‘คนเวียดนาม’ ช็อปออนไลน์โตแรง พุ่งแตะ 16 พันล้านดอลลาร์ ปี 67

จากรายงาน “Southeast Asia E-commerce 3.0” เปิดเผยว่าการซื้อขาย (GMV) บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่าสูงถึง 128.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2567 เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (YoY) และยอดการซื้อขายออนไลน์เฉลี่ย 43.6 ล้านรายการต่อวัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับตลาดสหรัฐฯ ทั้งนี้ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ ได้แก่ Shopee Lazada และ TikTok Shop คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของปริมาณคำสั่งซื้อทั้งหมด โดยเวียดนามเป็น 1 ใน 5 ตลาดที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดในภูมิภาคนี้ ตามมาด้วยไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ในขณะที่อินโดนีเซีย ยังคงเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยมีมูลค่า GMV อยู่ที่ 56.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ จากรายงานฉบับดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวเวียดนามใช้จ่ายในการซื้อของออนไลน์สูงถึง 16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 โดยส่วนใหญ่ซื้อผ่าน Shopee Lazada และ TikTok Shop ส่งผลให้เวียดนามอยู่ในอันดับ 3 แรกของตลาดอีคอมเมิร์ซ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/vietnamese-consumers-spend-16-billion-usd-on-online-shopping-in-2024-post321782.vnp

‘สถิติอีคอมเมิร์ซ’ ชี้เวียดนาม โต 15.9% ปี 67

จากรายงานของ Momentum Works เปิดเผยข้อมูลว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในเวียดนาม ปี 2567 มีมูลค่าสินค้ารวม (GMV) ที่ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ขยายตัว 15.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) ในขณะที่ไทยและมาเลเซีย เป็นตลาดที่เติบโตเร็วที่สุด โดยมีการขยายตัว 21.7% และ 19.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ตามลำดับ และอินโดนีเซียยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่สุด มีสัดส่วนราว 44% ของ GMV แม้ว่าจะเติบโตชะลอตัวลง

นอกจากนี้ จากการประเมินมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2567 อยู่ที่ 128.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 12%YoY โดยแพลตฟอร์มรายใหญ่ที่สุดมีจำนวน 3 ราย ได้แก่ Shopee, TikTok Shop และ Lazada ครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 84% ทั่วภูมิภาคในปัจจุบัน

ที่มา : https://en.vneconomy.vn/vietnam-records-double-digit-e-commerce-growth-in-2024-momentum-works.htm

‘อีคอมเมิร์ซเวียดนาม’ แข่งเดือด กระทบยอดสั่งซื้อออนไลน์ ดิ่ง 20%

จากรายงานตลาดอีคอมเมิร์ซของ Metric ประจำปี 2567 เปิดเผยว่ารายได้ของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในเวียดนาม 5 อันดับแรก ได้แก่ Shopee, Lazada, TikTok Shop, Tiki และ Sendo มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 318.9 ล้านล้านด่อง เพิ่มขึ้น 37.36% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามมีการเติบโตอย่างโดดเด่นมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงกำลังซื้อของคนเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ยอดคำสั่งซื้อของร้านค้าออนไลน์ กลับปรับตัวลดลง 20.25% แสดงให้เห็นถึงการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ผู้ค้าปลีกรายย่อยจำนวนมาก จำเป็นที่จะต้องออกจากตลาดออนไลน์ ทั้งนี้ จากตัวเลขจำนวนร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Shopee ในปี 2567 ลดลง 86,300 แห่ง ตามมาด้วย TikTok Shop 55,300 แห่ง Lazada 7,000 แห่ง Tiki 800 แห่ง และ Sendo 15,500 แห่ง

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnam-s-e-commerce-sector-20-of-online-shops-lose-customers-2369502.html

เวียดนามคุมเข้ม “พ่อค้าแม่ค้าไลฟ์สด” ต้องจ่ายภาษีตามกฎระเบียบ

สำนักข่าวซินหัวรายงานจากกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ว่า นายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม สั่งการให้กระทรวงการคลังติดตามการไลฟ์สดขายสินค้า ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ บุคคลที่มีรายได้มากกว่าปีละ 100 ล้านดอง (ราว 144,000 บาท) ต้องสำแดงและชำระภาษีภายใต้กฎหมายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเวียดนาม และรายงานโดยกระทรวงการคลังเวียดนามระบุว่า กลุ่มนักสร้างคอนเทนต์หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์จำนวนมาก ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง เนื่องจากไม่แจ้งข้อมูลรายได้ต่อหน่วยงานทางการ ส่วนผู้ที่อยู่ในสาขาอื่น เช่น การตลาด ไอที บริการ การค้าดิจิทัล และโซเชียลมีเดีย จัดอยู่ในกลุ่มที่มีหนี้ภาษีจำนวนมาก

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/3530881/

‘เวียดนาม’ เผยอีคอมเมิร์ซ ดันนำเข้าสินค้าพุ่ง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน

จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เปิดเผยว่าตลาดอีคอมเมิร์ซของเวียดนามมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 20-25% ต่อปี และยอดขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ทำรายได้สูงถึง 20 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 8% ของมูลค่าการอุปโภคบริโภคโดยรวม

ทั้งนี้ จากรายงานล่าสุด แสดงให้เห็นว่าเวียดนามนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ สูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐบาล

ด้วยเหตุนี้ นาย เหงียน ฮ่ง เญียน รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม แนะนำให้รัฐบาลทบทวนการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำ เพื่อให้เป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งในปัจจุบันสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านล้านด่อง จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

ที่มา : https://english.thesaigontimes.vn/e-commerce-brings-in-us1-billion-of-foreign-goods-to-vietnam-monthly/

‘ผลสำรวจ’ ชี้ 6 เดือน นักช้อปผู้ชาย ซื้อของออนไลน์ พุ่ง 100%

จากข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์ตลาด ‘YouNet ECI’ เปิดเผยว่าผู้บริโภคในปัจจุบันไม่เพียงแต่ซื้อสินค้าในฤดูกาลลดราคาครั้งใหญ่ แต่จะพิจารณาข้อเสนอในแต่ละวัน รวมถึงปัจจัยสำคัญของผู้ซื้อ 2 ประการ ได้แก่ นิสัยของบุคคลและพฤติกรรมผู้บริโภค ในขณะที่บริษัทวิจัยการตลาด ‘Buzzmetrics’ ระบุว่าในปี 2565-2566 ความถี่ของการเข้าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เพิ่มขึ้น 3 เท่า และยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 20-30 รายการคำสั่งต่อเดือนในปี 2566

ทั้งนี้ นาย Nguyen Phuong Lam จากบริษัทวิเคราะห์ตลาด กล่าวว่าในช่วงระยะแรกของตลาดอีคอมเมิร์ซ ผู้หญิงเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่สั่งซื้อสินค้าแฟชั่นและผลิตภัณฑ์ดูแลความงาม แต่ว่าในปัจจุบันผู้บริโภคชายกลับมีการซื้อเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน และสินค้าส่วนใหญ่ที่ซื้อจะเป็นสินค้าเทคโนโลยีและเครื่องใช้ไฟฟ้าในครังเรือน โดยยอดขายในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2566 เติบโตเฉลี่ย 100% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่แล้ว

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/vietnamese-men-s-online-purchases-grow-by-100-in-six-months-2286711.html

กัมพูชาเรียกร้องผู้ประกอบการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเชื่อมตลาดโลก

กระทรวงพาณิชย์กัมพูชาได้เรียกร้องให้ผู้ประกอบการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่างอาลีบาบาของจีน เพื่อจำหน่ายสินค้าไปยังตลาดโลก กล่าวโดย Cham Nimul รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในระหว่างการสัมมนา เรื่อง “ก้าวข้ามพรมแดน: นำสินค้ากัมพูชาสู่ตลาดโลกผ่านอาลีบาบา.คอม” ว่ากระทรวงฯ และกลุ่มอาลีบาบาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อจำหน่ายสินค้ากัมพูชาโดยตรงบนแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ ของอาลีบาบา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีบริษัทกัมพูชาประมาณ 10 แห่ง ได้นำสินค้าออกจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม อาทิเช่น พริกไทย แยมมะม่วง และรังนกนางแอ่น ขณะที่รายงานจากกรมศุลกากรและสรรพสามิตระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2024 กัมพูชาสามารถส่งออกสินค้ามูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มูลค่า 6.94 พันล้านดอลลาร์

ที่มา : https://www.khmertimeskh.com/501495945/cambodia-calls-on-entrepreneurs-to-use-e-commerce-platform-to-meet-global-market/

‘อีคอมเมิร์ซ’ ดันโอกาสสินค้าเวียดนามสู่ตลาดโลก

จากการประชุมอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัล จัดขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และ Amazon Global Selling Vietnam เมื่อวันที่ 22 พ.ย. พบว่าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีมูลค่า 7.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 และผลักดันรายได้ให้กับองค์กรและโซลูชั่นทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่รายได้จากอีคอมเมิร์ซค้าปลีก เติบโตเฉลี่ย 20% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และเวียดนามอยู่ใน 10 ประเทศชั้นนำที่มีอัตราการเติบโตทางด้านอีคอมเมิร์ซ

ทั้งนี้ สำนักงานอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม เร่งดำเนินมาตรการในการพัฒนาตลาดอีคอมเมิร์ซและสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาอีคอมเมิร์ซระดับชาติ ปี 2564-2568

นอกจากนี้ สำนักงานยังร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าประจำจังหวัดต่างๆ เพื่อที่จะส่งเสริมการเชื่อมโยงอีคอมเมิร์ซระดับภูมิภาคและท้องถิ่น

ที่มา : https://en.vietnamplus.vn/e-commerce-helps-vietnamese-goods-go-global-conference-post287404.vnp

‘รัฐบาลเวียดนาม’ เร่งดำเนินแก้ปัญหาฉ้อโกงซื้อขายออนไลน์

จากข้อมูลสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า รายงานว่าอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนาม มีมูลค่าสูงถึง 20.5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในขณะที่รายงานค้าปลีกออนไลน์ในปี 2566 และแนวโน้มในปี 2567 พบว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ทำรายได้จากธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) สูงถึงราว 500 ล้านล้านด่อง หรือประมาณ 19.64 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 และคาดว่ามูลค่าจะสูงถึงราว 650 ล้านล้านด่องในปีนี้

อย่างไรก็ดี ผู้ไม่ประสงค์ดีจำนวนมากใช้ประโยชน์จากความไว้วางใจของผู้บริโภคและใช้ช่องโหว่ทางนโยบายการขายสินค้าคุณภาพต่ำ โดยปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าของแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ด้วยเหตุนี้ ทางหน่วยงานของภาครัฐฯ จึงมักได้รับรายงานว่ามีสินค้าลอกเลียนแบบบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ จำเป็นที่จะต้องมีทรัพยากร โดยเฉพาะเครื่องมือ วิธีการและบทลงโทษที่เหมาะสม

ที่มา : https://vietnamnet.vn/en/e-commerce-frauds-require-utmost-in-attention-from-regulators-2282406.html

สปป.ลาว เปิดรับการค้าออนไลน์มากขึ้น ภายใต้กฎระเบียบอีคอมเมิร์ซที่ยังไม่ชัดเจน

กรมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ สปป.ลาว เน้นย้ำถึงความสำคัญของอีคอมเมิร์ซในการเสริมศักยภาพ SMEs แม้ว่าการช้อปปิ้งออนไลน์ใน สปป.ลาวจะประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด แต่ความท้าทายยังคงมีอยู่ การพึ่งพาโซเชียลมีเดียและการจัดการข้ามพรมแดนอาจมีความเสี่ยง โดยมีการหยิบยกประเด็นต่างๆ เช่น การฉ้อโกงและคุณภาพสินค้า นอกจากนี้ การขาดระบบอีคอมเมิร์ซอย่างเป็นทางการในประเทศลาวยังจำกัดศักยภาพในการเติบโต และการจัดตั้งการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นมาตรฐานในตลาดอีคอมเมิร์ซที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้ การช็อปปิ้งออนไลน์ของ สปป.ลาว มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนากฎระเบียบอีคอมเมิร์ซภายในประเทศลาว เพื่อให้แน่ใจว่าการคุ้มครองผู้บริโภคและการเติบโตจะมีความยั่งยืน

ที่มา : https://laotiantimes.com/2024/05/09/laos-embraces-online-shopping-via-social-media-cross-border-innovation/