เกษตรกรเมียนมาหันไปใช้ปุ๋ยธรรมชาติกันมากขึ้น เพราะปุ๋ยเคมีราคาพุ่งสูง

นาย โก คินวัน ผู้ค้าปุ๋ยเคมีในเมืองตาน-ลยีน ของย่างกุ้ง ได้ให้ข้อมูลว่า การซื้อปุ๋ยเคมีของเกษตรกรในท้องถิ่นลดลงเนื่องจากได้หันไปใช้ปุ๋ยธรรมชาติกันมากขึ้นเพราะปุ๋ยเคมีมีราคาสูง ตั้งแต่วันที่ 8 ถึง 14 ตุลาคม 2565 มีการนำเข้าปุ๋ยกว่า 40,000 ตัน มูลค่า 24.726 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากโอมาน จีน เกาหลีใต้ ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวียดนาม และมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าปุ๋ยมากกว่า 1,000 ตัน มูลค่า 321 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากชายแดน โดยนำเข้าจากจีน 600 ตัน อินเดีย 20 ตัน และไทย 400 ตัน

ที่มา: https://www.gnlm.com.mm/fertilizer-pesticide-prices-slightly-decrease-as-cold-market/#article-title

“วิกฤติห่วงโซ่อุปทาน” กระทบ สปป.ลาว เร่งผลิตปุ๋ย-อาหารสัตว์เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน รัฐบาลสปป.ลาว พยายามผลักดันนโยบายจำกัดการนำเข้าและสนับสนุนการผลิตปุ๋ยในประเทศ โดยเกษตรกรมีความต้องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 2 ล้านตันต่อปี แต่ผลิตได้เพียง 600,000 ตันหรือ 30% ของความต้องการทั้งหมด ด้าน ดร.เพชร พรมพิภักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและป่าไม้ ได้ให้ข้อมูลว่า ได้เชิญผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่จากเวียดนามมาพบกับผู้ประกอบการสปป.ลาว ในการหารือเพื่อผลิตปุ๋ยร่วมกัน ในขณะเดียวกัน เกษตรกรทั่วประเทศต้องการอาหารสัตว์ประมาณ 600,000 ตัน แต่โรงงานจำนวน 6 แห่งในประเทศผลิตได้ต่ำกว่า 400,000 ตัน ซึ่งธุรกิจจำนวนมาก สนใจในการตั้งโรงงานกันมากขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการนำเข้าจากไทยที่มีราคาสูง นอกเหนือจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นและการค่าเงินกีบที่อ่อนตัวลง ด้าน นาย Nadav Eshcar อดีตเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสปป.ลาวและเวียดนาม ชี้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสปป.ลาวและอิสราเอลจะมีส่วนช่วยพัฒนาด้านการเกษตรให้มากขึ้น และเชื่อว่าเทคโนโลยีของอิสราเอลสามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์และประสบความสำเร็จในสปป.ลาว อย่างแน่นอน

ที่มา: https://laotiantimes.com/2022/07/18/laos-to-produce-more-fertilizer-and-animal-feed-amid-supply-chain-turmoil/

เลขาฯ UN วอนรวมอาหาร ปุ๋ยจากยูเครน รัสเซีย เข้าสู่ตลาดโลก

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เน้นย้ำถึงความสำคัญของการบูรณาการผลิตภัณฑ์อาหารและปุ๋ยจากยูเครนและรัสเซียเข้าสู่ตลาดโลก ต้นทุนหลักสำหรับเกษตรกรคือปุ๋ยและพลังงาน ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งในปีที่ผ่านมา และราคาพลังงานมากกว่าสองในสาม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายพันล้านคนทั่วเอเชีย แอฟริกา และอเมริกา ปัญหาการเข้าถึงอาหารในปีนี้อาจกลายเป็นปัญหาการขาดแคลนอาหารทั่วโลกในปีหน้า ไม่มีประเทศใดจะรอดพ้นจากผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากภัยพิบัติดังกล่าว วิกฤตการณ์ในปัจจุบันเป็นมากกว่าอาหาร และต้องใช้แนวทางพหุภาคีที่ประสานกันด้วยการแก้ปัญหาหลายมิติ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten121_UN_y22.php

ราคานำเข้าปุ๋ยเคมีของกัมพูชาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ในขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ราคาพลังงานและปุ๋ยเคมีปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทางด้านผู้เชี่ยวชาญแนะนำและเรียกร้องให้เกษตรกรเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตในท้องถิ่นแทน ซึ่งตามรายงานข่าวท้องถิ่น ราคาปุ๋ยนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 200% เป็น 300% หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อตัน ภายใต้การเพิ่มขึ้นของราคาปุ๋ย ส่งผลทำให้ภาคการเกษตรเกิดความท้าทายเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ในขณะเดียวกันตัวแทนบริษัทผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในกัมพูชา กล่าวว่า บริษัทได้เพิ่มการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เป็น 150 ถึง 160 ตันต่อเดือน และวางแผนที่จะเพิ่มการผลิตต่อไปเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศ

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501093182/imported-chemical-fertilizers-sees-hike-in-price-experts-call-for-switch-locally-produced-organic-fertilizers/