กัมพูชา-ไทย ยืนยันไม่ล็อกดาวน์ หลังมีการแพร่ระบาดของ Omicron

แม้จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron แต่ทางการกัมพูชาและไทย ยืนยันว่าจะไม่การบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ โดยเมื่อวันที่ 22 ก.พ. นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ได้เน้นย้ำถึงนโยบายว่าจะไม่มีการล็อกดาวน์เมืองหลวงและจังหวัดต่างๆ อย่างในปีที่แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะขาดแคลนสินค้า รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชา ปัจจุบันกัมพูชาตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron 598 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ 2 ราย ซึ่งปัจจุบันประชากรของกัมพูชามีทั้งสิ้น 16 ล้านคน ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วที่ร้อยละ 89.99 ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่าไทยจะไม่ออกคำสั่งล็อกดาวน์เช่นเดียวกัน แม้ว่าไทยจะยกระดับความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 เป็นระดับ 4 ภายใต้การรักษาระยะห่างและหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของไวรัส

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501030209/covid-19-cambodia-thailand-reject-lockdown-possibility/

เวียดนามเร่งฉีดวัคซีนโควิดรับปลดล็อกดาวน์ปลายเดือนนี้

กระทรวงสาธารณสุขของเวียดนาม ระบุว่า สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนในกรุงฮานอยได้มากกว่า 1 ล้านคนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คิดเป็นเกือบ 20% ของจำนวนวัคซีนทั้งหมดที่ฉีดในกรุงฮานอยตั้งแต่เดือนมี.ค. ทั้งนี้ นาย”ชู ง็อก อันห์” นายกเทศมนตรีกรุงฮานอย กล่าวว่า ทางการจำเป็นต้องเร่งการฉีดวัคซีนเพื่อที่จะสามารถเปิดธุรกิจต่าง ๆ ได้อีกครั้ง จนถึงตอนนี้ ประชากรในกรุงฮานอยประมาณ 80% จากทั้งหมด 5.7 ล้านคน ได้รับวัคซีนโควิดอย่างน้อยหนึ่งโดส และทางการหวังว่าตัวเลขคนฉีดวัคซีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 100% ภายในสัปดาห์นี้

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/world/959943

ชาวเวียดนามแห่กักตุนสินค้า ก่อนล็อกดาวน์เข้ม

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขของเวียดนามรายงานสถิติผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมในประเทศอย่างน้อย 348,059 คน เพิ่มขึ้น 11,346 คน นับเป็นวันที่ 4 ติดต่อกันแล้ว ซึ่งเวียดนามรายงานผู้ป่วยยืนยันมากกว่าวันละ 10,000 คน โดยชาวเวียดนามแตกตื่นกักตุนอาหารและของใช้ที่จำเป็น ก่อนที่นครโฮจิมินห์จะเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์ในวันวันจันทร์ ที่ 23 ส.ค 64 และมีประชาชนบางส่วนเร่งเดินทางออกจากเมือง โดยสถานีโทรทัศน์ VTV รายงานว่าประชาชนจำนวนมากต่อแถวเพื่อซื้อสินค้า ขณะที่ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งสินค้าหมดเกลี้ยง

ที่มา : https://www.naewna.com/inter/596875

อัตตะปือขยายล็อกดาวน์ถึง 31ส.ค.

ทางการอัตตะปือมีคำสั่งให้ล็อกดาวน์ต่อไปจนถึงวันที่ 31 ส.ค. หลังมีรายงานการติดเชื้อโควิดที่แพร่ระบาดในท้องที่มากขึ้น โดยหลายหมู่บ้านจัดเป็นโซนสีแดงหรือสีเหลือง สถานบันเทิง บริการนวด สปา สนุ๊กเกอร์ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ร้านเสริมสวย โรงแรม ร้านตัดผม ตลาดกลางคืน สิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬา และสถานที่ท่องเที่ยว ปิดให้บริการทุกประเภท และห้ามเข้าโรงเรียน บริการขนส่งผู้โดยสารจากอัตตะปือไปยังจังหวัดอื่น ๆ ก็ถูกระงับ ควบคู่ไปกับการส่งมอบสินค้า นอกเหนือจากสิ่งของจำเป็น เช่น อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการกู้คืนจากภัยพิบัติ เชื้อเพลิง และอาหาร นอกจากนี้ในจังหวัดบ่อแก้ว เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำถูกล็อกดาวน์จนถึงวันที่ 30 ส.ค. หลังจากมีผู้ติดเชื้อ 42 คนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเมื่อวันที่ 16 และ 17 ส.ค.

ที่มา : http://www.xinhuanet.com/english/asiapacific/2021-08/18/c_1310134226.htm

ถอดบทเรียนโลกสู้วิกฤตโควิดสู่มาตรการเศรษฐกิจไทย

โดย วิจัยกรุงศรี I ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

การระบาดของโควิดระลอกที่ 3 มีแนวโน้มสูงกว่าที่คาด โดยตัวเลขการคาดการณ์ผู้ติดเชื้อรายวันเข้าสู่กรณีเลวร้าย จากทั้งประสิทธิภาพของมาตรการล็อกดาวน์และประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันสายพันธุ์เดลตาต่ำกว่าที่คาด ทำให้มาตรการควบคุมการระบาดมีแนวโน้มลากยาวไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี 2564 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยค่าเฉลี่ยของการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จาก 31 สำนักวิจัยลดลงจาก 3.4% (มีนาคม 2564) อยู่ที่ 1.8% (สิงหาคม 2564)

การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนในวงกว้าง จากตัวเลขของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนพบว่า มีธุรกิจจำนวน 754,870 รายอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรืออยู่ใน 9 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูง คิดเป็น 93.9% ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด ซึ่งมีการจ้างงานถึง 24.8 ล้านคน คิดเป็น 65% ของแรงงานทั้งหมด และในจำนวนนี้มีแรงงานประมาณ 13.7 ล้านคนเป็นผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

จากวิกฤตโควิดที่มีความรุนแรงและยาวนาน รวมถึงมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง มาตรการเยียวยาจึงมีความจำเป็นเพื่อควบคุมการระบาดและประคองให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนไทยอยู่รอดต่อไปได้

วิจัยกรุงศรีจึงศึกษาเปรียบเทียบการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิดในประเทศต่างๆ พบว่า

  • มาตรการให้เงินสำหรับผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่ต้องกักตัว: เน้นการสร้างแรงจูงใจและข้อบังคับเพื่อให้คนที่มีความเสี่ยงยอมกักตัวอยู่บ้านเพื่อควบคุมการระบาด
  • มาตรการรักษาระดับการจ้างงาน: เป็นมาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือแรงงานผ่านภาคธุรกิจ เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนของธุรกิจและรักษาระดับการจ้างงาน เน้นการช่วยเหลือธุรกิจและแรงงานที่มีรายได้น้อย
  • มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคธุรกิจ: เป็นมาตรการให้เงินช่วยเหลือครั้งเดียวเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง โดยจำนวนเงินช่วยเหลือขึ้นกับผลกระทบและความอ่อนไหวของธุรกิจ
  • มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคครัวเรือน: รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านภาษี ด้านอุปกรณ์ป้องกันโรค ด้านที่อยู่ และด้านรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าอาหาร และค่าการศึกษา เป็นต้น
  • มาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับภาคธุรกิจ: รวมถึงการลดต้นทุนค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์และต้นทุนค่าธรรมเนียมภาษี
  • มาตรการให้เงินช่วยเหลือโดยตรงสำหรับภาคครัวเรือน: เน้นไปที่กลุ่มที่เข้าถึงความช่วยเหลือค่อนข้างยาก ได้แก่ กลุ่มเปราะบางและแรงงานนอกระบบ

อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาทั้ง 6 มาตรการที่ทำการศึกษาจะช่วยให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยสามารถประคองตัวอยู่ที่ 3.25% โดยทั้ง 6 มาตรการมีวงเงินรวมกันประมาณ 7 แสนล้านบาทในช่วง 6 เดือนข้างหน้า การใช้มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้น และสามารถสร้างรายได้ถึง 8.6 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า หรือระหว่างปี 2564-2568

ที่มา : https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/Covid19-Response-Policy-2021

ยอดติดเชื้อโควิดรายวันสปป.ลาวสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มระบาดในสปป.ลาว

ยอดผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ 170 รายเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ถือเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มระบาดในสปป.ลาว โดยยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่งผลให้ยอดรวมทั่วประเทศอยู่ที่ 3,710 ราย ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ป่วย 1,222 รายรับการรักษาอยู่ ด้วยสถานการณ์ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นรัฐบาลสปป.ลาว ได้ขยายเวลาล็อกดาวน์ในพื้นที่เสี่ยงบางส่วนถึงวันที่ 3 สิงหาคม เพื่อลดจำนวนการติดเชื้อและควบคุมการระบาดของไวรัส ในขณะเดียวกันโปรแกรมการฉีดวัคซีนก็กำลังได้รับการเร่งเพื่อให้ครอบคลุม 50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรภายในสิ้นปีนี้ โดยรัฐบาลหวังว่าการฉีดวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้สปป.ลาวรอดพ้นจะวิกฤตครั้งนี้ในขนาดเดียวกันก็มีมาตรการด้านการบรรเทาภาวะเศรษฐกิจควบคู่ไปเพื่อดูแลประชาและธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Covid_140.php

ทางการจังหวัดเสียมราฐกัมพูชา ขยายเวลาล็อกดาวน์ไปอีก 2 สัปดาห์

ฝ่ายปกครองประจำจังหวัดเสียมราฐได้ตัดสินใจที่จะขยายเวลาล็อกดาวน์ตลาด Phsar Loeu Thom Thmey ออกไปอีก 2 สัปดาห์ ในช่วงตั้งแต่วันที่ 7 ถึง 20 กรกฎาคม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโควิด-19 ในชุมชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตลาดถูกทางการสั่งปิดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้ค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 200 ราย ซึ่ง ณ วันที่ 7 กรกฎาคม จังหวัดเสียมราฐมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 1,654 ราย รักษาหาย 605 ราย เสียชีวิต 18 ราย โดยมีผู้ป่วย 1,031 รายเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50888390/siem-reap-authorities-extend-the-lockdown-of-phsar-loeu-thom-thmey-market-for-another-2-weeks/

ผู้ผลิตเสื้อผ้ารายใหญ่ของกัมพูชารายงานถึงผลประกอบการหลังล็อกดาวน์

บริษัท Grand Twins International (Cambodia) Plc. (GTI) ผู้ผลิตเสื้อผ้ารายใหญ่ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กัมพูชา ได้เปิดเผยข้อมูลในช่วงไตรมาสแรกหลังจากทางการกัมพูชาได้ประกาศล็อกดาวน์ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดย GTI ได้รายงานถึงกำไรก่อนหักภาษีที่ลดลงถึงร้อยละ 49.77 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งรายรับปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.73 เป็น 32.731 ล้านดอลลาร์ ชดเชยด้วยต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น 2.303 ล้านดอลลาร์ โดยต้นทุนค่าวัสดุคิดเป็นร้อยละ 74 ของต้นทุนทั้งหมด มีมูลค่ามากกว่า 23.273 ล้านดอลลาร์ ส่วนต้นทุนแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.96 สู่ 2.104 ล้านดอลลาร์ ทางด้านสินทรัพย์รวมของบริษัทลดลงร้อยละ 2.81 เป็น 85.425 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ปรับลดจากค่าเสื่อมราคา ลูกหนี้การค้าและเงินสดที่ปรับตัวลดลง

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50883983/garment-manufacturer-releases-dismal-report/

กัมพูชากำหนดเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ครั้งล่าสุด

รัฐบาลกัมพูชากำหนดโครงการช่วยเหลือทางด้านการเงินสำหรับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิ-19 ในพื้นที่ที่ถูกล็อกดาวน์ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวรายงานโดยผู้อำนวยการฝ่ายการวางแผน กระทรวงแผนการ ในฟอรัมพิเศษที่ถ่ายทอดสดโดย TVK เมื่อวานนี้ โดยทางรัฐบาลกัมพูชาได้แถลงเปิดตัวมาตรการช่วยเหลือด้วยการมอบเงินเพื่อเป็นการเยี่ยวยาในด้านการดำเนินชีวิต หลังรัฐบาลสั่งล็อกดาวน์ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงพนมเปญ เขตเมืองกัลดาล และจังหวัดพระสีหนุ ซึ่งครอบครัวที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจะได้รับเงินเยี่ยวยาอยู่ในช่วงประมาณครอบครัวละ 39 ดอลลาร์ ถึงเกือบ 78 ดอลลาร์ เป็นระยะเวลา 5 เดือน ขึ้นอยู่กับขนาดของครอบครัว โดยคนงานในโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการถูกล็อกดาวน์จะได้รับเงินเยี่ยวยาจำนวน 40 ดอลลาร์ เป็นระยะเวลา 1 เดือน สำหรับครอบครัวที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จะได้รับเงินเยียวยาเพิ่ม 75 ดอลลาร์ นอกเหนือจากกรณีข้างต้น

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/50855861/cash-assistance-programme-for-marginalised-and-adversely-affected-groups-by-covid-19-in-lockdown-areas-to-begin-next-week/

การ Lockdown ในสปป.ลาวจะขยายไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม

คณะทำงานแห่งชาติเพื่อการป้องกันและควบคุมโควิด -19 สปป.ลาว ประกาศที่จะดำเนินมาตรการขยายระยะเวลาในการ Lockdown ในเต่ละแขวงจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม หลังจากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 60 ราย(ข้อมูลวันที่ 4 พฤษภาคม 64 ) ยอดรวมสะสม 1,026 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ดร.คิเคโอ คำพิทูน รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “สถานการณ์การระบาดยังไม่ลดลงเละยังมีความกังวลในการเกิดกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ๆในแต่ละพื้นที่ ถึงอย่างไรรัฐบาลได้กำชับเจ้าหน้าที่ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและดำเนินมาตรการให้เหมาะสมทันท่วงที” รัฐบาลยังได้ระดมความช่วยเหลือจากภาคส่วนที่เป็นพันธมิตรระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับการระบาดครั้งนี้ โดยสปป.ลาวได้รับความช่วยเหลือจากจีน เวียดนามและไทย ในการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ วัสดุอุปกรณ์และเงินทุนสำหรับการตอสู้กับการระบาดในครั้งนี้ มูลค่ากว่า 12.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Lock_85.php