตกลงดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญ คือ 1) เพิ่มสัดส่วนให้ความช่วยเหลือกรณีที่ไม่เชื่อมโยงกับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของวงเงินขอรับความช่วยเหลือสูงสุด 2) ยินยอมให้สามารถเลือกสมทบหรือขอรับความช่วยเหลือภายใต้กลไก CMIM เป็นสกุลเงินท้องถิ่นตามหลักความสมัครใจ ภายใต้วงเงินรวมคงเดิมจำนวน 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 3) เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากจะยกเลิกการใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกรุงลอนดอน (London Interbank Offered Rate : LIBOR) ในสิ้นปี 2564 และแก้ไขประเด็นเชิงเทคนิคเพื่อให้การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ภายใต้กลไก CMIM มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา : https://mgronline.com/politics/detail/9630000123605