DITP สั่ง“ทูตพาณิชย์” ชี้แจงผู้ซื้อ ผู้นำเข้า สินค้าอาหารทะเลไทยมีคุณภาพ ปลอดโควิด-19

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) สั่งการทูตพาณิชย์ที่เป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารทะเลไทย เร่งสร้างความเชื่อมั่น สร้างความเข้าใจให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้าว่าสินค้าไทยมีคุณภาพ มาตรฐาน ปลอดโควิด-19 เพื่อป้องกันผลกระทบต่อการส่งออก นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือร่วมกับผู้ส่งออกและได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น และได้ประสานงานและกำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทย ให้เร่งดำเนินการสร้างความเชื่อมั่น และสร้างความเข้าใจให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ในการสั่งซื้อสินค้าจากไทยว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในการสร้างความเชื่อมั่นในการส่งออกสินค้าประมง ได้มีการจัดทำ “หนังสือรับรองการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID – 19 Prevention Best Practice)” ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย และเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารของไทยให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีข้อมูลล่าสุดจากกรมประมงรายงานว่า มีผู้ส่งออก โรงงาน ได้ประสานงานติดต่อกับประมง เพื่อขอเข้ากระบวนการออกหนังสือรับรองดังกล่าวแล้ว จำนวน 51 ราย อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในสินค้าประมง โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง ล่าสุดได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ประสานสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสาครและสำนักงานพาณิชย์ในจังหวัดใกล้เคียง ในการทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าประมงอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาประเมินสถานการณ์และหาวิธีการรับมือต่อปัญหาที่จะตามมาในอนาคตแล้ว

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9630000130044

ปีงบฯ 63-64 เมียนมาตั้งเป้าส่งออกอาหารทะเลทะลุ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เมียนมาคาดส่งออกผลิตภัณฑ์ทางทะเลมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีงบประมาณ 63-64 แม้จะหยุดชะงักจาก COVID-19  ซึ่งสูงกว่าปีงบประมาณ 62-63 ถึง 17% ที่ส่งออกได้ 853 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งสูงสุดในรอบ 20 ปีในเวลานั้น เมียนมาคาดว่าจะมีความต้องการจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งตั้งแต่ซาอุดีอาระเบียได้ยกเลิกการห้ามนำเข้าสินค้าประมงในปี 61  ผลิตภัณฑ์ทางทะเลส่วนใหญ่ส่งออกไปยังไทย จีน และยุโรป เมื่อเดือนที่แล้วท่าเรือของซาอุดีอาระเบียได้ยึดเรือประมงเมียนมาจำนวน 30 ตู้ มูลค่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อตู้เนื่องจากความสับสนในเรื่องศุลกากรและข้อกำหนดของนโยบาย ทั้งนี้กระทรวงเกษตรปศุสัตว์และชลประทานของเมียนมาจะสนับสนุนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในท้องถิ่นและชาวประมงที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากเพื่อเลี่ยงการหยุดชะงัก

ที่มา : https://www.mmtimes.com/news/myanmar-targets-us1b-marine-exports-fiscal-2020-21.html

เวียดนามเผยการส่งออกอาหารทะเลพุ่งขึ้น หลังจาก EVFTA มีผลบังคับใช้

สมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลเวียดนาม (VASEP) ระบุว่าการส่งออกอาหารทะเลไปยังยุโรป แสดงให้เห็นถึงสัญญาเชิงบวกมากมายตั้งแต่ข้อตกลง EVFTA มีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนนี้ ซึ่งจำนวนยอดคำสั่งซื้อต้นเดือนนี้ ในตลาดยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการบริษัท Thuan Phuoc Seafood and Trading Corporation กล่าวว่าบริษัทมีการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากกุ้ง 3,000 ตัน ไปยังยุโรป ด้วยมูลค่าประมาณ 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ ขณะที่ คุณ Nguyen Thi Anh ผู้อำนวยการบริษัท Ngoc Xuan Seafood Corporation กล่าวว่าลูกค้าในยุโรปได้หันมาเจรจาด้านคำสั่งซื้อกับทางบริษัทอีกครั้งเมื่อเร็วๆนี้ นอกจากนี้ ทางสมาคมฯ มองว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และยอดส่งออกอาหารทะเลคาดว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 แม้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ว่าเห็นสัญญาในทิศทางที่เป็นบวกแก่ธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัว หลังจากยอดคำสั่งซื้อล่าช้าและถูกยกเลิกออเดอร์

ที่มา : https://vietnamtimes.org.vn/vietnamese-seafood-exports-increase-after-evfta-comes-into-force-23620.html

ยอดคำสั่งซื้ออาหารทะเลดิ่งลง เนื่องจากผลกระทบเชิงลบของโควิด-19

จากข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลเวียดนาม (VASEP) เปิดเผยว่ายอดสั่งซื้ออาหารทะเลของธุรกิจลดลง ประมาณร้อยละ 20-50  โดยยอดคำสั่งซื้อลดลงในช่วงต้นเดือนมี.ค. เป็นผลมาจากผลกระทบเชิงลบของโควิด-19 ยกตัวอย่างเช่น บริษัทปลาสวายที่ส่งออกไปยังตลาดจีน ด้วยกำไรสูง แต่ได้หยุดชะงักในช่วงเดือนม.ค.ของปีนี้ จากสถานการณ์แพร่ไวรัส ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงต้นเดือนมี.ค. สถานการณ์แพร่ระบาดหนักไปทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ได้ระงับการทำธุรกรรมทั้งหมดและนโยบายปิดภัตตาคาร โรงแรม ส่งผลให้สินค้าคงเหลือมีจำนวนมากและคำสั่งซื้อใหม่ยังไม่ได้ทำสัญญาอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้ กิจกรรมการผลิตอาหารทะเลของธุรกิจส่วนใหญ่ล้วนได้รับผลกระทบเชิงลบ จากการที่ขาดวัตถุดิบ ยกเว้นธุรกิจปลาสวาย (Pangasius) ในขณะที่ ยอดคำสั่งซื้อกุ้งลดลงร้อยละ 20-50 จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯและยุโรป จากการล่าช้าในการขนส่งหรือยกเลิก เป็นผลมาจากทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้ามีสินค้าคงเหลือจำนวนมาก นอกจากนี้ แนวทางในการจัดการกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทางสมาคมฯ ได้เรียกรองให้สมาชิกเร่งดำเนินตามกฎหมาย เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข และสิ่งที่ควรทำ คือ กาควบคุมกำลังการผลิตและร่วมมือกับภาครัฐ

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/654053/foreign-investors-pour-855b-in-vn-in-q1.html

เวียดนามส่งออกอาหารทะเลเดือน ม.ค. ลดลง

จากข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารทะเลเวียดนาม (VASEP) เปิดเผยว่าในเดือนมกราคม เวียดนามส่งออกอาหารทะเลลดลงร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา ด้วยมูลค่ารวม 644 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ซึ่งการแพร่ระบาดหนักในจีนทำให้ฉุดการส่งออกอาหารทะเลเวียดนามไปยังตลาดจีนอย่างมาก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่งออกปลาสวาย ทูน่าและกุ้งเผชิญกับการระงับการชำระเงินจากการส่งออก เพราะธนาคารจีนไม่เปิดทำการจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า และคาดว่าธนาคารจะเปิดทำการในวันที่ 16 ก.พ. ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทขนส่งรายใหญ่ไม่ต้องการที่จะจัดส่งสินค้าไปยังจีน อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฯ มองว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเลมากนัก เพราะว่าความต้องการนำเข้าอาหารทะเลของจีนจะเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมี.ค. และเม.ย. ในทางตรงกันข้าม สมาคมฯมองเห็นโอกาสสำหรับธุรกิจท้องถิ่นในการเพิ่มผลผลิตสินค้าแช่เย็นและบรรจุกระป๋องอาหารทะเลในช่วงเวลานี้และหลังจากการแพร่ระบาดไวรัส ทำให้ให้ลูกค้าชื่นชอบอาหารแปรรูปมากขึ้น รวมไปถึงใช้โอกาสนี้ในการส่งออกไปยังตลาดสำคัญเพิ่มขึ้น อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และยุโรป

ที่มา : https://vietnamnews.vn/economy/592130/seafood-export-value-down-in-january.html