ไทยเตรียมขยายเส้นทางการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทั่วโลกผ่านเครือข่ายทางรถไฟ

ไทยเตรียมขยายการเข้าถึงตลาดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรทั่วโลกผ่านเครือข่ายทางรถไฟที่เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับเชื่อมโยงจีน รัสเซีย และสหภาพยุโรป โดยการเดินทางครั้งแรกของเครือข่ายรถไฟใหม่นี้ เริ่มต้นขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์โดยมีรถไฟออกจากสถานีมาบตาพุด เพื่อสนับสนุนการขนส่งโดยระบบรางผ่านเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ภายใต้การขนส่งทางรถไฟเพื่อส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข้าวหอมมะลิ ทุเรียน และยางพารา ทั้งนี้ คาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทยได้อย่างมาก ช่วยส่งเสริมการเติบโตอย่างมั่นคงในภาคเกษตรกรรม ปรับปรุงประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ รักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ และมีส่วนช่วยในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยการขนส่งสินค้าครั้งแรกของรถไฟเส้นทางนี้ มีกำหนดขนส่งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทยไปยังเมืองเฉิงตู ประเทศจีน และต่อมาไปยังสหภาพยุโรปผ่านทางรถไฟ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังเส้นทางรถไฟดังกล่าวนี้ โดยมีกำหนดเดินทางถึงเมืองเฉิงตูในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 และจะขยายการขนส่งไปยังรัสเซียและโปแลนด์ต่อไป

ที่มา : https://thainews.prd.go.th/en/news/detail/TCATG231211115434766

ส่งออกนมไปคู่ค้า FTA โต 8.3% มูลค่ากว่า 357.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่ากรมได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทย พบว่า การส่งออกยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยในช่วง 7 เดือนของปี 2566 (มกราคม-กรกฎาคม) ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดโลก มูลค่า 380.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.2% เป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 357.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 8.3% คิดเป็นสัดส่วนถึง 94.1% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด ตลาดคู่ FTA ที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาเซียน เพิ่ม 6.9% จีน เพิ่ม 41.4% ฮ่องกง เพิ่ม 18.6% ออสเตรเลีย เพิ่ม 21.8% และอินเดีย เพิ่ม 137.6% สินค้าส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น นมพร้อมดื่มยูเอชทีนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม และหางนม (เวย์) เมื่อเจาะลึกลงไปในตลาด FTA ทั้งหมด ที่ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ พบว่า ตลาดอาเซียนมีการขอใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกสูงสุด เนื่องจากไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าทุกรายการแล้ว โดยในช่วง 7 เดือนไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 81% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด ตลาดที่ขยายตัวได้ดี เช่น สปป.ลาว เพิ่ม 14.2% ฟิลิปปินส์ เพิ่ม 13.3% และมาเลเซีย เพิ่ม 35.3% สินค้าที่ได้รับความนิยม เช่น นม UHT มูลค่า 86.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 16.7% นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต มูลค่า 78.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 14.4% เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีนมผสม มูลค่า 12.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 18.8% และหางนม (เวย์) มูลค่า 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 41.8% ปัจจุบัน ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของไทยกับคู่ค้า 18 ประเทศ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคู่ค้า FTA 14 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจากไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมบางส่วนให้ไทย เช่น ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 21.3-25.5% โยเกิร์ต อัตรา 21.3-29% และชีส อัตรา 22.4-40% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 26.8% โยเกิร์ต อัตรา 28.8% ชีส อัตรา 36% และอินเดีย ไม่เก็บภาษีนำเข้านมเปรี้ยวและโยเกิร์ตจากไทยแล้ว แต่ยังเก็บภาษีนำเข้านม อัตรา 20-60% นอกจากนี้ ความตกลงความ RCEP ญี่ปุ่น ตกลงจะทยอยลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มนมที่มีนมผสมลงจนเหลือ 0% ในปี 2580

ที่มา : https://www.naewna.com/business/756491

กัมพูชา-เกาหลี ร่วมหารือพัฒนาศักยภาพภาคการค้าระหว่างกัน

กัมพูชาและสาธารณรัฐเกาหลีได้หารือร่วมกันถึงศักยภาพทางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ โดยการอภิปรายเกิดขึ้นระหว่าง Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ Gyuhwa Jang รองประธานสมาคมผู้นำเข้าแห่งเกาหลี (KOIMA) และคุณ Yu Lin ประธานบริษัท GADOSH Korea Co., Ltd. บริษัทนำเข้ามะม่วงรายสำคัญของกัมพูชา ด้านรัฐมนตรีกล่าวถึงความพร้อมของกระทรวงในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจในการทำธุรกิจในกัมพูชา และสนับสนุนให้ฝ่ายเกาหลีศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีศักยภาพอื่นๆ ของกัมพูชา เช่น ลำไยและกล้วย โดยยังแนะนำให้นักลงทุนเกาหลีลงทุนในการสร้างโรงงานแปรรูปสินค้าทางการเกษตรเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศอีกด้วย

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501069705/cambodia-korea-discuss-trade-potential/